Skip to main content
sharethis

We, The People จัดยืนหยุดทรราช เชียงใหม่วันที่ 70 พร้อมชวนนักวิชาการและนักกิจกรรมตอบคำถามที่ว่า “สังคมไทยจะรับผิดชอบต่อความตายของเยาวชนอายุ 15 ปีที่ถูกยิงที่ดินแดงอย่างไร”
 

29 ต.ค. 2564 เมื่อวันที่ 28 ต.ค. ที่ผ่านมา กลุ่ม “We, The People” ชวนชาวเชียงใหม่จัดกิจกรรมยืนหยุดทรราชเวลา 1 ชั่วโมง 12 นาที ต่อเนื่องครบ 70 วัน เพื่อเรียกร้องให้คืนสิทธิประกันตัวให้แก่นักโทษการเมือง หลังแพนกวิน พริษฐ์ ชิวารักษ์, อานนท์ นำภา, ไผ่ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา และเยาวชน – ประชาชนที่ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยหลายคนถูกคุมขังอย่างไม่เป็นธรรม

อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีความคิดเห็นต่อกรณีที่เยาวชนที่ออกมาเคลื่อนไหวได้รับผลกระทบในชีวิตอย่างหนัก อาทิ เบนจา อะปัญ ที่ถูกคุมขังอยู่ตอนนี้ หรือ “สายน้ำ”(นามสมมติ) นักเรียนวัย 16 ปีที่สวมเสื้อคร็อปท็อปและเขียนข้อความ พ่อกูชื่อ “มานะ” ไม่ใช่ วชิราลงกรณ์ ไว้บนหลังขณะร่วมกิจกรรม 'แคตวอล์กราษฎร' เมื่อ 29 ต.ค.63 ที่หน้าวัดแขก ถนนสีลม ซึ่งอัยการสูงสุดมีนัดส่งฟ้องสายน้ำในคดี 112 ต่อศาลเยาวชนฯ ในวันนี้ ดังนี้

“ประเด็นหลักคือการที่เด็กทั้งหมดถูกคุมขังโดยไม่ให้ประกันตัว เป็นสิ่งที่แย่ที่สุดในความหมายว่ามันสั่นสะเทือนทั้งระบบยุติธรรมเลย นี่คือสิทธิพื้นฐานของพลเมืองที่ควรจะได้รับจากรัฐ สังคมไทยควรจะตระหนักว่าทุกคนพร้อมที่จะเผชิญกับเหตุการณ์เช่นนี้ ไม่ใช่แค่คดี 112 ทุกคดีก็เป็นเช่นนี้ได้

ความเป็นมาตรฐานของการให้ประกันตัวของการเป็นสิทธิพลเมืองไม่มีอีกแล้ว

ประเด็นที่สอง กรณีคดีสายน้ำผมคิดว่าเราจำเป็นที่จะต้องคิดว่า เราจะสร้างจริยธรรมทางการเมืองกันอย่างไร อันนี้ต่างหากที่สำคัญ เราเรียกร้องให้ชนชั้นนำทั้งหมดให้ไตร่ตรองว่าเรากำลังเผชิญการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุด ดังนั้นไม่ง่ายที่คุณจะใช้อำนาจกฎหมายที่มันบิดเบือนแบบนี้มาทำให้ทุกอย่างพังพินาศลง” อรรถจักร์ กล่าว

“ผมคิดว่าในขณะที่ตำรวจที่บาดเจ็บถูกประคบประหงม ถูกให้ความสำคัญ เด็กที่เขาต่อสู้บนความถูกต้อง ความรู้สึกของเขากลับถูกทอดทิ้ง ผมคิดว่าสังคมควรที่จะต้องเรียกร้องความยุติธรรมจากรัฐ และสังคมควรจะต้องตระหนักว่านี่คือปัญหาใหญ่ เป็นปัญหาของจริยธรรมทางสังคมเลยทีเดียว” อรรถจักร์ กล่าวถึงคำถามที่ว่าสังคมไทยจะรับผิดชอบต่อความตายของเยาวชนอายุ 15 ปีที่ถูกยิงที่ดินแดงอย่างไร

ภัควดี วีระภาสพงษ์

ภัควดี วีระภาสพงษ์ มีความคิดเห็นต่อกรณีที่เยาวชนที่ออกมาเคลื่อนไหวได้รับผลกระทบในชีวิตอย่างหนัก ดังนี้

“ความจริงความคิดเห็นทางการเมืองเป็นสิ่งที่ต้องได้รับการคุ้มครองจากรัฐธรรมนูญ แต่ตอนนี้รัฐบาลนี้และกลไกยุติธรรมทั้งหมดตอนนี้ละเมิดกฎหมายรัฐธรรมนูญเสียเอง เยาวชนเหล่านี้เขาก็เป็นคนของประเทศ รัฐบาลเผด็จการก็เอาคนที่เก่งที่สุดไปขังคุกหมดเลย และเอาคนที่ชั่วที่สุดไปมีอำนาจ ซึ่งนี่เป็นลักษณะเฉพาะของรัฐบาลเผด็จการในโลกนี้”

“อย่างแรกเราจะต้องกดดันให้รัฐบาลหยุดใช้ คฝ. ไปปราบเยาวชนที่ดินแดง และต้องยอมรับว่าปัญหาที่ดินแดงเป็นปัญหาของสังคมด้วย ไม่ใช่ปัญหาการเมืองอย่างเดียวและมันเกิดจากการบริหารงานผิดพลาดของรัฐบาล เพราะฉะนั้นรัฐบาลต้องลงแก้ปัญหาเรื่องพวกนี้โดยไม่ใช้ความรุนแรงและเยียวยาให้กับเยาวชนทั้งหมดด้วย” ภัควดี ตอบคำถามที่ว่าสังคมไทยจะรับผิดชอบต่อความตายของเยาวชนอายุ 15 ปีที่ถูกยิงที่ดินแดงอย่างไร

ดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีความคิดเห็นต่อกรณีที่เยาวชนที่ออกมาเคลื่อนไหวได้รับผลกระทบในชีวิตอย่างหนัก ดังนี้

“การแสดงความคิดเห็นเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานของสังคมประชาธิปไตย ซึ่งรัฐและเจ้าหน้าที่รัฐ ควรเคารพสิทธิในเสรีภาพดังกล่าวของประชาชน เจ้าหน้าที่ตำรวจและบุคคลในกระบวนการยุติธรรม คือบุคคลที่มีความรู้ความเข้าใจต่อหลักการดังกล่าวมากที่สุด ดังนั้นจึงไม่ควรกลายเป็นผู้ละเมิดเสียเอง ขอเรียกร้องให้กระบวนการยุติธรรมมีความกล้าหาญในการบังคับใช้กฎหมายที่เคารพต่อหลักการ หลักกฎหมาย และหลักสากล”

“ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวของเยาวชนที่เสียชีวิต และขอเรียกร้องให้หน่วยงานรัฐ องค์กรอิสระ อย่างกสม. (คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ) เร่งแสวงหาความจริง เพื่อนำผู้กระทำความผิดมาลงโทษ อย่าให้เป็นการผลิตซ้ำ ตอกย้ำ การลอยนวลพ้นผิด” ดรุณี ตอบคำถามที่ว่า สังคมไทยจะรับผิดชอบต่อความตายของเยาวชนอายุ 15 ปีที่ถูกยิงที่ดินแดงอย่างไร

นัทมน คงเจริญ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

นัทมน คงเจริญ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีความคิดเห็นต่อกรณีที่เยาวชนที่ออกมาเคลื่อนไหวได้รับผลกระทบในชีวิตอย่างหนัก ดังนี้

“ในส่วนหนึ่งการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง เป็น Absolute Right สิทธิเด็ดขาด การคิดต่างทางการเมืองไม่ใช่อาชญากรรมที่รัฐจะสามารถตอบโต้โดยการใช้ความรุนแรง สองผู้กระทำเป็นเด็กและเยาวชน รัฐจะต้องมีมาตรการที่เคารพสิทธิของทั้งตัวผู้เสียหายและตัวผู้กระทำด้วยในฐานะที่เขาเป็นเด็กและเยาวชน ในหลักการทั้ง 2 ข้อนี้รัฐจึงไม่ควรอย่างยิ่งที่จะใช้ความรุนแรงกับผู้ที่ออกมาเคลื่อนไหว”

 

“ในส่วนการเสียชีวิตของเยาวชนที่ถูกยิงที่ดินแดง ท่าทีของสังคมต่อการกระทำและผลที่เกิดขึ้นสังคมต้องไม่ปล่อยให้การกระทำเช่นนี้ลอยนวล ต้องตั้งคำถามและเรียกร้องให้รัฐบาลออกมารับผิดชอบ ทั้งในส่วนของ คฝ. เองพฤติกรรมเช่นนี้ต้องไม่ถูกยอมรับ ต้องมีการแก้ไข รัฐบาลปฏิเสธไม่ได้เพราะว่าตนเองเป็นผู้ใช้อำนาจ และไม่สามารถอ้างหน้าที่ในการจัดการการชุมนุมสาธารณะได้ ถ้าเราในฐานะสมาชิกของสังคมเพิกเฉยต่อการกระทำเช่นนี้ สักวันหนึ่งมันจะเกิดขึ้นอีก และมันจะลุกลาม” นัทมน ตอบคำถามที่ว่าสังคมไทยจะรับผิดชอบต่อความตายของเยาวชนอายุ 15 ปีที่ถูกยิงที่ดินแดงอย่างไร

ก่อนจบกิจกรรมยืนหยุดทรราชวานนี้ผู้เข้าร่วมได้มีการจุดเทียมเพื่อไว้อาลัยแด่ “วาฤทธิ์ สมน้อย” เยาวชนอายุ 15 ปี ที่ถูกยิงบริเวณคอที่หน้าสน.ดินแดง ในคืนวันที่ 16 ส.ค. 2564 ระหว่างมีการชุมนุมทางการเมืองย่านดินแดง หลังเกิดเหตุการณ์วาฤทธิ์รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลนานกว่า 2 เดือน ก่อนจะเสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 28 ต.ค. ที่ผ่านมา

“ขอระลึกถึงน้องที่เสียชีวิต ขอให้วิญญาณของน้องไปสู่สุคติ และเราจะสืบสานอุดมการณ์เพื่อประชาธิปไตยต่อไป” นัทมน คงเจริญ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นตัวแทนกล่าวไว้อาลัยให้แก่เยาวชนผู้จากไป

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net