Skip to main content
sharethis

ในอินโดนีเซียมีการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลภายใต้การนำของ โจโค วิโดโด ด้วยศิลปะบนท้องถนนอย่างรูปพ่นสีกราฟฟิตีหรือการพิมพ์ลายเสื้อยืด แต่รัฐบาลอินโดนีเซียก็ใช้มาตรการลิดรอนเสรีภาพมากขึ้นเรื่อยๆ  ด้วยการปราบปรามวิธีการใช้ศิลปะวิพากษ์วิจารณ์เหล่านี้

กราฟฟิตีเสียดสีโจโควี  "404: not found" ที่มา: digichat.info

รูปกราฟฟิตีนำเสนอภาพแทนของประธานาธิบดี โจโค วิโดโด หรือที่ผู้คนเรียกกันว่า "โจโควี" มีแถบคาดตาพร้อมกับข้อความว่า "404: not found" (ความผิดพลาดหมายเลข 404 : ไม่พบ) ซึ่งเป็นการแสดงออกเชิงต่อต้านทางการเมืองในอินโดนีเซียที่มีกการลิดรอนเสรีภาพมากขึ้นเรื่อยๆ

ศิลปะบนท้องถนนในอินโดนีเซียหลายเป็นสิ่งที่ทำให้อำนาจทางการรู้สึกขุ่นเคืองจากที่พวกเขามองว่าประธานาธิบดีเป็นเสมือน "สัญลักษณ์ของรัฐ" ทำให้รัฐบาลต้องทาสีทับและตามล่าผู้สร้างผลงานนิรนามรายนี้ กระนั้นการตามล่าของรัฐบาลก็ไม่สามารถหยุดยั้งการต่อต้านจากประชาชนได้ เหตุการณ์นี้ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในอินเทอร์เน็ตและทำให้ผู้คนในอินเทอร์เน็ตหันมาใข้รูปแบบและตำว่า "404: not found" กลายเป็นสิ่งที่นำมาใช้แสดงออกเรียกร้องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในประเทศอินโดนีเซีย

"404: not found" หลังถูกลบออก

รัฐบาลอินโดนีเซียแทนที่จะยอมถอยให้ประชาชนกลับยิ่งพยายามทำลายเสรีภาพพลเมืองมากกว่าเดิมด้วยการไปปราบปรามคนที่ขายเสื้อยืดที่มีข้อความ "404 not found" นี้ ตำรวจไวเบอร์ทำการไต่สวนชายอายุ 29 ในเมืองตูบัน จังหวัดชวาตะวันออก หลังจากที่เขาขายเสื้อพิมพ์ลายนี้ในทวิตเตอร์ของเขา

ในเวลาต่อมาก็มีวิดีโอของคนขายเสื้อที่ถูกจับกุมออกมาขอโทษต่อสาธารณะผ่านบัญชีทวิตเตอร์ @M1_nusaputra ที่น่าจะเป็นของเจ้าหน้าที่ตำรวจไซเบอร์ บัญชีผู้ใช้งานฝ่ายรัฐบาลรายนี้ระบุอีกว่ารูปภาพขนกำแพงหรือบนเสื้อยืดนั้นถือเป็น "การแสดงการดูหมิ่น" ประมุขของรัฐและ "ไม่ได้สะท้อนวัฒนธรรมของพวกเราในฐานะชาวอินโดนีเซีย" รวมถึงมีข้อความในทำนองขู่ว่า "พวกเรากำลังจับตามองคุณ"

ข้อความดังกล่าวนี้กระตุ้นให้เกิดทั้งความกลัวและการวิจารณ์ประณามในโลกออนไลน์ มีการตั้งข้อสังเกตจากสื่อจาการ์ตาโพสต์ว่ากรณีศิลปะบนท้องถนนหรือสตรีทอาร์ต 404 : not found นี้ไม่ใช่ศิลปะชิ้นเดียวที่วิจารณ์โจโควี รัฐบาลของโจโควีในตอนนี้กำลังดิ้นรนที่จะจำกัดผลที่ตามมาของการที่พวกเขาบริหารผิดพลาดในเรื่องวิกฤต COVID-19

งานศิลปะบนท้องถนนชิ้นอื่นๆ ที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลในเรื่องนี้ได้แก่กราฟฟิตีที่พ่นคำว่า "พระเจ้า ฉันหิว" และ "โรคระบาดที่แท้จริงคือความหิวโหย" ในอีกพื้นที่หนึ่งมีการพ่นสีคำว่า "ถูกบีบบังคับให้ต้องสุขภาพดีในประเทศที่ป่วยไข้" ก่อนที่ในเวลาต่อมาข้อความเหล่านี้จะถูกลบ

กราฟฟิตีเหล่านี้ดูเหมือนจะเน้นย้ำให้เห็นถึงการที่รัฐบาลล้มเหลวในการที่จะจัดหาสิ่งที่เป็นความต้องการพื้นฐานของประชาชนผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการล็อกดาวน์ในแบบของอินโดนีเซียที่เรียกว่าการจำกัดกิจกรรมสาธารณะในหลายระดับ (PPKM) ทั้งนี้หลังจากที่อินโดนีเซียต้องเผชิญกับการระบาดของไวรัสสายพันธุ์เดลตาจนทำให้ต้องมีการล็อกดาวน์อย่างยาวนานนั้นคะแนนนิยมของโจโควีลดลงต่ำกว่าร้อยละ 60

นักวิจารณ์การเมืองในอินโดนีเซียกล่าวรัฐบาลว่าหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบในการจัดหาปัจจัยที่เป็นความต้องการพื้นฐานของประชาชนจากการที่พวกเขาใช้วิธีการล็อกดาวน์แบบ PPKM แทนการล็อกดาวน์แบบขนานใหญ่ที่เรียกว่า PSBB ที่ตามกฎหมายการกักบริเวณควบคุมโรคปี 2561 แล้วจะบังคับให้รัฐบาลต้องจัดหารปัจจัยพื้นฐานเหล่านี้

นอกจากนี้ฝ่ายทำเนียบประธานาธิบดียังพยายามลดทอนข้อกล่าวหาต่อต้านปราบปรามเสียงวิพากษ์วิจารณ์โดยอ้างว่าโจโควียอมรับคำวิจารณ์ได้ตราบเท่าที่มันยังเป็นไป "อย่างมีอารยธรรม" เสนาธิการประจำทำเนียบประธานาธิบดีแถลงว่าคำวิจารณ์รัฐบาลควรจะ "มีอารยธรรม" "มีมารยาท" และเป็นไปตาม "มาตรฐานทางวัฒนธรรมของพวกเขา" นอกจากนี้ยังอ้างอีกว่าประธานาธิบดีเปรียบเสมือน "พ่อแม่ของพวกเรา" จึงควรให้ความเคารพ

ซึ่งสิ่งที่ทำเนียบประธานาธิบดีอินโดนีเซียกล่าวอ้างนี้เป็นลักษณะของการโจมตีในเชิงต่อต้านการถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์ที่เรียกว่า "Tone Policing" (การจำกัดควบคุมน้ำเสียงของคนอื่น) ซึ่งเป็นวิธีการแบบตรรกะวิบัติโจมตีการที่ผู้วิพากษ์วิจารณ์ใช้อารมณ์ความรู้สึกแทนที่จะเน้นเรื่องเนื้อหาของผู้วิจารณ์ วิธีการนี้มักจะเป็นข้ออ้างของอภิสิทธิ์ชนในการหลบเลี่ยงการพูดถึงปัญหาโดยอ้างเพียงว่าอีกฝ่ายหนึ่ง "ไม่สุภาพ" หรือ "ไม่มีอารยะ"

โจโควีเองเคยแถลงว่าเขายอมรับคำวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องการล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาหลายเรื่อง และขอบคุณที่ประชาชนให้คำติชมรัฐบาล พร้อมทั้งเรียกร้องให้มีการ "สร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตย" ต่อไป

ถึงแม้ฝ่ายรัฐบาลจะอ้างว่าไม่ได้ปราบปรามผู้วิพากษ์วิจารณ์แต่แค่ "ให้การศึกษา" พวกเขา ฝ่ายนักกิจกรรมก็รู้ดีกว่าสิ่งที่รัฐบาลทำสะท้อนให้เห็นปัญหาการลดน้อยถอยลงของประชาธิปไตยในอินโดนีเซีย ผ่านมาตรการแบบลิดรอนเสรีภาพต่อฝ่ายต่อต้านและกลุ่มนักวิจารณ์ และมองว่าการปราบปรามสตรีทอาร์ทล่าสุดเป็นความต่ำตมระดับใหม่ของประเทศ

องค์กรสิทธิมนุษยชนนานาขาติแอมเนสตีอินเทอร์เนชันแนลวิจารณ์รัฐบาลอินโดนีเซียที่โต้ตอบเกินกว่าเหตุในกรณีกราฟฟิตีว่า การวาดกราฟฟิตีนั้น "เป็นรูปแบบหนึ่งของเสรีภาพในการแสดงออกที่ได้รับการคุ้มครองทั้งภายใต้หลักการสิทธิมนุษยชนนานาชาติและภายใต้กฎหมายของอินโดนีเซียเอง"

วีรยา อดิเวนา รองผู้อำนวยการของแอมเนสตีอินโดนีเซียกล่าวว่า ถ้าหากโจโควีมองว่าคำวิพากษ์วิจารณ์เป็นส่วนสำคัญของชีวิตสาธารณะจริงแบบที่ปราศรัยไว้ เขาก็ควรจะทำให้เจ้าหน้าที่ผู้บังคับกฎหมายเข้าใจในแบบเดียวกันนี้ด้วย ถึงจะเรียกว่าพูดแล้วทำจริงไม่ใช่แค่ลมปาก อดิเวนากล่าวอีกว่าถึงแม้ผู้ถูกจับกุมจะไม่ถูกดำเนินคดีใดๆ แต่การบังคับให้ขอโทษต่อสาธารณะก็กลายเป็นการข่มขวัญคนให้ไม่กล้าแสดงความคิดเห็นในแบบที่ตัวเองคิด

เบกา อูลัง ฮัปซารา กรรมาธิการองค์กรสิทธิมนุษยชนแห่งชาติอินโดนีเซีย (Kommas HAM) กล่าวว่าเจ้าหน้าที่บังคับกฎหมายไม่มีเหตุผลใดๆ ที่ต้องลบข้อความวิจารณ์ประธานาธิบดีออก เพราะข้อความกราฟฟิตีเหล่านี้ไม่ได้เผยแพร่เรื่องโกหกหลอกลวงและไม่ใช่วาจาปลุกปั่นความเกลียดชังต่ออัตลักษณ์ที่เรียกว่า "เฮทสปีช" ต่อกลุ่มเชื้อชาติ ศาสนา หรือกลุ่มทางสังคมใดๆ ดังนั้นแล้วฮัปซาราจึงเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่เลิกลบกราฟฟิตีเหล่านี้และเลิกหาตัวศิลปินกราฟฟิตีเหล่านี้ด้วย

อาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งเมลเบิร์น เอ็ดวิน เจอเรียนส์ กล่าวว่ากราฟฟิตีเป็นสิ่งที่ผูกโยงกัการเมืองอินโดนีเซียมาตั้งแต่ยุคสมัยอาณานิคมแล้ว ในขณะที่การที่เจ้าหน้าที่ไล่จับและปราบปรามคนวาดกราฟฟิตีเหล่านี้จะมองได้ว่าเป็นปัญหาต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น แต่สำหรับในอินโดนีเซียนั้นมันเป็นเสมือน "ส่วนหนึ่งของเกม" ในธรรมชาติของศิลปะกราฟฟิตีที่เป็น "สื่อแบบที่ดำรงอยู่ชั่วคราว" แบบเดียวกับโปสเตอร์โฆษณาหาเสียงทางการเมืองหรือใบปลิวขายสินค้าอื่นๆ

เจอเรียนส์มองว่าในแง่นี้ทำให้การโต้ตอบในแง่ลบกลายเป็นพลวัติหนึ่งในการแสดงออกในที่สาธารณะของศิลปะกราฟฟิตีอินโดนีเซียซึ่งมีการต่อสู้แข่งขันกันระหว่างหลายๆ เสียงเกิดขึ้นโดยที่ไม่มีใครที่สามารถอ้างได้ว่าเป็นผู้ที่พูดแทนคนทั้งหมดในสังคม อย่างไรก็ตามถึงแม้จะมองวัฒนธรรมอินโดนีเซียอย่างเข้าใจแต่เจอเรียนส์ก็ยืนยันว่าเขาไม่อยากให้การเซนเซอร์กลายเป็นบรรทัดฐานที่ถูกทำให้เป็นเรื่องปกติ เพราะมันจะเป็นเรื่องน่าเป็นห่วงถ้าหากศิลปินถูกตั้งเป้าเป็นการส่วนตัวหรือเสรีภาพในการแสดงออกด้านอื่นๆ ทั้งงานสร้างสรรค์และงานข่าวก็จะได้รับกระทบจากการแบนของรัฐบาล

เรียบเรียงจาก

Pandemic street art becomes lastest victim of indonesia's illiberal turn, The Jakarta Post, 20-08-2021

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

https://en.wikipedia.org/wiki/Tone_policing

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net