Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

จากกรณีที่กลุ่มทะลุฟ้าถูกจับกุมตัวหลังจากไปเคลื่อนไหวเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจคืนรถเครื่องเสียงที่ยึดไปจากประชาชนในวันที่วัน 2 สิงหาคม 2564 จากการชุมนุมคาร์ม็อบเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2564 นั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำกำลังควบคุมฝูงชนเข้าสลายการชุมนุมและจับกุมกลุ่มผู้ชุมนุมทั้งหมดด้วยความรุนแรง จากนั้นนำตัวผู้ต้องหากว่า 30 คน ไปควบคุมไว้ที่กองบังคับการตำตรวจตระเวนชายแดนภาค 1 ตลอดการควบคุมตัวนั้นเป็นไปอย่างไม่ชอบด้วยกฎหมาย กักขังหน่วงเหนี่ยวผู้ชุมนุมโดยไม่มีกฎหมายให้อำนาจ ไม่แจ้งข้อกล่าวหา ไม่เเจ้งสิทธิตามกฎหมาย ยึดโทรศัพท์มือถือ ทำให้ผู้ถูกจับกุมทั้งหมดไม่สามารถติดต่อทนายความและบุคคลผู้ไว้วางใจอย่างยิ่งได้ ต่อมาวันที่ 3 สิงหาคม เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เเจ้งข้อกล่าวหา โดยหนึ่งในข้อกล่าวหาที่พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาต่อผู้ชุมนุมคือ ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 139 ‘ข่มขืนใจเจ้าพนักงานให้ปฏิบัติการอนมิชอบด้วยหน้าที่ หรือละเว้นการปฏิบัติการตามหน้าที โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่ว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย’ ซึ่งถือเป็นข้อหาร้ายแรงเกินจริงไปมาก

การชุมนุมเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุมทุกกลุ่ม คือการเรียกร้อง คือการสะท้อนความล้มเหลวของการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา เครื่องมือเดียวที่ภาคประชาชนมีคือการเรียกร้องให้รัฐรับผิดชอบต่อความเสียหายต่อประชาชนผู้ทุกข์ยากในทุกมิติ การกดดันภาครัฐให้ต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของตัวเองนั้น ไม่มีกรณีใดๆ เลยที่ต้องด้วยความผิด “บังคับข่มขืนใจเจ้าพนักงาน” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 139 เพื่อการนี้จำเป็นจะต้องยกองค์ประกอบของความผิดฐานบังคับข่มขืนใจผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 ขึ้นมาเปรียบเทียบให้เห็นภาพ

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 วางหลักไว้ว่า “ผู้ใดบังคับข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด ไม่กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของผู้ถูกข่มขืนใจ หรือโดยใช้กำลังประทุษร้ายจนผู้ถูกข่มขืนใจต้องกระทำการนั้น ไม่กระทำการนั้น หรือยอมจำนนต่อสิ่งนั้น…” จากบทบัญญัติมาตรานี้ ปรากฎองค์ประกอบความผิดดังนี้

- ผู้ใด หมายถึงบุคคล

- บังคับข่มขืนใจ คือการกระทำใดๆ ที่เป็นการใช้อำนาจบังคับ หรือขู่ให้หวาดกลัว โดยแสดงให้เห็นว่าหากขัดขืน     ไม่ยอมทำตาม จะเกิดอันตรายอันใกล้จะถึง ชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียง ทรัพย์สิน

- ผู้อื่น หมายถึงบุคคลที่ผู้กระทำความผิดใช้อำนาจนั้นกระทำต่อ
ซึ่งความผิดตามกฎหมายนี้ จะสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อผู้ถูกกระทำจำยอมกระทำการ/ ไม่กระทำการ/ จำยอมต่อสิ่งที่ผู้กระทำได้ข่มขู่ไว้

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 139 วางหลักไว้ว่า “ผู้ใดข่มขืนใจเจ้าพนักงานให้ปฏิบัติการอันมิชอบด้วยหน้าที่ หรือให้ละเว้นการปฏิบัติการตามหน้าที่โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใเบ้กำลังประทุษร้าย ต้องจำคุกไม่เกินสี่ปี หรือปรับไม่เกินแปดหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

จากบทบัญญัติดังกล่าวกำหนดองค์ประกอบความผิดตามกฎหมายที่ต่างจากบทบัญญัติมาตรา 309 คือ วัตถุแห่งการกระทำหรือผู้ถูกกระทำนั้น จะต้องเป็นเจ้าหน้าที่และการบังคับข่มขืนใจนั้นต้องเป็นไปเพื่อให้เจ้าพนักงานละเมิดกฎหมาย

การที่กลุ่มทะลุฟ้าชุมนุมเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจคืนรถเครื่องเสียงของกลางให้แก่ผู้ต้องหานั้น เป็นเพียงการใช้สิทธิทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 44 ซึ่งเป็นการชุมนุมโดยสงบสันติเเละปราศจากอาวุธเท่านั้น ซึ่งเงื่อนไขของข้อเท็จจริงข้อนี้ ก็ชี้ให้เห็นว่าการชุมนุมของกลุ่มทะลุฟ้า เป็นเพียงการชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจคืนทรัพย์สินของประชาชนตามกฎหมายเท่านั้น เพียงเพราะการจับกุมเเละยึดทรัพย์สินของประชาชนในกรณีดังกล่าวเป็นการจับกุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการใช้อำนาจกฎหมายกลั่นแกล้งประชาชนเพื่อประโยชน์ทางการเมือง เเต่กลุ่มผู้ชุมนุมกลับต้องพบเจอกับการใช้กำลังสลายการชุมนุม พร้อมด้วยการยัดข้อหาร้ายแรงให้กับประชาชน

การตั้งข้อกล่าวหาแก่ผู้ชุมนุมทางการเมืองโดยการเบี่ยงประเด็นแห่งข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นนั้น เดิมทีถือเป็นการใช้กฎหมายปิดปากประชาชนเพื่อเพิ่มภาระความรับผิดทางคดีให้กับประชาชนอยู่เเล้ว เพราะการฟ้องคดีในลักษณะดังกล่าวนี้ เป็นต้นว่าความผิดตาม พ.ร.บ.ความสะอาด, ความผิดตาม พ.ร.บ.ชุมนุม, ความผิดตาม พ.ร.บ.จราจร ฯลฯ เป็นการเบี่ยประเด็นข้อเรียกร้องของผู้ใช้สิทธิทางการเมืองให้ต้องรับภาระทางคดีเพิ่มขึ้น ทั้งต้องเสียอิสรภาพ, เสียทรัพย์สินเงินทอง และเสียเวลาในการต้องต่อสู้คดีเหล่านี้ เพียงเเต่การจงใจเขียนสำนวนเเจ้งข้อกล่าวหาที่เกินเลยไปจากความเป็นจริงในครั้งนี้ ส่งผลให้กลุ่มผู้ชุมนุมต้องแบกรับภาระในการวางหลักทรัพย์ในการประกันตัวเพิ่มขึ้นอีกด้วย เนื่องมาจากความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 139 นั้นมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 4ปี ปรับเกิน 8หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

จากกรณีดังกล่าว ส่งผลให้ศาลให้วางเงินประกันจำนวน 100,000 บาท โดยมีผู้ถูกจับกุมทั้งสิ้น 31 คน คิดเป็นเงินประกันทั้งสิ้น 3.1ล้านบาท

ตามกรณีนี้ถือเป็นการยกระดับการใช้กฎหมายเพื่อปิดปากผู้เห็นต่างทางการเมือง เพราะจากการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่รัฐน่าจะประเมิณสถานการณ์ได้เเล้วว่า เเม้จะมีการจับกุมเเละสั่งฟ้องต่างๆ ก็จะมีการรวมตัวกันของพี่น้องทนายความเพื่อให้ความช่วยเหลือเรื่องคดีความจนได้ประกันตัวทุกครั้ง เเต่ครั้งนี้ดูเหมือนว่าเจ้าหน้าที่รัฐจะเปลี่ยนเป้าหมายของการใช้กฎหมายใหม่มาเป็นการจงใจตั้งข้อหารุนแรง เพื่อใช้เรียกเงินประกันจากกองทุนของกลุ่มกิจกรรมทางการเมืองให้มากขึ้น อย่างเช่นในคดีนี้ การตั้งข้อหาบังคับข่มขืนใจเจ้าพนักงานให้แก่ผู้ชุมนุม สามารถรีดไถเงินประกันจากกองทุนราษฎรได้ถึง 3.1 ล้านบาท

นี่คือปรากฎการณ์การเรียนรู้เเละใช้เทคนิคทางกฎหมายในการกดขี่ประชาชน ผู้เขียนไม่สู้เเน่ใจนักว่าการเรียนรู้เเละปรับยุทธวิธีทางกฎหมายอย่างทรราชเช่นนี้ จะนำพาสถานการณ์บ้านเมืองไปสู่ความขัดเเย้งรุนแรงหรือไม่ เพราะหากเจ้าหน้าที่รัฐมีความบริสุทธิ์ใจในการแก้ปัญหาบ้านเมืองจริงๆ อย่างที่ชอบประกาศผ่านรถขยายเสียงใส่ผู้ชุมนุม ข้าพเจ้าคิดว่าเจ้าหน้าที่รัฐควรที่จะเรียนรู้ปัญหาของประชาชนที่ได้ส่งเสียงสะท้อนออกไปตลอดการเคลื่อนไหวจะเป็นทางออกที่ดีกว่า

ผู้เขียนไม่ขอเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐรับผิดชอบต่อการกระทำดังกล่าว เพราะคิดว่าเจ้าหน้าที่รัฐคงสูญเสียสำนึกเเห่งความเป็นมนุษย์ไปแล้ว เเต่ผู้เขียนอยากจะย้ำเตือนเจ้าหน้าที่รัฐว่า การใช้กฎหมายข่มเหงประชาชนเช่นนี้ ท่านก็จะยิ่งสูญเสียความชอบธรรมในการใช้อำนาจไปเรื่อยๆ เเละจะนำพาบ้านเมืองไปสู่ความโกลาหลในไม่ช้า
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net