Skip to main content
sharethis

ประมวลเหตุการณ์ #ม็อบ13ตุลา64 "ราษฎรประสงค์ยกเลิก 112" จัดโดยกลุ่มราษฎร ซึ่งมีการตั้งเวทีปราศรัยและตั้งโต๊ะเข้าชื่อเสนอยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

  • ไฮไลต์กิจกรรมในวันนี้ คือ การอ่านแถลงการณ์ยกเลิก 112 ของ 'รุ้ง' ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ซึ่งหลังอ่านจบได้มีการกรีดแขนตัวเองเป็นคำว่า 112 แล้วขีดฆ่า โดยข้อเรียกร้องในแถลงการณ์ดังกล่าวมีอยู่ 2 ข้อหลัก คือ 1. ให้สิทธิในการประกันตัวและปล่อยตัวผู้ต้องขังทางการเมืองทุกคน และ 2. แก้ไขประมวลกฎหมายอาญาเพื่อยกเลิก ม.112
  • ทั้งนี้ แกนนำได้เน้นย้ำถึงข้อเรียกร้องเดิม 3 ข้อ คือ พล.อ.ประยุทธ์ และองคาพยพต้องลาออก, แก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เช่นเดิม โดยมีนักกิจกรรมหลายคนผลัดเปลี่ยนขึ้นมาปราศรัยบนเวที อาทิ เมนู สุพิชฌาย์, ปูน ทะลุฟ้า, เป๋า iLaw, ฟ้า พรหมศร และครูใหญ่ พรรคก้าวล่วง เป็นต้น พร้อมกันนี้ ระหว่างการปราศรัยเรื่องโทษของคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ ธิษะณา ชุณหะวัน ได้กล่าวขอโทษประชาชนแทน พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัน ปู่ของตนที่อาจเป็นส่วนหนึ่งในการทำให้เกิดเหตุสังหารณ์หมู่ #6ตุลา เพราะดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการลูกเสือกชาวบ้าน

31 ต.ค. 2564 วันนี้ (31 ต.ค. 2564) เวลา 16.00 น. กลุ่มราษฎรจัดการชุมนุม “ราษฎรประสงค์ยกเลิก 112” ที่บริเวณแยกราชประสงค์ เพื่อเรียกร้องให้ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 พร้อมย้ำจุดยืน 3 ข้อเรียกร้อง ได้แก่ 1) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และองคาพยพต้องลาออกจากตำแหน่ง เพราะบริหารประเทศล้มเหลว และเข้าสู้อำนาจโดยการรัฐประหาร 2) ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ และ 3) ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ

นอกเหนือจากกิจกรรมปราศรัยบนเวทีแล้ว ที่บริเวณหน้าห้างบิ๊กซี ราชประสงค์ยังมีการตั้งโต๊ะออกบู๊ธของกลุ่มเคลื่อนไหวต่างๆ อาทิ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยเปิดโต๊ะลงชื่อ ‘ปล่อยเพื่อนเรา’ เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักกิจกรรมที่ถูกคุมขังอยู่ในขณะนี้ โดยแอมเนสตี้ฯ จะนำรายชื่อทั้งหมดไปยื่นต่อนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาลในวันพรุ่งนี้ (1 พ.ย. 2564) รวมถึงไอลอว์ (iLaw) ที่เปิดโต๊ะลงชื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการไอลอว์ ระบุเพิ่มเติมว่ากลุ่มไอลอว์จะจัดเวทีปราศรัยย่อย พร้อมเชิญผู้ต้องหาคดี ม.112 มาร่วมพูดคุยถึงปัญหาของกฎหมายอาญาฉบับนี้อีกด้วย

 

ก่อนหน้านี้เวลา 13.59 น. ข่าวสดออนไลน์รายงานว่า พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) แถลงข่าวที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) โดยระบุว่าการชุมนุมของกลุ่มราษฎรที่แยกราชประสงค์​ซึ่งเป็นการชุมนุมปักหลักตั้งแต่เวลา 16.00-21.00 น. นั้น ตำรวจนครบาลจัดเตรียมแผนและยุทธวิธีรองรับการชุมนุม พร้อมกำชับให้ตำรวจปฏิบัติภายใต้กรอบของกฎหมาย และระบุว่าการชุมนุมครั้งนี้ไม่ได้รับอนุญาต​ ถือว่าผิดกฎหมาย และมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั้งยังยอมรับว่ากังวลเรื่องการชุมนุมในวันนี้ เนื่องจากมีการชุมนุมของหลายกลุ่ม จึงจัดชุดสืบสวนหาข่าว เพื่อประสานการทำงานอย่างรอบด้านไม่ให้เกิดเหตุอันตรายในพื้นที่

ต่อมาเวลา 16.00 น. พ.ต.อ.ฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.)​ ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่าการชุมนุมในวันนี้ไม่ได้รับการอนุญาต และถือว่าเป็นการชุมนุมโดยผิดกฎหมาย ซึ่งมีความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมโรคติดต่อ อยู่แล้ว และแสดงความเป็นห่วงว่าหากเลิกชุมนุมในเวลา 21.00 น. นั้น อาจจะมีผู้ชุมนุมเดินทางกลับบ้านไม่ทัน และอาจมีความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ได้ เพราะในขณะนี้พื้นที่ กทม. ยังอยู่ภายใต้การประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ส่วนกำลังตำรวจที่เข้ามาดูแลความสงบเรียกร้อยในวันนี้เป็นตำรวจที่มาจาก บช.น. เป็นหลัก ยังไม่มีการนำกำลังจาก ตชด. เข้ามาในพื้นที่ แต่แผนของตำรวจสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลาหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด นอกจากนี้ พ.ต.อ.กฤษณะตอบคำถามผู้สื่อข่าวกรณีมีตำรวจที่แต่งกายด้วยชุดสีกากีพกอาวุธจริงเข้ามาในพื้นที่ โดย พ.ต.อ.กฤษณะ กล่าวว่า ตำรวจชุดสีกากีที่เข้ามาดูแลความสงบเรียบร้อยในวันนี้เป็นตำรวจสายตรวจปกติ ซึ่งแต่งกายด้วยชุดเครื่องแบบเต็มและมีการพกอาวุธปกติ เช่นเดียวกับตำรวจจราจร เนื่องจากสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป มีการก่อเหตุไม่สงบเรียบร้อย บช.น. จึงปรับเปลี่ยนยุทธการให้เอาสายตรวจปกติที่พกอาวุธจริงเข้ามาทำงานในพื้นที่ แทนการใช้เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดควบคุมฝูงชน (คฝ.) พร้อมย้ำว่าการชุมนุมวันนี้เป้นการชุมนุมที่ผิดกฎหมาย ตำรวจไม่มีอำนาจหน้าที่ในการอนุญาตชุมนุม แต่มีหน้าที่บังคับใช้กฎหมายเท่านั้น พร้อมระบุว่าผุ้ที่มาชุมนุมในวันนี้สามารถมาชุมนุมได้ แต่หลังเสร็จสิ้นการชุมนุม ตำรวจจะรวบรวมพยานหลักฐานและดำเนินคดีตามไปภายหลัง

อย่างไรก็ตาม ไอลอว์รายงานผ่านทวิตเตอร์ว่าเมื่อเวลาประมาณ 14.40 น. พบตำรวจชุดสีกากีและชุดกรมท่าวางกำลังภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ซึ่งมีการใช้ผ้าใบคลุมพระบรมฉายาลักษณ์และป้ายด้านหน้า วัดปทุมวนาราม และหลังห้างเกษร

 

อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจำลอง
 

ปราศรัย 'ยกเลิก ม.112' ท่ามกลางสายฝน

16.25 น. ที่เวทีปราศรัยหลัก สุพิชฌาย์ ชัยล้อม หรือเมนู อายุ 19 ปี นักศึกษาปี 1 มหาวิทยาลัยรังสิต นักกิจกรรมการเมืองจากกลุ่ม WeVo Gen Z และผู้ต้องหาคดี ม.112 ขึ้นกล่าวปราศรัยเป็นคนแรก โดยพูดถึงปัญหาการบังคับใช้กฎหมาย ม.112 ว่าเป็นการกลั่นแกล้งประชาชนจากรัฐ ทำให้ประชาชนกลัวจนไม่กล้าออกมาวิจารณ์สถาบันกษัตริย์ พร้อมเรียกร้องให้ประชาชนออกมาร่วมกันแสดงพลังและลงชื่อยกเลิก ม.112 สุพิชฌาย์กล่าวว่าเราไม่ได้ต้องการล้มล้าง แต่ต้องการปฏิรูปสถาบันฯ แต่ถึงกระนั้น รัฐบาลกลับกลั่นแกล้งประชาชนด้วยการใช้ ม.112 ปิดปากประชาชน สุพิชฌาย์ยกตัวอย่างการกลั่นแกล้งจากรัฐโดยใช้ ม.112 เช่น การวิจารณ์การจัดหาวัคซีน การวิจารณ์สุนัขทรงเลี้ยง หรือการพูดบางวลี เช่น “คิดถึงยอดหฤทัยใจจะขาด” ก็กลับถูกแจ้งความเอาผิด พร้อมฝากถึงคนที่เตรียมจ้องจะแจ้งความเอาผิดผู้ปราศรัยในวันนี้ว่า ยิ่งใช้กฎหมายนี้จัดการ ยิ่งกระทบต่อสิ่งที่ปกป้อง นอกจากนี้ สุพิชฌาย์ยังฝากไว้ว่าอยากเห็นการเปลี่ยนแปลง และต้องการให้เกิดการยกเลิก ม.112 ในรุ่นเรา

สุพิชฌาย์ ชัยล้อม

16.40 น. ปูน ธนพัฒน์ (สงวนนามสกุล) จากกลุ่มทะลุฟ้า กล่าวปราศรัยเป็นคนถัดไป เริ่มจากการอ่านกลอนของกุหลาย สายประดิษฐ์ และกล่าวถึงนวมทอง ไพรวัลย์ ผู้ออกมาต่อต้านการรัฐประหารและเสียชีวิตในวันนี้เมื่อ 15 ปีที่แล้ว ธนพัฒน์กล่าวต่อไปว่า ม.112 ไม่ใช่ฉันทามติของประชาชนแต่เป็นฉันทามติของชนชั้นนำที่ต้องการกำจัดเสรีภาพของประชาชน ชนชั้นปกครองเขารู้สึกว่าเมื่อประชาชนเป็นอันตรายต่ออำนาจ จึงทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้มาซึ่งกฎหมายนี้ 

ธนพัฒน์กล่าวต่อไปว่าตามหลักประชาธิปไตยแล้วประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็นต่อสถาบันทางการเมืองได้ แต่ในประเทศไทยกลับมี ม.112 เพื่อปกป้องสถาบันทางการเมืองบางสถาบันไว้ พร้อมกล่าวถึงที่มาของกฎหมาย ม.112 ว่าเป็นการปรับปรุงแก้ไขจากกฎหมายอื่นๆ มาตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ จวบจนกระทั่งเหตุการณ์อภิวัฒน์สยาม 2475 ก็ยังมีอยู่ และมีการแก้ไขปรับปรุงมาเรื่อยๆ จนกระทั่งหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ซึ่งแสดงให้เห็นว่ากฎหมายนี้สามารถปรับปรุงเปลี่ยนแปลงได้ แต่ในปัจจุบันประชาชนแสดงเจตจำนงแล้วว่าไม่ต้องการ ม.112 จึงได้ออกมาชุมนุมเรียกร้องกันในวันนี้

ธนพัฒน์กล่าวปราศรัยพาดพิง ม.จ.จุลเจิม ยุคล ที่เคยออกมาโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กก่อนมีการพิจารณาคดี ม.112 ของนักกิจกรรมว่า “ถ้าให้ประกันตัวผู้ต้องหา ม.112 เจอดี” ซึ่งธนพัฒน์ตั้งคำถามว่าการกระทำเช่นนี้ถือเป็นการแทรกแซงและกดดันผู้พิพากษาหรือไม่ นอกจากนี้ ธนพัฒน์ยังพูดถึงกรณีที่รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผลักดันกฎหมายให้มีการโอนทรัพย์สินของแผ่นดินไปเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ ซึ่งเป็นการขยายพระราชอำนาจแก่สถาบันกษัตริย์ แต่ประชาชนไม่สามารถออกมาวิพากษ์วิจารณ์ได้ เพราะมี ม.112 

ทั้งนี้ ธนพัฒน์ย้ำว่าประชาชนที่ออกมาเคลื่อนไหวไม่มีใครต้องการปฏิวัติ มีแต่ต้องการปฏิรูปเท่านั้น เพราะไม่ว่าใครจะเป็นผู้ใช้ ม.112 ก็ทำให้สถาบันกษัตริย์เสื่อมเสียทั้งสิ้น ประชาชนต้องการวิจารณ์สถาบันกษัตริย์อย่างสุจริตและตรงไปตรงมาโดยไม่มีผลกระทบตามมา 

ธนพัฒน์ ยังวิเคราะห์สถานการณ์ทางการเมืองที่เกี่ยวกับการปฏิรูป โดยเฉพาะ ม.112 นั้นมี 3 ความเป็นไปได้ทางการเมือง คือ ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ระบอบประชาธิปไตยอันมีกษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ และสาธารณรัฐ พร้อมเรียกร้องให้สถาบันฯ รับฟังเสียงประชาชนเพื่อประโยชน์ของสถาบันเอง

ปูน ธนพัฒน์ (สงวนนามสกุล) จากกลุ่มทะลุฟ้า

17.00 น. ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการ iLaw ขึ้นปราศรัยว่า บ้านเมืองของเราตกอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่สามารถพูดเรื่องที่สำคัญได้  การพูดคุยบนโต๊ะอาหารก็ต้องระวังหันซ้ายขวาตลอด สื่อมวลชนอึดอัดหรือไม่ที่ไม่มีเสรีภาพที่จะพูดเรื่องที่เป็นวาระทางสังคม ข้าราชการอึดอัดหรือไม่ที่ต้องไปทำโครงการชื่อยาวๆ ที่ไม่อยากทำ แต่ก็พูดไม่ได้  นักการเมืองอึดอัดหรือไม่ที่เห็นวาระการประชุมแต่ไม่สามารถอภิปรายได้ ได้แต่ลงมติรับไป เชื่อว่าทุกท่านอึดอัดกับประเทศที่ประวัติศาสตร์ ถูกเขียนด้วยใครก็ไม่รู้ เรื่องที่เราอยากรู้จริงๆไม่ได้รู้ ส่วนที่เราไม่อยากรู้มันไปอยู่ในหนังสือเรียน และบังคับให้เราจดจำ เรามีคำถามว่าความรุนแรงทางการเมืองเกิดขึ้นได้อย่างไร การรัฐประหารเกิดขึ้นได้อย่างไร ทำไมประยุทธ์ยังเดินลอยหน้าลอยตา ผมรู้ว่าทุกคนอยากรู้ อยากหาคำตอบแต่ก็พูดไม่ได้

“เราทราบว่าสังคมต้องมีกฎหมาย เราทราบว่าชื่อเสียงของบุคคลต้องไดรับการคุ้มครองตามระบบกฎหมาย แต่เราเชื่อว่ามันน่าจะดีกว่า ถ้ามีกฎหมายที่ชัดเจน ปชช อ่านแล้วรู้ได้ว่าพูดอะไรผิด อะไรไม่ผิด และมั่นใจว่าถ้าเราพูดสิ่งที่เป็นความจริง เป็นเหตุเป็นผล บนพื้นฐานประโยชน์ต่อสาธารณะ เพื่อประเทศชาติ เราจะพูดได้และไม่มีวันผิด”

“เราเชื่อว่ามันจะดีกว่า ถ้าหากว่าใครก็ตามไปพูดว่าร้ายคนอื่นให้เสียหาย ถูกดำเนินคดี ก็ถูกดำเนินคดีด้วยกฎหมายที่เป็นธรรม ด้วยบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมที่ปราศจากอคติ พิจารณาและตัดสินตามข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย โดยไม่จำเป็นต้องพิจารณาบรรยากาศทางการเมือง”

“เราเชื่อว่ามันน่าจะดีกว่า ถ้าหากมีปัญหาอะไรก็ตามในประเทศที่คนเห็นต่างกัน มันเข้าใจไม่ตรงกัน แล้วเราก็ยกเอาทุกเรื่องมาคุยบนโต๊ะด้วยกัน คนไม่เห็นด้วยก็เอาหลักฐานมาให้กันดู เอาข้อมูลข้อเท็จจริงมาถกเถียงกัน แล้วให้ประชาชนทุกคนช่วยกันฟังและช่วยกันตัดสิน”

“เราเชื่อว่ามันน่าจะดีกว่า ถ้าหากเราอยู่ในสังคมที่ไม่มีใครเลยต้องติดคุก เพียงเพราะแสดงความเห็นทางการเมือง เรียกร้องสังคมที่ดีกว่า และเรียกร้องให้ปรัชาชนเป็นเจ้าของอำนาจประเทศอย่างแท้จริง”

ยิ่งชีพทิ้งท้ายว่า การมารวมตัวที่แยกราชประสงค์ครั้งนี้ เป็นครั้งแรกที่ประชาชนมาร่วมกันเพื่อเปลี่ยนกฎหมายอาญามาตรา 112 ขอให้วันนี้เรามาเดินทางไกลไปด้วยกัน และเชิญชวนประชาชนให้ไปลงรายชื่อที่ บูธเข้าชื่อยกเลิก112

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์
 

17.15 น. ธนพร วิจันทร์ ผู้แทนเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน กล่าวถึงกรณีการเวนคืนที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยของประชาชนโดยสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของประชาชน แต่ไม่มีใครกล้าออกมาพูดหรือเรียกร้อง เพราะยังมี ม.112 ในส่วนของภาคแรงงาน หากวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์หรือพูดเรื่องการยกเลิก ม.112 ก็อาจถูกนายจ้างไล่ออกจากงานได้ แสดงให้เห็นว่ากฎหมายนี้มีปัญหาในหลายมิติ พร้อมระบุว่าพวกเราผู้ใช้แรงงาน ออกมาแสดงความประสงค์ที่จะมายกเลิกกฏหมาย เลือกตั้งสมัยหน้าถ้าไม่มีนโยบายยกเลิก 112 ไม่ต้องไปเลือก

 

ช่วงเวลา 17.00-17.45 น. มีฝนตกหนักบริเวณแยกราชประสงค์ แต่ผู้ปราศรัยบนเวทียังสลับสับเปลี่ยนขึ้นมากล่าวปราศรัยอย่างต่อเนื่อง หนึ่งในนั้นคือ ธิษะณา ชุณหะวัณ หรือแก้วตา ที่กล่าวปราศรัยเปรียบเทียบกฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ระหว่างประเทศไทยและต่างประเทศ ซึ่งพบว่าการบังคับใช้กฎหมายตลอดจนโทษของผู้กระทำความผิดมีน้อยกว่ากฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ของประเทศไทย แม้กระทั่งประเทศบรูไน ซึ่งมีการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์ราชย์ยังมีโทษจำคุกสุงสุดฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์อยู่ที่ 3 ปีเท่านั้น ในขณะที่ประเทศไทยมีโทษสูงสุดอยู่ที่จำคุก 15 ปี พร้อมกันนี้ ธิษะณาได้กล่าวขอโทษประชาชนแทน พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัน ปู่ของตนที่เป็นหนึ่งในผู้ตรวจการลูกเสือชาวบ้าน ซึ่งอาจเป็นหนึ่งในผู้ที่ทำให้เกิดการสังหารหมู่นักศึกษาและประชาชนในเหตุการณ์ 6 ตุลา จากนั้นเวลา ตะวัน จากกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ ได้ขึ้นมากล่าวปราศรัยต่อ เกี่ยวกับประเด็นการยกเลิก ม.112

ตะวัน จากกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ
 

18.05 น. หลังเคารพธงชาติ สมยศ พฤกษาเกษมสุข ขึ้นมากล่าวปราศรัยเรียกร้องให้ปล่อยตัวอานนท์ นำภา หรือทนายอานนท์, พริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน และนักกิจกรรมคนอื่นๆ พร้อมประกาศว่าจะเดินหน้าล่ารายชื่อประชาชนเพื่อยกเลิก ม.112 ให้ได้ครบจำนวน 1 ล้านรายชื่อ ก่อนจะอ่านแถลงการณ์ยกเลิก ม.112 เขียนโดยพริษฐ์ซึ่งถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำขณะนี้ โดยแถลงการณ์ดังกล่าวระบุว่าถูกเขียนขึ้นเพราะโดนปีศาจร้ายทำให้ได้รับความทุกข์ทรมาน

เมื่อปี 2517 มีคนถูกจับด้วย ม.112 เพียงเพราะแต่งกลอน ปี 2564 มีคนถูกจับด้วย ม.112 เพียงเพราะโพสต์ข้อความว่า "กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ" การดำเนินคดีที่ได้ยกตัวอย่างมานั้นแสดงถึงการไร้แก่นสารของ ม.112

บางคนถูกลงโทษเพียงเพราะวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยววัคซีนโควิด
บางคนถูกลงโทษเพียงเพราะตั้งคำถามบทบาทของสถาบันกษัตริย์
บางคนถูกลงโทษตั้งคำถามถึงประวัติศาสตร์ความรุนแรงโดยรัฐ 6 ตุลา 19 พฤษภา 35
บางคนถูกลงโทษเพราะตั้งคำถามว่าพระนเรศวรทำยุทธหัตถีจริงหรือเปล่า
เพียงเพราะชี้นิ้วขึ้นฟ้า หรือใส่เสื้อครอปท็อบ 

พวกเขาเหล่านั้นเป็นเหยื่อของกฏหมายครอบจักรวาล ทั้งหมดนี้ชี้ให้เห็นว่า ม.112 ครอบจักรวาล ส้นตีน มีอัตราโทษสูงลิบลิ่ว ไทยเป็นประเทศที่ป่าเถื่อน ม.112 เป็นเหตุแห่งความเสื่อมถอยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ดังนั้น หากท่านเป็นผู้รักประชาธิปไตย รักสิทธิ์ ท่านต้องช่วยกันเรียกร้องเพื่อปลดปล่อยโซ่ตรวจที่จองจำเรามานานแล้ว หากไม่รักประชาธิปไตย แต่รักสถาบันฯ ก็ต้องช่วยกันเรียกร้องเพื่อให้สถาบันฯ ถูกยอมรับในสากล

หากไม่สนใจข้อใดเลย ท่านก็ต้องช่วยกันเรียกร้องให้ยกเลิก เพราะเพื่อนพี่น้องลูกหลาน และคนที่ท่านรักอาจจะถูกลงโทษด้วยกฎหมายนี้

การยกเลิก ม.112 เป็นการปลดปล่อยประชาชนออกจาพันธนาการ ดังนั้น จะปลดปล่อยได้ต้องการรายชื่อ 1 ล้านชื่อ จะต้องไม่มีใครถูกจับกุมคุมขังด้วยกฎหมายนี้ ขออิสรภาพ และประชาธิปไตย จงบังเกิดแก่ทุกท่าน

สมยศ พฤกษาเกษมสุข
 

18.20 น. ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง จากกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ขึ้นมาบนเวทีและเชิญแกนนำผู้จัดการชุมนุมในวันนี้ขึ้นมายืนร่วมกัน พร้อมอ่านแถลงการณ์ของราษฎรยกเลิก ม.112 ซึ่งมีข้อเรียกร้องหลัก 2 ข้อ คือ 1. ให้สิทธิในการประกันตัวและปล่อยตัวผู้ต้องขังทางการเมืองทุกคน และ 2. แก้ไขประมวลกฎหมายอาญาเพื่อยกเลิก ม.112 หลังจากนั้น ปนัสยาได้กรีดแขนของตนเองเป็นคำว่า "112" และขีดฆ่าตัวเลข 112 นั้นอีกที

ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล กรีดแขนเป็นคำว่า "112" หลังอ่านแถลงการณ์จบ
 

แถลงการณ์คณะราษฎรยกเลิก 112

18.40 น. พรหมศร วีระธรรมจารี หรือฟ้า จากกลุ่มจากราษฎรมูเตลู กล่าวปราศรัยต่อจากการอ่านแถลงการณ์ของปนัสยา โดยพูดถึงเรื่องการใช้อำนาจของสถาบันกษัตริย์ที่หลายครั้งสร้างความเคลือบแคลงใจให้แก่ประชาชน เช่น การแต่งตั้งข้าราชการส่วนพระองค์ 904 หรือการจัดตั้งโครงการในพระราชดำริต่างๆ ซึ่งประชาชนไม่สามารถตั้งคำถามได้ถึงความเหมาะสมของการใช้งบประมาณ แม้ว่างบประมาณเหล่านั้นจะมาจากการจัดสรรงบของรัฐบาล ซึ่งมาจากภาษีของประชาชนอีกที

พรหมศร วีระธรรมจารี
 

พรหมศรให้ความเห็นว่าเมื่อพิจารณาเช่นนี้แล้ว ตนจึงคิดว่าสถาบันกษัตริย์ก็คือหน่วยงานรัฐอย่างหนึ่ง ดังนั้น การวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของสถาบันฯ จึงสมควรทำได้เช่นเดียวกับสถาบันการเมืองหรือหน่วยงานรัฐอื่นๆ พร้อมกันนี้ พรหมศรได้ยกตัวอย่างโครงการโคกหนองนา ซึ่งเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของ ร.10 ซึ่งตนได้ศึกษาระหว่างถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ และมีความเห็นว่าเป็นโครงการที่ไม่คุ้มสำหรับประชาชน เพราะต้องใช้ที่ดินอย่างน้อย 10 ไร่ จึงจะทำให้โครงการประสบผลสำเร็จ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ประชาชนส่วนใหญ่ยังประสบปัญหาขาดแคลนที่ดินทำกิน ไม่มีที่ดินมากพอที่จะทำตามโครงการนี้

นอกจากนี้ พรหมศรยังกล่าวว่า ม.112 เป็นกฎหมายที่ฝ่ายศักดินาเอามาใช้เป็นเครื่องมือกดขี่ประชาชนมาโดยตลอด และสร้างวาทกรรม "ล้มเจ้า" นำมายัดเยียดให้ฝ่ายประชาธิปไตย เอาสถาบันกษัตริย์มาเป็นเครื่องมือทางการเมือง ทั้งยังกล่าวถึงการเสียชีวิตของ นวมทอง ไพรวัลย์ ที่ถูกระบุเบื้องหน้าว่าเกิดจากการรัฐประหาร แต่เบื้องหลังเป็นการใช้อำนาจบีบบังคับของฝ่ายศักดินา พร้อมกันนี้ พรหมศรยังได้กล่าวเปรียบเทียบการลาออกจากฐานันดรศักดิ์และการลาออกจากราชวงศ์ของไทยและญี่ปุ่นว่ามีความแตกต่างกันอย่างมาก โดยกรณีของราชวงศ์ญี่ปุ่นนั้น เมื่อลาออกแล้วจะต้องลาออกเลย ไม่สามารถกลับเข้ามาใช้เงินภาษีของประชาชนได้อีก

“จริงๆ เรารักเจ้า ถ้าเราไม่รักเราจะไม่ปฏิรูปให้เขาอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ เพราะรักจึงให้ปฏิรูป เพราะถ้าไม่ปฏิรูปอาจจะกลายเป็นปฏิวัติ” พรหมศรกล่าว พร้อมเชิญชวนให้ประชาชนไปร่วมเข้าชื่อเสนอยกเลิก ม.112 ที่บูธของไอลอว์

19.00 น. เกียรติภูมิ ตั้งภรณ์พรรณ หรือบิ๊ก จากกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม กล่าวปราศรัยต่อ โดยเรียกร้องให้สื่อมวลชนนำเสนอเหตุผลว่าที่ตนและผู้ต้องหาคดี ม.112 คนอื่นๆ ถูกแจ้งความฟ้องร้อง พร้อมระบุว่าต้องการให้สื่อมวลชนให้เผยแพร่สำนวนสั่งฟ้องของตำรวจและอัยการด้วย เช่น ในกรณีของตนนั้น ถูกแจ้งข้อกล่าวว่าหมิ่นประมาทกษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.112 เพียงเพราะตนพูดคำว่า “กษัตริย์ไม่ใช่พระเจ้า” ซึ่งตนไม่เข้าใจว่าเป็นการดูหมิ่นอย่างไร

เกียรติภูมิ ตั้งภรณ์พรรณ
 

นอกจากนี้ เกียรติชัยยังชี้ให้เห็นปัญหาของ ม.112 ที่มีโทษสูงเกินโทษหมิ่นประมาททั่วไป รวมถึงการเปิดช่องให้ใครก็ได้เป็นผู้แจ้งความเอาผิด ไม่ใช่สถาบันกษัตริย์เป็นผู้ฟ้องเอง จึงเป็นช่องทางให้กฎหมายถูกใช้เป็นเครื่องมือกลั่นแกล้งทางการเมือง

"ถ้าจะปกป้องสถาบันกษัตริย์ก็ต้องให้วิจารณ์ได้ เพื่อไม่ให้มีบุคคลหรือคณะรัฐหารแอบอ้างสถาบันฯ เพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง" เกียรติชัยกล่าว

19.15 น. อรรถพล บัวพัฒน์ หรือครูใหญ่ หัวหน้าพรรคก้าวล่วง กล่าวปราศรัยโดยเปรียบเทียบสถานการณ์การใช้ ม.112 ของไทยกับการเล่นเกมในซีรีส์เรื่อง Squid Game โดยระบุว่าการใช้ ม.112 ในไทยนั้นคือ "เกมรอยัลลิสต์" คุณไม่มีสิทธิ์ปฏิเสธที่จะเล่น คุณต้องเล่น ถ้าคุณเกิดเป็นคนไทย เป็นไพร่ในระบบศักดินา พร้อมระบุว่าตนคือผู้เล่นเกมหมายเลข 112 และมีผู้เล่นเกมหมายเลขนี้ถูกกำจัดออกจากเกมนี้หลายคน เช่น อากง (อำพล ตั้งนพกุล ผู้ถูกดำเนินคดีตาม ม.112) ที่เสียชีวิตในคุกโดยไม่มีโอกาสได้พิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตัวเอง รวมถึงจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน ที่ติดคุก 3 ปีจากการถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด ม.112 ซึ่งจตุภัทร์ถูกบีบบังคับจากกระบวนการยุติธรรมที่ยาวนานจึงต้องยอมรับสารภาพ หรือแม้กระทั้งสมยศ พฤกษาเกษมสุข ที่มาร่วมชุมนุมในวันนี้ก็ติดคุกจากกฎหมายนี้นานถึง 7 ปี แต่สุดท้ายสมยศก็กลับมายืนบนเวทีอีกครั้งเพื่อเรียกร้องให้เกมนี้จบลงได้แล้ว นอกจากนี้ยังมีพริษฐ์ ชิวารักษ์ ที่เดินเข้าออกเรือนจำบ่อยกว่าบ้านของตัวเอง ซึ่งถ้าหากพริษฐ์แพ้ในเกมนี้จะต้องติดคุกนานกว่า 100 ปี แต่พริษฐ์ก็ยังยืนหยัดที่จะสู้ เพื่อให้รู้ว่าต้องชนะเกมนี้ให้ได้

อรรถพล บัวพัฒน์
 

อรรถพลเรียกร้องไปยังพรรคการเมืองให้เข้ามามีส่วนร่วมในการยกเลิก ม.112 กับประชาชน ผลักดันให้เรื่องนี้เข้าสู่สภาและมีผลเป็นรูปธรรม พร้อมขอให้พรรคการเมืองต้องชัดเจนกับประชาชน อย่ากลัวการถูกยุบพรรค เพราะถ้าหากพรรคมีความชัดเจน ไม่ว่าจะถูกยุบอีกกี่ครั้ง ประชาชนก็จะเลือกคุณอยู่ดี นอกจากนี้ อรรถพลยังกล่าวว่าพรรคก้าวล่วงของตนจะเชิญตัวแทนพรรคการเมืองมาพูดคุยถึงนโยบายการยกเลิก ม.112 ร่วมกัน หากไม่มีใครกล้าขึ้นเวที พรรคก้าวล่วงจะดำเนินการกับพรรคการเมืองนั้นๆ เอง ก่อนลงจากเวที อรรถพลได้อ่านข้อความที่จตุภัทร์ฝากมาถึงประชาชนทุกคนที่ยืนยันต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย โดยอ่านเป็นภาษาอีสาน ระบุว่า “112 มันไม่ได้ปกต้องซุมข่อย (พวกเรา) แต่มันปกป้องพวกเจ้า (ภาษาอีสาน - เจ้า มีความหมายว่า พวกเขา ซึ่งพ้องเสียงกับกับว่า เจ้า ในภาษาไทยกลาง) กฎหมายใดที่ไม่มีประโยชน์ต่อประชาชนก็ยกเลิกมันซะ"

19.30 น. หลังเสร็จสิ้นกิจกรรมปราศรัย ได้มีการแสดงดนตรีจากวงรี (Re-establish) ซึ่งเป็นวงดนตรีโฟล์กซองของเยาวชน และวงลูกนัท ของธนัตถ์ ธนากิจอำนวย รวมถึงมีการแสดงจากวงสามัญชน ต่อมาเวลา 20.20 น. ธัชพงษ์ แกดำ ผู้ดำเนินรายการบนเวทีได้ประกาศยุติการชุมนุม และขอให้ประชาชนเดินทางกลับโดยใช้เส้นทางฝั่ง ถ.ราชดำริ แยกราชประสงค์ ไม่ให้เดินทางกลับทางแยกประตูน้ำ

20.36 น. ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่ายิ่งชีพจากไอลอว์ประกาศว่าวันนี้มีประชาชนเข้าชื่อยกเลิก ม.112 ทั้งสิ้น 3,600 คน

(ภาพโดยแมวส้ม)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net