ประมวลช่วงเช้า รำลึก "45 ปี 6 ตุลา" มธ.เปิดประตูให้จัดงาน-ทนายด่างลั่นจะนำเรื่องไปศาลโลก

ประมวลบรรยากาศกิจกรรมรำลึก 45 ปี เหตุการณ์สังหารหมู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ตัวแทนพรรคการเมือง-ประชาชนตบเท้าเข้าร่วมวางพวงหรีดรำลึกถึงวีรชนคน 6 ตุลา ด้าน 'ทนายด่าง กฤษฎางค์' คณะกรรมการจัดงานในปีนี้ ลั่น จะพยายามนำเรื่อง '6 ตุลา' ขึ้นศาลโลกให้ได้-แม่เพนกวินร่วมเวทีอ่านสุนทรพจน์รับรางวัลจารุพงษ์ ทองสินธุ์ แทนบุตรของตน

6 ต.ค. 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าวันนี้ (6 ต.ค. 2564) เวลาประมาณ 7.00 น. ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีการจัดงานรำลึก "45 ปี 6 ตุลา" โดยพิธีในช่วงเช้าเป็นการทำบุญตักบาตรพระสงฆ์จำนวน 9 รูป ก่อนที่ตัวแทนคณะกรรมการจัดงานจะกล่าวเปิดงาน และมีการวางพวงหรีดเพื่อไว้อาลัยและรำลึกถึงวีรชนที่สละชีวิตในเหตุการณ์สังหารหมู่เมื่อวันที่ 6 ตุลา 2519 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และสนามหลวง

ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศช่วงเช้าก่อนถึงเวลาจัดงานรำลึก "45 ปี 6ตุลา" ว่ามีการวางตู้คอนเทนเนอร์กั้นสนามหลวงและ ถ.ราชินี อีกทั้งยังมีการวางลวดหนามรอบสนามหลวง ส่วนประตูทางเข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ฝั่งหอประชุมใหญ่นั้นเปิดให้เข้าไปด้านในได้ ไม่มีการปิดกั้นแต่อย่างใด โดยมติชนออนไลน์รายงานเพิ่มเติมว่าพลากร จิรโสภณ หนึ่งในคณะกรรมการจัดงานเปิดเผยว่าเมื่อเวลา 00.03 น. ตนได้รับแจ้งจากผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ผ่านแอปพลิเคชันไลน์ทางมหาวิทยาลัยได้รับหนังสือจากกระทรวงกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในเวลาประมาณ 17.30 น. ของวานนี้ (5 ต.ค. 2564) ว่าสามารถจัดงานได้ แต่ต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างเคร่งครัด พร้อมกล่าวขอบคุณทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

ไอลอว์ รายงานเพิ่มเติมว่าเวลา 07.43 น. หลังเสร็จสิ้นกิจกรรมทำบุญตักบาตร ผู้ร่วมกิจกรรมได้ยืนสงบนิ่งเพื่อรำลึกถึงวีรชน 6 ตุลา ต่อมาเวลา 07.52 น. จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ ประธานสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) และหนึ่งใคณะกรรมการจัดงานรำลึก "45 ปี 6 ตุลา" กล่าวว่า ตั้งแต่แรกมหาวิทยาลัยไม่อนุญาตให้จัดงาน ทางทีมจึงมองว่า หากยอมครั้งนี้จะต้องยอมตลอดไป จึงยืนยันที่จัดกิจกรรมในวันนี้ จากนั้นจึงอ่านรายชื่อผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ 6 ตุลา

และในเวลาประมาณ 08.00 น. ชุมาพร แต่งเกลี้ยง หรือวาดดาว นักกิจกรรมเพื่อความหลากหลายทางเพศ ได้ขึ้นเวทีอ่านบทกวีของ 'แซม' ผู้ถูกจองจำในคดี ม.112 ซึ่งมีเนื้อหาเพื่อสดุดีวีรชน 6 ตุลาที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย และวีรชนคนรุ่นใหม่ที่สานต่ออุดมการณ์ประชาธิปไตยในวันนี้ นอกจากนี้ยังอ่านบทกวีของวัฒน์ วรรลยางกูร ผู้ลี้ภัยคดี ม.112 ซึ่งกล่าวถึงพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน ผู้ได้รับรางวัลจารุพงษ์ ทองสินธุ์ ในปีนี้ และมีการขอให้สุรีรัตน์ ชิวารักษ์ มารดาของพริษฐ์ขึ้นมายืนบนเวทีร่วมกัน หลังอ่านบทกวีจบ ชุมาพรขอให้ทุกคนที่มาร่วมงานในวันนี้ปรบมือให้กับสุรีรัตน์และผู้ต้องหาคดีการเมืองที่อยู่ในเรือนจำทุกคน จากนั้นได้เชิญบิดาของจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา และมารดาของกมนเกด อัคฮาด มาร่วมยืนบนเวที ร่วมกันชูสามนิ้ว ท่ามกลางเสียงปรบมือของประชาชนที่มาร่วมงาน

ต่อมาเวลา 8.49 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมยศ พฤกษาเกษมสุข วางพวงหรีดรำลึก "45 ปี 6 ตุลา" ในนามกลุ่มราษฎร ยกเลิก 112 พร้อมราดสีแดงใส่พวงหรีดและตนเอง โดยระบุว่า ม.112 เป็นมรดกของเหตุการณ์ 6 ตุลา และจะมีการชุมนุมรณรงค์ ยกเลิก ม.112 ในวันที่ 31 ต.ค. นี้ที่หน้าหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร แยกปทุมวัน ทั้งนี้ สมยศเปิดเผยกับผู้สื่อข่าวภายหลังว่าสีแดงที่นำมาราดนั้น แท้จริงแล้วเป็นเลือดหมู

 

นอกจากนี้ ยังมีนักการเมืองจากพรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย คณะก้าวหน้า และประชาชนอีกหลายกลุ่มมาร่วมวางพวงหรีดไว้อาลัยและรำลึกในวันนี้ อาทิ กลุ่มพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ตะวันออก กลุ่มสมัชชาคนจน กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม กลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอก คณะประชาชนเพื่ออิสรภาพ (คปอ.) รวมถึงกลุ่มคนเสื้อแดง และณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เป็นต้น

 

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่ากลุ่มเยาวรุ่นทะลุแก๊สส่งพวงหรีดมาร่วมไว้อาลัยและรำลึกถึงการครบรอบ "45 ปี 6ตุลา" ด้วยเช่นกัน โดยทางกลุ่มเล่าว่าเลือกดอกไม้สีขาวเพื่อสื่อถึงประชาชนผู้บริสุทธิ์ และสีแดงหมายถึงเลือด

 

'ทนายด่าง' ลั่น จะนำเรื่อง '6 ตุลา' ขึ้นศาลโลก-แม่เพนกวินอ่านสุนทรพจน์รับรางวัลจารุพงษ์ ทองสินธุ์

หลังเสร็จสิ้นกิจกรรมวางพวงหรีดสดุดีวีรชน 6 ตุลา กฤษฎางค์ นุตจรัส หรือทนายด่าง คณะกรรมการจัดการรำลึก "45 ปี 6 ตุลา" ได้ขึ้นกล่าวปาฐกถาบนเวที เพื่อรำลึกถึงผู้สูญเสียในเหตุการณ์สังหารหมู่ 6 ตุลา 2519 โดยระบุว่าจุดมุ่งหมายของคนเดือนตุลาคือการนำคนกระทำผิดไปขึ้นศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) แม้จะต้องใช้เวลานานแค่ไหนก็ต้องทำ กฤษฎางค์กล่าวว่าภาคีธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศรับรองการพิจารณาคดีเรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และการสังหารหมู่ทางการเมือง แม้ไทยจะไม่เคยให้สัตยาบันต่อสนธิสัญญาดังกล่าว แต่ก็อยู่ในภาคี ซึ่งตนได้ศึกษาข้อมูลอย่างรอบด้านแล้วเห็นว่าพอมีช่องทางให้นำเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาคดีในศาลอาญาระหว่างประเทศได้ จึงจะพยายามอย่างถึงที่สุดเพื่อผลักดันให้เรื่องนี้ไปถึงศาลอาญาระหว่างประเทศหรือศาลโลก

กฤษฎางค์ นุตจรัส
 

ต่อมา เป็นพิธีมอบรางวัลจารุพงษ์ ทองสินธุ์ ประจำปี 2564 ให้แก่ พริษฐ์ โดยมีสุรีรัตน์ผู้เป็นมารดาขึ้นรับรางวัลแทน

สุรีรัตน์ ชิวารักษ์ มารดาของพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน
 

สุรีรัตน์ กล่าวว่า บุตรชายดีใจและซาบซึ้งใจที่ได้รับรางวัลนี้ แต่ไม่สามารถมากล่าวแสดงความยินดีหรือขึ้นรับรางวัลด้วยตนเองได้เนื่องจากถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำเป็นเวลาเกือบ 60 วันแล้ว ตนซึ่งเป็นมารดา จึงขอเป็นตัวแทนอ่านสุนทรพจน์รับรางวัลที่บุตรชายฝากมาจากเรือนจำแทน

"กราบสวัสดีท่านผู้มีเกียรติทุกท่านในวันนี้ ผมได้รับเกียรติเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับรางวัลจารุพงษ์ ทองสินธุ์ประจำปี 2564 เพราะจารุพงษ์ ทองสินธุ์ นอกจากจะเป็นรุ่นพี่นักกิจกรรม นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ของผมแล้ว ยังเป็นผู้หนึ่งที่ได้กระทำการเสียสละเพื่อประชาธิปไตยอย่างถึงที่สุด นั่นคือ การเสียสละชีวิตในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 จึงได้มีการก่อตั้งรางวัลนี้ขึ้นเพื่อมอบแก่ผู้ที่เสียสละเพื่อประชาธิปไตย เช่น จารุพงษ์ ทองสินธุ์ แต่เกียรติภูมิของผมหากจะมีอยู่ก็ไม่อาจเทียบเท่ากับของจารุพงษ์ ทองสินธุ์ และวีรชนคนเดือนตุลาคนอื่นๆ ได้

การรับรางวัลในวันนี้จึงถือว่าเป็นเกียรติอันใหญ่หลวงและก็เป็นความน่าหดหู่ของสังคมนี้ด้วย เพราะการที่เรายังต้องแจกรางวัลจารุพงษ์ ทองสินธุ์นี้อยู่ก็แสดงให้เห็นว่าแม้จารุพงษ์ ทองสินธุ์และเพื่อนพ้องมิตรสหายจะได้เสียสละจนจากเราไปนานกว่า 45 ปีแล้วประเทศนี้ยังคงต้องมีคนเจ็บปวดเสียสละเพื่อประชาธิปไตย มีคนถูกทำร้ายเพราะเรียกร้องประชาธิปไตยไม่ต่างกับในยุคสมัยของจารุพงษ์ ทองสินธุ์

ท่านที่เคารพ ในระหว่างการรับรางวัลนี้ ผมยังถูกจับกุมคุมขังด้วยเหตุแห่งการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ผมเชื่อว่าประสบการณ์อันข่มขืนนี้ เพื่อนร่วมรุ่นของจารุพงษ์หลายท่านอาจได้เคยสัมผัส นี่อาจเป็นการเสียสละอิสรภาพเพื่ออุดมการณ์ แต่ในอีกด้านมันคือความโหดร้ายของรัฐไทยที่จับเอาคนไปจองจำในคุกอันคับแคบเพียงเพราะเขาเหล่านั้นคิดและเชื่อแตกต่างจากที่รัฐสั่ง นอกจากนี้ การคุมขังคนธรรมดาที่มีแค่คำพูด ความคิด ความเชื่อเป็นของตัวเองยังเป็นอาการที่สะท้อนว่าประชาธิปไตยของประเทศเรากำลังติดเชื้อโรคเผด็จการแทรกซ้อนจนอ่อนแอและเปราะบางเป็นอย่างยิ่ง เปราะบางจนกระทั่งไม่อาจอดทนต่อคนที่พูดความจริง จึงต้องปฏิบัติต่อพวกเขาเยี่ยงไพร่ ทาส จำเลย

คนพูดความจริงที่ต้องประสบชะตากรรมเช่นนี้มีมาในหลายยุคหลายสมัย ไม่ว่าจะเป็น กุหลาบ สายประดิษฐ์, จิตร ภูมิศักดิ์, ครูครอง จันดาวงศ์, กลุ่มนักศึกษา 6 ตุลา, ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล และสมยศ พฤกษาเกษมสุข ไปจนถึงใครหลายคนที่ตอนนี้ยังต้องเผชิญชะตากรรมเช่นนั้นอยู่ รวมถึงตัวผมเอง

เช่นนี้เอง จึงเป็นเหตุให้ในขณะนี้ เพื่อนพ้องคนรุ่นใหม่และพี่น้องคนไทยลุกขึ้นต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยทั้งที่คำว่าประชาธิปไตยนั้นเกิดมาตั้งแต่ 24 มิถุนายน 2475 หากแต่ว่านับแต่ปี 2475 เป็นต้นมาเรามีแค่ประชาธิปไตยที่ถูกขังกรงล่ามโซ่ไว้ ยังไม่เคยมีประชาธิปไตยที่มีเสรีภาพสักที ประชาธิปไตยที่เรากำลังต่อสู้เพื่อให้ได้มานี้จะปรากฏในหลายรูปแบบ โดยแต่ละแบบต่างมีรูปลักษณ์ข้อเด่นข้อด้อยแต่ละด้านแตกต่างกัน แต่เสน่ห์ของประชาธิปไตยไม่ว่าจะในรูปแบบใด มีจุดร่วมกัน คือ การยอมรับและอดทนอดกลั้นต่อความเห็นของคนอื่น นานาอารยประเทศที่ปกครองด้วยประชาธิปไตยมองคนเท่ากัน ล้วนต้องเชิดชูบูชาเสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพในการชุมนุม กระทั่งเสรีภาพในการต่อต้านรัฐบาลอย่างสันติมากกว่าสิ่งอื่นใดหรือใคร เพราะโดยเนื้อแท้แล้ว ประชาธิปไตยเป็นกลไกที่ออกแบบไว้ให้กลุ่มความคิดและกลุ่มพลังต่างๆ ได้เชือดเฉือน ขัดแย้งกันโดยไม่ใช้ความรุนแรง

หากเปรียบเทียบก็คือสังเวียนมวยที่ให้ทุกคนขึ้นชก ชิงชนะกันได้ โดยให้ทุกคนใส่นวมและสวมอุปกรณ์ป้องกันไม่ให้บาดเจ็บล้มตาย หลักการใส่นวมต่อยกันนี้ทำให้ประชาชนในประเทศประชาธิปไตยทั้งหลายต้องสามารถออกมาชุมนุมแสดงพลังต่อต้านรัฐบาลที่พวกเขาเห็นว่าเป็นทรราชได้โดยไม่บาดเจ็บล้มตาย รวมถึงสามารถแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล พูดถึงอำนาจและสถาบันต่างๆ ได้โดยไม่ต้องหวั่นเกรงกฎหมายอาญามาตราใด เพราะประเทศเหล่านั้นทราบดีว่าการใช้กำลังกฎหมายและอำนาจเถื่อนปราบปรามความคิดเห็นที่แตกต่างจะเป็นการก่อให้เกิดไฟความคับแค้นสมไว้ในใจผู้ถูกกระทำ จนกลายเป็นชนวนความขัดแย้งให้ไม่จบสิ้น ดังที่ประเทศไทยเผชิญมาในรอบ 10 ปีนี้

หากเราฝันถึงแผ่นดินไทยที่สงบและปราศจากความรุนแรงทางการเมือง เราจะต้องร่วมกันปกป้องสิทธิเสรีภาพทางความคิดของทุกคนทุกฝ่าย โดยเริ่มต้นจากการปลดปล่อยผู้ที่ถูกจองจำด้วยเหตุแห่งความคิด ผู้ที่ถูกกระทำโดยอำนาจเถื่อน รวมถึงยกเลิกกฎหมายที่จำกัดเสรีภาพในการแสดงออกและการเคลื่อนไหวทางการเมืองของประชาชนทุกฉบับ ทุกมาตรา เพื่อให้สังคมไทยสามารถเดินหน้าไปสู่ความยุติธรรม ความสมานฉันท์ และประชาธิปไตยได้

ต่อไปผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการรับรางวัลจารุพงษ์ ทองสินธุ์ในวันนี้ จะช่วยส่งแรงให้ประเทศไทยไม่ต้องมีจารุพงษ์ ทองสินธุ์คนอื่นคนใดขึ้นมาอีก

วันที่ 59 ของการถูกจองจำครั้งที่ 3

พริษฐ์ ชิวารักษ์"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท