Skip to main content
sharethis

กระทรวงวัฒนธรรม ไต้หวัน ยกเลิกกองทหารเกียรติยศประจำการภายในอนุสรณ์สถานเจียงไคเชก และย้ายพิธีเปลี่ยนเวรกองทหารฯ มาที่ ถ.ประชาธิปไตย ซึ่งเป็นลานหินหน้าห้องโถงอนุสรณ์สถาน ระบุเป็นขั้นแรกของการถอดถอน 'ลัทธิบูชาตัวบุคคลและเผด็จการนิยม'

 

15 ก.ค. 2567 เว็บไซต์สื่อ Focus Taiwan รายงานเมื่อ 12 ก.ค.ที่ผ่านมา กระทรวงวัฒนธรรม รัฐบาลไต้หวัน แถลงข่าวประกาศยกเลิกกองทหารเกียรติยศ 3 เหล่าทัพ ซึ่งประกอบด้วย ทหารจากกองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ ประจำการหน้ารูปปั้นเจียงไคเชก ประธานาธิบดีคนแรกของสาธารณรัฐจีน (ROC) หลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ภายในอนุสรณ์สถานเจียงไคเชก กรุงไทเป ไต้หวัน โดยมีผลวันแรก 15 ก.ค.นี้ 

พิธีเปลี่ยนเวรกองทหารในห้องโถงอนุสรณ์สถานเจียงไคเชก

ทางการไต้หวัน ระบุว่าการยกเลิกกองทหารฯ ประจำการนี้เป็นขั้นแรกของการถอดถอน "ลัทธิบูชาตัวบุคคล และลัทธิเผด็จการนิยม" ออกจากวัฒนธรรมไต้หวัน และเพื่อให้ความยุติธรรมช่วงเปลี่ยนผ่านที่อนุสรณ์สถานเจียงไคเชก บรรลุผลสำเร็จ

กระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่าจะไม่มีกองทหารเกียรติยศสาธารณรัฐจีน ยืนประจำการหน้าภายในอนุสรณ์สถานเจียงไคเชก 

อย่างไรก็ตาม พิธีเปลี่ยนเวรของทหาร จากเดิมที่แสดงหน้าอนุสรณ์สถานเจียงไคเชก จะถูกย้ายไปแสดงที่ถนนประชาธิปไตย ซึ่งเป็นถนนที่ปูด้วยหิน หน้าห้องโถงของอนุสรณ์สถานเจียงไคเชก ซึ่งมีขนาดความกว้าง 40 เมตร และความยาว 380 เมตร 

ถนนประชาธิปไตยหน้าห้องโถงอนุสรณ์สถานเจียงไคเชก

ทั้งนี้ ระหว่างพิธีเปลี่ยนเวร กองทหารแต่ละกองจะเดินจากประตูทิศตะวันออกเฉียงเหนือ และทิศตะวันตกเฉียงใต้ของห้องโถงใหญ่ มาบรรจบที่ถนนประชาธิปไตย 

กระทรวงกลาโหมไต้หวัน กล่าวในงานแถลงข่าวว่า นอกจากนี้ ทหารที่ประจำการจะเชิญธงขึ้นสู่ยอดเสา และเชิญลงมาจากยอดเสา ณ ห้องโถง ในเวลาประมาณ 6.00 น. และ 18.10 น. 

ทั้งนี้ กองทหารเกียรติยศเริ่มประจำการในอนุสรณ์สถานเจียงไคเชก ตั้งแต่เริ่มเปิดอนุสรณ์สถานฯ เมื่อปี 2523 

ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวเดอะการ์เดียน และ Channel News Asia รายงานเมื่อ 23 เม.ย. 2567 ว่า ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรไต้หวัน สส.จากพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (Democratic Progressive Party - DPP) ได้เรียกร้องให้กระทรวงมหาดไทย เร่งถอนรูปปั้นของเจียงไคเชก จำนวน 760 แห่ง ในพื้นที่สาธารณะออกไปโดยเร็วที่สุด เพราะพรรค DPP มองว่าเจียงไคเชก เป็นสัญลักษณ์ของลัทธิเผด็จการ ในช่วงเวลาที่เขาปกครองประเทศไม่มีเสรีภาพทางการเมือง และการแสดงความคิดเห็น

จากผู้ก่อตั้งเป็นฆาตกรสังหารประชาชน

'เจียงไคเชก' ผู้นำพรรคก๊กมินตั๋ง อพยพมาที่เกาะไต้หวันเมื่อราวปี 2492 หลังจากพ่ายแพ้สงครามกลางเมืองให้ เหมาเจ๋อตุง ประธานพรรคคอมมิวนิสต์จีน แต่ในช่วงเวลาที่เจียงไคเชก เป็นประธานาธิบดีไต้หวัน มีการจับกุม คุมขัง และสังหารผู้เห็นต่างจำนวนมาก โดยเฉพาะช่วงยุคสมัยที่เรียกว่า "White Terror" ตั้งแต่ ค.ศ. 1949-1992 (พ.ศ. 2482-2435) ซึ่งเป็นช่วงที่เจียงไคเชกประกาศใช้กฎอัยการศึก ยาวนานหลายทศวรรษ

เจียงไคเชก (ที่มา: wikicommon)

ยุคสมัยของ White terror มีชนวนเหตุจากการประท้วงครั้งใหญ่บนเกาะไต้หวัน และนครไทเป เมื่อปี 2490 ชนวนเหตุสำคัญเกิดขึ้นเมื่อ 27 ก.พ. 2490 เจ้าหน้าที่รัฐใช้ความรุนแรงยึดเอาบุหรี่เถื่อนจากหญิงม่ายวัย 40 ปี ที่โรงน้ำชาเทียนหม่า ระหว่างที่เธอพยายามเอาบุหรี่คืน เธอถูกท้ายปืนของเจ้าหน้าที่กระแทกเข้าที่ใบหน้าอย่างรุนแรงจนเลือดไหล ทำให้คนที่อยู่บริเวณดังกล่าวพยายามเข้าไปต่อว่าและกดดันเจ้าหน้าที่รัฐคนดังกล่าว แต่เรื่องราวกลับลุกลามบานปลาย เนื่องจากเจ้าหน้าที่รัฐได้ลั่นไกอาวุธปืนใส่ฝูงชนที่กรูเข้าไป เพราะความกลัว จนมีผู้เสียชีวิต 1 ราย

ชนวนดังกล่าวนำมาสู่การลุกฮือประท้วงพรรคก๊กมินตั๋งที่ปกครองเกาะไต้หวัน ระหว่าง 27-28 ก.พ. 2490 ก่อนการประท้วงจะขยายลุกลามทั่วเมืองไทเป และเกาะไต้หวัน เพื่อเรียกร้องอิสรภาพและการปกครองตนเอง เนื่องจากพวกเขาเริ่มรู้สึกแล้วว่า คนจีนกำลังมาแย่งยึดความมั่งคั่งที่เกาะไต้หวัน ประกอบกับความไม่พอใจที่สั่งสมมาต่อเนื่องนับตั้งแต่ที่ชาวจีนเริ่มอพยพตามเจียงไคเชก เข้ามา สุดท้ายทางการใช้กำลังปราบการชุมนุมจนทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก

สำนักข่าวสัญชาติอังกฤษ บีบีซี ระบุตัวเลขเอาไว้ว่าอาจมีผู้เสียชีวิตประมาณ 2,000-25,000 คนจากการสลายการชุมนุม ขณะที่สื่อบางสำนักระบุว่ามีประชาชนเสียชีวิตสูงถึง 28,000 ราย

หลังจากนั้น 2 ปี เจียงไคเชกได้ประกาศใช้กฎอัยการศึก และกฎหมายอาญามาตรา 100 หรือกฎหมายความมั่นคงของรัฐ ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการปราบปรามผู้เห็นต่างด้วยการกล่าวหาว่าเป็นกบฏ โดยผลกระทบสำคัญคือรัฐสามารถลงโทษประชาชนที่วิจารณ์รัฐบาล หรือเรียกร้องเอกราชด้วยข้อหา 'ต่อต้านรัฐ' นอกจากนี้ ยุคสมัยของเจียงไคเชก ยังห้ามประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมือง หรือตั้งพรรคการเมือง อีกทั้ง มีเรื่องเล่าว่ามีการบังคับสูญหายผู้เห็นต่างทางการเมืองหลายครั้ง 

รณฤทธิ์ มณีพันธุ์ ระบุในบทความ "76 ปีให้หลังและการรำลึกเหตุการณ์ 228 ของไต้หวัน" ว่า มีเรื่องเล่าว่า ยามค่ำคืนเป็นช่วงที่น่าหวาดผวาสำหรับคนไต้หวัน เนื่องจากถ้ามีคนเดินมาเคาะประตูบ้านยามวิกาล และพาตัวไป พอรุ่งเช้าคนๆ นั้นจะหายสาปสูญไปตลอดกาล และบางครั้งเห็นซากร่างของประชาชนลอยอยู่ในแม่น้ำ หรือท่าเรือ

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

 

เว็บไซต์ บีบีซี ระบุจำนวนผู้ถูกจับกุมจากการเป็นผู้ต้องสงสัยว่าต่อต้านรัฐบาลก๊กมินตั๋งนับหมื่นราย และมีอย่างน้อย 1,200 รายที่ถูกสังหาร ระหว่างปี 1949-1992 (พ.ศ. 2492-2535)

ยุคอันน่าหวาดผวาของชาวไต้หวันดำเนินต่อไปจนกระทั่งหลังเจียงไคเชก เสียชีวิตในปี 2518 ลูกชายของเจียงไคเชก 'เจียงจิงกว๋อ' ขึ้นมาบริหารประเทศในปี 2521 เขาได้ใช้กฎอัยการศึกต่อก่อนที่จะยกเลิกในปี 2530 

เจียงจิงกว๋อ อนุญาตให้มีการตั้งพรรคการเมือง และส่งต่ออำนาจให้กับ หลี่ เติงฮุย ต่อมา ในปี พ.ศ. 2539 ได้เริ่มจัดการเลือกตั้งครั้งแรก ท่ามกลางกระแสการเรียกร้องจากทั้งนักศึกษาและประชาชนที่ต้องการให้ไต้หวันเป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น

รณฤทธิ์ ระบุว่า จุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้กระแสมองเจียงไคเชก เริ่มเป็นผู้ร้ายสังหารประชาชน และเผด็จการ ในสายตาของชาวไต้หวัน เกิดขึ้นหลังจากช่วงปี 2543 พรรค DPP สามารถคว้าชัยในการเลือกตั้ง และเฉิน ฉุยเปี่ยน ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีของไต้หวัน

พรรค DPP มีนโยบายก่อตั้งคณะกรรมการเปลี่ยนผ่านสู่ความยุติธรรม และสืบสวนผู้ก่อเหตุสังหารหมู่ 228 โดยรายงานฉบับที่ 2 ซึ่งจัดทำขึ้นในปี 2550 ได้ระบุอย่างชัดเจนว่า เจียงไคเชก เป็นผู้รับผิดชอบสำคัญในเหตุการณ์สังหารหมู่ 228 นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ความรู้สึกของคนไต้หวันต่อเจียงไคเชก เปลี่ยนจากบิดาผู้ก่อตั้งชาติ กลายเป็น 'ฆาตกรผู้สังหารประชาชน'

นอกจากการถอนรูปปั้น และการถอนทหารประจำการที่หน้าอนุสรณ์สถานเจียงไคเชกแล้ว คณะกรรมการยุติธรรมในช่วงเปลี่ยนผ่าน ยังมีนโยบายปฏิรูปประวัติศาสตร์ไต้หวัน โดยให้รื้อถอนประวัติศาสตร์จีนออกจากตำราเรียนในระดับโรงเรียนมัธยมปลาย เนื่องจากพรรค DPP มองว่าไต้หวันไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของประเทศจีน

สำหรับไต้หวัน ถือเป็นหนึ่งในที่ที่มีการใช้กฎอัยการศึกยาวนานที่สุดในโลก โดยรวมระยะเวลาประมาณ 38 ปีติดต่อกัน ส่วนประเทศที่มีการประกาศใช้กฎอัยการศึกยาวนานที่สุดคือประเทศซีเรีย 48 ปี ตั้งแต่ (ค.ศ. 1963-2011 หรือ พ.ศ. 2506-2554)

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net