Skip to main content
sharethis

ลอเรล ฮับบาร์ด นักกีฬายกน้ำหนักหญิงข้ามเพศที่ได้เข้าแข่งโอลิมปิกทีมหญิงรุ่นน้ำหนัก 87 กก. ขอบคุณคณะกรรมการโอลิมปิกนานาชาติที่เปิดโอกาสให้เกิดร่วมแข่งขัน ถึงแม้จะมีกระแสต่อต้านจากคนบางกลุ่มในอินเทอร์เน็ต ซึ่งกรรมการโอลิมปิกจากนิวซีแลนด์ระบุว่าเป็นกลุ่มที่ถูกยุยงจากสื่อฝ่ายขวาที่สร้างความเข้าใจผิดเรื่องคนข้ามเพศและอาศัยวาทกรรมลดทอนความเป็นมนุษย์ของคนข้ามเพศ

สัญลักษณ์ห่วงโอลิมปิกที่อ่าวโตเกียว ในช่วงก่อนการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก (ที่มา: Flickr/Dick Thomas Johnson)

ก่อนที่ ลอเรล ฮับบาร์ด นักยกน้ำหนักหญิงข้ามเพศชาวนิวซีแลนด์กำลังจะสร้างประวัติศาสตร์ด้วยการเป็นหญิงข้ามเพศคนแรกของโลกที่ได้ลงแข่งกีฬาโอลิมปิก เธอต้องเผชิญกับกระแสการเหยียดคนข้ามเพศในโลกออนไลน์ ซึ่งคณะกรรมการโอลิมปิกนานาชาติได้ประกาศยืนยันว่าเธอมีสิทธิที่จะลงแข่งขัน และฮับบาร์ดก็แถลงขอบคุณคณะกรรมการโอลิมปิกที่สนับสนุนเธอ

ฮับบาร์ดระบุว่า "กีฬาโอลิมปิกเป็นการเฉลิมฉลองความหวัง อุดมคติ และค่านิยมของพวกเราในระดับโลก ...  ฉันขอแสดงความชอบคุณต่อคณะกรรมการโอลิมปิกนานาชาติที่มีพันธกิจในการทำให้กีฬามีความครอบคลุมคำนึงถึงทุกคนและทำให้ทุกคนเข้าถึงได้"

มีการตั้งข้อสังเกตว่าฮับบาร์ดสงวนท่าทีในเรื่องความรู้สึกที่เธอได้ลงแข่งทีมหญิงในฐานะนักยกน้ำหนักกีฬาโอลิมปิกโดยที่เธอเลือกจะแสดงออกอย่างไม่ออกตัวมากและเน้นเรื่องการเล่นกีฬาให้ดีที่สุดเท่าที่เธอจะทำได้

แอชลี แอบบ็อต โฆษกของคณะกรรมการโอลิมปิกนิวซีแลนด์กล่าวว่ามีการพูดอภิปรายถึงกรณีของฮับบาร์ดจำนวนมาก มีหลายคนวิจารณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้ซึ่งส่วนใหญ่วิจารณ์ในแบบที่ไม่เหมาะสมโดยเฉพาะในโซเชียลมีเดีย

ฮับบาร์ดขึ้นแข่งขันในวันที่ 2 ส.ค. ในรุ่นผู้หญิงน้ำหนักมากกว่า 87 กก. ถึงแม้จะมีข้อถกเถียงในเรื่องที่มีคนอ้างว่าร่างกายคนข้ามเพศแบบฮับบาร์ด "ไม่เหมาะสม" ที่จะลงแข่งในรุ่นผู้หญิง แต่ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์อย่าง ริชาร์ด บัดเจตต์ ผู้อำนวยการด้านการแพทย์และวิทยาศาสตร์ของคณะกรรมการโอลิมปิกนานาชาติก็บอกว่าฮับบาร์ดสามารถลงแข่งในรุ่นผู้หญิงได้เพราะมีคุณสมบัติที่ตรงตามมาตรฐานการแข่ง

สื่อเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ them ระบุว่ามันเป็นเรื่องจำเป็นที่ทางกรรมการโอลิมปิกต้องออกมาปกป้องการลงแข่งของฮับบาร์ดเนื่องจากว่าข้อโต้แย้งที่เกิดขึ้นในเรื่องนี้มักจะมาจากการแพร่กระจายข้อมูลหลอกลวงทางอินเทอร์เน็ตโดยกลุ่มสื่อฝ่ายขวา โดยที่ถึงแม้ว่าโอลิมปิกจะอนุญาตให้คนข้ามเพศลงแข่งขันกีฬาได้มาตั้งแต่ปี 2549 แล้ว แต่ในโอลิมปืกที่โตเกียวในครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่หญิงข้ามเพศสามารถลงแข่งได้อย่างเปิดเผย

นักยกน้ำหนักหญิงข้ามเพศนิวซีแลนด์กำลังจะได้ร่วมแข่งกีฬาโอลิมปิกเป็นคนแรก, 22 มิ.ย. 2021

โอลิมปิกโตเกียว 2020

ลอเรล ฮับบาร์ด ภาพจากวิดีโอของ World Weightlifting

นอกจากกรณีของฮับบาร์ดแล้วยังมีหญิงข้ามเพศอีกคนหนึ่งที่ได้ลงแข่งขันในกีฬาโอลิมปิกอย่างเปิดเผยคือ เชลซี วูลฟ์ ที่ลงแข่งขันกีฬาจักรยานบีเอ็มเอ็กซ์ฟรีสไตล์ทีมชาติสหรัฐฯ ขณะที่นักกรีฑาหญิงช้ามเพศ ซีซ๊ เทลเฟอร์ ไม่ได้รับอนุญาตให้ลงแข่งขันเพราะไม่ผ่านเกณฑ์การตรวจวัดระดับฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนจากองค์กรกรีฑาโลกที่มีกฎเข้มงวดเกี่ยวกับนักกีฬาคนข้ามเพศมากกว่าองค์กรอื่นๆ

แอบบ็อต กรรมการโอลิมปิกนิวซีแลนด์กล่าวว่าข้อถกเถียงเรื่องระดับฮอร์โมนของแต่ละเพศเพื่อเอามาแบ่งแยกกีดกันคนข้ามเพศและลดทอนเพศสภาพให้เหลือแค่ระดับชีวภาพนั้นเป็นเรื่องที่ลดทอนความเป็นมนุษย์ของกลุ่มคนข้ามเพศ และตอกย้ำว่าการที่มีข้อถกเถียงเรื่องเหล่านี้เพราะมีคนอยู่เบื้องหลังคอยสร้างวาทกรรมกีดกันคนข้ามเพศในการกีฬา

เรียบเรียงจาก

Trans Weightlifter Laurel Hubbard Thanks the International Olympic Committee as She Faces Online Abuse, them., 30-07-2021

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net