Skip to main content
sharethis

ศาลชั้นต้นยกฟ้องจำเลยคดียิงวาฤทธิ์ สมน้อย บริเวณ สน.ดินแดง เมื่อปี 2564 ซึ่งเป็นช่วงที่มีการชุมนุมเพื่อประท้วงรัฐบาลประยุทธ์อย่างต่อเนื่อง เหตุจากพยานหลักฐานไม่ชัดเจนและยังมีข้อสงสัย จึงยกประโยชน์ให้จำเลย พร้อมเปิดความเห็นของทนายความ ถึงความผิดปกติในการสอบสวนคดีของตำรวจ

 

1 ต.ค. 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อภิรักษ์ นันทเสรี ทนายความภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน และเป็นทนายความที่ติดตามคดีของวาฤทธิ์ สมน้อย เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 25 ก.ย.ที่ผ่านมา ศาลอาญา  กรุงเทพฯ ยกฟ้อง ชุติพงษ์ ทิศกระโทก จำเลยที่ 1 อายุประมาณ 30 ปี (จำเลยที่ 2 ตำรวจไม่สามารถตามตัวมาได้) ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ฆ่าโดยเจตนา จากกรณีถูกกล่าวหาว่ายิงปืนถูก วาฤทธิ์ สมน้อย เยาวชนอายุ 15 ปี บริเวณ สน.ดินแดง จนเป็นเหตุให้ได้รับบาดเจ็บสาหัส และเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลราชวิถี เป็นระยะเวลา 2 เดือน 12 วัน ก่อนเสียชีวิตในวันที่ 28 ต.ค. 2564

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

 

อภิรักษ์ อธิบายว่า คดีนี้ชุติพงษ์ ซึ่งเป็นจำเลย ถูกดำเนินคดีแบ่งเป็น 2 กรณี ประกอบด้วย 1. คดีที่ชุติพงษ์ ได้ใช้อาวุธปืนและไม้เบสบอลทำร้ายกลุ่มวัยรุ่น 3 คนที่ซอยประชาสงเคราะห์ 14 เมื่อ 16 ส.ค. 2564 เวลาประมาณ 19.50 น. โดยอัยการได้สั่งฟ้องข้อหาพยายามฆ่า และทำร้ายร่างกาย และคดีที่ 2 ในวันเดียวกัน เวลาประมาณ 20.00 น. จำเลยคนเดิมตกเป็นผู้ต้องสงสัยยิงปืนใส่วาฤทธิ์ จนเป็นเหตุให้เสียชีวิต โดยคดีที่ 2 อัยการส่งฟ้องด้วยข้อหา เจตนาฆ่าผู้อื่น และอื่นๆ รวม 6 ข้อหา โดยทั้ง 2 เหตุการณ์อัยการให้สั่งฟ้องรวมกัน เนื่องจากเป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องกัน

วันนี้ศาลอาญามีคำตัดสิน 2 คดี โดยสำหรับคดีแรก ทำร้ายร่างกายกลุ่มวัยรุ่น 3 คน ศาลลงโทษชุติพงษ์ จำคุก 10 ปี 15 เดือน แต่ในคดีที่ 2 คือยิงใส่วาฤทธิ์ หน้า สน.ดินแดง ศาลตัดสินยกฟ้องด้วยมีเหตุที่ยังมีข้อสงสัย จึงยกประโยชน์ให้จำเลย

อภิรักษ์ ให้ความเห็นว่า สิ่งที่น่าสนใจคือ แม้ศาลเชื่อว่ากระสุนที่ใช้ยิงวาฤทธิ์ มาจากปืนกระบอกเดียวกันกับที่เพื่อนหรือพรรคพวกของจำเลยเป็นผู้ใช้ แต่พยานและหลักฐานที่เบิกความต่อศาลไม่ชัดเจนเพียงพอว่า จำเลยมีบทบาทหรือเกี่ยวข้องต่อการยิงผู้เสียชีวิต และเนื่องด้วยจำเลยได้รับการยกฟ้องคดีฆ่าโดยเจตนา จึงไม่ต้องรับผิดชอบค่าเสียหายในคดีแพ่งที่ทางครอบครัวของวาฤทธิ์เรียกร้อง

อีกประเด็น ประจักษ์พยานของโจทก์ที่มาเบิกความในชั้นศาลไม่ตรงกับสำนวนชั้นสอบสวน โดยในชั้นสอบสวน พยานระบุว่าเขามองเห็นคนยิงปืนใส่วาฤทธิ์ แต่ในการเบิกความกับศาล พยานกลับระบุว่าอยู่ในจุดที่ห่างไกลกับจุดเกิดเหตุ และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็ได้รับฟังจากคนรู้จักเท่านั้น ไม่ได้เห็นเหตุการณ์ด้วยตนเอง เมื่อศาลพิจารณาประกอบกับหลักฐานจากกล้อง CCTV ของกรุงเทพมหานคร จึงให้ยึดตามคำให้การชั้นศาลเป็นหลัก เนื่องจากคำให้การบนชั้นศาลสอดคล้องกับหลักฐาน

สำหรับคำพิพากษา อภิรักษ์ มองว่าศาลให้ความเห็นอย่างดีที่สุดแล้วจากพยานหลักฐานที่ฝ่ายโจทก์ (อัยการ) และฝ่ายโจทก์ร่วม (แม่ของวาฤทธิ์) ได้นำเสนอ แต่ปัญหาอาจอยู่ที่สำนวนการสอบสวนของตำรวจ

สำหรับการอุทธรณ์ อยู่ระหว่างการปรึกษาหารือระหว่างครอบครัวผู้เสียหาย และทนายความ

คดีล่าช้า-ไม่ยอมให้กล้องวงจรปิด

ทนายความภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ขยายความถึงปัญหาของกระบวนการสอบสวนของทางตำรวจว่า  เนื่องจากกระบวนการสอบสวนล่าช้า จนครอบครัวของวาฤทธิ์ ต้องไปร้องเรียนที่คณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร ในสมัยรัฐบาลที่แล้ว ได้เรียกมีการผู้มีส่วนทุกเกี่ยวข้องทุกฝ่ายมาให้ข้อมูล เราจึงเห็นความคืบหน้าเรื่องการตั้งสำนวน และการสอบสวนคดีนี้

อภิรักษ์ ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า กระบวนการสอบสวนและสำนวนของตำรวจ สน.ดินแดง อาจจะมีปัญหาหละหลวมตั้งแต่แรก เพราะหลังจากตำรวจส่งสำนวนให้อัยการเมื่อ 20 ธ.ค. 2564 อัยการขอให้ตำรวจส่งสำนวนคดีเพิ่มเติมอีกถึง 7 ครั้ง จึงจะสั่งฟ้องชุติพงษ์ ในข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา และข้อหาอื่นๆ รวม 6 ข้อหา

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

 

ประเด็นถัดมา พยานหลักฐานที่ตำรวจควรจะหาได้ แต่กลับไม่สามารถหามาได้ตั้งแต่ในชั้นสอบสวน ยกตัวอย่าง กล้องวงจรปิดหน้า สน.ดินแดง เพราะหลักฐานหลักที่เป็นภาพเคลื่อนไหวในคดีนี้มาจาก กมธ.การพัฒนาการเมืองฯ เป็นภาพจากวงจรปิดของกรุงเทพมหานคร แต่เราไม่เคยได้รับหลักฐานภาพเคลื่อนไหวจากตำรวจ ซึ่งส่งผลกระทบให้คดีนี้ขาดประจักษ์พยานที่ใช้ชี้ตัวคนร้าย ทั้งที่ถ้าหากมีภาพกล้องวงจรปิดของ สน.ดินแดง อาจทำให้เราได้เห็นวิถีกระสุน หรือทราบตัวผู้กระทำผิด เพราะว่ากระสุนออกมาจากรั้วของ สน.ดินแดง 100% 

อภิรักษ์ มองด้วยว่า กระบวนการสอบสวนของตำรวจยังมีปัญหาอีกหลายอย่าง เช่น ไม่มีการประสานงานกับทนายความฝั่งโจทก์ร่วม หรือครอบครัวผู้เสียชีวิต

ทนายความ มองว่า ช่วงกระบวนการพิจารณาคดีบนชั้นศาล พยานฝ่ายโจทก์ไม่มีใครมาให้การบนชั้นศาลเลย เหมือนพยานฝ่ายโจทก์คดีนี้อยู่ดีๆ ก็หายตัวไป และไม่สามารถติดต่อได้ ซึ่งภายหลังเรามาทราบว่า พยานบางรายถูกตำรวจค้นเอกสารคดีเก่า นำกลับมาดำเนินคดีจนติดคุก และบางรายมาสอบคำให้การ (ชั้นสอบสวนของตำรวจ) เพียงครั้งเดียว แต่ถูกตำรวจข่มขู่จนไม่กล้ามาเป็นพยานเบิกคำให้การอีกเลย

นอกจากนี้ ทางทนายความเคยประสานงานกับตำรวจ สน.ดินแดง ให้ช่วยตามพยานในชั้นพิจารณาคดี แต่ก็ไม่ได้รับความช่วยเหลือเลย โดยตำรวจอ้างว่าติดต่อพยานไม่ได้ และไม่มีคนอาศัยในที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน ทำให้พยานฝ่ายโจทก์ที่มาเบิกความที่ศาลที่แค่เจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่พยานประชาชนหรือพยานแวดล้อมในเหตุการณ์ไม่มีใครมาให้การที่ชั้นศาล จนกระทั่งทนายโจทก์ร่วมต้องไปติดตาม และขอให้พยานมาขึ้นเบิกความในชั้นศาล ทั้งที่บทบาทหน้าที่ตรงนี้ควรเป็นของเจ้าหน้าที่รัฐ

เริ่มคดีใหม่ไม่ง่าย

อภิรักษ์ มองว่า กระบวนการสอบสวนของตำรวจที่มีปัญหา และไม่ชัดเจน ส่งผลบั่นทอนจิตใจ และกำลังใจของผู้เสียหายอย่างมาก ผู้เสียหายไม่ได้ต้องการค่าเสียหาย แต่ต้องการทราบความจริงที่เกิดขึ้นกับลูกชาย

หากถึงชั้นอุทธรณ์และฎีกาแล้วจำเลยยังได้รับการยกฟ้อง ทางผู้เสียหายสามารถรวบรวมพยานหลักฐานใหม่ และตามหาตัวคนผิดจริงมายื่นฟ้องภายในกรอบระยะเวลา 20 ปีได้ อย่างไรก็ตาม อภิรักษ์ มองว่า ไม่ได้ง่ายขนาดนั้นโดยเฉพาะทางด้านจิตใจของผู้เสียหายที่ต้องตามหาความยุติธรรมและต้องพูดหรือฟังเรื่องราวการสูญเสียซ้ำๆ ของลูกชาย มันส่งผลต่อจิตใจของผู้เสียหายมาก ยิ่งไปกว่านั้น เพราะผู้เสียหายเป็นเพียงประชาชนคนธรรมดา การเข้าถึงพยานหลักฐาน หรือการชี้ตัวคนผิดแทบเป็นไปไม่ได้เลยโดยไม่มีทรัพยากรจากภาครัฐ 
 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net