Skip to main content
sharethis

คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย เชิดชูเหตุการณ์เดือนตุลาคมในฐานะผู้ร่วมสร้างชาติบ้านเมือง แนะรัฐสร้างพิพิธภัณฑ์การเมืองบันทึกประวัติศาสตร์ นิรโทษกรรมนักโทษการเมืองสร้างความปรองดอง เลขา ครป. ชี้หมดสมัยการโฆษณาชวนเชื่อ เน้น Civic Education ยุติคดีการเมือง รวมพลังนิสิตนักศึกษาสร้างชาติ

 

8 ต.ค.2564 เนื่องในโอกาส 45 ปี 6 ตุลาคม 2519 และ 48 ปี 14 ตุลาคม 2516 คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ฉบับที่ 8/2564 การชำระประวัติศาสตร์และเชิดชูเหตุการณ์เดือนตุลาคม เรียกร้องให้รัฐบาลไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ชำระประวัติศาสตร์ให้เกิดความชัดเจนเพื่อเชิดชูวีรชนประชาธิปไตยและบันทึกฐานะทางประวัติศาสตร์ของประชาชนให้แพร่หลายเพื่อปลูกฝังจิตใจรักความเป็นธรรมและประชาธิปไตยให้แก่ชนรุ่นหลังเหมือนดังนานาอารยประเทศ และสำนึกสิทธิมนุษยชนอย่างเต็มที่และมีพิพิธภัณฑ์ทางการเมืองมากมายเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงและศึกษาโดยไม่ปิดกั้น

โดยมีรายละเอียดดังนี้ : 

แถลงการณ์คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ฉบับที่ 8/2564 การชำระประวัติศาสตร์และเชิดชูเหตุการณ์เดือนตุลาคม (เนื่องในโอกาส 45 ปี 6 ตุลาคม 2519 และ 48 ปี 14 ตุลาคม 2516)

เนื่องในโอกาสครบรอบเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ประชาชน 48 ปี 14 ตุลาคม 2516 และ 45 ปี 6 ตุลาคม 2519 เพื่อรำลึกถึงการลุกขึ้นสู้ของนิสิตนักศึกษาและประชาชนในการเรียกร้องรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตยในวันมหาปิติ จนสามารถขับไล่เผด็จการทหารที่ครองอำนาจมาอย่างยาวนานได้ แต่ประชาธิปไตยไทยเบ่งบานได้ไม่นานเพียง 3 ปี ก็เกิดเหตุการณ์สังหารหมู่กลางเมืองหลวงในวันฆ่านกพิราบและกลายเป็นอาชญากรรมโดยรัฐที่สร้างบาดแผลให้กับสังคมไทยมาอย่างยาวนาน

คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ขอคารวะวีรชนประชาธิปไตยในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ด้วยความรักในมนุษยชาติ เคารพในศักดิ์ศรีแห่งชีวิต ต่อผู้เสียสละและยืนหยัดต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมและอุดมการณ์อย่างยิ่ง เพื่อร่วมเชิดชูเกียรติวีรชนผู้หาญกล้าและสร้างฐานประชาธิปไตยให้กับชนรุ่นหลัง แม้ว่าประวัติศาสตร์สังคมการเมืองไทยที่ผ่านมาจะล้มลุกคลุกคลานในวัฏจักรรัฐประหารที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประชาธิปไตยมาอย่างต่อเนื่อง แต่สังคมไทยยังคงมีความหวัง ตราบใดที่ยังมีผู้ลุกขึ้นต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในสังคม และไม่ยินยอมให้ใครฉ้อฉลอำนาจการเมืองการปกครองเพื่อสร้างระบอบคณาธิปไตยดังเช่นในอดีตอีกต่อไป

ครป. ขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ชำระประวัติศาสตร์ให้เกิดความชัดเจนเพื่อเชิดชูวีรชนประชาธิปไตยและบันทึกฐานะทางประวัติศาสตร์ของประชาชนให้แพร่หลายเพื่อปลูกฝังจิตใจรักความเป็นธรรมและประชาธิปไตยให้แก่ชนรุ่นหลังเหมือนดังนานาอารยประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเกาหลีหรือเยอรมนี ที่มีการจัดการศึกษาทางการเมืองเพื่อพัฒนาพลเมือง (Civic Education) และสำนึกสิทธิมนุษยชนอย่างเต็มที่และมีพิพิธภัณฑ์ทางการเมืองมากมายเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงและศึกษาโดยไม่ปิดกั้น ทั้งนี้เพื่อให้เป็นพื้นฐานสำคัญในการสร้างทรัพยากรมนุษย์อันมีค่ายิ่งในการพัฒนาสังคมประชาธิปไตยร่วมกัน ไม่ให้มีการปลูกฝังจิตสำนึกที่ยอมศิโรราบและยอมจำนนต่ออำนาจนิยมผ่านการโฆษณาชวนเชื่อ (Propaganda) และกลายเป็นเหยื่อของระบอบอำนาจนิยมที่ขาดความรับผิดชอบร่วมต่อสังคม

อาชญากรรมโดยรัฐและการละเมิดสิทธิมนุษยชนในอดีตมักมีการลบล้างความผิดด้วยการนิรโทษกรรมครั้งแล้วครั้งเล่า ได้สร้างความคลุมเคลือและความด่างพร้อยในประวัติศาสตร์ที่ขาดการชำระสะสางอย่างตรงไปตรงมา ทำให้สังคมไทยแบ่งแยกความเชื่อออกเป็น 2 ฝ่าย และก่อให้เกิด "วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด" ของเจ้าหน้าที่รัฐและผู้มีอำนาจที่ก่ออาชญากรรมมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งได้บั่นทอนกระบวนการยุติธรรมไทยและถูกทำให้เป็นการเมือง (Politicized) จนระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของไทยกลายเป็นข้ออ้างของชนชั้นผู้ปกครองที่กระหายอำนาจมาหลายยุคหลายสมัย ทำให้อธิปไตยของปวงชนชาวไทยไม่สามารถแสดงผ่านทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาลได้ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ

นอกจากนี้ รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พึงต้องใช้เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ประชาชนเดือนตุลาคม เป็นอุทาหรณ์ในการบริหารราชการแผ่นดินและรับใช้ประชาชนนับจากนี้เป็นต้นไป เพื่อให้เกิดการปรองดองทางสังคม ไม่ให้เกิดความขัดแย้งทางการเมืองที่ลุกลามขยายตัวในวงกว้าง จนนำไปสู่ความรุนแรงจากการฉ้อฉลอำนาจ ยังผลให้เกิดการบาดเจ็บล้มตายจำนวนมากอีก จึงจำเป็นที่จะต้องสร้างบรรทัดฐานที่ถูกต้อง และมาตรการที่มีประสิทธิภาพให้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง โดยให้รัฐต้องเยียวยา และชดใช้ความเสียหายแก่ญาติวีรชนนอกจากการเยียวยาปกติ ทั้งเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516, 6 ตุลาคม 2519 และพฤษภาคม 2535 ต้องจัดตั้งคณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์แห่งความจริงที่ยังค้างคาอยู่ บันทึกประวัติศาสตร์สำหรับการศึกษาของสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 และพฤษภาคม 2535 เชิดชูเกียรติวีรชนในฐานะผู้ร่วมสร้างชาติบ้านเมือง นิรโทษกรรมนักโทษทางการเมืองเพื่อสร้างความปรองดองของคนในชาติ และสร้างพิพิธภัณฑ์ทางการเมือง ตลอดจนอนุสาวรีย์วีรชนเพื่อเชิดชูความกล้าหาญ ความเสียสละเพื่อสังคม เตือนสติเป็นอุทาหรณ์สอนใจแก่สังคมไทยต่อไป

8 ตุลาคม 2564
คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.)

เลขา ครป. ชี้หมดสมัยการโฆษณาชวนเชื่อ เน้น Civic Education  ยุติคดีการเมือง รวมพลังนิสิตนักศึกษาสร้างชาติ

เมธา มาสขาว เลขาธิการ ครป. กล่าวว่า เหตุผลที่รัฐควรชำระประวัติศาสตร์ก็เพื่อป้องกันการโฆษณาชวนเชื่อเหมือนในอดีตที่ทำให้คนไทยแตกแยกและหันมาฆ่ากันเองแทนที่จะร่วมกันสร้างชาติ เราผ่านสงครามกลางเมืองมาแล้วและควรมีบทเรียน การบันทึกฐานะทางประวัติศาสตร์ของประชาชนในฐานะผู้ร่วมสร้างชาติบ้านเมืองไม่ต่างจากข้าราชการทหาร-ตำรวจเป็นสิ่งจำเป็นเพราะชาติคือประชาชน ความมั่นคงของรัฐในยุคสมัยใหม่คือความมั่นคงของประชาชนในชาติ ไม่ใช่ใครกลุ่มใดกลุ่มหนึงอีกต่อไป

หาไม่แล้วเราจะมีความจริงที่มากกว่าหนึ่ง หรือ Truths แทนที่จะเป็นความจริงหนึ่งเดียวคือ Truth แต่ละฝ่ายต่างมีชุดความจริงของตนเอง จากการแบ่งแยกประชาชนเป็นขั้วข้างนี้ จึงจำเป็นที่จะต้องมีกระบวนการสร้างความจริง (establish the truth) ร่วมกันของฝ่ายต่างๆ ให้เกิดขึ้น โดยอาจตั้งคณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ให้ชัดเจน ประสบการณ์ของประเทศเยอรมนีหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 คือการให้การศึกษาทางการเมืองที่เรียกว่า Civic Education พวกเขาแก้ปัญหาของยุคสมัยด้วยการสร้างพิพิธภัณฑ์ทางการเมืองดีๆ มากมายเพื่อให้เยาวชนคนหนุ่มสาวของเขาได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์และความรู้ทางการเมือง เพื่อเติบโตเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพที่จะสามารถเลือกการเมืองในสิ่งที่ตนเองต้องการได้อย่างแท้จริงในระบอบประชาธิปไตย

เพื่อให้คนของเขามีเจตจำนงค์เสรีไม่เป็นเหยื่อการโฆษณาชวนเชื่อทางการเมืองเหมือนในอดีต เพราะคำว่าโฆษณาชวนเชื่อในประวัติศาสตร์ในสมัยฮิตเลอร์นั้นอันตรายมาก เพราะเป็นความพยายามอย่างเป็นระบบในการปลูกฝังแง่มุมความคิดเห็น เบี่ยงเบนกระบวนการรับรู้และควบคุมพฤติกรรม เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายมีปฏิกิริยาตอบสนองตามที่ตนเองกำหนด ดังนั้นนโยบายภาครัฐไทยจะต้องยกเลิกการปฏิบัติการข่าวสารแบบเก่า ไม่ว่าจะเป็นจากสำนักนายกรัฐมนตรี หรือโครงการของเหล่าทัพใดก็ตาม ยุทธศาสตร์ความมั่นคงควรกำหนดใหม่มาจากรัฐสภาที่มาจากประชาชน ไม่ใช่ความคิดแบบ กอ.รมน.ในยุคสงครามเย็น

เลขาธิการ ครป. กล่าวด้วยว่า ทุกวันนี้มีการจัดกิจกรรมรำลึกเหตุการณ์เดือนตุลาคมจำนวนมากทั่วประเทศ แม้มาตรการ ศบค.มีการผ่อนคลายให้ดูหนังเล่นดนตรีได้ แต่กลับมีการพยายามที่จะตั้งข้อหาละเมิด พรก.ฉุกเฉินฯ ที่ใช้ป้องกันโควิิด แก่ผู้ร่วมอภิปรายสาธารณะและประชาชนที่มาร่วมชุมนุมรำลึกอาลัย ตนเห็นว่าไม่ถูกต้อง ตำรวจจะต้องพิจารณาให้ดีอย่าตกเป็นเครื่องมือทางการเมืองจนตนเองหมดอนาคต ไม่ใช่การเมืองแบบอำนาจนิยมสั่งซ้ายหันขวาหันได้หมดแม้ไม่ถูกต้องก็ตาม รวมถึงตุลาการ คดีนักโทษทางการเมืองทั้งหมดควรได้รับการนิรโทษกรรมเพื่อสร้างการปรองดองของชาติ เช่นเดียวกับนโยบาย 66/2523 ของพล.เปรม ที่แก้ปัญหาสงครามอุดมการณ์ในอดีตได้ผลมาแล้ว

รัฐบาลไทยควรสนับสนุนการศึกษาและการเรียนรู้ของประชาชน โดยเฉพาะเยาวชนคนหนุ่มสาวซึ่งเป็นปัจจุบันและอนาคตของชาติบ้านเมือง ไม่ใช่เห็นเป็นศัตรูทางการเมืองที่เห็นต่างและโฆษณาชวนเชื่อโจมตีเหมือนในอดีตที่กลายเป็นประวัติศาสตร์อันน่ารันทดและบาดแผลของชาติมาจนถึงวันนี้ เพื่อร่วมกันเคลื่อนไหวให้รัฐรับรองฐานะทางประวัติศาสตร์ของประชาชนและเห็นแก่อนาคตของชาติบ้านเมือง เยาวชนคนรุ่นใหม่จำนวนมากจึงเริ่มลุกขึ้นมาทวงคืนอนาคต องค์กรนิสิตนักศึกษาเรียกร้องความเป็นธรรม ประชาธิปไตยและรัฐสวัสดิการ ประชาชนจำนวนมากอยากเห็นบ้านเมืองมีภราดรภาพ หากข้าราชการยังล้าหลังกว่าพลเมืองบ้านเมืองก็คงไปไม่รอด 

"วันนี้พลังนักศึกษาเป็นตัวแปรทางการเมืองอีกครั้งหนึ่ง ในฐานะรุ่นพี่ ผมอยากเห็นองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือองค์การมหาวิทยาลัยใดก็ได้ จัดประชุมองค์การนักศึกษาทั่วประเทศ จัดตั้งสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) ขึ้นมาใหม่ หรือจะในชื่อใดก็ได้ที่องค์การทุกมหาวิทยาลัยมีส่วนร่วม เพื่อรณรงค์ให้ประเทศไทยเกิดการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป เหมือนแดดเดือนดุลาในยุคประชาธิปไตยเบ่งบาน ที่จะเบ่งบานอีกครั้งหนึ่ง" เลขาธิการ ครป. กล่าว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net