Skip to main content
sharethis

นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์เล็งยกระดับสิทธิและการคุ้มครองแรงงานแพลตฟอร์ม หลังพบปัญหาค่าแรงต่ำ ทำงานเสมือนลูกจ้างแต่เข้าไม่ถึงการคุ้มครอง พร้อมให้กระทรวงแรงงานหาแนวทางพัฒนาสวัสดิภาพแรงงานกลุ่มนี้ หวังแรงงานมีอนาคตที่มั่นคง

1 ก.ย. 64 สำนักข่าว The Strait Times รายงานข่าวเมื่อวันที่ 30 ส.ค. 64 ระบุว่า ลี เซียนลุง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ กล่าวเมื่อวันที่ 29 ส.ค. ระบุว่า การขาดสิทธิคุ้มครองการทำงานขั้นพื้นฐานของแรงงานรับ-ส่งอาหารผ่านระบบแพลตฟอร์ม หรือไรเดอร์ กำลังเป็นปัญหาที่ขยายใหญ่ขึ้นในสิงคโปร์ และมอบหมายให้กระทรวงแรงงานศึกษาเพื่อหาแนวทางให้แรงงานกลุ่มนี้มีอนาคตที่มั่นคง  

นอกจากนี้ เขามีความห่วงใยต่อแรงงานโดยเฉพาะกลุ่มแรงงานรายได้น้อย หรือแรงงานระบบแพลตฟอร์ม ซึ่งต้องโหมงานหนัก แต่กลับได้ค่าตอบแทนอันน้อยนิด ไม่คุ้มค่า

บริษัทแพลตฟอร์ม อย่าง Grab foodpanda และ Deliveroo มีการกำหนดการกระจายงานว่างานไหนจะมอบหมายให้ใครเป็นคนทำ และมีข้อกำหนดว่าคนงานต้องปฏิบัติงานอย่างไรบ้าง นอกจากนี้ บ.แพลตฟอร์มมีอำนาจในการลงโทษ เมื่อไรเดอร์ทำงานช้า และสั่งพักงานได้เมื่อพนักงานทำผิดกฎ 

ทั้งนี้ งานวิจัยของ 'Singaporean Consultancy Momentum Works' เผยว่า เมื่อปีที่ผ่านมา มีบริษัทแพลตฟอร์ม 3 เจ้าด้วยกันที่ครองตลาด 'เดลิเวอรี' ในสิงคโปร์ เริ่มที่ Grab และ foodpanda ครองส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ที่ 42% และ 34% ตามลำดับ ขณะที่ Deliveroo บริษัทแพลตฟอร์มจากสหราชอาณาจักร ครองส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 24% ขณะที่ประชาชนหลายพันคนในสิงคโปร์ทำงานให้บริษัทแพลตฟอร์มในสถานะที่เรียกว่า ‘พาร์ตเนอร์’ ไม่ใช่ลูกจ้างของบริษัท

แต่ด้วยความที่ไรเดอร์เหล่านี้ไม่เป็นลูกจ้าง ทำให้พวกเขาเข้าไม่ถึงกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ในรูปแบบเดียวกับที่ลูกจ้างส่วนใหญ่ได้รับ เช่น เงินชดเชยหากบาดเจ็บระหว่างการทำงาน การมีตัวแทนสหภาพ และเงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้แก่คนขับจากนายจ้าง

ทั้งนี้ ลี เซียนลุง กล่าวสุนทรพจน์เนื่องในวันชาติสิงคโปร์เมื่อวันที่ 29 ส.ค.ด้วยว่า "แรงงานเดลิเวอรีมีขึ้นด้วยความตั้งใจ และจุดประสงค์เหมือนกับพนักงาน"

เดิมทีวันชาติของสิงคโปร์ตรงกับวันที่ 9 สิงหาคมของทุกปี แต่เนื่องด้วยสถานการณ์โรคโควิด-19 ที่ระบาดในสิงคโปร์ ทำให้มีการเลื่อนมาในวันดังกล่าว

นายกฯ สิงคโปร์กล่าวเพิ่มว่า แรงงานรับ-ส่งของ หรือไรเดอร์ บ่อยครั้งต้องทำงานภายใต้ความตึงเครียด ด้วยปัยจัยที่พวกเขาไม่อาจคุมได้ เช่น ไรเดอร์อาจทำยอดออเดอร์ได้ไม่ถึงเป้าหมายประจำวัน ทำให้ไม่ได้รับเงินโบนัส เนื่องจากสภาพฝนฟ้าที่อาจไม่เป็นใจ มอเตอร์ไซค์เสียระหว่างทาง และเจอสุนัขดุร้ายระหว่างส่งของ

ไม่ใช่แค่ที่สิงคโปร์ แต่บริษัทแพลตฟอร์มทั่วโลกกำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์ และข้อท้าทายทางกฎหมายในเรื่องการดูแลแรงงานแพลตฟอร์ม ซึ่ง บ.จะเรียกว่าเป็น ‘พาร์ตเนอร์’ และบ่อยครั้ง พวกเขาก็จะเข้าไม่ถึงสิทธิอย่างการได้รับโบนัสประจำปี และการลาป่วย 

บริษัทแพลตฟอร์มขนาดใหญ่บางบริษัท ไม่กี่ปีที่ผ่านมา เริ่มมีการให้สิทธิ์การคุ้มครอง หรือสิทธิประโยชน์ อาทิ การเข้าฝึกอบรมเสริมทักษะ

ยกตัวอย่าง Grab และ Deliveroo มีการให้แรงงานที่ลงทะเบียนทำงานกับแพลตฟอร์มได้รับประกันอุบัติเหตุโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

รายงานที่ผ่านมาเผยว่า แรงงานเดลิเวอรีในสิงคโปร์ได้ค่าส่งต่อรอบอยู่ที่ราว 210-242 บาท ทั้งนี้ รายงานของ iPrice Group เปิดเผยเมื่อวันที่ 3 มิ.ย.ที่ผ่านมา พบว่า เงินเดือนของชาวสิงคโปร์โดยทั่วไปจะได้เฉลี่ยอยู่ที่ 118,075 บาท และค่าครองชีพต่อเดือนเฉลี่ยอยู่ที่ 76,770 บาท

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

จริงหรือไม่? กรุงเทพฯ เป็นเมืองมีค่าครองชีพแพงที่สุดในภูมิภาค 

สภาพการทำงานที่เลวร้ายของแรงงานแพลตฟอร์ม กำลังเป็นปัญหาที่ขยายตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องเมื่อมีคนเข้ามาทำงานในเซ็กเตอร์นี้มากขึ้น และอย่างที่ระบุไปข้างต้น เนื่องด้วยแรงงานกลุ่มนี้ไม่ใช่แรงงานสัญญาจ้าง แต่เป็นแรงงานจ้างทำของ ทำให้พวกเขาไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานอย่างที่ลูกจ้างได้รับ 

ทั้งนี้ สถิติจากกระทรวงแรงงานของสิงคโปร์ เผยว่า มีประชาชนจำนวนมากถึง 228,200 คนเลือกทำงานอิสระในปี 2563 โดยเพิ่มขึ้น 8% จากจำนวนคนที่ทำงานอิสระ 211,000 คนเมื่อปี 2562 .

นายกฯ ลี เซียนลุง เผยด้วยว่า นอกจากรัฐบาลจะไม่ได้ช่วยแค่คนทำงานไรเดอร์เท่านั้น แต่รวมถึงแรงงานรายได้ต่ำในประเภทงานอื่นๆ ซึ่งทำงาน ‘เสมือนลูกจ้าง’ กับแพลตฟอร์มอื่นๆ ด้วย

ลี เซียนลุง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ เมื่อ พ.ศ. 2557

นายกฯ สิงคโปร์กล่าวด้วยว่า แรงงานกลุ่มนี้ต้องทำงานหนักเพื่อจะซื้อบ้าน เข้าถึงการรักษา และสุดท้าย การเกษียณ (หรือก็คือต้องทำงานไปเรื่อยๆ จนแก่เฒ่า)

"ยิ่งมีคนเข้ามาทำงานประเภทนี้มากเท่าไร ปัญหาก็จะยิ่งขยายตัวขึ้น" นายกฯ ลี เซียนลุง กล่าว พร้อมระบุว่า กระทรวงแรงงานกำลังทำการศึกษาเรื่องนี้อยู่ และจะมีการหารืออีกด้วย เราต้องจัดการปัญหาเหล่านี้ เพื่อให้แรงงานมีอนาคตที่มั่นคง

ขณะที่ ตัน ซี เลง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กของตน กล่าวถึงความคิดเห็นของนายกลี ว่า กระทรวงของเขาจะยกระดับความคุ้มครองแก่แรงงานอิสระที่ทำงานในระบบแพลตฟอร์มออนไลน์ และจะมีการตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษา เพื่อให้มั่นใจว่าความสัมพันธ์ระหว่างแรงงานกับแพลตฟอร์มจะเป็นไปอย่างสมดุล ไม่มีใครเอาเปรียบใครได้  

"แรงงานแพลตฟอร์มต้องทำงานเสมือนเป็นลูกจ้าง แต่พวกเขากลับเข้าไม่ถึงการคุ้มครองอย่างที่ลูกจ้างมีสิทธิ์ นี่เป็นข้อกังวลที่สำคัญสำหรับพวกเรา เพราะตอนนี้มีคนทำงานแบบนี้เยอะขึ้น" ข้อความของตัน ซี เลง บนเฟซบุ๊ก 

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ปีกแรงงาน โหยว วัน หลิง โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก ระบุว่า นี่คือก้าวแรกที่สำคัญของกระทรวงแรงงาน ที่ต้องพยายามหาข้อมูลว่ามีปัญหาอะไรส่งผลกระทบต่อแรงงานอิสระเหล่านี้บ้าง 

เธอระบุด้วยว่า ขบวการแรงงานกำลังหาช่องทางการสนับสนุนแรงงานแพลตฟอร์มให้ดียิ่งขึ้น  

อึ้ง ซี เหมง เลขาธิการใหญ่ สภาสหพันธ์แรงงานแห่งชาติ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า ขบวนการแรงงานมีการสนับสนุนความต้องการของแรงงานแพลตฟอร์มอย่างแข็งขัน และเรียกร้องให้บริษัทแพลตฟอร์มมาร่วมทำงานกับทางสภาฯ เพื่อปรับปรุงสภาพการทำงาน ความปลอดภัย รวมถึงการเข้าถึงความคุ้มครองทางการแพทย์และการบาดเจ็บสำหรับแรงงานกลุ่มนี้ 

บริษัท Grab เคยให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว นิเคอิเอเชีย เมื่อวันที่ 30 ส.ค. ต่อกรณีที่นายกสิงคโปร์ออกมาให้ความเห็นดังกล่าว ซึ่งตัวแทนบริษัท Grab ระบุว่าสนับสนุนแนวทางของรัฐบาล และรอคอยที่จะได้หารือร่วมกันในอนาคต

ตัวแทนบริษัทกล่าวเพิ่มด้วยว่า ทางบริษัทมีการเสนอรูปแบบการทำงานที่หลากหลายให้กับไรเดอร์ อาทิ ถ้าคนขับรับ-ส่งสินค้าให้กับผู้ที่กำลังกักตัว หรือรักษาตัวในโรงพยาบาลในช่วงวิกฤติโควิด-19 ก็จะได้เงินพิเศษเพิ่มจากค่ารอบปกติ โฆษกของ Grab เน้นย้ำด้วยว่า คนทำงานแพลตฟอร์ม "มีความพอใจต่อสภาพการทำงานที่มีความยืดหยุ่น ซึ่งเป็นสิ่งที่ลูกจ้างทั่วไปไม่มี" กล่าวคือพวกเขามีอิสระที่จะทำงานหรือหยุดงานเมื่อไรก็ได้ หรือเลือกที่ทำงานให้แพลตฟอร์มไหนก็ได้ ดังนั้น ด้วยแนวทางประสานงาน พร้อมด้วยมาตรฐานร่วมกันทั่วทั้งระบบอุตสาหกรรม (บริษัทแพลตฟอร์ม) จะสามารถช่วยให้มั่นใจว่าคนงานจะได้รับการคุ้มครองและสวัสดิการ ไม่ว่าคนงานจะไปทำงานให้แพลตฟอร์มไหนก็ตาม

เช่นเดียวกับ foodpanda ซึ่งโฆษกของบริษัทให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวนิเคอิเอเชียว่า สวัสดิการของไรเดอร์เป็นเรื่องที่บริษัทให้ความสำคัญเสมอมา และดังนั้น บริษัท foodpanda จึงให้ความช่วยเหลือคนขับในรูปแบบต่างๆ อาทิ การให้เงินอุดหนุนเพื่อทำประกันให้คนขับ 

"ความเป็นจริงคือไรเดอร์จำนวนมากที่ลงทะเบียนทำงานกับบริษัทมักจะทำงานลักษณะชั่วคราว และล็อกอินบนแพลตฟอร์มออนไลน์เป็นช่วงเวลาสั้นๆ เพื่อทำเป็นงานเสริม ...ความพิเศษของงานแพลตฟอร์มคือมีความยืดหยุ่นและอิสระสำหรับไรเดอร์ที่จะเลือกว่า อะไรที่หมาะสมสำหรับไรเดอร์ ก็จะเป็นข้อพิจารณาหลักในการเลือกทำงานของเขา" โฆษก ‘foodpanda’ ระบุ พร้อมกล่าวว่า "foodpanda มีความมุ่งมั่นที่จะทำให้มั่นใจว่าแพลตฟอร์มจะครอบคลุมและเข้าถึงความต้องการของไรเดอร์ทุกคน"

 

แปลและเรียบเรียงจาก

NDR 2021: MOM looking into issue of work benefits and welfare needs of delivery workers

Singapore eyes gig worker welfare in wake-up call for ASEAN startups

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net