Skip to main content
sharethis

รองโฆษกประจำสำนักนายก เผยรัฐบาลประกาศคำมั่นสิทธิมนุษยชนต่อสหประชาชาติ 10 พ.ย.นี้ พร้อมมีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์ ส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ขณะที่ เบลเยียมชูคำถามเรื่องแก้กฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์

 

8 พ.ย.2564 ความคืบหน้าการเสนอรายงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของไทยตามกลไก Universal Periodic Review (UPR) รอบที่ 3 ในวันที่ 10 พ.ย.นี้ ต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ นั้น วันนี้ (8 พ.ย.64) เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล รายงาน รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้แทนของประเทศไทยจะประกาศ “คำมั่นโดยสมัครใจ”  เพื่อยืนยันเจตนารมณ์ในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของรัฐบาล สรุปได้ดังนี้

1. ปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับตราสารระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งรวมถึงอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน และการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ
2. ศึกษาความเป็นไปได้ของการเข้าเป็นภาคีตราสารระหว่างประเทศเพิ่มเติม รวมทั้งอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 189 ว่าด้วยงานที่มีคุณค่าสำหรับแรงงานทำงานบ้าน
3. จัดทำรายงานระยะกลางเพื่อรายงานความคืบหน้าของการปฎิบัติตามข้อเสนอแนะที่ได้รับ รวมทั้งหารือกับภาคส่วนต่างๆอย่างต่อเนื่อง ในประเด็นตามข้อเสนอแนะที่ไทยไม่ได้ตอบรับ
4. เสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบสาธารณสุขและหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และผลักดันความร่วมมือระหว่างประเทศและพหุภาคีเพื่อการเตรียมความพร้อมและการรับมือกับโรคระบาด
5. ร่วมมือในการขจัดความไร้รัฐและส่งเสริมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของกลุ่มคนไร้รัฐไร้สัญชาติ โดยเฉพาะในด้านการศึกษา การคุ้มครองทางสังคม การเข้าถึงบริการในการจดทะเบียนเกิดและทะเบียนราษฏรของคนไร้รัฐไร้สัญชาติ และการพิจารณาให้สัญชาติและสิทธิความเป็นพลเมือง
6. เร่งส่งเสริมสิทธิมนุษยชนศึกษาและการสร้างความรู้ตระหนักรู้ด้านสิทธิมนุษยชนให้กับทุกภาคส่วน
7. พิจารณาแนวทางส่งเสริมมาตรการบังคับสำหรับภาคธุรกิจในการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน
8. ยืนยันการประกาศ standing invitation ต่อกลไกพิเศษของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ

รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ ยังกล่าวว่า มากไปกว่านั้น ประเทศไทยจะตอบรับข้อเสนอแนะ ซึ่งประกอบด้วย 1) ข้อเสนอแนะที่เคยรับไว้แล้วในรอบที่ 1 (ปี2554) และรอบที่ 2 (ปี2559) 2) ข้อเสนอแนะที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลและการดำเนินงานในปัจจุบัน เช่น การป้องกันและปราปปรามการทุจริต การแก้ไขปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ การป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ 3) ข้อเสนอแนะที่เป็นค่านิยมเชิงหลักการที่ไทยยึดถือและปฏิบัติมาตลอด เช่น ความเท่าเทียมทางเพศการไม่เลือกปฏิบัติ 4) ข้อเสนอแนะที่ช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งของโครงสร้างสิทธิมนุษยชนในประเทศ และ 5) ข้อเสนอแนะที่หน่วยงานมีความพร้อมที่จะรับดำเนินการ เช่น การเพิ่มมาตรการและการสนับสนุนการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน การศึกษาและจัดอบรมเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวกับการบังคับใช้ กฎหมายป้องกันการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อระงับการมีส่วนร่วมของสาธารณชน (Anti-SLAPP Law) /ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 161 / 1 หรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง

“รัฐบาลมุ่งมั่นให้ความร่วมมือกับนานาประเทศ แนวทางในการประกาศคำมั่นโดยสมัครใจและการพิจารณาตอบรับข้อเสนอแนะ ได้คำนึงถึงความสอดคล้องกับกรอบแนวทางการพัฒนาประเทศ ค่านิยมเชิงหลักการของสังคม และความพร้อมในการดำเนินการของหน่วยงาน ซึ่งสะท้อนการมีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์และเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศ”รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าว

เบลเยียมชูคำถามเรื่องการแก้ไข ม.112

เมื่อวันที่ 5 พ.ย.ที่ผ่านมา บีบีซีไทย รายงานด้วยว่า สำหรับการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนฯ ครั้งนี้ ไทยเป็นหนึ่งใน 13 ประเทศที่คณะทำงาน UPR จะทำการทบทวน ก่อนหน้านี้ไทยได้เข้าสู่กระบวนการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนตามระยะครั้งที่ 1 และ 2 ไปแล้ว เมื่อเดือน ต.ค. 2554 และ พ.ค. 2559 โดยที่ ธานี ทองภักดี ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งจะต้องตอบคำถามของนานาชาติเกี่ยวกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในไทย หนึ่งในนั้นคือคำถามจากประเทศเบลเยียมที่ถามว่า รัฐบาลไทยจะแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือที่มักเรียกว่ากฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรา 19 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights) ตามที่เบลเยียมได้เคยแนะนำในกระบวนการ UPR ครั้งที่แล้วหรือไม่ และไทยจะมีมาตรการใดเพื่อรับประกันว่าเยาวชนจะสามารถใช้เสรีภาพในการแสดงออก และการประท้วงอย่างสันติตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิเด็ก

เบลเยียมยังถามถึงสถานะปัจจุบันของไทยในกระบวนการให้สัตยาบันอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance) และรัฐบาลไทยได้พิจารณาให้สัตยาบันพิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน (Optional Protocols to the Convention against Torture) หรือไม่ เรื่องต่อต้านการทรมาน และการบังคับให้บุคคลสูญหายก็เป็นคำถามที่สวีเดน และสหราชอาณาจักรสอบถามถึงความคืบหน้าจากรัฐบาลไทยเช่นกัน 

ขณะที่ตั้งแต่ปี 63 เป็นต้นมาเริ่มมีขบวนการเคลื่อนไหวเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ จนปลายปีมีการดำเนินคดีด้วย ม.112 จำนวนมาก จนเมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยว่า มีผู้ต้องหาทางการเมืองที่ไม่ได้สิทธิประกันตัวทางการเมืองอย่างน้อย 27 คน และมีบุคคลที่เป็นเยาวชน 1 คน โดยเยาวชนนี้สาเหตุที่ศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัวคือไม่สามารถหาผู้ปกครองมารับรองได้ ก่อนที่ล่าสุด เมื่อวันที่ 3 พ.ย.ที่ผ่านมา ศาลเพิ่งให้ประกันตัว 4 นักกิจกรรมทะลุฟ้า

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net