จ.เลย เลื่อนประชุมแผนฟื้นฟูเหมืองทองคำแล้ว หลังชาวบ้านคัดค้าน

รองผู้ว่าราชการ จ.เลย เลื่อนการประชุมวันที่ 2 ส.ค. 2564 แล้ว หลังกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้านบุกศาลากลางให้ยกเลิกการประชุมแผนฟื้นฟูเหมืองทองคำ เพราะไม่เป็นไปตามคำสั่งศาล

กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน แจ้งข่าวว่าเมื่อวันที่ 30 ก.ค. 2564 ชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน เดินทางมาที่ศาลากลางจังหวัดเลย เพื่อให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย มีคำสั่งยกเลิกการประชุมหารือการพิจารณาหาผู้ดำเนินการจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อแก้ไขปัญหา สิ่งแวดล้อมบริเวณในและรอบเหมืองแร่ทองคำ ของ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด และการประชุมหารือแนวทางการดำเนินการปรับปรุง (ร่าง) แผนปฏิบัติการเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมบริเวณในและรอบเหมืองแร่ทองคำ ของ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 2 ส.ค. 2564 นี้ ซึ่งชาวบ้านเห็นว่าการประชุมดังกล่าวไม่เป็นไปตามคำสั่งศาลที่ให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน เพราะมีการนำร่างแผนปฏิบัติการของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) มาพิจารณา ซึ่งชาวบ้านได้คัดค้านร่างแผนปฏิบัติการของ กพร. มาโดยตลอด พร้อมกับตั้งข้อสังเกตว่า การเร่งรัดจัดประชุมหารือการพิจารณาหาผู้ดำเนินการจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อแก้ไขปัญหาฯ ในช่วงที่มีสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างรุนแรง เป็นการฉวยโอกาสกีดกันชาวบ้าน และนักวิชาการของชาวบ้าน ออกจากกระบวนการร่างแผนปฏิบัติการเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมบริเวณในและรอบเหมืองแร่ทองคำจังหวัดเลยหรือไม่

โดยการเดินทางมายื่นหนังสือคัดค้านการประชุมในครั้งนี้ ชาวบ้านได้มีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดอย่างเคร่งครัด โดยมีการตรวจวัดอุณหภูมิของทุกคนที่เดินทางมายังศาลากลางจังหวัด พร้อมทั้งใช้เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ มีการรักษาระยะห่างในระหว่างการให้ข้อมูลและยื่นหนังสือกับรองผู้ว่าราชการจังหวัดเลย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสี่ยงกับชาวบ้าน 

ชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน จ.เลย ซึ่งเป็นกลุ่มชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาการปนเปื้อนของสารโลหะหนักที่เป็นสารเพื่อนแร่ที่เกิดจากกระบวนการทำเหมืองแร่ทองคำ ทั้ง สารหนู แมงกานีส ไซยาไนด์ ในสิ่งแวดล้อม และในเลือดของชาวบ้าน 6 หมู่บ้าน รอบเหมืองทองคำ จังหวัดเลย ทำให้ชาวบ้านต้องลุกขึ้นมาต่อสู้จนกระทั่งเหมืองแร่ทองคำต้องยุติการดำเนินการ จากนั้นชาวบ้านก็ได้ยื่นฟ้องต่อศาลกระทั่งศาลจังหวัดเลยได้มีคำพิพากษาแล้วว่า การประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ทำให้เกิดมลพิษในทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะในดิน ในแหล่งน้ำทั้งใต้ดินและบนดิน บริเวณในเหมืองและรอบเหมือง และมีคำพิพากษาให้ดำเนินการฟื้นฟู บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ในฐานะที่ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขท้ายประทานบัตร และตามคำพิพากษา จึงต้องดำเนินการฟื้นฟูสภาพสิ่งแวดล้อม โดยมีหน่วยงานท่านเป็นผู้กำกับดูแลให้ถูกต้อง หรือต้องดำเนินการฟื้นฟูแล้วให้บริษัทเป็นผู้รับผิดชอบในค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นทั้งหมด โดยจะต้องมีกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดซึ่งเป็นผู้ฟ้องคดีแพ่งต่อศาลจังหวัดเลย ต่อมาศาลล้มละลายกลางได้มีคำพิพากษาและคำสั่งถึงที่สุดให้บริษัทเป็นบุคคลล้มละลายและมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ชาวบ้านกลุ่มกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน เป็นเจ้าหนี้ลำดับที่ 5 ของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด และมีหน้าที่เฝ้าพื้นที่เหมืองทองคำจังหวัดเลย จนกว่าจะมีการประมูลขายทรัพย์สินทั้งหมดของบริษัททุ่งคำจำกัด

ด้านนางสาว รสนา กองแสน จากกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน จ.เลย ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า “แม้จะมีคำสั่งศาลให้ดำเนินการฟื้นฟูเหมืองทองคำ แต่หน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่กำกับดูแล กลับไม่ยอมดำเนินการอ้างไม่มีงบประมาณเพราะบริษัทล้มละลาย ในขณะที่ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบไม่อาจทนรอจึงเดินหน้าหารือกับนักวิชาการ จนกระทั่งมีการร่างแผนฟื้นฟูภาคประชาชน และเมื่อนำแผนของชาวบ้านมาเสนอกับผู้ว่าราชการจังหวัดเลย ก็มีการแต่งตั้งคณะทำงานติดตามปัญหามลพิษและการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมภายในและบริเวณโดยรอบเหมืองแร่ทองคำ ภูทับฟ้า ที่มีสัดส่วนของคณะทำงานอย่างเท่าเทียมกัน แต่พอมีการเปลี่ยน ผู้ว่าราชการจังหวัดเลยก็มีความพยายามในการล้มคณะทำงานที่ชาวบ้านเข้าไปมีส่วนร่วม และแต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมาใหม่ที่ไม่มีชาวบ้าน และนักวิชาการของชาวบ้านร่วมด้วย เป็นเหตุให้ชาวบ้านต้องมายื่นหนังสือคัดค้าน กระทั่งมีการจัดประชุมเพื่อจัดหาผู้ดำเนินการจัดทำแผนฯ เมื่อวันที่ 20 ม.ค. 2564 ซึ่งในที่ประชุมได้มีมติเรื่องการให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมา ตามข้อเสนอของที่ประชุม โดยทางจังหวัดได้มีหนังสือถึงอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564 แต่กลับไม่มีการตอบกลับมาแต่ประการใด นอกจากกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) จะไม่ดำเนินการตามมติของคณะทำงานฯ จังหวัดเลยแล้ว ยังฉวยโอกาสเดินหน้าประชุม โดยไม่มีชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน และนักวิชาการของชาวบ้านเข้าร่วม”

นางสาว ภรณ์พิทย์ สยมชัย ชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน จ.เลย ได้ปราศรัยถึงความไม่ชอบธรรม ในการจัดประชุมหารือการพิจารณาหาผู้ดำเนินการจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อแก้ไขปัญหาฯ ว่า การประชุมจัดขึ้นโดยไม่มีหนังสือเชิญนักวิชาการของชาวบ้าน และยังมีการนำร่างแผนปฏิบัติการของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) มาพิจารณา ซึ่งชาวบ้านได้คัดค้านร่างแผนปฏิบัติการของ กพร. มาโดยตลอด เพราะเป็นแผนที่ชาวบ้านไม่เคยได้เข้าไปร่วมในกระบวนการร่างเลย ทำให้ไม่มีเนื้อหาที่สอดคล้องกับความต้องการของชาวบ้าน อีกทั้งชาวบ้านยังมีความกังวลอย่างมากว่า การดำเนินการแผนฟื้นฟูโดยไม่มีชาวบ้านเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการทั้งหมด ท้ายที่สุดแล้วก็จะสร้างผลกระทบต่อชาวบ้าน เหมือนกับการฟื้นฟูเหมืองแร่คลิตี้ จ.กาญจนบุรี และก่อนหน้าการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ชาวบ้านพยายามเรียกร้องให้มีการจัดประชุมคณะทำงานฯ เพื่อเดินหน้าร่างแผนฟื้นฟูภาคประชาชน แต่หน่วยงานภาครัฐกลับเพิกเฉย ในขณะที่เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดอย่างรุนแรง หน่วยงานรัฐกลับฉวยโอกาสเดินหน้าแผนฟื้นฟูทำให้ชาวบ้านต้องเผชิญความเสี่ยงลุกขึ้นมาคัดค้านท่ามกลางการระบาดของโรค”

นายผดุงศักดิ์ หาญปรีชาสวัสดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเลย ได้ลงมารับฟังการให้ข้อมูลของตัวแทนชาวบ้าน พร้อมกับรับหนังสือเรื่อง ขอให้ยกเลิกการประชุมหารือการพิจารณาหาผู้ดำเนินการจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อแก้ไขปัญหาฯ และชี้แจงกับชาวบ้านที่มายื่นหนังสือว่า จะนำเรื่องกลับไปหารือกับกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) เพื่อให้เลื่อนออกไปก่อน และขอบคุณชาวบ้านที่รักษามาตรการป้องกันโควิดอย่างเคร่งครัด
 
ขณะที่กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน ขอให้จังหวัดเลย มีคำสั่งยกเลิกการประชุมหารือการพิจารณาหาผู้ดำเนินการจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อแก้ไขปัญหา สิ่งแวดล้อมบริเวณในและรอบเหมืองแร่ทองคำ ของ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด และการประชุมหารือแนวทางการดำเนินการปรับปรุง (ร่าง) แผนปฏิบัติการเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมบริเวณในและรอบเหมืองแร่ทองคำ ของ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) หากไม่ยกเลิกการประชุมในวันที่ 2 ส.ค. 2564 ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบทั้ง 6 หมู่บ้าน มีความจำเป็นต้องมาคัดค้านการประชุมหารือการพิจารณาหาผู้ดำเนินการจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อแก้ไขปัญหา ฯ ที่ศาลากลางจังหวัดเลย อย่างถึงที่สุด

รองผู้ว่าราชการเลยมีหนังสือเลื่อนการประชุม 2 ส.ค. 2564

กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน แจ้งข่าวว่าหลังชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน ยื่นหนังสือต่อรองผู้ว่าราชการจังหวัดเลย ได้มีเจ้าหน้าที่อุตสาหกรรม จ.เลย ส่งหนังสือของทางจังหวัดเลย มาให้ตัวแทนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดฯ ผ่านแอปพลิเคชั่น Line ซึ่งมีใจความว่าขอเลื่อนการประชุมหารือการพิจารณาหาผู้ดำเนินการจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อแก้ไขปัญหา สิ่งแวดล้อมบริเวณในและรอบเหมืองแร่ทองคำ ของ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด หนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเลย เนื่องจากจะมีการจัดประชุม ในวันที่ 2 ส.ค. 2564 โดยให้เหตุผลว่า ชาวบ้านเข้าใจผิดว่าเป็นการพิจารณาแผนฯ ของ กพร. และติดขัดเรื่องความพร้อมของตัวแทนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ในสถานการณ์โควิด 19 โดยมีรองผู้ว่าฯ จ.เลย เป็นผู้ลงนามส่งถึงอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่

แม้เหตุผลที่ทางจังหวัดส่งถึงอธิบดี กพร. จะไม่ได้ชี้แจงเหตุผลของชาวบ้านได้อย่างครบถ้วน เพราะการขอให้ยกเลิกการจัดประชุมครั้งนี้ชาวบ้านไม่ได้เข้าใจผิดแต่อย่างใด การหารือการพิจารณาหาผู้ดำเนินการจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อแก้ไขปัญหา สิ่งแวดล้อมบริเวณในและรอบเหมืองแร่ทองคำ พร้อมแนบ(ร่าง)แผนการฟื้นฟู ฉบับ กพร. มาด้วยย่อมเข้าใจได้ว่าเป็นการหารือเพื่อหาผู้รับผิดชอบตามแผนฉบับนี้ อีกทั้งการประชุมทุกครั้งเกี่ยวกับแผนการฟื้นฟู นับแต่มีผู้ว่าราชการคนใหม่ ก็ไม่มีการเชิญคณะทำงานแก้ไขปัญหาฯ ที่มีการแต่งตั้งไว้แล้วเข้าร่วมแต่อย่างใด การส่งหนังสือด่วนของทางจังหวัดเลย ทำให้เราได้เห็นความพยายามของทางจังหวัด ที่ต้องการแก้ไขปัญหาให้ชาวบ้าน แม้จะยังไม่ตรงจุดมากนัก เนื่องจากชาวบ้านยืนยันขอให้ยกเลิกการประชุมนี้ และเริ่มคุยกันใหม่ผ่านคณะทำงานที่แต่งตั้งไว้แล้ว

อย่างไรก็ตาม เรายังคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ว่าการจัดประชุมในวันที่ 2 ส.ค. 2564 จะถูกเลื่อนออกไป หรือถูกยกเลิกตามที่ชาวบ้านเรียกร้องหรือไม่ เพราะจากการยื่นหนังสือของทางจังหวัดเลย ทำให้เห็นแล้วว่าผู้มีอำนาจในการตัดสินใจในการประชุมครั้งนี้ คือ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่  และหากยังมีการเดินหน้าจัดการประชุม ชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน ก็ยืนยันที่จะไปพบผู้ว่าราชการจังหวัดเลย ในจำนวนที่มากกว่าเดิมอย่างแน่นอน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท