COVID-19: 5 ก.ย. 64 ไทยติดเชื้อเพิ่ม 15,452 ราย เสียชีวิต 224 ราย

ศบค. รายงานสถานการณ์ COVID-19 ในไทย ผู้ป่วยใหม่ 15,452 ราย ป่วยสะสม 1,280,534 ราย รักษาหาย 18,257 ราย หายสะสม 1,115,574 ราย เสียชีวิต 224 ราย เสียชีวิตสะสม 12,855 ราย - ผวจ.ภูเก็ต ยอมรับเข้าสู่วิกฤต ติดเชื้อเฉลี่ยต่อวันละกว่า 200 คน - อาสาสมัครสุขภาพภาคประชาชนลุ่มน้ำสาละวิน ระบุมีการระบาดชายแดนไทยพม่าด้าน อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน

5 ก.ย. 2564 ศูนย์ข้อมูล COVID-19 แจ้งพบผู้ติดเชื้อ COVID-19 รวม 15,942 คน ติดเชื้อใหม่ 15,665 คน ในเรือนจำ/ที่ต้องขัง 277 คน ป่วยสะสม 1,280,534 ราย รักษาหาย 18,257 ราย หายสะสม 1,115,574 ราย เสียชีวิต 224 ราย เสียชีวิตสะสม 12,855 ราย

ขณะที่เว็บไซต์ worldometers รายงานสถานการณ์ผู้ติดเชื้อไวรัส COVID-19 แล้ว 220,595,043 คน เสียชีวิต 4,566,224 คน รักษาหาย 197,088,712 คน โดยสหรัฐอเมริกายังมีผู้ติดเชื้อสะสมมากสุด 40,703,674 คน และเสียชีวิตแล้ว 664,935 คน รองลงมาคือ อินเดีย บราซิล รัสเซีย และสหราชอาณาจักร

สมาคมเภสัชกรรมชุมชนเผยวิธีการกระจายชุดตรวจ Antigen test kit ผ่านร้านยาให้กลุ่มเสี่ยงเอาไปตรวจโควิดด้วยตัวเอง

ภญ.ศิริรัตน์ ตันปิชาติ นายกสมาคมเภสัชกรรมชุมชน กล่าวถึงความคืบหน้าการกระจายชุดตรวจ Antigen test kit (ATK) แบบ Self-test จำนวน 8.5 ล้านชุด สำหรับให้ประชาชนนำไปตรวจด้วยตัวเองที่บ้านว่า ในส่วนของช่องทางการกระจายผ่านร้านยานั้น จากการพูดคุยเบื้องต้นกับ สปสช. คือให้ผู้ประสงค์จะรับชุดตรวจ ATK ลงทะเบียนและทำแบบประเมินความเสี่ยงผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตัง โดยสามารถเลือกร้านยาที่จะเข้าไปรับชุดตรวจได้ รวมทั้งอาจ Walk in มาที่ร้านยา ให้ร้านยาประเมินความเสี่ยงและบันทึกข้อมูลเข้ามาในระบบแอปฯเป๋าตังเช่นกัน 

"มีหลายภาคส่วนที่เข้ามากระจายชุดตรวจ ATK ซึ่งร้านยาก็เป็นหนึ่งในนั้น ที่รู้ตอนนี้คือ สปสช.มีร้านยาที่ลงทะเบียนเป็นหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพประมาณ 1,000 ร้านทั่วประเทศ อยู่ใน กทม.ประมาณ 300 ร้าน คนที่ได้รับ ATK จะได้ไปคนละ 2 ชุดสำหรับตรวจครั้งแรกและตรวจซ้ำอีกครั้งเมื่อผ่านไป 5 วัน ส่วนคนที่จะรับชุดตรวจนั้นจะต้องเป็นกลุ่มเสี่ยง เช่น มีคนในที่ทำงานติดเชื้อ แต่ตัวเองยังมีอาการปกติไม่แน่ใจว่าจะได้รับเชื้อด้วยหรือไม่ แบบนี้ก็เข้าข่ายสามารถมารับ ATK ได้" ภญ.ศิริรัตน์ กล่าว  
ทั้งนี้เมื่อทราบผลตรวจแล้ว ผู้ทำการตรวจต้องส่งรูปหรือโทรกลับมาแจ้งที่ร้านยาเพื่อรับคำแนะนำในการแปลผลการตรวจ ในกรณีที่ผลเป็นลบ เภสัชกรจะแนะนำให้กักตัวอยู่บ้านให้ครบ 14 วัน แต่ถ้าผลเป็นบวกก็จะแนะนำให้เข้าระบบการดูแลที่บ้านแบบ Home Isolation และถ้ามีอาการมากก็มีการพูดคุยกันว่าจะให้ร้านยาส่งยาฟาวิพิราเวียร์ไปให้ที่บ้าน อย่างไรก็ดี เรื่องการส่งยาฟาวิพิราเวียร์ต้องรอความชัดเจนอีกครั้ง 

ด้าน นพ.อภิชาติ รอดสม รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ชุดตรวจ ATK จะแจกสำหรับให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยง เช่น มีคนในบ้านเป็น อยู่ในชุมชนแออัด มีการสัมผัสอยู่ใกล้ผู้ติดเชื้อ อยู่ในพื้นที่ระบาด กลุ่มที่ให้บริการผู้อื่น เช่น แม่ค้าในตลาด เป็นต้น โดยคาดว่าจะสามารถกระจายให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงได้ในช่วงกลางเดือนกันยายนนี้  

นพ.อภิชาติ กล่าวว่า ในพื้นที่ กทม. ได้เตรียมไว้ 2 ล้านชุด สำหรับชุมชน 2,000 กว่าชุมชน โดยกระจายให้ศูนย์บริการสาธารณสุขของ กทม. แล้วกระจายต่อให้อาสาสมัครสาธารณสุขหรือ อสส.เอาไปกระจายในชุมชน แต่คนที่รับต้องพิสูจน์ตัวตนผ่านแอปฯเป๋าตังและทำแบบประเมินว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงจริงหรือไม่  

ขณะที่อีกส่วนส่งไปตามต่างจังหวัดโดยเฉพาะจังหวัดสีแดง ผ่านหน่วยบริการ เช่น โรงพยาบาล โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) จากนั้นหน่วยบริการกระจายผ่านอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) หรือให้ประชาชนมารับที่หน่วยบริการก็ได้ แต่ต้องประเมินว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงก่อนรับชุดตรวจ ATK ด้วยเช่นกัน 

"ส่วนที่ 3 กระจายผ่านร้านยาและคลินิกในเครือข่าย สปสช. ประมาณ 1,000 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งอาจให้ผู้รับมารับชุดตรวจที่ร้านยาและลงทะเบียนผ่านเป๋าตัง โดยให้ร้านยาติดตามผลการคัดกรองให้" นพ.อภิชาติ กล่าว

ผวจ.ภูเก็ต ยอมรับเข้าสู่วิกฤต ติดเชื้อเฉลี่ยต่อวันละกว่า 200 คน

เมื่อช่วงค่ำวันที่ 4 ก.ย. 2564 ที่ผ่านมา นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผวจ.ภูเก็ต กล่าวยอมรับในการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดภูเก็ต ครั้งที่ 52/2564 โดยมีส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ใน จ.ภูเก็ต ขณะนี้อยู่ในขั้นวิกฤต เป็นสิ่งที่น่ากังวลมากสำหรับการแพร่ระบาดในพื้นที่ เชื้อได้แพร่กระจายไปทุกหย่อมหญ้า จากการแพร่ระบาดของเชื้อเดลตา เตียงผู้ป่วยที่มีอยู่ใกล้วิกฤติใกล้เต็มทั้งหมดแล้ว ซึ่งสถานการณ์การแพร่ระบาดของ จ.ภูเก็ต ในขณะนี้เหมือนกับการแพร่ระบาดในหลายๆ พื้นที่ ดังนั้นภูเก็ตจะต้องเปลี่ยนวิธีการทำงาน เปลี่ยนมาตรการการควบคุมใหม่ ในการที่จะลดเชื้อให้ลดลงโดยเร็วที่สุด ซึ่งที่ผ่านมาทุกฝ่ายได้พยายามอย่างเต็มที่จะทำอย่างเต็มที่ต่อไป เพื่อสกัดเชื้อภายในพื้นที่ให้ได้รวดเร็วที่สุด ซึ่งต้องยอมรับการสกัดเชื้อภายในยังไม่สามารถทำได้ ในขณะนี้ยังมีการแพร่ระบาดวันละกว่า 200 คน และแพร่ระบาดไปทั่วทุกพื้นที่แล้ว

โดยมีการตรวจหาเชื้อเชิงรุกไปแล้วกว่า 32,000 ราย พบการติดเชื้อกว่า 1,000 ราย เมื่อมีการตรวจมาก พบเชื้อมาก จะต้องวางแผนว่าจะนำผู้ที่ติดเชื้อไปไว้ที่ไหนอย่างไร เพราะขณะนี้เตียงในโรงพยาบาล โรงพยาบาลสนาม ก็ใกล้จะเต็มทั้งหมดแล้ว รวมไปถึงศูนย์ CI เรื่องนี้ทางจังหวัดจะมีการหารือกันอีกครั้งในวันที่ 6 ก.ย.นี้ เพื่อนำผู้ป่วยสีเขียวหรือผู้ป่วยที่ไม่มีอาการให้อยู่ในการดูแลของท้องถิ่น เพื่อกันเตียงไว้สำหรับผู้ป่วยสีเหลืองและสีแดง

ขณะเดียวกันนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ตได้รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตว่า ยังไม่มีแนวโน้มลดลงในช่วงนี้ ยอดผู้ติดเชื้อเฉลี่ยวันละ 250 คน จากการแพร่ระบาดของเชื้อเดลตา และจากการตรวจเชิงรุกในกลุ่มเสี่ยง เช่น การตรวจเชิงรุกพื้นที่ชาวไทยใหม่เกาะแก้ว 245 คน ด้วย ATK พบเป็นบวก 114 คน รวมไปถึงการตรวจเชิงรุกในเรือนจำภูเก็ต ผู้ต้องขังแดน 5 ซึ่งเป็นแดนที่มีการเคลื่อนไหวการเข้า-ออกของนักโทษน้อยมาก ทางโรงพยาบาลวชิระภูเก็ตได้ไปตรวจเชิงรุก ATK มีผลเป็นบวกอีก 199 คน จึงต้องซีลพื้นที่เรือนจำภูเก็ต แต่อย่างไรก็ตามผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเป็นผู้ป่วยที่อยู่ในกลุ่มที่ไม่แสดงอาการ หรือผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวถึง 85% ผู้ป่วยที่มีอาการเล็กน้อยถึงปานลกลางมีประมาณ 12% ที่เหลือเป็นผู้ป่วยอาการหนักที่ต้องอยู่ในห้องไอซียู และอัตราการเสียชีวิต 0.40%

ทั้งนี้เนื่องจากผู้ป่วยในภูเก็ตส่วนใหญ่จะได้รับวัคซีนแล้ว 2 เข็ม ทำให้อาการไม่รุนแรง นอกจากนี้ทางโรงพยาบาลวชิระภูเก็ตได้รายงานสถานการณ์เตียงผู้ป่วยในโรงพยาบาลที่อยู่ในสถานการณ์ที่ใกล้เต็มแล้วทุกโรงพยาบาล เตียงถูกใช้ไปแล้วเกิน 80% ทุกโรงพยาบาล หากจำนวนผู้ติดเชื้อยังเพิ่มสูงขึ้นวันละ 200 กว่าคน เชื่อว่าในเร็วๆ นี้เตียงที่มีอยู่ในโรงพยาบาล โรงพยาบาลสนาม ก็จะเต็มทั้งหมด หรือแม้แต่ Hotel Isolation และ Community Isolation จะเปิดสักกี่แห่งก็เต็มทั้งหมด แม้ว่าทางโรงพยาบาลจะพยายามปรับหอผู้ป่วยทั่วไปเป็นหอผู้ป่วยโควิดก็ตาม ดังนั้นเพื่อให้เตียงที่มีอยู่อย่างจำกัดไว้รองรับผู้ป่วยกลุ่มสีเหลือง ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีอาการ และผู้ป่วยอาการหนัก หรือกลุ่มสีแดง จึงจำเป็นที่จะต้องให้ผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวรักษาตัวอยู่ที่บ้าน Home Isolation โดยการประสานกับทีมแพทย์ในการติดตามอาการ และให้ท้องถิ่น ฝ่ายปกครอง เข้ามาช่วยกันดูแลผู้ป่วยอีกแนวทางหนึ่ง

นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้พิจารณาเห็นชอบให้เปิด Community Isolation ในรูปแบบ Hotel Isolation อีก 2 แห่ง รวม 390 เตียง เปิด Community lsolation รับผู้ติดเชื้อ/ผู้เข้าข่ายติดเชื้อโควิด ที่ศาลาบำเพ็ญกุศลวัดสะปำธรรมาราม เพื่อกักตัวกลุ่มชาวไทยใหม่ในพื้นที่หมู่ที่ 3 ต.เกาะแก้ว อ.เมืองภูเก็ต หลังจากที่มีการตรวจเชิงรุกและพบผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมาก รวมไปถึงมีการพิจารณาสั่งปิดและงดเดินทางเข้า-ออก ชุมชนชาวไทยใหม่ หมู่ 3 ต.เกาะแก้ว อ.เมือง เพื่อเฝ้าระวังและควบคุมการแพร่ระบาดเชื้อโควิดในกลุ่มเสี่ยงจำนวน 144 คน เป็นเวลา 14 วัน ตั้งแต่วันที่ 4-18 ก.ย. 2564 นี้ และให้เปิด Community lsolation ที่เรือนจำจังหวัดภูเก็ต ตั้งแต่วันที่ 4 ก.ย. เป็นต้นไป หลังพบผู้ต้องขังติดเชื้อจำนวนมาก

อาสาสมัครสุขภาพภาคประชาชนลุ่มน้ำสาละวิน ระบุมีการระบาดชายแดนไทยพม่าด้าน อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน

5 ก.ย. 2564 สำนักข่าวชายขอบ รายงานว่านายพงษ์พิพัฒน์ มีเบญจมาศ อาสาสมัครสุขภาพภาคประชาชนลุ่มน้ำสาละวิน เปิดเผยว่า ชุมชนชายแดนไทยพม่าด้าน อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด โดยมีชาวบ้านที่ป่วย สุ่มตรวจด้วยชุดตรวจ ATK แล้วพบการติดเชื้อเกิน 100 ราย แต่จังหวัดกลับยังไม่นับตัวเลขเป็นผู้ติดเชื้อ โดยระบุว่าผู้ที่ยังไม่ผ่านการตรวจยืนยันจากโรงพยาบาล จะไม่ถูกนับรวมเป็นผู้ป่วยของจังหวัด  ซึ่งตนเห็นว่าเป็นไปไม่ได้ที่ชาวบ้านจากหมู่บ้านห่างไกลจะเดินทางลงไปตรวจถึงโรงพยาบาลที่อำเภอโดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนที่ถนนลูกรังมีสภาพเละ และบางหมู่บ้านต้องล่องเรือและต่อรถไปอีก

อาสาสมัครสุขภาพระบุว่า ที่หมู่บ้านสบเมย ต.แม่สามแลบ ชาวบ้านจำนวนมากมีอาการไม่สบาย และมีไข้ โดยเมือเร็วๆ นี้ มีกรณีที่คณะครูเข้ามาปฏิบัติงานในพื้นที่แล้วไม่สบาย เมื่อออกจากหมู่บ้านมาตรวจที่โรงพยาบาลประจำอำเภอจึงพบว่าติดเชื้อโควิด แต่สำหรับชาวบ้านในหมู่บ้านเวลานี้ไม่สบาย เมื่อมีการสุ่มตรวจด้วยชุดตรวจ ATK พบว่ามีผลเป็นบวกมากกว่า 100 ราย แต่จะให้หน่วยงานท้องถิ่น เช่น องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ดำเนินการไปเองเพียงลำพังนั้น คงเป็นไปไม่ได้ จำเป็นต้องมีการดำเนินการและหนุนเสริมจากจังหวัด ซึ่งตอนนี้ยังขาดการตรวจหาเชื้อที่หมู่บ้านสบเมยและหมู่บ้านพะลาอึ ทั้งหมด ซึ่งยังไม่รวมหย่อมบ้านใกล้เคียง เช่น ปู่ทา โกงอคี บุญเลอ และท่าเรือที่บ้านแม่สามแลบ

“อย่างน้อย 3 ชุมชน คือ บ้านห้วยมะโอ บ้านสบเมย บ้านพะละอึ เขต ต.แม่สามแลบ อ.สบเมย เพียงแต่ต้องรอผลตรวจ RT-PCR ยืนยัน ทางจังหวัดจึงยังไม่ได้มีการนับ เป็นตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ของจังหวัด มีเพียงไทม์ไลน์ของคณะครูที่ได้ตรวจยืนยันผลแล้วเท่านั้น ตอนนี้พวกเขาเหมือนถูกปล่อยลอยแพ กักตัวในชุมชน ร่วมกับเจ้าหน้าที่ควบคุมโรค บุคลากรด่านหน้า ที่ต้องทำงานกันอย่างหนักต่อไป จำเป็นที่ต้องมีการตรวจเชิงรุก เพื่อแยกผู้ที่ติดเชื้อออกจากชุมชนและครอบครัว เวลานี้ขาดชุดตรวจ ATK ไม่มี อีกทั้งยังขาดหน้ากากอนามัย ยารักษาอาการ เวลานี้มีบางคนทราบข่าวก็ทยอยส่งหน้ากากอนามัยและยาฟ้าทะลายโจรมาให้ ชาวบ้านมีเฉพาะยาเบื้องต้นซึ่งไม่เพียงพอ ต่างคนต่างก็ดูแลกันไปตามยถากรรมในครอบครัว กลุ่มที่น่าเป็นห่วงคือ ผู้สูงอายุและเด็กเล็ก บางบ้านติดทั้งครอบครัว เด็กเล็กเพียง 2 ขวบไม่สบาย งอแงไม่กินนม แม่ก็ติดเชื้อไม่สบายเช่นกันแต่ก็ต้องดูแลกันไป” อาสาสมัครกล่าว

นายพงษ์พิพัฒน์กล่าวว่า ขณะนี้ชุมชนใน ต.แม่สามแลบ อ.สบเมย ประกาศปิดชุมชน lock down แทบทั้งหมด ห้ามบุคคลเข้า-ออก เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด สิ่งที่ควรทำ คือระดมบุคลากรเข้าไปตรวจหาเชื้อในชุมชนให้เร็วที่สุด เพื่อแยกผู้ติดเชื้อออกให้ชัดเจน  หากชุดเครื่องมือขาดก็ควรระดมจากส่วนกลาง เพราะกรณีนี้ถือว่าเป็นคลัสเตอร์ใหญ่ที่แพร่กระจายในวงกว้าง ทั้งที่เป็นชุมชนชนบทไม่ใช่โรงงาน ตลอดจนการทำความเข้าใจกับชุมชนถึงข้อปฏิบัติและป้องกันตามหลักสาธารณสุข ซึ่งหน่วยงานท้องถิ่น เช่น อบต.แม่สามแลบ ได้นำข้าวสารอาหารแห้งไปส่งให้ครอบครัวที่มีผู้ติดเชื้อ แต่จริง ๆ แล้วผลกระทบเกิดกับทั้งชุมชนเนื่องจากไม่สามารถเดินทางออกไปนอกพื้นที่ได้ ไม่สามารถซื้อหาอาหารจากภายนอกได้

จ.แม่ฮ่องสอน พบผู้ป่วย COVID-19 เพิ่ม 12 ราย เป็นคลัสเตอร์ อ.สบเมย 9 ราย และพื้นที่ใหม่ อ.ปาย 3 ราย

วันเดียวกันนี้ (5 ก.ย.) สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ รายงานว่า นายสิธิชัย จินดาหลวง ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน ในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดแม่ฮ่องสอน เปิดเผยถึงสถานการณ์โรค COVID-19 ของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ว่า ในวันนี้ (5 ก.ย. 2564) มีผู้ได้รับการตรวจหาเชื้อ COVID-19 ทั้งหมด 186 ราย พบเชื้อ 12 รายเป็นผู้ป่วยในจังหวัดทั้งหมด เป็นคลัสเตอร์ อ.สบเมย 9 ราย และพื้นที่ใหม่ อ.ปาย 3 ราย

สรุปสถานการณ์ปัจจุบัน ณ วันที่ 5 ก.ย. 2564 จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีผู้ติดเชื้อ COVID-19 ที่เข้ารับการรักษาในจังหวัด ระลอกเมษายน 2564 จำนวน 311 ราย เป็นเพศชาย 167 ราย (53.7%) เพศหญิง 144 ราย (46.3%) เสียชีวิต 3 ราย(1%)รักษาหายแล้ว 250 ราย(80.4%) ยังอยู่ระหว่างรักษา 58 ราย (18.6%) รักษาอยู่ที่ รพ.ศรีสังวาลย์ 4 ราย รพ.แม่สะเรียง 14ราย รพ.ปาย7ราย CI บ้านสบเมย 1ราย CI ห้วยมะโอ 1 ราย และรพ.สนาม 31ราย เป็นผู้ป่วยที่มีอาการเล็กน้อย 53 ราย ปานกลาง 4 ราย และรุนแรง 1 ราย

ส่วนกรณีพบผู้ป่วยเป็นกลุ่มก้อนในพื้นที่ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน เบื้องต้นได้มีมาตรการควบคุมโรค ห้ามไม่ให้มีการเดินทางเข้าออก 8 หมู่บ้าน ประกอบด้วย บ้านสบเมย บ้านพะละอี บ้านพะคุยแฮ บ้านโกหง่อคี บ้านปู่ทา บ้านกลอเซโล บ้านบุญเลอหลวง-น้อยและ บ้านโตแฮ ซึ่งที่ตั้งของ 8 หมู่บ้าน อยู่ริมแม่น้ำสาละวิน ชายแดนไทย-พม่า ขณะนี้ทีมควบคุมโรคออกตรวจคัดกรองเชิงรุก คัดแยกกลุ่มเสี่ยงในชุมชน เพื่อค้นหาผู้ติดเชื้อเพิ่มเติมในหมู่บ้าน พร้อมทำลายเชื้อในโรงเรียนและในหมู่บ้านสบเมย เร่งรณรงค์ให้ความรู้สุขศึกษา แจกหน้ากากอนามัย เจลล้างมือ และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในหมู่บ้านและพื้นที่ใกล้เคียงมารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด

 

ที่มาเรียบเรียงจาก: Thai PBS | ไทยรัฐออนไลน์ | สำนักข่าวชายขอบ | สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ [1] [2]

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท