Skip to main content
sharethis

นักวิชาการมานุษยวิทยาชี้อคติทางพุทธศาสนาในสังคมไทย เป็นมรดกตกทอดจากการที่สยามปฏิรูปรัฐ ศาสนา และชาติ ไปสู่ความเป็นสมัยใหม่ โดยนำพุทธศาสนามาหลอมรวมกับการสร้างอัตลักษณ์

รับชมคลิปบรรยายเต็มได้ที่ เพจ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร - SAC https://fb.watch/85rCN2fw22/

เมื่อวันที่ 15 ก.ย.ที่ผ่านมา ประกีรติ สัตสุต อาจารย์จากสาขามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บรรยายวิชาการออนไลน์ หัวข้อ “พุทธ-ไทย-คนอื่น: มองอคติและความขัดแย้งทางศาสนาผ่านมุมมองทางมานุษยวิทยา” โดยการบรรยายนี้เป็นส่วนหนึ่งของการบรรยายวิชาการออนไลน์ชุด “อคติในสังคมไทย” จัดขึ้นโดยเพจ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร - SAC 

ประกีรติกล่าวยกปรากฏการณ์ที่เป็นกระแสในช่วงที่ผ่านมาว่าขณะที่มีกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ชื่นชอบการเทศน์ของ2พส. คือพระมหาไพรวัลย์ และพระมหาสมปอง แต่จะมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่ชอบเช่นกันคือทาง ไพบูลย์ นิติตะวัน และศรีสุวรรณ จรรยา ซึ่งมีข้อโตแย้งว่า เป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมของพระสงฆ์ เนื่องจากเป็นการไม่สำรวม อีกทั้งเป็นการสอนศาสนาที่ไม่ได้เป็นไปตามแบบแผนที่เคยทำมา รวมถึงมีความพยายามที่จะจัดการกันเอง ซึ่งกรณีนี้สะท้อนให้เห็นถึงความคาดหวังของคนในสังคมที่จะยกสถานะ และพฤติกรรมของพระสงฆ์ให้อยู่เหนืออะไรบางอย่างในสังคม ซึ่งไม่ต่างกันกับอคติทางศาสนาต่อสิ่งที่พระสงฆ์ควรเป็น ในอีกกรณีหนึ่งคือ อัยย์ เพชรทอง จากองค์กรปกป้องพระพุทธศาสนาเพื่อสันติภาพ(อปพส.) ซึ่งเป็นกลุ่มที่อยู่ในกระแสการต่อต้านชาวมุสลิมในปัจจุบัน ทางกลุ่มนี้มีความชัดเจนในตัวเองโดยประกาศไว้ว่า หน้าที่ของเขาคือการปกป้องพุทธศาสนาจากภัยคุกคามที่เกิดขึ้น ฉะนั้นกลุ่มนี้จะมุ่งสนใจคนที่พวกเขามองว่าคุกคามพุทธศาสนา มากกว่าสนใจฝั่งสอง พส. สิ่งที่น่าสนใจของสองกรณีที่ดูเหมือนต่างกัน และไม่เกี่ยวข้องกัน คือทั้งสองกรณีนี้เป็นการแสดงออกถึงอคติทางศาสนาประการหนึ่ง 

ประกีรติกล่าวต่อถึงข้อเสนอของตนที่ได้จากการศึกษาประเด็นที่นำมาบรรยายคือ อคติทางศาสนาในสังคมไทยเป็นสิ่งที่ผูกผัน-เชื่อมโยงกับกระบวนการทางประวัติศาสตร์ เช่น การสร้างชาติ ในอีกด้านหนึ่งคือการปฏิรูปศาสนา ซึ่งเป็นการสร้างอัตลักษณ์ความเป็นไทยบางอย่างขึ้นมาซึ่งมีทั้งเรื่องชาติพันธุ์ และศาสนา อีกอย่างหนึ่งคือกระบวนการนี้ ไม่ได้ถูกใช้เพื่อกระทำเฉพาะคนที่เป็นอื่นที่แตกต่างอย่างชัดเจน แต่ความเป็นอื่นยังหมายรวมสิ่งที่เกิดขึ้นกับประชากรภายในอย่างคนพุทธกันเองด้วยเช่นกัน งานศึกษาชิ้นนี้ต้องการศึกษากระบวนการทางประวัติศาสตร์ของประเด็นนี้ และสำรวจการทำงานของอคติในประเด็นนี้ในบริบททางประวัติศาสตร์ รวมถึงพยายามทำความเข้าใจมรดก หรือชุดความรู้ต่างๆ เหล่านี้ตกทอดมาถึงปัจจุบันอย่างไรบ้าง

การก่อตัวของพุทธแห่งรัฐสมัยใหม่ 

ประกีรติกล่าวว่าข้อเสนอของเขายึดเอาตามข้อถกเถียงที่เกิดขึ้นในงานชื่อ Buddhist Apologetics ของธงชัย วินิจจะกูล คือการเกิดขึ้นของพุทธแห่งรัฐสมัยใหม่เป็นการสร้างตัวตนทางศาสนาขึ้นมา โดยส่งผลให้เกิดการแบ่งเขา-แบ่งเรา ซึ่งไม่เพียงแต่คนนับถือพุทธศาสนากับคนต่างศาสนา แต่เป็นระหว่างคนนับถือพุทธกันเองด้วยเช่นกัน กระบวนการทางประวัติศาสตร์ในช่วงนี้ที่เกิดขึ้นมีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการเกิดขึ้น รวมถึงดำรงอยู่ของอัตลักษณ์ความเป็นไทยในปัจจุบัน เหตุผลที่กระบวนการดังกล่าวสำคัญเพราะว่ายุคที่สยามกำลังเข้าสู่ยุคการถูกคุกคามโดยการล่าอาณานิคม มีการเริ่มต้นแลกเปลี่ยนความรู้กันอย่างแพร่หลาย รวมถึงกลุ่มชนชั้นนำไทยเองได้แลกเปลี่ยนความรู้ และความเข้าใจต่อโลกซึ่งรับมาจากมิชชั่นนารี ศาสตร์สมัยใหม่ และวิทยาศาสตร์ของโลกตะวันตกมาปรับปรุงความรู้ และความคิดของตนเองเพื่อสร้างตัวตนขึ้นมาใหม่ เพื่อให้เกิดความทันสมัยที่จะนำไปสู่การต่อรองกับชาติอาณานิคม

เงื่อนไขที่สำคัญประการหนึ่งคือ การปฏิรูปศาสนาในสมัยรัชกาลที่ 4 ครั้นตอนทรงผนวชทรงพบว่าศาสนาในยุคของท่านกำลังเสื่อมโทรม ประกอบด้วยวัตรปฏิบัติที่งมงายไร้เหตุผล ไม่มีการสังคายนาคัมภีร์ ผู้รู้ภาษาบาลีมีจำนวนน้อย จึงเป็นสาเหตุหนึ่งให้เกิดการปฏิรูปศาสนา และเกิดนิกายใหม่ คือ ธรรมยุติกนิกายซึ่งท่านมองว่าเป็นนิกายที่บริสุทธิ์ อีกทั้งมีทัศนะการตีความในแนวทางวิทยาศาสตร์ จากนั้นส่งผลให้เกิดวัตรปฏิบัติแบบใหม่แก่พระสงฆ์ตั้งแต่พิธีกรรมการบวช การธำรงวินัยอย่างเคร่งครัด แบ่งหน้าที่อย่างชัดเจนระหว่างพระกับบุคคลทั่วไป รวมถึงเป็นการสร้างให้ศาสนาพุทธมีความเป็นเหตุเป็นผลที่ทำให้มีลักษณะเป็นพุทธแท้มากกว่าพุทธศาสนาในลักษณะอื่น แต่ว่าธรรมยุติกนิกายที่มีลักษณะเป็นนิกายขนาดเล็ก และส่วนใหญ่จะเป็นผู้มีเชื้อพระวงศ์ในนิกาย จะขึ้นมามีอำนาจได้ สิ่งที่เป็นจุดตัดให้เกิดความแตกต่างระหว่างนิกายคือการเกิดขึ้นของอีกนิกายหนึ่ง เรียกว่ามหานิกาย เพื่อสะท้อนสิ่งที่อยู่ตรงข้ามกับธรรมยุติกนิกาย เช่น ความงมงาย ไร้เหตุและผล ไม่มีวัตรปฏิบัติที่ชัดเจนถูกต้องตามวินัยอย่างควรเป็น สิ่งนี้เองเป็นการสร้างลักษณะความเป็นอื่นให้เกิดขึ้นกับผู้นับถือพุทธศาสนาด้วยกันเอง ซึ่งเป็นลักษณะสำคัญของความเป็นพุทธสมัยใหม่ (Modern Buddism) แม้กระบวนการดังกล่าวเป็นการขับเน้นให้เกิดการแบ่งแยก แต่ยังไม่สามารถครอบคลุมทั้งประเทศได้ 

ประกีรติกล่าวต่อว่ากระบวนการที่นำไปสู่การแบ่งแยกที่ครอบคลุมรวมหมดในสยามนั้น เกิดจากการปฏิรูปในรัชสมัยของในหลวงรัชกาลที่ 5 และอีกท่านที่มีส่วนสำคัญอย่างมาก คือ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส โดยพยายามสถาปนาให้ศาสนาพุทธเป็นส่วนหนึ่งของรัฐ สร้างความเป็นปึกแผ่นให้กับพื้นที่ซึ่งมีผู้คนแตกต่างหลากหลายให้รู้สึกมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันภายใต้รัฐเดียวกัน การทำให้ครอบคลุมข้างต้นกระทำผ่านสองลักษณะ คือ หนึ่ง การออกพ.ร.บ.ลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ.121 เป็นการรวมศูนย์การปกครองของคณะสงฆ์ ทำให้คณะสงฆ์เป็นส่วนหนึ่งของระบบราชการ และมีหน่วยย่อยกระจายตามพื้นที่ และสอง การสังคายนาระบบการศึกษา เพื่อสร้างมาตรฐานให้กับระบบความรู้ทางพุทธศาสนา เมื่อสำเร็จการศึกษาจากหลักสูตรก็จะกลายเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐมีหน้าที่นำระบบคุณค่า และระเบียบปฏิบัติไปเผยแพร่แก่ผู้คนตามจังหวัด และมณฑลต่างๆ รวมถึงปกครอง และนำนโยบายจากรัฐไปใช้  อีกทั้งปรับเปลี่ยนให้วัดทำหน้าที่เป็นโรงเรียนเพื่อให้ผู้คนได้รับการหล่อหลอมระบบคุณค่าจากส่วนกลางด้วย

เมื่อคณะสงฆ์คือส่วนหนึ่งของชาติ

ประกีรติชี้ว่าเมื่อเข้าสู่รัชสมัยของในหลวงรัชกาลที่ 6 ท่านทรงพัฒนาความเกี่ยวพันธ์ระหว่างศาสนากับรัฐให้แนบแน่นยิ่งขึ้น โดยเป็นผู้วางแนวทางอุดมการณ์ชาตินิยม และวางพุทธศาสนาเป็นหนึ่งในเสาหลักสำคัญของชาติ ซึ่งปรากฏผ่านสามสถาบันหลักของชาติที่ตั้งขึ้น คือ ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ อีกทั้งยังทรงนำความคิดเหล่านี้ไปเผยแพร่ต่อผ่านการเทศนาเสือป่า ซึ่งเป็นการสร้างตัวตนความเป็นอัตลักษณ์ของความเป็นชาติไทยขึ้น รวมถึงสร้างความเป็นอื่นขึ้นมาด้วยเช่นกัน โดยอัตลักษณ์ความเป็นพุทธที่ปรากฏจะเป็นขั้วตรงข้ามกับคนจีน(เจ๊ก)ที่ถูกมองว่าเป็นพุทธนิกายมหายาน และคนแขก เป็นมุสลิม ซึ่งสองสิ่งนี้เป็นทั้งประเภททางชาติพันธุ์ อีกทั้งเป็นประเภทของศาสนาด้วย จิตสำนึกของชนชั้นนำไทยมีแนวคิดเรื่องศาสนากับความเป็นอื่นอยู่เสมอ และมีความพยายามจะสร้างตัวตนโดยอาศัยการสร้างความเป็นอื่นมาเป็นกลไก 

อาจารย์จากสาขามานุษยวิทยา ระบุอีกว่า ความสำคัญอยู่ตรงที่ว่าการทำความเข้าใจอคติทางศาสนา จำเป็นต้องเข้าใจอคติทางศาสนาเหล่านั้นที่ปรากฏผ่านแบบเรียน คำพูดต่างๆ หรือสิ่งที่ปรากฏในชีวิตประจำวันในปัจจุบัน ไปจนถึงปัญญาชนที่มีแนวคิดราชาชาตินิยม จะพบว่าความคิดเหล่านี้หล่อหลอมสิ่งเหล่านี้ขึ้นมา

อนึ่ง ผู้รายงานสรุปจากการบรรยายของประกีรติได้ว่า ความคาดหวังของผู้คนในสังคมในการยกสถานะของพระให้อยู่เหนืออะไรบางอย่างนั้น ประกอบด้วย มีความคาดหวังต่อพฤติกรรมการแสดงออกของพระสงฆ์ การแสดงออกถึงวิธีปกป้องพุทธศาสนา โดยการมีมุมมองแบ่งแยกผู้นับถือศาสนาอื่น การแบ่งแยกพุทธแท้-พุทธเทียม กับคนที่นับถือศาสนาพุทธด้วยกันเอง รวมไปถึงการยึดมั่นในพุทธศาสนาในฐานะเป็นอัตลักษณ์ของชาติ หรือเป็นส่วนหนึ่งของตัวตน

สำหรับ ธนรัตน์ เขียวลายเลิศ ผู้เขียนรายงานชิ้นนี้ ปัจจุบันเป็นนักศึกษาฝึกงานกับกองบรรณาธิการข่าวประชาไท จาก สาขาวารสารศาสตร์ วิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net