Skip to main content
sharethis

วันผู้ลี้ภัยโลก ประจำปี 2567 มูลนิธิเสมสิกขาลัย จัดเทศกาลฉายภาพยนตร์ "Myanmar Film Tour 2024" ธีม "คิดถึงบ้าน" หวังบอกเล่าความรู้สึก และสร้างความเข้าใจต่อชีวิตของผู้ลี้ภัยพม่า หลังเข้าสู่ปีที่ 3 รัฐประหารเมียนมา

 

18 มิ.ย. 2567 เนื่องในวันผู้ลี้ภัยสากล ประจำปี 2567 มูลนิธิเสมสิกขาลัย (Spirit in Education Movement - SEM) จัดงานฉายภาพยนตร์ว่าด้วยเรื่องผู้ลี้ภัย "Myanmar Film Tour 2024" ในธีม "Homesick" (คิดถึงบ้าน) ระหว่างวันที่ 6-30 มิ.ย.  2567 ซึ่งมูลนิธิเสมฯ จะตระเวนฉายภาพยนตร์ตามเมืองชายแดน ไม่ว่าจะเป็นเชียงใหม่ ตาก แม่ฮ่องสอน เชียงราย กรุงเทพฯ และระนอง

เมื่อ 6 มิ.ย.ที่ผ่านมา มูลนิธิเสมฯ ได้จัดงานฉายภาพยนตร์กลางแปลงที่หน้าคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ โดยมีภาพยนตร์ไฮไลท์คือ "รอวัน" (Hours of Ours) กำกับโดยผู้กำกับชาวไทย คมน์ธัช ณ พัทลุง ที่ได้ติดตามชีวิตของครอบครัวอิบรอฮิม ผู้ลี้ภัยชาวซูดาน ที่ต้องระหกระเหินลี้ภัยเข้ามาอาศัยในประเทศไทยอย่างหลบๆ ซ่อนๆ เพื่อ ‘รอวัน’ เดินทางต่อไปที่ประเทศที่ 3

นอกจากสารคดีเรื่อง "รอวัน" ภายในงานมีการฉายภาพยนตร์ที่สะท้อนการเมืองไทยอย่าง “อยู่เย็นเป็นตาย” ว่าด้วยเรื่องราวการเมืองไทยตั้งแต่การสลายการชุมนุมแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ปี 2553 จนถึงยุครัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และสะท้อนให้เห็นว่าเรื่องของการเมืองใกล้ตัวมากกว่าที่เราคิด

สารคดี "Women in War" ว่าด้วยเรื่องราวและความรู้สึกของผู้พลัดถิ่นหญิงภายในรัฐกะเหรี่ยง หลังการทำรัฐประหารยึดอำนาจของ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ผู้บัญชาการสูงสุดแห่งกองทัพพม่า เมื่อปี 2564 ผู้กำกับได้สัมภาษณ์ผู้พลัดถิ่นภายในหญิง 3 ราย ซึ่งพวกเธอได้ร่วมบอกเล่าเหตุผลที่พวกเธอต้องมาอาศัยในป่า การคุกคามจากกองทัพพม่า และความรู้สึกนึกคิดของพวกเธอต่ออนาคต และการทำรัฐประหารครั้งล่าสุด

ศิลปะในฐานะเครื่องมือทำงานด้านความรู้สึก

วิชัย จันทวาโร มูลนิธิเสมสิกขาลัย เล่าให้ฟังถึงที่มาที่ไปของเทศกาลภาพยนตร์ว่า เดิมทีนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ทางมูลนิธิฯ จัดงานเทศกาลภาพยนตร์เกี่ยวกับผู้ลี้ภัย เพราะว่าย้อนไปเมื่อปี 2566 มูลนิธิฯ เคยจัดฉายภาพยนตร์ในช่วงครบรอบวันรัฐประหารเมียนมาปีที่ 2 แต่คราวนี้จัดในช่วง 3 ปีหลังรัฐประหารเมียนมา และจัดในช่วงวาระวันผู้ลี้ภัยโลก สถานการณ์ในประเทศเมียนมาก็เดินไปข้างหน้า ก็มีผลงานภาพยนตร์ ประเด็นใหม่ๆ เกี่ยวกับผู้ลี้ภัย ไปจนถึงทิศทางความเป็นไปของประเทศเมียนมา

วิชัย เผยว่า ปกติเสมสิกขาลัยมักใช้ 'ศิลปะ' เป็นเครื่องมือสื่อสารเรื่องราวประเด็นทางสังคมต่างๆ เพราะว่าสำหรับเขา ศิลปะถือเป็น 'ซอฟต์พาวเวอร์' ที่ทรงพลัง อย่างข้อมูลมันมีงานสัมมนาหรือโลกออนไลน์ที่สามารถไปค้นหาได้ แต่การมีข้อมูลไม่ได้ทำให้เรารู้สึกถึงชีวิตคน แต่งานศิลปะมันทำงานด้านนั้น มันทำงานเรื่องความรู้สึก และมีชีวิตคนอยู่ในนั้น เป็นสื่อกลางทำให้เราเข้าใจความรู้สึกคนอื่นๆ มากขึ้น

วิชัย จันทวาโร จากแฟ้มภาพเมื่อปี 2566

อนึ่ง นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มูลนิธิเสมสิกขาลัย ใช้ศิลปะสื่อสารเรื่องราวและสร้างความเข้าใจกับผู้ลี้ภัย ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2566 เสมสิกขาลัยจัดงานนิทรรศการศิลปะ "In-Between" ที่ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร แยกปทุมวัน กรุงเทพฯ  ศิลปะภายในงานสร้างสรรค์โดยกลุ่ม Federal Arts Space โดยผู้เข้าชมสามารถดูและซื้อผลงานของพวกเขาได้ โดยรายได้ส่วนหนึ่งจะนำไปช่วยเหลือผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่นภายในจากสงครามกลางเมืองเมียนมา 

เมื่อช่วงต้นปีนี้ มูลนิธิเสมสิกขาลัย ได้ร่วมจัดนิทรรศการในชื่อ "In Between" อีกครั้ง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานสัมมนาการเมืองพม่า วาระครบรอบ 3 ปี รัฐประหารเมียนมา โดยภายในนิทรรศการมีการจัดแสดงเครื่องมือ เครื่องใช้ และสิ่งของของชาวเมียนมาในพื้นที่สงครามรัฐกะเรนนี เพื่อให้ประชาชนได้รู้สึกและสัมผัสความรู้สึกของผู้ลี้ภัยที่ได้รับผลกระทบจากสงครามกลางเมืองเมียนมาอย่างเป็นรูปธรรม

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

 

ทำไมงานภาพยนตร์ครั้งนี้ถึงบอกเล่าเรื่องความคิดถึงบ้าน

วิชัย กล่าวว่า ธีมเทศกาลภาพยนตร์ครั้งนี้คือ "คิดถึงบ้าน" (Homesick) เพราะเนื่องในวันผู้ลี้ภัยโลก เขาอยากให้ภาพยนตร์สะท้อนความรู้สึกภายในของผู้ลี้ภัย และ ‘ความคิดถึงบ้าน’ เขาคิดว่ามันเป็นความรู้สึกที่คนไทยและพม่าสามารถรู้สึกร่วมกันได้ ไม่ใช่เฉพาะชาวพม่าออกจากบ้านเพราะรัฐประหาร หรือเข้ามาเป็นแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยตั้งแต่ก่อนช่วงโควิด-19 แพร่ระบาดหนัก (พ.ศ. 2564-2565) จนตอนนี้บางคนยังไม่ได้กลับบ้าน แต่รวมถึงคนไทยที่ต้องเดินทางไปต่างประเทศในฐานะแรงงาน หรือเป็นผู้ลี้ภัยการเมือง ซึ่งมันเป็นเรื่องที่ครอบคลุมทุกคน ทุกคนสามารถคิดถึงบ้านมันเป็นเรื่องปกติ อย่างตัวเขาเองก็พอได้ดูภาพยนตร์แล้ว ก็รู้สึกกับตัวเองเหมือนกันว่า เขาไม่ได้กลับไปเยี่ยมที่บ้านมานานแล้วเหมือนกัน

ถึงเวลาทบทวนกฎหมายผู้ลี้ภัยของประเทศไทยหรือยัง

วิชัย เผยว่า เขาอยากให้รัฐไทยทบทวนนโยบายด้านผู้ลี้ภัย ยอมรับการมีอยู่ และคืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้พวกเขา เพราะว่าประเทศไทยปฏิเสธไม่ได้ว่าเราเป็นเหมือนจุดที่ผู้ลี้ภัยเดินทางเข้ามา ทั้งเพื่อรอไปประเทศที่ 3 หรือบางคนก็อยากอยู่ในประเทศไทย แต่เขาอยู่ไม่ได้ เนื่องจากประเทศไทยไม่มีกฎหมายคุ้มครองหรือให้อยู่อาศัยได้ชั่วคราว ซึ่งอาจถึงเวลาที่เราต้องทบทวนเรื่องกฎหมายผู้ลี้ภัยของเราแล้วหรือไม่ ว่าควรเป็นเช่นไร ทำไมผู้แสวงหาที่ลี้ภัยถึงหาได้ยากเย็น ทำไมมีผู้ลี้ภัยหลายคนต้องอาศัยในประเทศไทยเป็นระยะเวลายาวนานก่อนไปประเทศที่ 3 หรือบางรายไม่ทราบว่าจะได้ไปเมื่อไร อย่างเช่น กรณีของชาวอุยกูร์ ที่ติดอยู่ในห้องกักของตำรวจตรวจคนเข้าเมืองไทยมาแล้วกว่า 10 ปี โดยยังไม่ทราบชะตากรรมในอนาคต และช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีชาวอุยกูร์เสียชีวิตระหว่างถูกกักอีกด้วย อันนี้เป็นที่รับรู้ทางสาธารณะว่ามันก็เกิดเหตุการณ์นั้นจริงๆ

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

 

"ต้องถามถึงผู้ออกนโยบาย ผู้ออกกฎหมาย รัฐ รวมถึงผู้บังคับใช้กฎหมายและนโยบายเหล่านี้ เราจะไม่ทำอะไรหน่อยเหรอ อาจจะต้องถึงเวลาที่เราอาจจะต้องมองเรื่องนี้ใหม่ไหมว่า เราไม่ยอมรับผู้ลี้ภัย หรือไม่อยากรับผู้ลี้ภัย เราไม่เคยมีสถานะผู้ลี้ภัย แต่ในความเป็นจริง เราเคยมีไหมที่เราไม่มีผู้ลี้ภัย หรือแค่เราดีใจแค่ตัวเลขทางกฎหมาย หรือตัวเลขทางการที่ผู้ลี้ภัยเป็นศูนย์ … เราไม่ได้คิดว่าที่ผ่านมามันผิด แต่บริบทมันเปลี่ยนไปเยอะ เพราะฉะนั้น อาจจะต้องถึงเวลาที่ต้องกลับมาทบทวนเรื่องนี้ และก็ผมว่าอาจต้องยอมรับความจริง และคืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้ผู้ลี้ภัยในประเทศไทย โดยให้มีสถานะผู้ลี้ภัย" วิชัย กล่าว

ทั้งนี้ ประเทศไทยไม่เคยให้สัตยาบันในอนุสัญญา ว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย ค.ศ. 1951 ซึ่งหากไทยมีการรับอนุสัญญาฯ และเป็นรัฐภาคี ผู้ลี้ภัยจะไม่ถูกกำหนดโทษตามกฎหมายคนเข้าเมืองหรือพำนักอยู่ในไทยอย่างผิดกฎหมาย และจะไม่ถูกผลักดันกลับประเทศต้นทาง

ท้ายสุด วิชัย ระบุว่า หลังจาก่ฉายภาพยนตร์ตามแนวชายแดนเสร็จสิ้นแล้ว ท้ายที่สุด เสมสิกขาลัยจะนำเรื่องราวตามจุดต่างๆ ไปฉายสรุปรวมและพูดคุยกันที่กรุงเทพฯ ซึ่งวันนั้นจะมีการเชิญกรรมาธิการการกฎหมายฯ กรรมาธิการชายแดนฯ เชิญคนที่อยู่กรรมาธิการแรงงาน คนทำงานนโยบายหลายระดับมาร่วมดูภาพยนตร์ พร้อมพูดคุยหาทางออกร่วมกัน และคาดหวังว่ามันจะนำไปสู่การถกเถียงการพูดในสาธารณะ เพื่อจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในอนาคต

บรรยากาศข้อมูลเรื่องเกี่ยวกับผู้ลี้ภัย และการใช้การโจมตีทางอากาศในประเทศเมียนมา หลังรัฐประหารเมื่อปี 2564

หลังจากนี้ เสมสิกขาลัยจะมีกำหนดการจัดงานภาพยนตร์ที่มูลนิธิเสฐียรโกเศศ นาคะประทีป ถ.เจริญนคร กรุงเทพฯ ตั้งแต่ 21-22 มิ.ย. 2567 โดยภายในงานนอกจากจะมีการฉายภาพยนตร์เกี่ยวกับผู้ลี้ภัยหลายเรื่องแล้ว จะมีการเสวนา จำหน่ายอาหาร และการแสดงอื่นๆ หลังจากนั้นจะมีการจัดฉายภาพยนตร์ที่ จ.ระนอง วันที่ 30 มิ.ย. 2567 ปิดท้ายในประเทศไทย

นอกจากเทศกาลภาพยนตร์ในประเทศไทย ทางเสมสิกขาลัยได้ส่งภาพยนตร์ไปฉายที่ต่างประเทศอีก 2 แห่ง ได้แก่ ไต้หวัน ซึ่งเป็นประเทศที่ชาวพม่าจำนวนมากเดินทางไปทำงาน และอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นเพื่อนบ้านอาเซียน เพื่อให้ประเทศอื่นๆ ได้ทราบเรื่องราวของชาวเมียนมามากขึ้น 

หมายเหตุ มีการแก้ไขชื่อ Myanmar Film Festival 2024 เป็นชื่อ "Myanmar Film Tour 2024" เมื่อ 19 มิ.ย. 2567 เวลา 00.15 น.


 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net