Skip to main content
sharethis

กรุงเทพโพลล์ เผยประชาชนเกินร้อยละ 70 จากทั้งหมด 1,184 คน ระบุว่าปีนี้จะไม่ออกไปลอยกระทง เพราะกลัวการแพร่เชื้อโควิด-19 และ “ลอยกระทงวิถีใหม่” ตามมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดน่าจะลดความสนุกสนาน ครึกครื้นของงาน รวมถึงกังวลว่าจะเกิดคลัสเตอร์ใหม่หลังงานลอยกระทง

ผลสำรวจเรื่อง “ คนไทยคิดเห็นอย่างไร ในค่ำคืนวันลอยกระทง” โดยกรุงเทพโพลล์

ผลสำรวจเรื่อง “ คนไทยคิดเห็นอย่างไร ในค่ำคืนวันลอยกระทง” โดยกรุงเทพโพลล์

19 พ.ย. 2564 กรุงเทพโพลล์ โดยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เผยแพร่ผลสำรวจความเห็นประชาชนเรื่อง “คนไทยคิดเห็นอย่างไร ในค่ำคืนวันลอยกระทง” โดยเก็บข้อมูลจากประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 1,184 คน โดยการสุ่มสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์จากฐานข้อมูลของกรุงเทพโพลล์ ระหว่างวันที่ 15-17 พ.ย. 2564

ผลสำรวจพบว่า วันลอยกระทงปีนี้ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 77.3 ระบุว่า จะไม่ออกไปลอยกระทง โดยร้อยละ 46.0 ให้เหตุผลว่า คนเยอะ กลัวการแพร่เชื้อโควิด-19 รองลงมาร้อยละ 22.0 ให้เหตุผลว่า ไม่ได้ให้ความสำคัญกับวันนี้ และร้อยละ 8.5 ให้เหตุผลว่า จะใช้วิธีลอยกระทงออนไลน์แทน ขณะที่ร้อยละ 22.7 ระบุว่าจะออกไปลอยกระทง โดยร้อยละ 16.6 ให้เหตุผลว่า จะได้ทำกิจกรรมร่วมกับครอบครัว/คนรัก รองลงมาร้อยละ 16.2 ให้เหตุผลว่า เป็นการสืบสานประเพณีไทย  และร้อยละ 15.6 ให้เหตุผลว่า เพื่อขอขมาพระแม่คงคาตามความเชื่อ

ทั้งนี้ ผู้ที่ลอยกระทงส่วนใหญ่ร้อยละ 61.1 ระบุว่าจะออกไปลอยกระทงริมคลองแถวบ้านเพื่อหลีกเลี่ยงคนเยอะ รองลงมาร้อยละ 34.1 ระบุว่าจะออกไปลอยกระทงตามงานวัด ชุมชน สวนสาธารณะ ที่จัดงานลอยกระทง และร้อยละ 4.8 ระบุว่าจะออกไปลอยกระทงตามงานอีเว้นท์ใหญ่ๆ ที่จัดขึ้นในจังหวัดต่างๆ

เมื่อถามว่าการสืบสานประเพณี “ลอยกระทงวิถีใหม่” ตามมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะส่งผลให้บรรยากาศของงานมีความสนุกสนาน ครึกครื้น ลดลงหรือไม่ พบว่าส่วนใหญ่ร้อยละ 71.8 คิดว่าน่าจะส่งผลให้ความสนุกสนาน ครึกครื้น ลดลง ขณะที่ร้อยละ 28.2 คิดว่าไม่ส่งผลให้ความสนุกสนาน ครึกครื้น ลดลง

ส่วนเรื่องที่ห่วงและกังวลมากที่สุดจากการจัดงานลอยกระทงในปีนี้ นั้น ส่วนใหญ่ร้อยละ 74.4 กังวลว่าจะเกิดคลัสเตอร์ใหม่ จากงานลอยกระทง รองลงมาร้อยละ 14.4 กังวลว่าผู้จัดงานปล่อยปะละเลย/ ไม่คุมเข้มตามมาตรการป้องกันโควิด-19 และร้อยละ 6.4 กังวลว่าจะมีการลักลอบดื่มสุรา/จำหน่ายสุรา

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net