Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

บทความนี้เขียนขึ้นด้วยอคติ คือความโน้มเอียงที่จะเชื่อว่า ตำรวจมักใช้ความโหดเหี้ยมต่อประชาชนอยู่เสมอ

อคตินี้ค่อนข้างเป็นสากลทั้งในหมู่ประชาชนและสื่อ คือพบได้ในเกือบทุกประเทศทั่วโลก เพราะตำรวจคือกองกำลังติดอาวุธร้ายแรง ที่มีหน้าที่กำกับควบคุมพฤติกรรมของประชาชนด้วยกำลังที่ตนมี และกระบวนการยุติธรรมหลังการดำเนินคดี ซึ่งโดยทั่วไปก็มักโน้มเอียงจะเชื่อตำรวจ ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานของรัฐด้วยกัน

กองกำลังตำรวจจึงมีอันตรายอย่างสูง และมีแนวโน้มจะโหดเหี้ยม ทั้งในรัฐโง่ๆ และรัฐฉลาดๆ ไม่ต่างจากกัน

ดังนั้นอคติต่อความโหดเหี้ยมของตำรวจ หรือที่เรียกว่า police brutality จึงมีประโยชน์อย่างมาก เพราะมีประชาชนและสื่อคอยจับจ้องปฏิบัติการของตำรวจอย่่างเข้มข้น เพราะสงสัยว่าต้องปฏิบัติด้วยความโหดเหี้ยมนอกอาณาเขตของกฏหมายอย่างแน่นอน จึงพร้อมจะโวยวายให้กลายเป็นเรื่องสาธารณะขนาดใหญ่ อันเป็นเหตุบังคับให้ตำรวจและผู้บังคับบัญชาของตำรวจต้องไต่สวนเป็นสาธารณะให้สิ้นสงสัย หรือลงโทษแก่ตำรวจที่ปฏิบัติการโหดเหี้ยมให้เป็นสาธารณะเช่นกัน

ประวัติของตำรวจไทยหาได้อยู่ในฐานะที่ควรจะปลอดพ้นจากอคตินี้ ตรงกันข้ามด้วยซ้ำ เราอาจลงบัญชีหางว่าวของปฏิบัติการโหดเหี้ยมได้ตั้งแต่เริ่มมีหน่วยงานในลักษณะนี้ในประเทศไทยได้เลย

แต่สื่่อไทยและประชาชนไทยจำนวนหนึ่ง กลับไม่มีอคติดังกล่าว หรืออาจร้ายไปกว่านั้น คือรู้อยู่แล้วว่าตำรวจมักใช้ความโหดเหี้ยมในการปฏิบัติการเสมอ แต่กลับเห็นว่าสมควรแล้วที่ตำรวจพึงกระทำเช่นนั้น โดยเฉพาะกับคนที่ตนเห็นว่าต่ำต้อยไร้ค่า

ดังนั้น ก่อนที่กลุ่มวัยรุ่นในสมรภูมิดินแดงจะถูกตำรวจโจมตีด้วยรถฉีดน้ำผสมแก๊สน้ำตา, กระสุนยาง, การทำร้ายร่างกาย, การถีบรถจักรยานที่กำลังวิ่งให้ล้ม, และการดำเนินคดียิบย่อยไปทุกเรื่อง วัยรุ่นเหล่านี้ได้ถูกสื่อและประชาชนไทยจำนวนหนึ่งโจมตีอย่างรุนแรงมาก่อนแล้ว

แม้แต่ฝ่ายที่สนับสนุนประชาธิปไตย ยังเกรงว่าพวกเขาจะทำให้“เสียขบวน” หาก“ขบวน”ของประชาธิปไตยไม่กว้างพอจะรับคนเหล่านี้เข้ามาร่วมด้วยได้ “ขบวน”ประชาธิปไตยที่กำลังดำเนินอยู่จะมีประโยชน์ต่อทุกคนจริงหรือ

พวกเขาคือใคร เราไม่มีทางจะรู้จักเขาได้จากสื่อ โดยเฉพาะสื่อโทรทัศน์ซึ่งรายงานข่าวได้ฉับไว เพราะนักข่าวเลือกจะยืนอยู่หลังแนวตำรวจ ภาพที่เห็นคือภาพเดียวกับที่ตำรวจมองเห็น ให้ความรู้สึกเดียวกันว่า “ปีศาจ”อันไร้ตัวตนข้างหน้า โยนประทัดยักษ์และ“สิ่งเทียมอาวุธ” (ศัพท์เดียวกับที่ตำรวจใช้เลย ในขณะที่มันคือขวดน้ำ, ก้อนอิฐก้อนหินที่หาได้ใกล้มือ, ลูกหนังสะติ๊ก ซึ่งบางครั้งก็คือหัวน็อตซึ่งมีอันตรายร้ายแรงแก่ผู้ไม่มีเกราะป้องกันอย่างแข็งแรงเช่นคฝ., และก๊าซน้ำตาที่ถูกโยนกลับ) เข้าสู่แนวตำรวจ

พวกเขาเป็นปีศาจ เพราะไม่มีนักข่าวไปยืนอยู่ฝ่ายเขา ระหว่างแนวตำรวจและพวกเขา หรือหลังแนวของพวกเขา นักข่าวพร้อมจะฟังคำสั่งตำรวจที่กำลังปฏิบัติการ เพราะลึกลงไปนักข่าวก็รู้จักความโหดเหี้ยมของตำรวจอย่างดี จึงไม่ต้องการเผชิญกับมันหากไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงาน… อย่าลืมว่านักข่าวก็มีหน้าที่ของตนเอง หากคำสั่งของตำรวจที่กำลังปฏิบัติการทำให้ไม่อาจทำหน้าที่ของตนได้ คำสั่งนั้นยังเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฏหมาย, ความชอบธรรม, และภารกิจของตำรวจที่ต้องให้ความปลอดภัยแก่ประชาชนทุกฝ่ายตามเหตุอันควรด้วยหรือ

จริงอยู่การสัมภาษณ์แบบเจาะลึกกลุ่มวัยรุ่นในขณะเผชิญหน้ากับตำรวจย่อมเป็นไปไม่ได้ แต่หากพยายามทำหน้าที่ของตน นักข่าวสามารถทำความรู้จักและขอนัดหมายสัมภาษณ์ในภายหลังได้ เพื่อให้สังคมได้รู้จักคนเหล่านี้ดีขึ้น ว่าจุดมุ่งหมายที่แท้จริงของเขาคืออะไร การรวมกลุ่มของเขาเกิดขึ้นได้อย่างไร และปฏิบัติการที่แท้จริงของเขามีลักษณะอย่างไรกันแน่

เพื่อตอบปัญหาพื้นฐานเหล่านี้ นักข่าวของสถานีโทรทัศน์ TPBS ใช้วิธีสุดไร้เดียงสาด้วยการไปหาข้อมูลจากกลุ่มบุคคลที่เขาเรียกว่า“ฝ่ายความมั่นคง”ของรัฐ (ผมไม่มีเจตนาจะเจาะจงโจมตีเฉพาะTPBS แต่ผมดูข่าวโทรทัศน์อยู่ช่องเดียว) ก็น่าจะรู้ดีอยู่แล้ว หน่วยข่าวกรองของรัฐนั้นทำงานเพื่อตอบสนองผลประโยชน์และอำนาจทางการเมืองของผู้มีอำนาจในรัฐ ไม่ได้มีการเก็บรวบรวมข้อมูลอย่างกว้างขวางและวิเคราะห์อย่างรู้เท่าทัน เพื่อให้รัฐวางนโยบายที่เหมาะสม

และด้วยเหตุดังนั้น ข้อมูลที่นักข่าว TPBS ได้มาจากฝ่ายความมั่นคงของเขาก็คือ มีมือที่สามหรือกลุ่มบุคคลที่ให้การสนับสนุนกลุ่มวัยรุ่นใน“การก่อความรุนแรง” (โดยไม่ต้องเอ่ยปากถาม“ฝ่ายความมั่นคง”ด้วยว่า นิยามความรุนแรงของพวกเขาคืออะไร)

นี่เป็นนิทานโบราณหลายชั่วโคตรของหน่วยข่าวกรองและ“ฝ่ายความมั่นคง”ไทย ที่คนในอาชีพนักข่าวควรสำเหนียกได้ไม่ยาก ไม่ใช่หรือ คนไทยในทัศนะ“ฝ่ายความมั่นคง”ไม่เคยคิดหรือทำอะไรได้เอง ถ้าไม่มีผู้ยุยงส่งเสริมหรือคุมอยู่เบื้องหลัง

โชคดีที่ในปัจจุบัน มีสื่อทางเลือกแพร่หลาย ทำให้มีนักข่าวจริงและอาสาจำนวนมาก เข้าไปรายงานเกี่ยวกับกลุ่มทะลุแก๊ส เราจึงได้รู้จักว่าเขาคือใคร และตกอยู่ในสถานการณ์อะไรที่ทำให้โกรธได้ถึงเพียงนี้ (แม้ต้องยอมรับว่า รายงานเกี่ยวกับพวกเขาก็ยังไม่พอที่จะกล่าวได้ว่าผู้ให้สัมภาษณ์คือ“ตัวแทน”ของทั้งหมด แต่คงเป็นตัวแทนของคนจำนวนไม่น้อยในกลุ่มอย่างแน่นอน)

เขาคือลูกหลานของคนจนเมือง คนระดับล่างสุดของสังคมเมืองซึ่งเติบโตอย่างรวดเร็วและไร้ทิศทาง บรรพบุรุษของเขาคือผู้ลี้ภัยเศรษฐกิจมาจากชนบท ด้วยเหตุดังนั้น จึงไม่พบใครที่ให้สัมภาษณ์สักคนที่อาศัยอยู่ในบ้านที่ไม่ต้องเสียค่าเช่า  และกว่าจะถึงรุ่นเขา ก็ไม่เหลือเยื่อไยทรัพย์สินใดๆ ที่จะสามารถกลับไปสู่ชนบทได้อีกแล้ว

ครอบครัวของเขา หรือตัวเขาเอง ต้องอาศัยปากกัดตีนถีบ เพื่อแสวงหารายได้จากงานงานรับจ้าง หรือผู้ค้ารายย่อย เพื่อเอาตัวรอด เขาคือด่านหน้าของการกดขี่ขูดรีดทั้งของทุนสามานย์ไทย และรัฐไทย มีการศึกษาที่เป็นทางการน้อยกว่าจะถีบตัวให้หลุดไปจากชะตากรรมเช่นนี้ได้

นี่คือคนไร้พลังที่สุดของสังคมไทย เพราะไม่อาจรวมพลังเพื่อเป็นปากเสียงของตนเอง และไม่มีใครพร้อมจะเป็นปากเสียงให้เขา ยิ่งไปกว่านั้น ยังเจตนาสร้างวัฒนธรรมของการเหยียดย่ำกดขี่ลงไปบนคนกลุ่มนี้อีกด้วย เช่น“เด็กแว้น”, “เด็กสลัม”, “ขาโจ๋”, ฯลฯ อันควรมีสิทธิ์มีเสียงน้อย และอยู่นอกสายตาของสื่อและสังคมทั้งหมด

อย่างน้อยชาวนา, กรรมกร, ลูกจ้างรายวัน, ฯลฯ ยังมีตัวตนเหลืออยู่สำหรับการต่อรอง แต่พวกเขาไม่มีแม้แต่ตัวตน

นี่คือความรุนแรงเชิงโครงสร้าง ซึ่งสื่อไม่เคยสนใจ และด้วยเหตุดังนั้น ก่อนที่พวกเขาจะต้องเผชิญกับความรุนแรงของตำรวจ หรือความโหดเหี้ยมของตำรวจในทุกวันนี้ พวกเขาต้องเผชิญกับความรุนแรงที่กระหน่ำชีวิตอย่างไม่ลดละมาเป็นปีๆ โดยไม่มีสื่อใดร้องแรกแหกกะเชอต่อต้านความรุนแรงดังกล่าวเลย

วิกฤตที่เกิดขึ้นจากการจัดการโรคระบาดอย่างไร้สำนึกของความเป็นคนของรัฐบาล ยิ่งกระหน่ำความรุนแรงเชิงโครงสร้างที่เขาต้องทนรับมาเป็นปีๆ นี้ ให้หนักหนาสาหัสกว่าจะอดทนต่อไปได้

ตัวอย่าง… เด็กบางคนบอกว่า พ่อแม่ของเขาเสียชีวิตหมดด้วยโควิด เหลือตัวคนเดียวที่ไม่รู้จะมีชีวิตต่อไปเพื่ออะไร บางคนบอกว่าพ่อแม่สูญเสียอาชีพค้าขายรายย่อยอย่างสิ้นเชิง เขาเป็นคนเดียวท่ีวิ่งหารายได้เข้าบ้าน ซึี่งได้ไม่ถึงครึ่งของค่าเช่าที่ต้องจ่ายรายเดือน บางคนและอีกหลายคน … ทนลำเค็ญอยู่ในชีวิตท่ามกลางการจัดสรรทรัพยากรสาธารณสุขที่ไร้ความเป็นธรรม

นี่คือเหล่าคนที่ไม่ได้สู้เพื่ออนาคตของตนเอง แต่กำลังสู้เพื่อเอาชีวิตให้รอดในปัจจุบัน และด้วยเหตุดังนั้น จึงโกรธอย่างที่สื่อกระแสหลักไม่เคย“โกรธได้พอ”เลย ยากจะเข้าใจได้

และเพราะโกรธไม่เคยพอเช่นนี้ จึงทนรับฟังคำแถลงของฝ่ายตำรวจประหนึ่งเสนอข้อเท็จจริง โดยไม่สนใจตรวจสอบซักค้าน แม้แต่เมื่อตำรวจประกาศจะงัดเอากฏหมายคุ้มครองเยาวชนมาเอาผิดกับผู้ปกครองของเด็กเหล่านี้ สื่อก็ไม่รู้สึกชะงักงันกับการใช้กฏหมายอย่างฉ้อฉล  ว่าเจตนารมณ์ของกฏหมายฉบับนั้นคือใช้จัดการกับการประท้วงทางการเมืองแน่หรือ ไม่ต่างอะไรกับการใช้กฏหมายอาญาม.๑๑๒-๑๑๖ ที่สร้างอาชญากรขึ้นเต็มบ้านเต็มเมืองมาหลายปีแล้ว

สำนึกกันบ้างเถิดว่า ตราบเท่าที่ประเทศไทยยังจัดสรรทางเศรษฐกิจและการเมือง แบบที่เปิดโอกาสให้คนกลุ่มน้อย เอารัดเอาเปรียบคนส่วนใหญ่ของประเทศอยู่เช่นนี้ คนจนเมืองและลูกหลานของเขากำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว จนในอนาคตอีกไม่ไกล เขาจะเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศนี้ ประชากรที่ถูกความรุนแรงเชิงโครงสร้างกระทำย่ำยี และโกรธอยู่ลึกๆ ในใจตลอดชั่วชีวิต ไม่ว่าจะมีโอกาสโยนประทัดยักษ์, ระเบิดปิงปอง, ยิงลูกหนังสะติ๊ก, ฯลฯ หรือไม่ก็ตาม

แน่นอนว่า เสียงของประทัดยักษ์, ระเบิดปิงปอง, ฯลฯ ไม่ว่าจะโยนกันสักกี่ลูกก็ไม่เคยดังพอที่จะทำให้สังคมฟัง เพราะสื่อกระแสหลักได้แปลงเสียงนั้นให้มีความหมายไปในทาง“ความรุนแรง”เพียงอย่างเดียว (โดยไม่ยอมมอง“ความรุนแรง” ที่กระทบต่อชีวิต, ร่างกายและทรัพย์สินของผู้ประท้องจากฝ่ายตำรวจ หรือร้ายไปกว่านั้นถือเป็นความชอบธรรมในการตอบโต้ไปเลย เพราะไม่เคยมีความอ่อนไหวต่อความโหดเหี้ยมของตำรวจในบรรดาสื่อไทย)

บทวิเคราะห์หลายรายของ TPBS สรุปลงท้ายว่า สถานการณ์ที่ดินแดงอาจนำมาสู่การประกาศกฏอัยการศึก ความหมายในทางปฏิบัติคือระงับสิทธิเสรีภาพทางการเมืองของประชาชนไทย และเปลี่ยนวิธีปราบปรามจากความโหดเหี้ยมของตำรวจ เป็นความโหดเหี้ยมของทหารแทน

แล้วความชอบธรรมของมาตรการนี้ รวมทั้งความชอบธรรมของกฏหมายกฏอัยการศึกคืออะไร TPBS ไม่สนใจบ้างหรือ?

หรือภาพของ“ความรุนแรง”ของ“เด็กแว้น”อันไม่มีตัวตนที่ TPBSเสนอมาตั้งแต่ต้น คือความชอบธรรมของการปราบให้สิ้นซาก ด้วยกำลังทหารและอาวุธที่ร้ายแรงกว่า อันได้ใช้ฆ่าคนไทยมาไม่รู้จะเท่าไรแล้ว

โทรทัศน์ไทยเป็นของรัฐและทุนตลอดมา จนไม่กี่สิบปีมานี้ จึงเกิดการผลักดันให้เรามีโทรทัศน์สาธารณะขึ้น สาระสำคัญไม่ควรอยู่แต่เพียงไม่มีโฆษณา แต่สาระสำคัญของทีวีสาธารณะคือสื่อข่าวของสาธารณชน ซึ่งไม่ใช่รัฐหรือทุน แต่เพราะกฏหมายที่เขียนขึ้นเพื่อจัดตั้งและดำเนินการ ทำให้ TPBS เลือกจะรับใช้รัฐมากกว่าสาธารณชน นับตั้งแต่กรรมการจนถึงผู้บริหารและ บก.ข่าวต่างๆ
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net