Skip to main content
sharethis

ผู้ก่อตั้งบริษัทในรัฐออนแทริโอ เมืองโตรอนโต ประเทศแคนาดา ทดลองให้มีการทำงานเป็นเวลา 4 วันต่อสัปดาห์อย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลา 1 ปี ซึ่งดูจะประสบความสำเร็จจากการที่พวกเขาบอกว่าจะไม่กลับไปใช้เวลาทำงานแบบเต็มสัปดาห์อีกแล้ว

 

 

14 ต.ค. 2564 เจมี ซาเวจ ซีอีโอและผู้ก่อตั้งบริษัทจัดหางานที่ชื่อ "เดอะลีดเดอร์ชิพเอเจนซี" ได้ทดลองให้มีการทำงานแบบ 4 วันต่อสัปดาห์นับตั้งแต่เดือน ต.ค. ปี 2563 จนถึงตอนนี้

ซาเวจบอกว่าเธอเล็งเห็นเรื่องที่ลูกจ้างของเธอเกิดสภาวะหมดไฟเพราะทำงานหนักแบบที่เรียกว่า "เบิร์นเอาท์" ในช่วงที่มีโรคระบาด COVID-19 และต้องการจะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ลูกจ้างเหล่านี้ ทำให้เธอทดลองให้มีการจัดเวลาทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ โดยที่ลูกจ้างของเธอทั้ง 9 คนยังคงจะได้รับค่าจ้างและจำนวนวันหยุดต่อปีเท่าเดิม

"ความจริงคือมันเป็นเรื่องที่ส่งผลโดยทันทีต่อธุรกิจของพวกเรา ผลที่เกิดขึ้นโดยทันทีที่ว่านี้คือสภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี" ซาเวจกล่าว

ซาเวจกล่าวว่าลูกจ้างของเธอได้ใช้เวลาหยุดเหล่านี้ไปกับการผ่อนคลาย เข้าคลาสฟิตเนสหรือไม่ก็เข้าร่วมกระบวนการบำบัด นั่นทำให้ลูกจ้างของเธอเข้ามาทำงานได้โดยรู้สึกมีภาระท่วมท้นเกินไปและสามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้

ซาเวจบอกว่าเธอเข้าใจในเรื่องที่บริษัทต่างๆ อาจจะกังวลว่าการใช้นโยบายเวลางาน 4 วันต่อสัปดาห์อาจจะชวนให้รู้สึกว่ามีผลิตผลลดลง แต่ถึงที่สุดแล้วข้อดีในการลดเวลางานต่อสัปดาห์เช่นนี้ก็มีมากกว่าความเสี่ยงของบริษัท เพราะมันจะทำให้ลูกจ้างมีความสุขมากขึ้น สามารถสร้างผลผลิตได้มากขึ้นและไม่ลาออกไปทำงานที่อื่น ขณะเดียวกันเธอก็ยอมรับว่าในอุตสาหกรรมบางประเภทอาจจะยากหน่อยในการนำไปปรับใช้

"ความจริงที่ว่าพวกเราสามารถทำเรื่องนี้ได้ก็หมายความว่าบริษัทอื่นๆ ก็สามารถทำได้เช่นกัน การที่พวกเราได้แลกเปลี่ยนและพูดเกี่ยวกับมันมากขึ้นเท่าไหร่ก็จะยิ่งช่วยผลักดันจูงใจให้บริษัทอื่นๆ หันมาทำบ้างเช่นกัน" ซาเวจกล่าว

เมื่อถามว่าพวกเขาจะกลับไปใช้เวลาทำงานแบบ 5 วันต่อสัปดาห์เหมือนเดิมหรือไม่ซาเวจบอกว่าพวกเขาจะไม่กลับไปทำแบบเดิมอีก และจะยิ่งพยายามหาทางเสริมสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้กับพนักงานของตัวเองมากขึ้นและซาเวจก็นับว่ามันเป็นภารกิจของเธอในการทำให้บริษัทของเธอล้ำหน้ากว่าคนอื่น

นอกจากกรณีบริษัทเดอะลีดเดอร์ชิพเอเจนซีแล้ว ในประเทศไอซ์แลนด์ก็เคยมีการวิจัยเมื่อต้นปีที่ผ่านมาเกี่ยวกับชั่วโมงการทำงานต่อสัปดาห์ที่น้อยลง นักวิจัยพบว่าการที่มีชั่วโมงทำงานต่อสัปดาห์ลดลงโดยที่มีค่าจ้างเท่าเดิมนั้นนับเป็นผลสำเร็จ โดยจะทำให้ลูกจ้างมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นมากในทุกตัวชี้วัด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการลดความเครียด ลดการหมดไฟ ไปจนถึงทำให้สุขภาวะดีขึ้น และมีสมดุลระหว่างงานกับชีวิตที่ดีขึ้น ในขณะที่มีผลผลิตและประสิทธิภาพในการบริการคงเดิมหรือไม่ก็ดีขึ้นกว่าเดิมในที่ทำงานส่วนใหญ่


เรียบเรียงจาก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net