สหภาพคนทำงานเปิดคอนเสิร์ตแยกมิสกวัน-ยื่นหนังสือเรียกร้องเปิดผับบาร์ 1 ธ.ค.นี้ตามเดิม

สหภาพคนทำงานตั้งเวทีคอนเสิร์ตขนาดย่อมที่แยกมิสกวัน แสดงเพลง We Are ประกอบอนิเมชัน One Piece และเพลงรอยยิ้มนักสู้ ของเสก โลโซ ก่อนเปิดปราศรัยและยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เรียกร้องให้เปิดสถานบันเทิงผับบาร์ในวันที่ 1 ธ.ค. 2564 ตามเดิม ชี้นักดนตรีและคนในธุรกิจกลางคืนอดทนมามากแล้วเกือบ 2 ปี พร้อมฝากถึงตำรวจที่มาเก็บส่วย ไม่เคยมีใครออกมาช่วยประชาชนที่เดือดร้อน

23 พ.ย. 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าวันนี้ (23 พ.ย. 2564) เวลา 11.00 น. ที่แยกมิสกวัน ถ.ราชดำเนินนอก สหภาพคนทำงานสาขานักดนตรีและศิลปินอิสระ ร่วมกับกลุ่มนักดนตรีมีเสียงและกลุ่มหัวกะทิ ยื่นหนังสือคัดค้านการเลื่อนเปิดสถาบันเทิง ต้องเปิดวันที่ 1 ธ.ค. นี้เท่านั้น โดยมีสมพาศ นิลพันธ์ ที่ปรึกษาสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นตัวแทนรับหนังสือ

 

ก่อนหน้านี้เวลา 10.00 น. ไอลอว์รายงานว่ากลุ่มสหภาพฯ เดินทางมาถึงบริเวณทำเนียบรัฐบาล เพื่อเตรียมจัดกิจกรรมและยื่นหนังสือ แต่พบว่าเจ้าหน้าตำรวจตั้งรั้วแผงเหล็กสองชั้นปิด ถ.พิษณุโลก ทั้งขาเข้าและขาออก ที่บริเวณแยกนางเลิ้ง และหน้าโรงเรียนราชวินิต จากการสอบถามเจ้าหน้าที่ แจ้งว่าให้จัดกิจกรรมภายในบริเวณที่หน้าโรงเรียนราชวินิตมัธยมเท่านั้น ไม่ให้จัดกิจกรรมหน้าทำเนียบรัฐบาล ทำให้ผู้จัดกิจกรรมต้องย้ายสถานที่ไปที่แยกมิสกวันแทน

 

 

นอกจากนี้ ไอลอว์ยังรายงานเพิ่มเติมอีกว่าเวลา 10.30 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจบริเวณแยกมิวสกวันขอให้สื่อมวลชนที่อยู่ในบริเวณนั้นย้ายไปอยู่หน้ากระทรวงศึกษาธิการ เนื่องจากใกล้เขตพระราชฐาน โดยตำรวจจะกั้นพื้นที่ให้จัดกิจกรรมในบริเวณนั้น และขอให้สื่อมวลชนปรับมุมกล้องสำหรับการเก็บภาพกิจกรรมหันหน้าเข้าหากระทรวงศึกษาธิการแทน เนื่องจากการหันกล้องไปทางแยกสวนมิสกวันนั้นติดพระบรมฉายาลักษณ์

เวลาประมาณ 11.00 น. กลุ่มนักดนตรีได้เริ่มแสดงดนตรี โดยเล่นเพลง We Are จากอนิเมชันญี่ปุ่นเรื่อง One Piece และเพลงรอยยิ้มนักสู้ของเสก โลโซ หลังจากนั้น มงคล สมอบ้าน หรือโจ กลุ่มราษดรัมส์ กล่าวปราศรัยโดยระบุว่าเพื่อนนักร้องนักดนตรีหลายคนที่ตนรู้จักต้องเปลี่ยนอาชีพไปทำอย่างอื่น เพราะไม่สามารถออกไปทำงานแสดงได้เกือบ 2 ปี และบางคนเครียดถึงขั้นยอมจบชีวิต

มงคล สมอบ้าน หรือโจ กลุ่มราษดรัมส์ และตัวแทนสหภาพคนทำงาน

“พวกเราต้องการทำงาน ต้องการกลับมามีชีวิตที่มีศักดิ์ศรี มีเงิน มีอนาคต ดูแลตัวเอง ดูแลครอบครัวได้ การเลื่อนเปิด...เลื่อนเพื่ออะไร ถ้ามันไม่มีปัญหาอะไรก็เปิดสิ แต่ทำอะไรก็ไม่ได้ ก็ออกไปได้ไหม รัฐบาลชุดนี้ แล้วสิ่งที่ผมอยากจะพูดอีกเรื่องหนึ่ง พวกตำรวจข้าราชการที่มาเก็บส่วย ที่มาทำงานพวกนี้ในเวลาปกติ แต่ตอนนี้พวกเราเดือดร้อน ไม่มีใครหน้าไหนมาช่วยเลย เลิกได้ไหมครับ ข้าราชการตำรวจ หุ้นลม ส่วยกากี มันน่าละอาย มันไร้ประโยชน์ พวกเรานักดนตรีคือคนที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับทุกอย่าง ตั้งแต่สินค้าไปจนถึงงานคอนเสิร์ตต่างๆ หรือแม้กระทั่งอีเวนต์ แต่จะให้เรามาเล่นกันแค่ 3-4 คน และเลิกกันแค่ 3 ทุ่ม ทุกวันนี้มันเป็นไปไม่ได้ ในความเป็นจริง มีวงวงดนตรีที่มีสมาชิก 10 คนขึ้นไป เขาจะอยู่อย่างไร คุณจะให้แดนเซอร์มาเล่นดีตาร์หรือตีกลองเหรอ มันไม่ใช่ อย่ามาบอกว่าเราเห็นแค่ตัวนะ พวกผมทนมา 2 ปี ไม่มีงานดนตรี ไม่มีงานทำ พวกเราทนจน ต้องหอบลูกเมียต้องกลับบ้านนอก พวกผมจน เงินเหลือติดตัวไม่ถึงพัน พวกผมต้องทนจนตอนนี้ อดมื้อกินมื้อมาหลายเดือน พวกเราต้องทน พวกเราต้องยืมหนี้ยืมสินจนไม่รู้จะเป็นหนี้อย่างไรแล้ว งานไม่มี เงินไม่เข้า รายจ่ายเท่าเดิม อย่ามาพูดเรื่องความอดทน 2 ปีพิสูจน์ได้ไหม ผมทนมานานมากแล้ว ผมเดือดร้อน” โจ กล่าว

ต่อมาเวลา 11.30 น. กลุ่มสหภาพคนทำงานได้ยื่นหนังสือคัดค้านการเลื่อนเปิดสถานบันเทิงเป็น 16 ม.ค. 2565 ต่อที่ปรึกษาสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ก่อนจะยุติกิจกรรมในเวลาประมาณ 11.45 น. หลังจบกิจกรรม ไอลอว์รายงานว่า ธนพร วิจันทร์ ตัวแทนสหภาพคนทำงานแจ้งว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ดุสิต ให้เสียค่าปรับ 100 เนื่องจากใช้เครื่องเสียง แต่ตัวแทนประกาศและเจรจากับเจ้าหน้าที่ตำรวจผ่านไมค์ เจ้าหน้าที่มีการยกเลิกไม่ต้องเสียค่าปรับ

ทั้งนี้ นับตั้งแต่โควิด-19 ระลอกสามอุบัติขึ้น กลุ่มนักดนตรีมีการเรียกร้องให้รัฐบาลมีการแก้ปัญหา เช่น เรื่องการผ่อนปรนพักชำระหนี้ และเยียวยานักดนตรีที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างพอเพียง แต่ครั้งนี้ มงคล สมอบ้าน ผู้ประสานงาน “สหภาพคนทำงาน” ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวทางโทรศัพท์ระบุถึงเหตุผลที่เขามายื่นหนังสือ มาจากการประกาศของรัฐบาลที่ให้เลื่อนเปิดสถานประกอบการกลางคืน และสถานบันเทิง จากวันที่ 1 ธ.ค. 64 ไปเป็นวันที่ 16 ม.ค. 65 ซึ่งทำให้มงคลรู้สึกว่า รัฐไม่มีความเห็นอกเห็นใจกลุ่มคนทำงานกลางคืนที่ต้องพักงานมาเกือบ 2 ปี  

“มันไม่ได้มีความเห็นอกเห็นใจเลยที่ทำให้เราไม่มีงานทำมา 2 ปี เราโดนปิดมาตั้งแต่ระลอกแรกจนถึงระลอกสามเกือบ 2 ปี และไม่ได้รับการเยียวยาที่เหมาะสมกับรายจ่ายของประชาชนที่ต้องจ่ายทุกวัน มันคาราคาซังจนกระทั่งการเลื่อนเปิดสถานประกอบการบันเทิง ช่วงกลางคืนวันที่ 16 ม.ค. มันหมดความอดทนแล้วจริงๆ” มงคง กล่าว 

มงคล กล่าวถึงเหตุการณ์ที่วันนี้ตำรวจมีการปิดถนนพิษณุโลกหน้าทำเนียบรัฐบาล ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่ทางสหภาพคนทำงานจะมายื่นหนังสือว่า ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าทางตำรวจคิดยังไง หรือเขาอาจจะกลัวที่พวกเขามาเล่นดนตรี แต่ก็รู้สึกว่าพวกเขาไม่ได้มาฆ่าใคร และเรื่องที่อยากจะพูดคือเรื่องที่พวกเขาเดือดร้อนจริงๆ เท่านั้น

สำหรับข้อเรียกร้องที่อยากจะเสริมนอกเหนือจากแถลงการณ์ มงคล อยากให้ทางนายกรัฐมนตรี และผู้มีส่วนเกี่ยวขัองในเรื่องนี้มาคุยหาแนวทางแก้ปัญหากับประชาชนอย่างจริงจัง แม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีการพูดคุยกับศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ชุดเล็กแล้ว แต่ก็ไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด 

สุดท้าย มงคง ระบุว่า ถ้าไม่มีความคืบหน้าจากรัฐบาล คงต้องมีการยกระดับการเคลื่อนไหว

“2 ปีแล้ว ที่ไม่ได้ทำงาน เราเดือดร้อนจริงๆ ตอนนี้ยังไม่มีเงินจ่ายค่าโทรศัพท์ และความเดือดร้อน การเยียวยา การงดชำระหนี้ (รัฐบาล) ไม่เคยพูดถึงเลย สินเชื่อต่างๆ มันไม่เพียงพอกับเกือบ 2 ปีที่สูญเสียไป และมันมีการสูญเสียที่น่าเศร้า การเลือกจบชีวิตของนักดนตรีที่มีทุกวัน แต่ไม่เป็นข่าว และเรารู้สึกว่ารัฐบาลมีอำนาจมากพอที่จะระงับเรื่องเหล่านี้ แต่กลับปล่อยไว้” มงคง ทิ้งท้าย
 

หนังสือคัดค้านการเลื่อนเปิดสถานบันเทิงเป็น 16 ม.ค. 2565 โดยกลุ่มสหภาพคนทำงาน

จากมติที่ประชุมล่าสุดของคณะกรรมการบริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ครั้งที่ 18/2564 เมื่อวันที่ 12 พ.ย. 2564 ที่เห็นชอบให้คงมาตรการปิดสถานบันเทิง ผับ บาร์คาราโอเกะ และเลื่อนการเปิดบริการจากแผนเดิมวันที่ 1 ธ.ค. 2564 เป็นวันที่ 16 ม.ค. 2565 โดยอ้างว่าสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ยังทรงตัวอยู่นั้น ได้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อประชาชนผู้ ประกอบอาชีพนักดนตรี นักร้อง ศิลปิน รวมถึงแรงงานภาคธุรกิจบริการกลางคืนที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เช่น พนักงานบัญชี พนักงานเสิร์ฟ พนักงานรักษาความปลอดภัย ฯลฯ จำนวนมาก

ตลอดระยะเวลาการระบาดกว่า 1 ปีนับตั้งแต่เดือน มี.ค. 2563 จนถึงปัจจุบัน เดือน พ.ย. 2564 ศูนย์ ศบค. มีคำสั่งปิดสถานบันเทิงและให้ยกเลิกการจัดกิจกรรมที่มีการรวมตัวฯ มาแล้วไม่ต่ำกว่า 4 ครั้ง หรือมากกว่า 230 วัน โดยไม่ได้จัดมาตรการเยียวยาธุรกิจและคนทำงานอย่างเหมาะสม รวมถึงไม่ได้เร่งจัดสรรวัคซีนที่มีประสิทธิภาพให้กับประชาชนในช่วงสั่งปิดสถานบริการ ส่งผลให้ธุรกิจสถานบริการกว่าร้อยละ 40-50 ต้องปิดกิจการถาวร คนทำงานหลายภาคส่วนต้องแบกรับหนี้สินจากธุรกิจและหนี้สินส่วนตัวก่อให้เกิดภาวะตึงเครียด และส่งผลให้ผู้ประกอบอาชีพนักดนตรี นักร้อง ศิลปิน รวมถึงอาชีพอื่นๆ ใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก ที่สำคัญคือเป็นที่ประจักษ์แล้วว่ามาตรการสั่งปิดสถานบันเทิงที่ผ่านมาไม่ได้ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

สหภาพคนทำงาน ร่วมกับกลุ่มหัวกะทิ และกลุ่มนักดนตรีมีเสียง ในฐานะตัวแทนของผู้ประกอบอาชีพนักดนตรี นักร้อง ศิลปิน รวมถึงแรงงานภาคธุรกิจบริการกลางคืน ที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ที่พร้อมกลับมาเปิดให้บริการภายใต้มาตรการรักษาสุขอนามัย ป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จึงขอยื่นข้อเรียกร้องต่อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เพื่อคัดค้านการเลื่อนเปิดสถานบันเทิงเป็น 16 ม.ค. 2565 ตามรายละเอียด ดังนี้

  1. ให้นายกรัฐมนตรีทบทวนคำสั่ง ศบค. กรณีการเลื่อนเปิดธุรกิจ ผับบาร์ จากวันที่ 1 ธ.ค. 2564 เป็น 16 ม.ค. 2565 โดยยืนยันให้เปิดตามเดิม (1 ธ.ค. 2564) ที่นายกรัฐมนตรีแถลงไว้ก่อนหน้า
  2. เพื่อสร้างความมั่นใจแก่นักท่องเที่ยวและผู้ใช้บริการ ขอให้ภาครัฐหารือร่วมกับคนทำงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดมาตรการควบคุมการให้บริการในสถานการณ์โควิด-19 โดยนักดนตรี นักร้อง ศิลปิน รวมถึงแรงงานภาคธุรกิจบริการกลางคืนที่เกี่ยวข้องอื่นๆ พร้อมปฏิบัติตามอย่างเข้มงวด
  3. ขยายเวลาจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ภายในสถานบริการ เป็น 24:00 น.
  4. ในช่วงเวลาเดือดร้อนเร่งด่วน ขอให้รัฐบาลและสถาบันการเงินต่างๆ กำหนดมาตรการพักชำระหนี้ให้กับคนทำงานเป็นเวลา 6 เดือน และส่งเสริมกองทุนกู้ยืมดอกเบี้ยต่ำ ในวงเงิน 50,000-100,000 บาท โดยให้สนับสนุนเป็นเงินสด เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งเงินช่วยเหลือได้โดยสะดวก
  5. สำหรับสถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะแห่งใดที่ยังไม่สามารถเปิดให้บริการในวันที่ 1 ธันวาคมได้ ให้รัฐบาลพิจารณาจ่ายเงินชดเชยเยียวยาการขาดรายได้ให้กับนักดนตรี นักร้อง ศิลปิน รวมถึงแรงงานภาคธุรกิจบริการกลางคืนที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ในจำนวนเงินที่เหมาะสม เพียงพอต่อการยังชีพ
  6. หากรัฐบาลยังไม่มีการประกาศเปลี่ยนแปลงมติที่ประชุม ศบค. ภายในวันที่ 30 พฤศจิกายนนี้ จะมีการติดตามทวงถามด้วยมาตรการต่างๆ ต่อไป

จึงเรียนมาเพื่อทราบและขอให้เร่งรัดพิจารณาตามข้อเรียกร้อง
ด้วยความเคารพท่านในฐานะผู้รับค่าตอบแทนจากภาษีประชาชน

มงคล สมอบ้าน
สหภาพคนทำงานและประชาชนเจ้าของภาษี

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท