Skip to main content
sharethis

ทีดีอาร์ไอออกบทความชี้ปัญหา BTS ยกเลิกตั๋วรายเดือนทำให้ผู้ใช้บริการรับภาระค่าโดยสารสูงขึ้น แต่การคงตั๋วรายเดือนไว้จะเป็นประโยชน์กับ BTS ระยะยาวมากกว่า แต่รัฐบาลควรให้งบประมาณเพื่อเยียวยาแก่ผู้ประกอบการขนส่งมวลชนด้วยเนื่องจากเป็นผลจากมาตรการควบคุมโรคของรัฐ ยกเทียบอังกฤษ-ฮ่องกงที่รัฐบาลมีมาตรการเยียวยาให้

แฟ้มภาพ

14 ก.ย.2564 ดร.สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัย นโยบายด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ และ ภัทราภรณ์ วัฒนผดุงศักดิ์ นักวิจัย นโยบายด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ของ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ออกบทความชี้ปัญหาของการยกเลิกตั๋วเที่ยวรายเดือนของ BTS พร้อมข้อเสนอต่อกรณีดังกล่าว สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 1 ก.ย.2564 ที่ผ่านมา BTS ออกประกาศยกเลิกขายโปรโมชั่นเที่ยวเดินทาง 30 วันทุกประเภทในวันที่ 30 ก.ย.ที่จะถึงนี้ โดยอ้างว่าลูกค้าไม่สามารถวางแผนการเดินทางได้ภายใต้สถานการณ์ของโควิด-19 ที่มีการลดการเดินทางลง

บทความดังกล่าวระบุว่าโปรโมชั่นเที่ยวรายเดือนมี่ประโยชน์กับทั้งผู้ให้บริการอย่าง BTS เองที่ช่วยลดต้นทุนการจัดการความแออัดหน้าสถานีบริเวณที่จำหน่ายตั๋ว และเป็นการเพิ่มแรงจูงใจให้กับผู้ใช้บริการเองที่ค่าโดยสารโดยเฉลี่ยถูกลงเหลือเพียงประมาณ 26 บาท/เที่ยวจะทำให้ผู้โดยสารเพิ่มขึ้นในภาพรวมทำให้รายได้ของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้นในระยะยาว

ในบทความกล่าวถึงสถานการณ์ที่ BTS ได้รับผลกระทบจากรัฐบาลได้ประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตั้งแต่มีนาคม 2563 และห้ามประชาชนออกจากเคหะสถานในเวลากลางคืนเพื่อควบคุมการระบาดของโควิด-19ทำให้ผู้โดยสารลดลงเหลือเพียง 124.9 ล้านคนต่อปีในปี 2563 ลดลงเกือบครึ่งเมื่อเทียบกับปี 2562 ที่ยังไม่มีการระบาด ทำให้รายได้จากค่าโดยสารลดลงเหลือเพียง 3,715 ล้านบาท(ร้อยละ 45.5) ทำให้กองทุน BTSGIF ไม่สามารถจ่ายเงินปันผลได้ในช่วงช่วงต้นปี 2564 และเมื่อการระบาดระลอกที่ 3 มีการประกาศมาตรเข้มงวดสูงสุดก็ทำให้ผู้โดยสารลดลงถึงร้อยละ 44 ในเดือนมิถุนายน 2564 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันในปี 2563 แต่สถานการณ์ดังกล่าวก็ไม่ได้เกิดแต่ในประเทศไทยเท่านั้น

บทความกล่าวถึงมาตราการเยียวยาจากภาครัฐเพื่อลดผลกระทบทางการเงินให้แก่ผู้ประกอบการขนส่งทั้งในอังกฤษและฮ่องกง โดยกรณีแรก ผู้ประกอบการรถไฟใต้ดินในอังกฤษที่ได้รบผลกระทบจากมาตรการควบคุมโรคของรัฐเช่นกันว่าทำให้ผู้โดยสารลดลงถึงร้อยละ 97 หลังจากรัฐบาลประกาศล็อกดาวน์เพียงหนึ่งวัน แต่ทางกระทรวงคมนาคมก็ได้ให้เงินเยียวยาแก่รัฐบาลท้องถิ่นที่รับผิดชอบการเดินรถตั้งแต่ 1 เม.ย.63-11 ธ.ค.64 รวมเป็นเงินกว่า 3.4 ล้านปอนด์

นอกจากนั้นในฮ่องกง ได้จัดตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนบริการขนส่งสาธารณะที่ดำเนินการโดยภาคเอกชนและองค์กรของรัฐอื่น โดยอุดหนุนเป็นค่าใช้จ่ายเชื้อเพลิงเพื่อการเดินรถหรือค่าไฟฟ้าที่ใช้ในเดินรถ รวมถึงชดเชยค่าซ่อมบำรุงและเบี้ยประกันให้แก่ผู้ประกอบการรถไฟที่เป็นเอกชน สำหรับผู้ประกอบการระบบขนส่งมวลชนทางรางที่รัฐบาลฮ่องกงเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ก็ให้เงินคืนร้อยละ 5 สำหรับทุกการเดินทางระหว่างวันที่ 1 เม.ย.64-1 ม.ค.65 โดยคำนวนราคาค่าโดยสารใหม่จากอัตราเงินเฟ้และดัชนีค่าจ้างของผู้ใช้บริการอีกทั้งบริษัทยังคงจ่ายสัมปทานค่าโดยสารมูลค่ากว่า 1.7 พันล้านดอลลาร์ทุกปีอย่างต่อเนื่อง เมื่อรวมมูลค่าการลดค่าโดยสารสำหรับปีและค่าสัมปทาน บริษัทต้องแบกรับค่าใช้จ่ายทั้งสิ้นกว่า 2.6 พันล้านดอลลาร์

บทความสรุปในกรณีของไทย รัฐบาลกลางไม่ได้มีมาตรการเยียวยาให้ผู้ประกอบการระบบขนส่งสาธารณะจากมาตรการป้องกันการระบาดของโรคแต่อย่างใด ส่งผลให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องออกมายกเลิกตั๋วโดยสารรายเดือนเพื่อเพิ่มรายได้เฉลี่ยต่อเที่ยวของการเดินรถทำให้ผู้ใช้บริการต้องรับภาระค่าโดยสารที่สูงขึ้น

“รัฐบาลจึงควรพิจารณาให้งบประมาณเพื่อเยียวยาระบบขนส่งมวลชนสาธารณะโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการเอกชน เพื่อช่วยเหลือภาระทางการเงินของผู้ประกอบการเอกชนให้มีความสามารถที่จะดำเนินธุรกิจต่อได้โดยไม่ผลักภาระเป็นการขึ้นค่าโดยสาร หรือลดการให้บริการซึ่งทำให้ผู้ใช้บริการได้รับความเดือดร้อน อีกทั้งควรมีมาตรการแก้ไขปัญหาสัญญาสัมปทานระบบรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เพื่อให้ได้ค่าโดยสารระบบรถไฟฟ้าที่เป็นตารางค่าโดยสารร่วมทุกเส้นทาง โดยไม่ต้องมีการคิดค่าโดยสารแยกแต่ละเส้นทาง ซึ่งจะเป็นค่าโดยสารที่ส่งเสริมการใช้งานระบบขนส่งมวลชนมากขึ้น อันจะนำมาซึ่งการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในทุกระดับรายได้ให้มีความเสมอภาคในการเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะอย่างสมบูรณ์”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net