'รุ้ง ปนัสยา' จับมือแอมเนสตี้ฯ ผุดแคมเปญ #FreeRatsadon ล่า 1,500 ชื่อ ยื่นนายกฯ ภายใน ต.ค. นี้

'รุ้ง ปนัสยา' จับมือแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จัดทำแคมเปญ #FreeRatsadon #ปล่อยเพื่อนเรา ล่า 1,500 รายชื่อผ่าน Change.org เรียกร้องให้รัฐหยุดดำเนินคดีที่ไม่เป็นธรรมต่อบุคคลที่ออกมาใช้สิทธิมนุษยชนอย่างสงบ พร้อมชวนลงชื่อในจดหมายเปิดผนึกส่งถึงนายกฯ ตั้งเป้า 6,000 รายชื่อ และชวนเขียนจดหมายให้กำลังใจนักกิจกรรมที่ถูกคุมขังอยู่ในขณะนี้

5 ต.ค. 2564 วันนี้ (5 ต.ค. 2564) เวลา 15.59 น. เพจเฟซบุ๊กแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมโพสต์ข้อความเชิญชวนประชาชนร่วมลงชื่อผ่านเว็บไซต์ Change.org เพื่อเรียกร้องให้รัฐหยุดดำเนินคดีที่ไม่เป็นธรรมต่อบุคคลที่ออกมาใช้สิทธิมนุษยชนอย่างสงบ หลังจากที่วานนี้ (4 ต.ค. 2564) ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง สมาชิกกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมได้แชร์แคมเปญดังกล่าวผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวของเธอ

แคมเปญหยุดดำเนินคดีที่ไม่เป็นธรรมต่อบุคคลที่ออกมาใช้สิทธิมนุษยชนอย่างสงบ #ปล่อยเพื่อนเรา #FreeRatsadon เป็นการร่วมมือกันระหว่างปนัสยาและแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ซึ่งนอกจากการเปิดให้ลงชื่อผ่านเว็บไซต์ Change.org เพื่อล่ารายชื่อประชาชน 1,500 คนแล้ว ยังเปิดให้ประชาชนทั่วไปเขียนจดหมายผ่านแบบฟอร์มออนไลน์ เพื่อให้กำลังใจนักกิจกรรมที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำในขณะนี้ ได้แก่ อานนท์ นำภา หรือทนายอานนท์, จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน, ภานุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์ ระยอง, พริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน และเวหา แสนชนชนะศึก หรือผู้ใช้งานทวิตเตอร์ในนาม ฟ้าฝน ver. เกรี้ยวกราด ซึ่งในขณะนี้ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวแล้วด้วยวงเงินประกันตัว 90,000 บาท ตามรายงานของมติชนออนไลน์ เมื่อวันที่ 2 ต.ค. 2564

ข้อความรณรงค์ในเว็บไซต์ Change.org ซึ่งจัดทำขึ้นโดยปนัสยา ระบุว่า ในช่วงมีการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยที่เริ่มมาตั้งแต่ ก.ค. 2563 จนถึงที่ 4 ต.ค. 2564 ทางการไทยได้ออกหมายจับ ‘ราษฏร’ ที่เป็นแกนนำและนักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตยไปแล้วอย่างน้อยจำนวน 1,190 คน ใน 630 คดี โดยในจำนวนนี้เป็นเยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี อย่างน้อย 223 คน ใน 142 คดี โดยหลายคนถูกดำเนินคดีในข้อหาร้ายแรง และถูกใช้กฎหมายที่คลุมเครือ ไม่เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชน จนดูเหมือนว่านักกิจกรรมจะถูกฟ้องปิดปากและถูกคุกคามเพราะวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลและเรียกร้องประชาธิปไตยอย่างสันติ ซึ่งถ้าหากศาลตัดสินว่ามีความผิดจริงหลายคนอาจได้รับโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี (ข้อมูลเกี่ยวกับคดี อ่านต่อที่นี่)

ในเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา มีสัญญาณที่น่าเป็นห่วงว่าทางการไทยอาจจะใช้อำนาจปราบปรามเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบอย่างเข้มข้นมากขึ้น "ราษฎรผู้ถูกคุมขังในเรือนจำจากการแสดงออกทางการเมือง หรือมีมูลเหตุเกี่ยวข้องกับการเมือง" อย่างน้อย 9 คน ถูกจับกุมและถูกควบคุมตัวระหว่างรอการพิจารณาคดี โดยศาลได้ปฏิเสธไม่ให้ประกันตัว แม้ว่าทนายความพยายามยื่นขอประกันตัวไปหลายครั้ง

สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ไม่เป็นไปตามมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ เพราะศาลได้สั่งให้ฝากขังโดยที่ไม่มีความจำเป็น กระทบต่อเสรีภาพและสุขภาพของราษฎรอย่างร้ายแรง ทั้งๆ ที่ภายใต้หลักนิติรัฐ ราษฎรที่ยังรอคำพิพากษาเหล่านี้ล้วนถือว่ายังเป็นผู้บริสุทธิ์เพราะพวกเขาเป็นเพียงผู้ต้องหา

ในสถานการณ์ปกติ เรือนจำและสถานคุมขังของไทยขึ้นชื่อในเรื่องของความแออัดอยู่แล้ว พอมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็ยิ่งส่งผลให้เชื้อจะแพร่กระจายได้มากกว่าในพื้นที่เปิด มีคนป่วยและเสียชีวิตจำนวนมาก ดังนั้นคำสั่งของศาลอาจถือว่าเป็นการผลักให้ผู้ต้องหาต้องเอาชีวิตไปเสี่ยงกับโรคระบาดโควิด-19 

"รุ้ง" ขอย้ำอีกครั้งว่า สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน การที่รัฐบาลไทยและเจ้าหน้าที่รัฐเอากฎหมายที่คลุมเครือมาจำกัดสิทธิขั้นพื้นฐานนี้เสียเอง จึงขัดกับหลักนิติรัฐ และละเมิดพันธสัญญาของรัฐในการดูแลปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน ภายใต้กติการระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางพลเมืองและสิทธิทางการเมือง

"รุ้ง" ขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทย

  1. หยุดดำเนินคดีที่ไม่เป็นธรรมต่อบุคคลที่ออกมาใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก การชุมนุม ตามสิทธิมนุษยชนอย่างสงบ
  2. ปล่อยตัวคนที่ถูกจับกุมคุมขังโดยพลการ และไม่กำหนดเงื่อนไขการประกันตัวที่มากเกินไปจนจำกัดการใช้สิทธิมนุษยชนอย่างสงบของพวกเขา
  3. เมื่อมีการร้องเรียนและรายงานว่าเจ้าหน้าที่รัฐใช้กำลังจับกุมบุคคล หรือมีการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่รัฐต่อผู้ชุมนุมอย่างไม่ได้สัดส่วนและเกินความจำเป็น ต้องมีการตรวจสอบและสืบสวนอย่างรวดเร็ว ครบถ้วน  เป็นกลาง และโปร่งใส นำตัวบุคคลที่คาดว่าต้องรับผิดชอบเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมที่เป็นธรรม
  4. ออกแนวทางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจให้เป็นตามหลักมาตรฐานสากล ซึ่งรวมถึงหลักการพื้นฐานของสหประชาชาติว่าด้วยการใช้กำลังและอาวุธสำหรับเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย

"ประชาชนทุกคนมีสิทธิที่จะมีชีวิตที่ดีขึ้น ประชาชนมีสิทธิเลือกว่าต้องการให้ประเทศไทยเปลี่ยนไปในทิศทางใด อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนหาใช่เผด็จการศักดินา รุ้งขอให้ประชาชนทุกคนออกมาแสดงพลังร่วมกันผ่านการล่ารายชื่อครั้งนี้ เสียงของพวกเราทุกคนคือพลังอันยิ่งใหญ่ ทุกกลุ่มอำนาจที่มีต้องสยบยอมแก่ข้อเรียกร้องของประชาชน ความหวังของพวกเราอยู่ไม่ไกล ขอเพียงพวกเราเดินหน้าไปพร้อมกัน ส่งเสียงของพวกเราออกมาให้ดัง และเราจะนำเสียงของทุกคนไปยื่นที่ทำเนียบรัฐบาลภายในเดือนตุลาคมนี้ ทุกคนสามารถมีส่วนช่วยเหลือได้ เพียงลงชื่อสนับสนุนแคมเปญ หยุดดำเนินคดีที่ไม่เป็นธรรมต่อบุคคลที่ออกมาใช้สิทธิมนุษยชนอย่างสงบ #ปล่อยเพื่อนเรา"

ไม่มีอำนาจใดในโลกหล้า
ผู้ปกครองต่างมาแล้วสาปสูญ
ไม่มีใครล้ำเลิศน่าเทิดทูน
ประชาชนสมบูรณ์นิรันดร์ไป

เมื่อยืนหยัดต่อสู้ผู้กดขี่
ประชาชนย่อมมีชีวิตใหม่
เมื่อท้องฟ้าสีทองผ่องอำไพ
ประชาชนย่อมเป็นใหญ่ในแผ่นดิน                                         

“รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล

|||
#FREERATSADON #ปล่อยเพื่อนเรา #ปล่อยผู้บริสุทธิ์ #คืนสิทธิการประกันตัว

นอกจากนี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ผู้ร่วมจัดทำแคมเปญนี้ได้เปิดให้ประชาชนทั่วไปร่วมลงชื่อในจดหมายเปิดผนึกผ่านเว็บไซต์ของแอมเนสตี้ฯ ส่งถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีต้องเคารพและปฏิบัติตามหลักกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ เปิดให้ประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็นหรือวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของหน่วยงานของรัฐที่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ปล่อยตัวผู้ที่ถูกควบคุมตัวทั้งหมดโดยทันทีและอย่างไม่มีเงื่อนไข และยุติการดำเนินคดีต่างๆ และคดีอาญาทั้งปวงที่คุกคามผู้ชุมนุม รวมถึงเรียกร้องให้มีการแก้ไขหรือยกเลิกกฎหมาย เพื่อให้สอดคล้องกับพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศของไทย รวมถึงสิทธิในเสรีภาพการแสดงออก การสมาคมและการชุมนุมอย่างสงบ โดยหลังจากรวบรวมรายชื่อได้ครบแล้ว ปนัสยาและแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลประเทศไทย จะนำรายชื่อทั้งหมดไปยื่นต่อนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาลภายในเตือน ต.ค. นี้

สำหรับเนื้อหาในจดหมายเปิดผนึกของทางแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย มีดังต่อไปนี้

เรียน นายกรัฐมนตรี 

ข้าพเจ้าขอแสดงความกังวลอย่างยิ่งที่รัฐบาลของท่าน กำลังเร่งปราบปรามนักกิจกรรมและนักศึกษาคนอื่น ๆ ในประเทศไทยกว่า 400 คน รวมถึงเด็กอย่างน้อย 23 คน ซึ่งถูกตั้งข้อหาและถูกดำเนินคดีทางอาญาเพียงเพราะใช้สิทธิมนุษยชนของตนเอง รวมถึงการใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกเกี่ยวกับการปฏิรูปทางการเมืองและการแก้ไขรัฐธรรมนูญผ่านการชุมนุมอย่างสงบและผ่านโซเชียลมีเดีย

เป็นเรื่องน่าสลดใจที่รัฐบาลของท่านได้ทำการลงโทษประชาชนที่ออกมาใช้สิทธิมนุษยชนของตนเอง รัฐบาลของท่านยังได้สั่งฟ้องและปฏิเสธการให้ประกันตัวแกนนำ 9 คนของกลุ่มราษฎร รวมบุคคลที่ถูกปฏิเสธการให้ประกันตัวเป็นจำนวนอย่างน้อย 19 คน ซึ่งถูกตั้งข้อหาที่มีเนื้อหากำกวม ทั้งข้อหายุยงปลุกปั่นและข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ การปฏิเสธคำร้องขอประกันตัวเป็นการละเมิดสิทธิที่จะได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ และเป็นการขัดต่อพันธกรณีของประเทศไทยภายใต้มาตรา 14 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง การควบคุมตัวนักกิจกรรมและนักศึกษา รวมทั้ง จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ “ไผ่” และแกนนำกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือ “รุ้ง” และพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ “เพนกวิน” เป็นการขัดขวางไม่ให้พวกเขาสามารถเตรียมตัวสำหรับการสอบของมหาวิทยาลัยที่กำลังจะมาถึง สมาชิกของกลุ่มได้ให้รายงานถึงข้อกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยในการควบคุมตัวภายในเรือนจำ

ดังที่ท่านอาจได้ทราบว่า คณะทำงานของสหประชาชาติว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการ พบว่ารัฐบาลของท่านได้จับกุมตัวโดยพลการต่อผู้ต้องสงสัยว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและคุมขังเป็นเวลานานก่อนที่จะมีการพิจารณาคดี โดยคำร้องขอประกันตัวได้ถูกปฏิเสธซ้ำแล้วซ้ำเล่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติและผู้ชำนาญการอื่น ๆ ได้มีข้อเสนอแนะให้ประเทศไทยแก้ไขหรือยกเลิกกฎหมายที่ท่านกำลังใช้เป็นเครื่องมือเพื่อปราบปรามการแสดงความคิดเห็น การวิพากษ์วิจารณ์ที่เห็นต่าง และการเข้าร่วมชุมนุมอย่างสงบ และขอให้ประเทศไทยยุติการฟ้องคดีที่เกี่ยวข้อง 

ข้าพเจ้าจึงขอให้ท่านและรัฐบาลของท่านอนุญาตให้ประชาชนใช้สิทธิมนุษยชนอย่างเต็มที่ รวมถึงอนุญาตให้มีการวิพากษ์วิจารณ์หน่วยงานของรัฐอย่างสอดคล้องตามรัฐธรรมนูญและพันธกรณีของไทยที่มีต่อกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้าพเจ้าขอเรียกร้องให้ท่าน 

  • ปล่อยตัวผู้ที่ถูกควบคุมตัวทั้งหมดโดยทันทีและอย่างไม่มีเงื่อนไข เพื่อให้พวกเขาได้ใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออก การสมาคมและการชุมนุมอย่างสงบ และรอการปล่อยตัวตามเวลาที่เหมาะสมสำหรับมาตรการที่เพียงพอเพื่อรับประกันความปลอดภัยทางกายภาพ
  • ยุติการดำเนินคดีต่างๆ และคดีอาญาทั้งปวงที่คุกคามผู้ชุมนุม และข้อหาอื่นๆ เพียงเพราะใช้สิทธิมนุษยชนของตนเอง
  • แก้ไขหรือยกเลิกกฎหมาย เพื่อให้สอดคล้องกับพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศของไทย รวมถึงสิทธิในเสรีภาพการแสดงออก การสมาคมและการชุมนุมอย่างสงบ

ขอแสดงความนับถือ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท