กรรมสิทธิ์ทะเลจีนใต้: น่านน้ำที่ยังคงร้อนระอุกับทางออกที่อาจมีเพียงการ ‘เจรจา’

คณะสังคมศาสตร์ มศว. ร่วมกับ สมาคมอเมริกาศึกษาในประเทศไทย สถานทูตสหรัฐอเมริกา และศูนย์เอเชียแปซิฟิกศึกษา จัดเสวนาออนไลน์ “ไขปัญหาทะเลจีนใต้: ความหวัง ความจริง และท่าทีของสหรัฐอเมริกา” ขยายประเด็นกรณีพิพาทพื้นที่ทะเลจีนใต้-แนะบทสรุปของปัญหาที่อาจต้องลงเอยด้วยการเจรจา พร้อมเชิญอดีตรองปลัดกระทรวงกลาโหมร่วมเสวนา

2 พ.ย. 2564 เมื่อวันที่ 25 ต.ค. ที่ผ่านมา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรินครินทรวิโรฒ ภายใต้ความร่วมมือกับสมาคมอเมริกาศึกษาในประเทศไทย สถานทูตสหรัฐอเมริกา และศูนย์เอเชียแปซิฟิกศึกษา จัดงานเสวนาออนไลน์หัวข้อ “ไขปัญหาทะเลจีนใต้: ความหวัง ความจริง และท่าทีของสหรัฐอเมริกา” เพื่อร่วมกันเสริมสร้างความเข้าใจและวิพาษก์ปัญหาการอ้างกรรมสิทธิ์ครอบครองพื้นที่ทะเลจีนใต้ รวมไปถึงหมู่เกาะสแปรตลีและหมู่เกาะพาราเซล โดยมีนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านรัฐศาสตร์และอเมริกันศึกษา พร้อมทั้ง พล.ร.อ.จุมพล ลุมพิกานนท์ อดีตรองปลัดกระทรวงกลาโหม และ พล.ร.ต.ปพน หาญไพบูลย์ ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพเรือ เป็นผู้ร่วมเสวนาในงานดังกล่าว

ในงานเสวนาครั้งนี้ มีการให้ความเห็นอย่างคร่าวๆ ว่าการเจรจาอย่างสันติเพื่อให้ทุกประเทศมีผลประโยชน์สูงสุดร่วมกัน น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่ในสุดในการยุติข้อพิพาททะเลจีนใต้ ซึ่งมีอาณาเขตอยู่ติดกับจีน ไต้หวัน เวียดนาม ฟิลิปปินส์ บรูไน มาเลเซีย อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ กินพื้นที่เกือบ 3 ใน 4 ของโลก นับเป็นหนึ่งในพื้นที่สำคัญทั้งทางการเมือง เนื่องจากเป็นจุดยุทธศาสตร์ในการควบคุมการเดินเรือที่เชื่อมโยงระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย ทั้งยังเป็นเส้นทางการบินที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลกอีกด้วย นอกจากนี้ พื้นที่ทะเลจีนใต้ยังเอื้อต่อการขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจและการค้า จากการทำประมงและการแสวงหาทรัพยากรที่สำคัญ เช่น น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ เป็นต้น

รศ.ภูมิ มูลศิลป์ คณบดีคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรินครินทรวิโรฒ หนึ่งในผู้บรรยายหลักของงานเสวนาได้กล่าวว่า แต่เดิม การแบ่งพื้นที่ครอบครองทางทะเล จะยึดตามอนุสัญญาประชาชาติว่าด้วยกฏหมายทะเล (UNCLOS) ค.ศ.1982 ที่แบ่งอาณาเขตทะเลของรัฐชายฝั่งออกเป็น 7 ส่วนคือ น่านน้ำภายใน ทะเลอาณาเขต เขตต่อเนื่อง เขตเศรษฐกิจจำเพาะ อาณาเขตไหล่ทวีป ทะเลหลวง และบริเวณพื้นที่ หรือ The Area ซึ่งพื้นที่นี้จะต่อจากอาณาเขตไหล่ทวีปและคาบเกี่ยวกับบริเวณทะเลหลวง บริเวณพื้นที่จะเป็นน่านน้ำที่ไม่อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐชายฝั่ง แต่จะถูกควบคุมโดยองค์การพื้นดินท้องทะเลระหว่างประเทศ (International Seabed Authority: ISA) เนื่องจากนับว่าเป็นมรดกร่วมกันของมนุษยชาติ

พื้นที่ทะเลจีนใต้กลายเป็นพื้นที่ที่ร้อนระอุขึ้น เมื่อมีการกล่าวอ้างกรรมสิทธิ์ครอบครองน่านน้ำและหมู่เกาะต่างๆ จนเกิดปัญหาพื้นที่ทับซ้อนกันของแต่ละประเทศ ซึ่งต่างก็อ้างอำนาจอธิปไตยในการครอบครอง ทำให้เกิดความขัดแย้งและความไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน มีการสะสมอาวุธเพื่อชิงความเป็นมหาอำนาจและเคลื่อนย้ายกำลังพลของแต่ละประเทศเพื่อเข้าควบคุมพื้นที่ โดยผู้ร่วมการพิพาทนี้ ได้แก่ จีน ไต้หวัน เวียดนาม มาเลเซีย บรูไน และฟิลิปปินส์ ซึ่งในกรณีการพิพาทครั้งนี้ ประเทศไทยทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการเปิดเวทีการเจรจาเช่น ASEAN และ ASEAN+ และไม่ได้มีส่วนร่วมในการอ้างสิทธิ์

ภาพมุมสูงของเกาะเทียมบนแนวปะการังไฟเออรีครอสส์ (Fiery Cross Reef) ในทะเลจีนใต้ ใกล้กับหมู่เกาะสแปรตลี ซึ่งจีนอ้างกรรมสิทธิ์และเข้ามาลงทุนสร้างสิ่งปลูกสร้าง (ภาพจาก Google Earth บันทึกเมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2564)
 

พล.ร.อ.จุมพลกล่าวว่าตลอดเวลาที่ผ่านมา ไทยยึดยุทธศาสตร์ความมั่งคงแห่งชาติทางทะเล ที่ว่า “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน มีเกียรติและศักดิ์ศรีในสังคมโลก” เพื่อที่จะมองภาพของข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ นอกจากนี้ พล.ร.อ.จุมพลยังชี้ให้เห็นถึงโจทย์ 3 ข้อที่กลั่นได้จากกรณีพิพาทครั้งนี้ โจทย์ข้อแรก คือ การที่นานาประเทศต่างอ้างสิทธิ์ในพื้นที่ของตนเอง ใช้เวทีระหว่างประเทศในการเจรจาและในขณะเดียวกันก็มีการแสดงกำลังเพื่อแสดงอำนาจ โจทย์ข้อที่สอง คือ การผนึกอำนาจของแต่ละประเทศในการควบคุมพื้นที่ทางทะเล และโจทย์ข้อสุดท้าย คือ การจับคู่เจรจาแบบทวิภาคีของประเทศที่มีปัญหาพื้นที่ทับซ้อน

ผศ.วิบูลพงศ์ พูนประสิทธิ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และที่ปรึกษาสมาคมอเมริกาศึกษาในประเทศไทย หนึ่งในผู้บรรยายงานเสวนา กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของข้อพิพาทคือการอ้างอำนาจอธิปไตยเหนือพื้นที่ทะเลจีนใต้และหมู่เกาะสแปรตลี-พาราเซล เดิมที ประเทศจีนมองว่ากฎหมายทะเล ฉบับ ค.ศ.1982 เป็นอนุสัญญาที่สร้างขึ้นเพื่อให้ประเทศมหาอำนาจเอาเปรียบประเทศเล็กๆ เนื่องจากกฎหมายฉบับนี้ได้ร่างขึ้นในช่วงที่ประเทศจีนกำลังเกิดการปฏิวัติทางวัฒนธรรมและเผชิญปัญหาความยากจน ดังนั้น ประเทศจีนจึงมองว่าตนเองกำลังถูกเอาเปรียบและถูกลดอำนาจเหนือพื้นที่อาณาเขตทางทะเล ให้เหลือทะเลอาณาเขตเพียง 12 ไมล์ทะเล (อ้างอิงจากกฎหมายทะเล หัวข้อทะเลอาณาเขต) ในขณะที่สภาพภูมิประเทศของจีนเป็นพื้นที่ชายฝั่งและติดทะเลค่อนข้างมาก จีนจึงได้สร้างแผนที่ “เส้นประ 9 เส้น” ที่มีลักษณะเป็นตัวยู ครอบคลุมพื้นที่เกือบร้อยละ 90 ของทะเลจีนใต้ รวมถึงหมู่เกาะสแปรตลี-พาราเซลขึ้นมา และอ้างกรรมสิทธิ์เหนือน่านน้ำ พร้อมทั้งร้องขอให้ประเทศอื่นๆ ทำรายงานการเดินทางผ่านน่านน้ำดังกล่าว ซึ่งการสร้างแผนที่นี้ได้ไปซ้อนทับกับบริเวณทะเลอาณาเขตของประเทศอื่นๆ นอกจากนี้ จีนยังเรียกร้องให้นานาประเทศบริเวณทะเลอาณาเขตทำรายงานที่ขัดต่อกฎหมายทะเลว่าด้วยการให้สิทธิการผ่านโดยสุจริต (Right of Innocent Passage) ซึ่งระบุว่าจะต้องไม่กระทำเรื่องเสื่อมเสียหรือฝ่าฝืนกฎหมาย อีกทั้งจีนยังสร้างเกาะเทียมด้วยการถมปะการัง และตีเส้นรอบเกาะที่จีนอ้างจากกฎหมายทะเล ซึ่งกินพื้นที่จนทำให้ไม่เหลือเขตน่านน้ำสากล วิบูลย์พงศ์กล่าวว่าความขัดแย้งทางพื้นที่นี้ ทำให้เกิดความไม่พอใจในหลายประเทศ รวมไปถึงสหรัฐอเมริกา ที่มองว่าประเทศจีนในตอนนี้ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายทะเล จึงได้ออกมาเรียกร้องและปฏิเสธการกล่าวอ้างของจีน พร้อมทั้งเสนอความช่วยเหลือแก่ฟิลิปปินส์ หากถูกรุกราน

แผนที่แสดงพื้นที่อ้างกรรมสิทธิ์และพื้นที่ทับซ้อนระหว่างชาติต่างๆ ในทะเลจีนใต้ และที่ตั้งของสันดอนสกาโบโร ที่ฟิลิปปินส์และจีนต่างอ้างกรรมสิทธิ์ และเป็นชนวนนำไปสู่การยื่นร้องเรียนของฟิลิปปินส์ที่ศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ (ที่มา: VOA/Wikipedia)
 

ผศ.ประพีร์ อภิชาติสกล อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรินครินทรวิโรฒ และอุปนายกสมาคมอเมริกาศึกษาในประเทศไทย กล่าวถึงความเชื่อมโยงและผลประโยชน์ของสหรัฐอเมริกาในการปกป้องน่านน้ำทะเลจีนใต้ โดยอ้างอิงคำกล่าวของจีนซึ่งระบุว่า การเข้ามาของสหรัฐอเมริกาในทะเลจีนใต้ ประการแรกนั้นเพื่อการรักษาสถานะและผลประโยชน์ของชาติที่มีกับประเทศอื่นๆ พร้อมกับการยับยั้งการแผ่อำนาจของจีน ประการที่สอง คือ เพื่อรักษาความมั่นคงและเสถียรภาพของทะเลจีนใต้ และประการที่สาม คือ เพื่อปกป้องเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา

อย่างไรก็ตาม การเสวนาในครั้งนี้ไม่ได้กล่าวถึงทางออกที่ชัดเจนในการยุติปัญหาข้อพิพาท เนื่องจากเป็นเรื่องของการแสวงหาผลประโยชน์และยังไม่มีการสิ้นสุด แต่ก็มีการกล่าวถึงการยุติข้อพิพาทอย่างคร่าวๆ คือ การเจรจา ต่อรอง เพื่อการสร้างพื้นที่ร่วมให้ทุกประเทศได้ผลประโยชน์ร่วมกัน เช่น การทำ MOU หรือ การตั้งบรรษัทต่างชาติ เป็นต้น การใช้กำลังเพื่อแก้ไขปัญหาในขณะนี้ไม่นับว่าเป็นทางออกที่ดี

ชมวิดีโอการเสวนาฉบับเต็ม

วิชญาพร เชาว์ศรีกุล ผู้รายงานชิ้นนี้เป็นนักศึกษาคณะศิลปศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ปัจจุบันฝึกงานกับกองบรรณาธิการข่าวประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท