รัฐบาลไต้หวันเปิดเผยรายงาน ระบุวางกำลัง-ซ้อมรบด้วยเรือดำน้ำรุ่นใหม่ในทะเลจีนใต้

จากรายงานประจำปีด้านกลาโหมของไต้หวัน 2564 พบวางกำลังเรือดำน้ำรุ่นใหม่ 2 ลำซ้อมรบที่แถบหมู่เกาะสแปรตลีย์ซึ่งเป็นพื้นที่พิพาทในแถบทะเลจีนใต้ นักวิเคราะห์ชี้เป็นเรื่องธรรมดาเพราะไต้หวันควบคุมพื้นที่ 2 เกาะใหญ่ในพื้นที่ดังกล่าว


ที่มาภาพประกอบ: Olaer/Elmer Anthony (CC BY-NC 2.0)

ไต้หวันออกรายงานประจำปีด้านกลาโหม 2564 เมื่อวันที่ 9 พ.ย. ที่ผ่านมา ระบุว่าพวกเขาได้ใข้เรือดำน้ำที่ชื่อ "ไห่หลง" (มังกรทะเล) จากกองเรือที่ 256 ในการร่วมปฏิบัติการซ้อมรบประสบความสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นการซ้อมรบยิงขีปนาวุธร่วมกับกองทัพอากาศ ปฏิบัติการซ้อมลาดตระเวนและฝึกฝนยุทธศาสตร์ที่หมู่เกาะสแปรตลีย์ หรือที่เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "หมู่เกาะหนานชา" และการซ้อมลาดตระเวนแบบพร้อมรบและปฏิบัติการโต้ตอบเรือดำน้ำ

อย่างไรก็ตามในรายงานไม่ได้ระบุชัดเจนว่าพวกเขาซ้อมรบกันตั้งแต่เมื่อไหร่และซ้อมรบเป็นจำนวนกี่ครั้ง แต่ก็มีผู้สังเกตการณ์บอกว่าการซ้อมรบน่าจะกระทำในช่วงระหว่าง 12 เดือนที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน

ไต้หวันควบคุมเกาะใหญ่ที่สุดสองเกาะในทะเลจีนใต้คือเกาะตงซาหรือเรียกอีกอย่างว่าพราตาส กับเกาะไทปิงหรือเรียกอีกอย่างว่าเกาะอิตูอาบา ไทปิงเป็นเกาะที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดในหมู่เกาะสแปรตลีย์ที่มีข้อพิพาทการอ้างเป็นเจ้าของเขตแดนระหว่างจีน, เวียดนาม และฟิลิปปินส์ อย่างไรก็ตามในครั้งนี้กลุ่มรัฐบาลของประเทศที่อ้างสิทธิเหนือหมู่เกาะเหล่านี้ยังไม่ได้แถลงโต้ตอบใดๆ ต่อไต้หวัน ทั้งที่มีข่าวเรื่องการซ้อมรบนี้กระจายออกไปตามสื่อต่างๆ ในวงกว้างแล้ว

ก่อนหน้านี้เวียดนามเคยแถลงต่อต้านหลายครั้งในเรื่องปฏิบัติการทางทหารของไต้หวันที่เกาะไทปิง ซึ่งเวียดนามเรียกว่า บาบินห์ โดยที่เวียดนามเคยแถลงว่าเป็นการ "ละเมิดอธิปไตยเวียดนามและเพิ่มความตึงเครียดในภูมิภาคทะเลจีนใต้"

คอลลิน โก นักวิจัยที่วิทยาลัยนานาชาติศึกษา เอส ราจารัตนัมในสิงคโปร์ผู้ศึกษาวิจัยเรื่องโครงการเรือดำน้ำของไต้หวันกล่าวว่า การซ้อมรบดังกล่าวนี้ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ มีการคาดการณ์ไว้แล้วว่าไต้หวันจะทำการซ้อมรบที่หมู่เกาะสแปรตลีย์ในช่วงที่ไม่มีสงครามอยู่แล้วเพราะไต้หวันเป็นผู้ครอบครองพื้นที่ส่วนหนึ่งของหมู่เกาะที่มีข้อพิพาทนี้ เผื่อว่าเมื่อถึงเวลาที่มีสงครามคาบสมุทรไต้หวันนักยุทธศาสตร์ของไต้หวันจะได้ทำให้มั่นใจว่าฝั่งใต้ของพื้นที่พวกเขามีการคุ้มกันที่มั่นคง

ในช่วงที่ผ่านมามีความตึงเครียดเกิดขึ้นระหว่างความสัมพันธ์จีนกับไต้หวัน จากการที่จีนอ้างว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของประเทศพวกเขาทั้งๆ ที่ในประวัติศาสตร์ไต้หวันไม่เคยตกเป็นของจีน ซึ่งทางไต้หวันในยุครัฐบาลชุดปัจจุบันยืนยันว่าไต้หวันมีสิทธิในการปกครองตนเองในฐานะรัฐอธิปไตย

โกวิเคราะห์อีกว่าเป็นไปได้ที่เรือดำน้ำของไต้หวันจะปฏิบัติการสอดแนมกองทัพจีนและกองทัพอื่นๆ ที่ประจำอยู่ตามหมู่เกาะสแปรตลีย์ไปด้วย

ในรายงานกลาโหมของไต้หวันยังระบุอีกว่าจีนเป็นภัยทางทหารต่อประเทศของพวกเขา โดยชี้ให้เห็นว่าจีนไม่เคยปฏิเสธถึงความเป็นไปได้ว่าจะใช้กำลังต่อไต้หวัน นั่นทำให้ไต้หวันต้องเตรียมการโดยเสริมกำลังยุทธการใต้น้ำของพวกเขาโดยอาศัยเรือดำน้ำรุ่นใหม่และพัฒนาระบบากรรบของเรือดำน้ำรุ่นเฉียนหลงที่มีอยู่เดิม

ในไต้หวันมีเรือดำน้ำรวม 4 ลำ มีสองลำที่พวกเขามีมาตั้งแต่ยุคสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้ว โดยที่มีการลำเลียงมาจากสหรัฐฯ ในช่วงประมาณ 40-50 ปีที่แล้วและอีกสองลำซื้อมาจากเนเธอร์แลนด์เมื่อประมาณ 30-40 ปีที่แล้ว ซึ่งโกบอกว่าเรือดำน้ำรุ่นเก่าเหล่านี้จะถือว่าตกรุ่นเมื่อเทียบกับสมรรถภาพในการต่อต้านเรือดำน้ำของกองทัพเรือจีนในปัจจุบัน

สำหรับเรือดำน้ำรุ่นล่าสุดของไต้หวันนั้นไม่ได้ซื้อมาจากประเทศอื่น แต่มาจากโครงการเรือดำน้ำที่ตั้งขึ้นเมื่อเดือน พ.ย. 2563 โดยมีโรงงานสร้างเรือดำน้ำที่เมืองท่าเกาสงทางตอนใต้ของประเทศ พวกเขามีเป้าหมายจะสร้างเรือดำน้ำกลัวงานดีเซล-ไฟฟ้ารวมแล้ว 8 ลำโดยประเมินงบประมาณไว้ที่ 16,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 524,000 ล้านบาท) โดยที่พวกเขาได้รับความช่วยเหลือจาก "กลุ่มประเทศที่สำคัญในยุโรป" และจากสหรัฐฯ โดยที่สหรัฐฯ ทำการส่งออกเทคโนโลยีการตรวจจับให้กับกองทัพเรือไต้หวัน ไม่ว่าจะเป็นระบบคลื่นตรวจจับโซนาร์แบบดิจิทัล, ระบบการสู้รบแบบรวมการ และระบบยุทโธปกรณ์สนับสนุนอย่างกล้องส่องดูเหนือผิวน้ำ

อย่างไรก็ตาม Leyi Qi นักวิเคราะห์การทหารจากไต้หวันก็วิเคราะห์ว่าไต้หวันควรจะดำเนินการอย่างระมัดระวังเพราะมีความเสี่ยงต่อการยกระดับความตึงเครียดในทะเลจีนใต้เกิดขึ้นสูงมาก นอกจากนี้ยังมีเรือดำน้ำของจีนกับเรือดำน้ำของเวียดนามปฏิบัติการอยู่ใกล้ๆ กับหมู่เกาะสแปรตลีย์ด้วย โดยที่เรือดำน้ำของเวียดนามเป็นเรือดำน้ำรุ่นกิโลที่ซื้อจากรัสเซียรวม 6 ลำ มูลค่า 3,200 ล้านดอลลาร์ (ราว 105,000 ล้านบาท) ขณะที่จีนมีการประเมินว่าน่าจะมีเรือดำน้ำรวมแล้วประมาณ 70 ลำ มีสิบกว่าลำที่เป็นเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ สหรัฐฯ ประเมินว่าเป็นไปได้ที่จีนจะมีเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์เพิ่มขึ้นเป็น 21 ภายในปี 2573

เรียบเรียงจาก
Government defense report says Taiwan deployed sub to South China Sea, Radio Free Asia, 11-11-2021

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท