ผี ความเชื่อเรื่องเหนือธรรมชาติ และสวัสดิการแห่งรัฐไทยในศตวรรษที่ 21

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

“ผีตายทั้งกลม” “ศาลารถผีดุ” “รถเมล์ผีสิง” อีกทั้งนานาเรื่องเล่าและตำนานเกี่ยวกับผีมากมาย ตลอดจนวรรณกรรมที่แฝงความเชื่อเรื่องเหนือธรรมชาติต่างถูกเล่าขานและสืบทอดกันมาในสังคมไทย บ้างก็ปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษร บ้างก็เป็นตำนานหรือนิทานเล่าสู่กันฟังแบบปากต่อปาก หรือบ้างก็เป็นพิธีกรรมหรือการกระทำที่สืบทอดต่อกันมา ไม่ว่าจะเป็นพิธีขอฝน การถือเคล็ด หรือการเชื่อเรื่องโชคลางก็ตาม แต่ภายใต้ฉากหน้าของความอัศจรรย์ ความน่าประหลาด หรือกระทั่งความน่ากลัวของสิ่งเหล่านี้ ถ้าหากพิจารณาตามแนวคิดแบบสัจนิยมเราย่อมจะพบกับปัญหาและหลักเหตุผลมากมายที่วางอยู่ภายใต้ฉากหน้านั้น อีกทั้งเมื่อพิจารณาในบริบทของยุคศตวรรษที่ 21 ในยามที่กระบวนทัศน์เชิงวิทยาศาสตร์ก้าวขึ้นมาเรืองอำนาจในสังคมโลก โดยเฉพาะวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ที่มีรากฐานพัฒนามาตั้งแต่ยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ[1] ในแง่ของการวิเคราะห์และพิสูจน์ข้อเท็จจริงตลอดจนปรากฏการณ์ต่าง ๆ ในโลกนั้น เราย่อมพบว่าความเชื่อเรื่องผีหรือว่าจะเป็นความเชื่อเรื่องเหนือธรรมชาติเหล่านี้สามารถให้เหตุผลในทางการเมืองได้ นับตั้งแต่จุดกำเนิดกระทั่งพัฒนาการจวบจนปัจจุบัน

บทความนี้จึงต้องการชี้ให้เห็นว่า ความเชื่อเรื่องผี สิ่งเหนือธรรมชาติ และสวัสดิการโดยรัฐมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน อีกทั้งถ้าหากนำอิทธิพลและบทบาทของความเชื่อดังกล่าวมาพิจารณาในบริบทของสังคมยุคศตวรรษที่ 21 ก็ย่อมสามารถเปิดทางให้แก่การศึกษาเรื่องปัญหาและแนวทางแก้ไขระบบสวัสดิการโดยรัฐได้ โดยบทความนี้จะแบ่งออกเป็นสามส่วน ได้แก่ ส่วนแรก เป็นส่วนของการเกริ่นนำและการอธิบายถึงความเชื่อเรื่องผีและเรื่องเหนือธรรมชาติ ซึ่งจะยกตัวอย่างอธิบายผ่านพิธีกรรมและวรรณกรรม ตลอดจนอธิบายถึงอิทธิพลของสิ่งต่าง ๆ ดังกล่าวที่มีต่อสังคมไทย ส่วนที่สองเป็นการวิเคราะห์อิทธิพลดังกล่าวโดยผูกโยงเข้ากับเรื่องของสวัสดิการโดยรัฐรวมถึงการกระจายความเจริญ และส่วนสุดท้ายเป็นส่วนสรุป ซึ่งมีข้อสรุป คือ ความเชื่อเรื่องผีหรือเรื่องเหนือธรรมชาติที่ยังคงมีอิทธิพลในบทบาทของไกลไกหรือกฎเกณฑ์ทางสังคมภายใต้บริบทของสังคมโลกยุคศตวรรษที่ 21 สามารถสะท้อนให้เห็นถึงความบกพร่องของสวัสดิการแห่งรัฐที่มีประสิทธิภาพในประเทศนั้น ๆ ได้จากการที่พลเมืองขาดความมั่นคงทางชีวิต ทรัพย์สิน และจิตใจ

 

ความเชื่อเรื่องเหนือธรรมชาติ วรรณกรรม และผีสางนางไม้ในฐานะกลไกทางสังคม

การขูดหวยจากต้นไม้ การบูชาผีฟ้า การบูชาแม่ย่านาง ทั้งหมดเหล่านี้สำหรับคนไทยนั้นไม่ใช่เรื่องแปลก แม้ว่าพิธีกรรมหรือกิจกรรมดังกล่าวจะปรากฏอยู่ในยุคศตวรรษที่ 21 ก็ตาม เนื่องจากว่ารากฐานของความเป็นไทยพัฒนาขึ้นมาพร้อม ๆ กับพิธีกรรมและความเชื่อเหล่านี้ตั้งแต่ต้น อีกทั้งบทความนี้ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายที่จะตัดสินว่าสิ่งเหล่านี้ถูกหรือผิด ดีหรือไม่ดี หากแต่ต้องการจะชี้ว่าความเชื่อเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความไม่มั่นคงของพลเมืองในรัฐสมัยใหม่ทั้งทางกายและใจได้

ในส่วนของความเชื่อเรื่องผีนั้นถือได้ว่าอยู่คู่กันกับสังคมไทยมาอย่างช้านาน แม้แต่ในยามก่อนที่ศาสนาพุทธจะเข้ามามีอิทธิพลก็ตาม[2] นอกจากนี้ความเชื่อเรื่องผียังคงแทรกซึมอยู่ในทุกอณูชีวิตของชาวไทยเสียด้วย ถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะมีการกล่าวว่าเมืองไทยเป็นเมืองพุทธก็ตาม ซึ่งในความเป็นจริงอาจกล่าวได้ว่าในไทยนั้นศาสนาพุทธอาจอยู่รอดไม่ได้มาจนถึงปัจจุบันถ้าหากไม่ปรับตัวให้เข้ากับแนวคิดเรื่องผี[3] ทั้งนี้เราย่อมไม่อาจปฏิเสธได้ว่าสำหรับสังคมไทย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่ศึกษาร่างกายมนุษย์ผ่านกระบวนการวิทยาศาสตร์มาอย่างดีแต่ก็เชื่อเรื่องผีด้วยนั้นไม่ได้ถือเป็นเรื่องที่แปลกประหลาดเกินคาดแต่อย่างใด

ในบริบทของยุคสมัยก่อนรัฐสมัยใหม่ ผีหรือสิ่งเหนือธรรมชาติในบางประเภท เช่น เทวดา เปรียบได้เป็นดั่งกลไกที่คอยขับเคลื่อนสังคมด้วยบทบาทต่าง ๆ และยังสามารถแสดงออกมาให้เห็นผ่านความสัมพันธ์ของสิ่งเหล่านั้นกับสมาชิกในสังคมนั้น ๆ โดยผ่านกิจกรรมหรือพิธีกรรมที่เขาประกอบขึ้น และด้วยเหตุนี้เอง ผีจึงไม่ได้มีแต่เรื่องของความน่ากลัวหรือความสยดสยองแต่ถ่ายเดียว หากแต่สามารถให้คุณประโยชน์แก่ผู้ที่ยอมรับในบทบาทดังกล่าวผ่านการทำความเคารพบูชาได้ด้วย ยกตัวอย่างเช่น ผีปู่ย่า ที่มีบทบาทคอยควบคุมความประพฤติของบุคคลในครอบครัว โดยเฉพาะสมาชิกครอบครัวเพศหญิง เพื่อจำกัดกรอบให้พวกเขาเหล่านั้นให้อยู่ภายในขนบประเพณีของท้องที่ที่พวกเขาอยู่[4] ส่วนผู้คนก็มีปฏิสัมพันธ์กับผีดังกล่าวผ่านการทำกิจกรรม เช่น การประกอบพิธีขอขมาผีปู่ย่า หรือ พิธีเลี้ยงผีปู่ย่า[5] อีกทั้งยังมี ผีเจ้าที่ ซึ่งมีบทบาทคอยคุ้มครองพื้นที่นั้น ๆ[6] ส่วนความสัมพันธ์ก็สามารถสังเกตได้ผ่านกิจกรรมอย่างการสังเวยข้าวและอาหาร 1 คำแก่ผีเจ้าที่ก่อนทานเสมอ[7] หรือว่าจะเป็น ผีฟ้า ตามความเชื่อของชาวอีสานที่ว่าเป็นผู้ดลบันดาลให้เกิดปาฏิหาริย์ ทำให้ผู้ที่กำลังเจ็บไข้ได้ป่วยหายดี และทำให้ข้าวในนามีความอุดมสมบูรณ์[8] ก็ตาม

นอกจากนี้ในส่วนของวรรณกรรมยังมีการชี้ให้เห็นถึงความเชื่อในสิ่งเหนือธรรมชาติอีกด้วย เช่น ในบทละครนอก แก้วหน้าม้า ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทินกร กรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์[9]เองก็สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อเรื่องเหนือธรรมชาติอย่างอิทธิฤทธิ์ของฤๅษีในฐานะกฎเกณฑ์ที่ควบคุมความยุติธรรม นางแก้วผู้เป็นปุถุชนชาวเมืองมิถิลาย่อมไม่อาจจะชะลอเขาพระสุเมรุมาถวายให้แก่ท้าวมงคลราชได้หากปราศจากการช่วยเหลือจากฤๅษี หรือว่าจะเป็นในส่วนของนิทานพื้นบ้าน ปลาบู่ทอง ก็อยู่ภายใต้ประเด็นเดียวกัน ถ้าหากปราศจากอิทธิฤทธิ์ของฤๅษี นางเอื้อยย่อมไม่อาจเข้าถึงความยุติธรรมได้เลย[10]

ด้วยเหตุนี้จึงกล่าวได้ว่าความเชื่อเรื่องผีและสิ่งเหนือธรรมชาติสำหรับคนไทยในบริบทของรัฐก่อนสมัยใหม่ย่อมสามารถเปรียบได้ดั่งกลไกหรือกฎเกณฑ์ของสังคมอย่างหนึ่งที่มีอิทธิพลตามท้องที่นั้น ๆ ซึ่งคอยขับเคลื่อนและควบคุมวิถีชีวิตของผู้คนในมิติทางวัฒนธรรมนอกเหนือจากอำนาจซึ่งหน้าในมิติทางการเมืองอย่างเช่น กฎมณเฑียรบาล อีกทั้งการดำรงอยู่ของตัวผีหรือสิ่งเหนือธรรมชาติเหล่านั้นเองอาจไม่ได้มีความจำเป็นต้องปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษร แต่สมาชิกในสังคมย่อมรู้ดีว่ามีสิ่งดังกล่าวอยู่และต้องปฏิบัติตนให้สอดคล้องกับสิ่งดังกล่าวไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

อย่างไรก็ตามสำหรับในยุคปัจจุบันที่รัฐพัฒนามาสู่ความเป็นรัฐสมัยใหม่แล้ว ความเชื่อเรื่องผีและสิ่งเหนือธรรมชาติไม่ควรจะต้องทำหน้าที่เป็นกลไกหรือกฎเกณฑ์หลักทางสังคมอีกต่อไป หากแต่ควรจะเป็นองค์ประกอบหนึ่งในมิติทางวัฒนธรรมที่สะท้อนภาพของพัฒนาการทางสังคมและขนบในอดีตจวบจนปัจจุบัน เนื่องจากว่ากฎเกณฑ์สูงสุดทางสังคมอย่างเช่นรัฐธรรมนูญได้เข้ามาแทนบทบาทดังกล่าวไปแล้ว อีกทั้งยังมีองค์กรต่าง ๆ ของภาครัฐที่ทำหน้าที่ตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐานของพลเมืองอีก ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลหรืองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็ตาม สวัสดิการโดยรัฐจึงเป็นสิ่งที่ควรจะมีอยู่เพื่อให้พลเมืองของรัฐนั้นมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นตามมาตรฐานอันพึงประสงค์ของสังคมโลกโดยไม่ต้องอยู่อย่างลำบากยากแค้นอีกต่อไป เว้นเสียแต่ว่ากฎเกณฑ์สูงสุดในการกำหนดความเป็นไปของรัฐนั้นไม่ได้มาจากการสถาปนาโดยพลเมืองเอง ไม่ว่าจะโดยกระบวนการทางตรงหรือตัวแทนก็ตาม ซึ่งการขาดปฏิสัมพันธ์ต่อหลักเกณฑ์อันเป็นที่ยอมรับทั่วไปของสังคมดังกล่าวนี้ย่อมจะส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์ที่ว่าองค์กรต่าง ๆ ของภาครัฐไม่ตอบสนองความต้องการต่อเจตจำนงที่แท้จริงของพลเมืองภายในรัฐอย่างแข็งขันตรงไปตรงมา

 

สวัสดิการโดยรัฐและคุณภาพชีวิตชาวไทยในศตวรรษที่ 21

เรื่องเล่าเกี่ยวกับผีส่วนใหญ่มักดำเนินเรื่องอยู่ภายในบรรยากาศที่ไม่น่าพึงประสงค์ อย่างเช่น สถานที่เปลี่ยวมืดหรือมีไฟสลัว ๆ บ้านร้าง แถบชนบท ฯลฯ ซึ่งบรรยากาศที่ชวนขนพองสยองเกล้าเหล่านี้ส่วนหนึ่งย่อมสังเกตได้ว่าล้วนเป็นฉากหน้าของความบกพร่องของภาครัฐในแง่การกระจายความเจริญโดยจัดให้มีสาธารณูปโภคอย่างทั่วถึง

เราคงไม่ต้องกลัวผีมากนักถ้าหากไฟฟ้าหรือแสงสว่างเป็นสิ่งที่สามารถเข้าถึงได้จากทุกท้องที่ ศาลารอรถผีสิงก็คงลดความน่ากลัวน้อยลงจนอาจเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าหากงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนถูกใช้อย่างโปร่งใสและมีประสิทธิภาพ รถเมล์ผีสิงย่อมจะเป็นสิ่งที่จินตนาการถึงได้ยากถ้าหากมีการตรวจสอบและปรับปรุงระบบขนส่งมวลชนให้มีประสิทธิภาพโดยตลอด ผีตายทั้งกลมในรัฐสมัยใหม่ก็ยิ่งควรจะต้องไม่มีหรือแทบจะไม่มีด้วยผลจากระบบสาธารณสุขที่พัฒนาขึ้น

แน่นอนว่าสภาพปัญหาจากตัวอย่างดังกล่าวส่วนหนึ่งนั้นมาจากการปัญหาเรื่องการกระจายความเจริญ ซึ่งการกระจายความเจริญนั้นสามารถดำเนินการได้หลายวิธี และหนึ่งในวิธีที่สามารถกระทำได้ก็คือการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ถ้าหากภาครัฐกระจุกอำนาจอยู่เพียงแต่ศูนย์กลาง ปัญหาที่เกิดขึ้นย่อมจะหลีกไม่พ้นเรื่องการทำงานเกินกำลังของระบบราชการ ซึ่งปัญหาดังกล่าวนี้ก็ไม่ได้เป็นประเด็นใหม่แต่อย่างใด เนื่องจากว่ามีผู้ที่ทำการศึกษา “ระบบ” ของการเมืองและสรุปไว้เป็นทฤษฎีพื้นฐานออกมาให้เห็นอยู่แล้วอย่าง เดวิด อีสตัน ที่เสนอว่าถ้าหากปัจจัยเรียกร้องต่อระบบมีมากเกินไป ระบบทางเมืองก็ย่อมสามารถล้มเหลวในการผลิตนโยบายเพื่อตอบสนองต่อความต้องการได้[11] ฉะนั้น ถ้าหากว่าภาครัฐกระจายอำนาจบริหารสู่ท้องถิ่นก็ย่อมจะสามารถลดปัญหาการทำงานเกินกำลังของระบบราชการที่เป็นระบบใหญ่มหึมาหนึ่งเดียวลงไปได้

จริงอยู่ที่ว่าแนวคิดเรื่องการกระจายอำนาจนั้นมีมานานนับศตวรรษ[12] นับตั้งแต่สยามย่างก้าวเข้าสู่ความเป็นรัฐสมัยใหม่ตามกรอบพิจารณาในแง่ที่ว่ามีอาณาเขตที่แน่นอนและอำนาจอธิปไตยที่แน่นอนภายในเขตแดนของตน[13] ตลอดจนราว ๆ ช่วงหลังของศตวรรษที่ 19 ถึงปี พ.ศ. 2448 ที่สุขาภิบาลท่าฉลอมถูกก่อตั้งขึ้น หรือแม้กระทั่งจวบจนปัจจุบันนี้ พัฒนาการของแนวคิดเรื่องการปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นมีมาโดยตลอด ทว่าการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในทางปฏิบัติ ณ ปัจจุบันดูเหมือนว่าจะยังห่างไกลจากคำว่าการกระจายอำนาจที่จะสามารถเอื้อให้เกิดการกระจายความเจริญได้

หากสังเกตจากการเปรียบเทียบรายละเอียดของพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2562 กับพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2552 จะเห็นได้ว่าสิ่งที่เปลี่ยนแปลงส่วนใหญ่แล้วล้วนเป็นเรื่องของการเพิ่มข้อผูกมัดและการสร้างความรัดกุมให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานเพียงเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกสภาเทศบาลหรือแม้แต่ผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งเป็นผู้ที่มีอำนาจปฏิบัติงานในส่วนของภูมิภาคอยู่แล้ว จุดจึงนี้ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นการกระจายอำนาจและการเพิ่มความอิสระในแง่ของการบริหารโดยแท้จริง เช่น การแก้ไขเพิ่มเติมในวรรคที่ 2 มาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด “สอบสวน” และ “วินิจฉัย” ข้อสงสัยเกี่ยวกับสมาชิกภาพของสมาชิกสภาเทศบาลให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด[14]

ฉะนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าเมื่อภาครัฐยังคงกระจุกอำนาจบริหาร ซึ่งรวมถึงภาระงานที่ล้นหลามไว้กับตนที่ศูนย์กลาง การผลิตนโยบายเพื่อตอบสนองกับปัจจัยความต้องการตามทฤษฎีที่เสนอโดยอีสตันก็ย่อมจะต้องประสบกับปัญหาภาระงานเกินจำเป็น และถ้าหากภาครัฐบกพร่องในแง่ของการกระจายความเจริญหรือในแง่ของการจัดหาสาธารณูปโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในรัฐหนึ่ง ๆ นั้นก็ย่อมไม่ใช่เรื่องชวนฉงนถ้าหากจะเกิดสภาวการณ์ เช่น เหล่าเกษตรกรจะหันไปหาพิธีกรรมขอฝนเมื่อกรมชลประทานล้มเหลวที่จะจัดทำระบบชลประทานให้แก่พวกเขา เมื่อผู้สัญจรทางถนนรู้สึกว่ามีความปลอดภัยในชีวิตไม่มากพอในยามที่ต้องสัญจรบนถนนของประเทศที่มีอัตราการเกิดอุบัติเหตุมากที่สุดในเอเชีย[15] พวกเขาก็ย่อมหันไปบูชาแม่ย่านาง เมื่อปัจจัยพื้นฐานทางสังคมไม่เอื้ออำนวยให้พลเมืองได้มีโอกาสพัฒนาความมั่นคงของชีวิตให้มากกว่าเดิมนัก เช่น อัตราค่าจ้างขั้นต่ำเฉลี่ยวันละประมาณ 300 บาท[16] หรือเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเฉลี่ยเดือนละ 600 บาท[17] ที่ไม่สมดุลกับค่าครองชีพหรือค่าใช้จ่ายเฉลี่ยของครัวเรือนทั่วประเทศที่ 21,346 บาทต่อเดือนในปี พ.ศ. 2561[18] พวกเขาก็ย่อมหันเข้าหาเรื่องโชคลาภหรือหวยเพื่อชดเชยให้แก่ความมั่นคงดังกล่าว ซึ่งนี่ก็ไม่ใช่สิ่งใดมากไปกว่าคำอธิบายสำหรับข้อมูลจากศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ ปีพ.ศ. 2560 ที่ว่าครัวเรือนรายได้น้อยของไทยมีสัดส่วนการซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลต่อรายได้มากกว่าครัวเรือนรายได้สูง[19] ฉะนั้นตำนานของ “ไอ้ไข่” หรือกุมารเทพแห่งวัดเจดีย์ อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช[20]ที่ผงาดขึ้นมาโลดแล่นในยุคศตวรรษที่ 21 นี้ก็ย่อมไม่ใช่เรื่องที่เกินคาดเช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ การเชื่อเรื่องโชคลาภและสถิติของการซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลที่ได้กล่าวไปข้างต้นยังสามารถสะท้อนถึงความไม่มั่นคงดังกล่าวในระดับที่ลึกกว่าได้หากพิจารณาเทียบเคียงกับภาวะเศรษฐกิจและการเมืองในปัจจุบัน เนื่องจากว่าถ้าหากพลเมืองรัฐหนึ่งสามารถนึกภาพถึงอนาคตของตนที่มั่นคงในอนาคตที่มีรัฐคอยคุ้มกันไม่ให้เขาต้องใช้ชีวิตอย่างยากลำบากได้ เขาผู้นั้นก็ย่อมที่จะไม่ต้องพึ่งพาสิ่งเหนือธรรมชาติเสียเท่าไรนัก ทว่าในประเทศไทยที่มีสัดส่วนหนี้ครัวเรือนในไตรมาส 3 ของปี พ.ศ. 2563 ทำสถิติสูงสุดในรอบ 18 ปี โดยอยู่ที่ 86.6% ต่อจีดีพี และมีความเป็นไปได้ที่จะเพิ่มขึ้นมาที่ 91.0% ต่อจีดีพี หรืออาจสูงกว่านั้นจากการประเมินของศูนย์วิจัยกสิกรไทย[21] ในขณะที่ตัวประเทศได้ก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์แล้ว[22] แต่กลับมีการบรรจุงานของผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไปตามสถิติของกรมการจัดหางานอยู่ที่ 1503 คนเท่านั้นในปี พ.ศ. 2563[23] พลเมืองรัฐไทยจะสามารถนึกภาพถึงอนาคตของตนที่มั่นคงในอนาคตได้อย่างไรในภาวะที่ต้องทำงานเพื่อสร้างความมั่นคงให้แก่ตนและครอบครัวแม้ว่าบางทีตนจะเป็นผู้สูงวัยแล้วก็ตาม

ด้วยเหตุนี้จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่พลเมืองผู้ไม่ได้รับการตอบสนองต่อความต้องการขั้นพื้นฐาน หรือต้องใช้ชีวิตอย่างพออยู่ได้แต่แทบไร้โอกาสสร้างความก้าวหน้าให้ชีวิตท่ามกลางระบบสวัสดิการโดยรัฐที่ไม่ได้เกื้อหนุนพวกเขานั้นมักจะหันไปหาสิ่งที่พวกเขาเห็นว่าสามารถใช้ปลอบประโลมจิตใจหรือช่วยประคับประคองชีวิตพวกเขาต่อไปได้ ไม่ว่าจะเป็นการบนบานศาลกล่าว ไหว้เจ้าที่ ห้อยมาลัยรถ ใช้ชีวิตตามตารางสีมงคล เชื่อเรื่องเลขมงคล บูชากุมารทอง ไหว้วอนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ฯลฯ ในยามที่ต้องเผชิญกับมลภาวะทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ โรคระบาด ภาวะขาดแคลนเครื่องอุปโภคที่จำเป็นไม่ว่าจะเป็นหน้ากากอนามัยหรือวัคซีนป้องกันโรคระบาด รวมถึงวิกฤตทางเศรษฐกิจ

 

สรุป

การที่ความเชื่อเรื่องผีหรือสิ่งเหนือธรรมชาติเหล่านี้ยังคงส่งอิทธิพลและทำงานได้ดีในยุคศตวรรษที่ 21 ภายใต้บทบาทเดิมดั่งที่เคยมีช่วงยุคก่อนรัฐสมัยใหม่นั้น ในแง่หนึ่งได้สะท้อนให้เห็นถึงความรู้สึกไม่มั่นคงหรือความรู้สึกกังวลใจของพลเมืองในยามที่รัฐประสบความล้มเหลวที่จะทำหน้าที่เป็นผู้พิทักษ์ ชีวิต เสรีภาพ และทรัพย์สินของพลเมืองในรัฐ ตามความคิดของจอห์น ล็อค[24] รวมถึงไม่สามารถจัดหาสาธารณูปโภคอันมีความจำเป็นให้แก่พวกเขาได้ ไม่ว่าจะเป็นระบบไฟฟ้า ชลประทาน สาธารณสุข หรืออื่น ๆ ซึ่งสาเหตุนั้นมาจากหลายปัจจัยด้วยกัน โดยที่หนึ่งในสาเหตุตังกล่าวนั้นคือความบกพร่องด้านการกระจายอำนาจที่ไม่อาจเอื้อให้เกิดการกระจายความเจริญได้

ทั้งนี้อาจกล่าวได้ว่า เนื่องจากว่าที่มาของหลักเกณฑ์ที่อยู่สูงสุดและมีความเป็นทางการในการจัดการและควบคุมความเป็นไปของสังคมอย่างเช่นรัฐธรรมนูญนั้นขาดการมีส่วนร่วมสถาปนาจากพลเมืองอย่างทั่วถึงและแท้จริง จึงส่งผลให้การปฏิบัติงานของภาครัฐที่ดำเนินรอยตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวนั้นไม่อาจสะท้อนถึงเจตจำนงของพลเมืองได้ และไม่อาจดำเนินการจัดหาสวัสดิการรวมถึงสาธารณูปโภคให้แก่พวกเขาได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากแต่มีเป้าประสงค์ที่จะต้องธำรงอำนาจของตนเป็นหลักเพื่อให้ระบบยังสามารถดำเนินต่อไปได้ ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ช่วยสร้างความมั่นคงให้แก่พลเมืองของตนก็ตาม

 

อ้างอิง

[1] David Wootton, The Invention of Science: A New History of the Scientific Revolution (London: Penguin Books, 2016), Introduction.

[2] ศรีเลา เกษพรหม, “ผีของคนเมือง,” ข่วงผญา 10 (2015): 32.

[3] สุจิตต์ วงษ์เทศ, “สุจิตต์ วงษ์เทศ : ผี พราหมณ์ พุทธ ในศาสนาไทย อีกไม่นานก็เหมือนเดิม,” มติชนออนไลน์, 4 ตุลาคม, 2017, https://www.matichon.co.th/education/religious-cultural/news_685501 (เข้าถึงเมื่อ 5 กรกฎาคม, 2021).

[4] ศรีเลา เกษพรหม, “ผีของคนเมือง,” 33.

[5] อ้างแล้ว., 35.

[6] อ้างแล้ว., 38.

[7] อ้างแล้ว.

[8] “ประเพณีบูชาผีฟ้า ผีแถน,” สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดศรีสะเกษ, 21 พฤษจิกายน, 2017, https://www.m-culture.go.th/sisaket/ewt_news.php?nid=961&filename=index (เข้าถึงเมื่อ 8 กรกฎาคม, 2021).

[9] วรรณี พุทธเจริญทอง, “นามานุกรมวรรณคดีไทย: แก้วหน้าม้า,” ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, sac.or.th/databases/thailitdir/detail.php?meta_id=26 (เข้าถึงเมื่อ 8 กรกฎาคม, 2021).

[10] รังสรรค์ จันต๊ะ, “นิทานปลาบู่ทอง,”วรรณกรรมพื้นบ้าน: มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ (กรุงเทพฯ: สำนักงานกิจการโรงพิมพ์ องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกในพระบรมราชูปถัมภ์, 2016), 18.

[11] David Easton, A Systems Analysis of Political Life (New York: John Wiley & Sons, Inc., 1965), 60-61.

[12] วุฒิสาร ตันไชย, การกระจายอำนาจและประชาธิปไตยในประเทศไทย (กรุงเทพฯ: สถาบันพระปกเกล้า, 2014), V.

[13] Hendrik Spruyt, “The Origins, Development, and Possible Decline of the Modern State”, Annual Review of Political Science 5 (2002): 134.

[14] กลุ่มงานกฎหมายและระเบียบท้องถิ่น 1 กองกฎหมายและระเบียบท้องถิ่น สถ., “สรุปสาระสำคัญพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๑๔) พ.ศ. ๒๕๖๒,” http://www.dla.go.th/upload/ebook/column/2019/4/12102_15270.pdf (เข้าถึงเมื่อ 2 สิงหาคม 2021).

[15] อาคม รวมสุวรรณ, “คนไทยยังขับรถแย่ ทำสถิติอุบัติเหตุบนท้องถนนสูงโด่งนำอันดับ 1 ในเอเชียและอาเซียน,” ไทยรัฐออนไลน์, 13 เมษายน, 2021, https://www.thairath.co.th/news/auto/news/2068299 (เข้าถึงเมื่อ 13 กรกฎาคม, 2021).

[16] กระทรวงแรงงาน, “ประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่่า (ฉบับที่ ๑๐),” ราชกิจจานุเบกษา, 2019, เล่ม 136, ตอนพิเศษ 316 ง, กรุงเทพฯ: สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี.

[17] “รายงานการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ปี พ.ศ 2555 – 2562,” กรมกิจการผู้สูงอายุ, 18 ธันวาคม, 2019, http://www.dop.go.th/th/know/side/1/1/274 (เข้าถึงเมื่อ 13 กรกฎาคม, 2021).

[18] “ค่าครองชีพคนไทยสูงสวนทางรายได้!,” TNN Online, 18 พฤศจิกายน, 2019, https://www.tnnthailand.com/news/wealth/21834 (เข้าถึงเมื่อ 13 กรกฎาคม, 2021).

[19] DATA ANALYTICS, “EIC Data Infographic : คนจนเล่นหวย คนรวยเก็บออม,” SCB Economic Intelligence Center, 26 เมษายน, 2019, https://www.scbeic.com/th/detail/product/5723 (เข้าถึงเมื่อ 13 กรกฎาคม, 2021).

[20] อาคีรา, “ขออะไรก็สมหวัง “ไอ้ไข่” วัดเจดีย์ ของหายได้คืน..ยอดขายทะลุเป้า..บันดาลโชคลาภ,” ไทยรัฐออนไลน์, 27 กันยายน, 2020, https://www.thairath.co.th/lifestyle/life/1938088 (เข้าถึงเมื่อ 13 กรกฎาคม, 2021).

[21] สถาบันการเงิน, “หนี้ครัวเรือนปี 2564 ... ทรงตัวสูงต่อเนื่อง ขณะที่โจทย์เฉพาะหน้าคือ เยียวยาลูกหนี้พ้นโควิดรอบใหม่ (มองเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3904),” ศูนย์วิจัยกสิกรไทย, 30 ธันวาคม, 2020, https://kasikornresearch.com/th/analysis/k-econ/financial/Pages/Household-debt-y3904.aspx (เข้าถึงเมื่อ 16 กรกฎาคม, 2021).

[22] สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน,“ภาครัฐกับการเตรียมความพร้อมเข้าสู่สังคมสูงวัย,”วารสารข้าราชการ 60, ฉ. 4 (2018): 5.

[23] กลุ่มงานบริหารข้อมูลและสถิติ กองยุทธศาสตร์และแผนงาน กรมการจัดหางาน, สถิติจัดหางาน 2563 (กรุงเทพฯ: กลุ่มงานบริหารข้อมูลและสถิติ กองยุทธศาสตร์และแผนงาน กรมการจัดหางาน, 2021), 27.

[24] Peter Laslett, ed., Two Treatises of Government (Cambridge: Cambridge University Press, 1999), 323.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท