พมจ.ตรัง รับเรื่องมอบเงินเยียวยาแก่แม่ของพลทหารประจักษ์ ที่ถูกทำร้ายร่างกายในกองบิน 56

สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดตรัง (พมจ.ตรัง) รับคำร้องและมอบเงินช่วยเหลือเยียวยาให้แก่มารดาของพลทหารประจักษ์ แก้วคงธรรม ผู้ถูกทำร้ายร่างกายและกระทำทรมานในกองทัพอากาศโยธิน กองบิน 56 เมื่อปี 2562

24 พ.ย. 2563 มูลนิธิผสานวัฒนธรรม รายงานว่า ปพิชญา เอียดนุ่น มารดาของพลทหารประจักษ์ แก้วคงธรรม พร้อมด้วยทนายความสิทธิมนุษยชน ได้เดินทางไปยังสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดตรัง (พมจ.ตรัง) เมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2564 เพื่อดำเนินการร้องขอความช่วยเหลือและเยียวยา กรณีพลทหารประจักษ์ บุตรชายของตน ได้สมัครเข้าเป็นพลทหารประจำการ ประจำปี 2560 ผลัด 2 ประจำการที่กองพันทหารอากาศโยธิน กองบิน 56 ต่อมาได้รับการติดต่อจากกองบิน 56 ว่าให้ครอบครัวไปรับตัวพลทหารประจักษ์กลับบ้าน แต่เมื่อไปถึงกลับพบว่า บุตรชายของตนอยู่ในสภาพนอนจมกองปัสสาวะและอุจจาระของตนเอง และไม่สามารถจดจำใครได้ จึงได้นำตัวกลับบ้านและพาไปรักษายังโรงพยาบาลตรัง ปัจจุบันพลทหารประจักษ์ยังคงเข้าออกโรงพยาบาลตรังเพื่อรักษาทั้งทางร่างกายและจิตใจจากการถูกกระทำทรมานในกองบิน 56

ล่าสุด พมจ.ตรัง ได้รับเรื่องร้องขอช่วยเหลือและเยียวยาของปพิชญา เป็นเงินเยียวยาให้กับมารดา ซึ่งเป็นผู้ดูแลครอบครัวทั้งบุตรที่เป็นผู้พิการและหลานชายที่เป็นเด็ก ขณะที่พลทหารประจักษ์ได้รับสิทธิเยียวยาในฐานะผู้พิการ ครั้งละไม่เกิน 2,000 บาท ปีละไม่เกิน 3 ครั้ง รวมเป็นจำนวนเงินไม่เกิน 6,000 บาทต่อปี นอกจากนี้ พมจ.ตรัง ยังได้รับเรื่องและขอเอกสารข้อมูลส่วนตัวของบุตรชายของพลทหารประจักษ์ เพื่อพิจารณาถึงสิทธิในการเยียวยาเด็กต่อไป เช่น ทุนการศึกษา เครื่องบริโภคและอุปโภค เป็นต้น เนื่องจากบุตรชายของพลทหารประจักษ์ทุกทำร้ายร่างกายโดยพลทหารประจักษ์เอง

ทั้งนี้ นับตั้งแต่ปพิชญา และพลทหารประจักษ์ ได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์และขอให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) รับเป็นคดี กรณีพลทหารประจักษ์ ถูกซ้อมทรมานในกองบิน 56 เมื่อปี 2562 และภายหลังกรมสอบสวนคดีพิเศษรับเรื่องร้องเรียนและดำเนินการเป็นคดีในความดูแลของกรมสอบสวนคดีพิเศษแล้ว มีเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นดังนี้

1) อาการของพลทหารประจักษ์แย่ลงก่อนหน้านี้ 2 ครั้ง ในช่วงเดือน พ.ค.-มิ.ย. จากอาการคลุ้มคลั่งและทำลายข้าวของ รวมทั้งทำร้ายบุตรชายของตนเอง จึงนำตัวส่งโรงพยาบาลตรัง ในวันที่ 7 พ.ค. 2564 และกลับบ้านได้ในวันที่ 19 พ.ค. 2564 และอีกครั้งเมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 2564 ก่อนที่อาการของพลทหารประจักษ์จะดีขึ้น และสามารถกลับบ้านได้ในวันที่ 16 มิ.ย. 2564

2) อาการของพลทหารประจักษ์แย่ลงอีกครั้ง มีอาการคลุ้มคลั่งและทำลายข้าวขาว รวมทั้งทำร้ายบุตรชายของตนเอง จนกระทั่งต้องนำตัวส่งโรงพยาบาลตรัง เมื่อวันที่ 1 ก.ย. 2564 ก่อนที่จะอาการพลทหารประจักษ์จะดีขึ้น และสามารถกลับบ้านได้ในวันที่ 30 ก.ย. 2564

3) ภายหลังแจ้งความร้องทุกข์และขอให้กรมสอบสวนคดีพิเศษรับเป็นคดีไปได้ 7 เดือน วันที่ 1 พ.ย. 2564 เจ้าหน้าที่ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ภาค 9 ได้รับหนังสือมอบหมายจากกรมสอบสวนคดีพิเศษส่วนกลางให้ดำเนินการสอบข้อเท็จจริงพลทหารประจักษ์ ผู้เสียหาย นางปพิชญา มารดาผู้เสียหาย และผู้ใหญ่บ้าน เพื่อแสวงหาพยานเพิ่มเติม กรณีพลทหารประจักษ์ แก้วคงธรรม ถูกกระทำทรมานในกองบิน 56 เมื่อปี 2562

4) ก่อนหน้านี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ภาค 9 มีกำหนดการลงพื้นที่และเคยได้ติดต่อครอบครัวของพลทหารประจักษ์มาแล้ว 1 ครั้ง แต่สถานการณ์โควิด-19 ที่มีความรุนแรง ประกอบที่ตั้งของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ภาค 9 ซึ่งตั้งอยู่ จ.สงขลา เป็นพื้นที่สีแดงก่อนหน้านี้ จึงชลอการลงพื้นที่ในการแสวงหาพยานและสอบข้อเท็จจริงบุคคล

5) ในวันดังกล่าว เจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษได้สอบถามนางปพิชญากับพลทหารประจักษ์ เกี่ยวกับเพื่อนสนิทและแวดวงสังคมของพลทหารประจักษ์ว่า เมื่อครั้งสมัยเรียน และก่อนสมัครเกณฑ์ทหารเคยสนิทกับใคร และมีเพื่อนคนใดไปมาหาสู่บ้าง ขณะซักถามประวัติโดยหวังว่า จะสามารถสืบหาพยานบุคคลที่รับรู้เรื่องราวของพลทหารประจักษ์เพิ่มขึ้นได้ ก่อนจะได้คำตอบว่า พลทหารประจักษ์ไม่ได้ติดต่อเพื่อนมานานแล้ว และผู้เป็นแม่ก็ไม่เคยรู้จักกับเพื่อนของลูกเลยสักคน ประกอบกับการให้ข้อมูลพลทหารประจักษ์ช่วงนั้นเริ่มยากลำบาก เนื่องจากภาวะเครียดสะสม

6) ขณะที่เมื่อสอบถามทนายความของ พมจ.ตรัง นางปพิชญาและทนายความสิทธิมนุษยชนก็ได้ทราบว่า ก่อนหน้านี้ทนายความ พมจ.ตรัง ได้ติดต่อไปยัง กองบิน56 ถึงเรื่องราวของพลทหารประจักษ์ และได้รับคำตอบเป็นไทม์ไลน์การเข้าฝึกทหารของพลทหารประจักษ์ ก่อนจะมีการอ้างว่า พลทหารประจักษ์เป็นบุคคลที่ใช้ยาเสพติดและมีการทำร้ายร่างกายตัวเอง ขณะที่ทนายความสิทธิมนุษยชนได้ตั้งข้อสังเกตว่า หากเป็นเช่นนั้นจริง ก่อนเข้าประจำการทุกครั้งจะต้องมีการตรวจร่างกาย และตรวจหาสารเสพติด ถ้าไม่พร้อมเข้าประจำการ เขาจะไม่ให้ผ่าน แต่พลทหารประจักษ์ผ่านเกณฑ์ทุกอย่าง ไม่มีอะไรติดขัดทั้งสองรอบที่เข้าประจำการ หากอ้างว่ามีอาการติดสารเสพติดระหว่างประจำการ ยาเสพติดสามารถลักลอบเข้าค่ายทหารได้อย่างไร

7) ภายหลังเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ ภาค 9 ไม่นาน เมื่อวันที่ 6 พ.ย. ที่ผ่านมา พลทหารประจักษ์ก็เกิดอาการคลุ้มคลั่งอีกครั้ง ทำร้ายข้าวของ รวมทั้งทำร้ายแม่และบุตรชายตัวเอง จนต้องนำตัวส่งโรงพยาบาลโดยด่วน และเป็นผลให้จนถึงขณะนี้พลทหารประจักษ์ยังคงพักรักษาตัวและจิตใจอยู่ที่โรงพยาบาลตรัง

8) ไม่นานนี้ เมื่อวันที่ 18 พ.ย. 2564 นางปพิชญาได้รับแจ้งจากพยาบาลประจำโรงพยาบาลตรังว่า พลทหารประจักษ์ถูกมัดมือกับเตียงอีกครั้ง เนื่องจากอาการคลุ้มคลั่งกำเริบ และเรียกหาแม่ อยากเจอแม่ ซึ่งภายหลังนางปพิชญาได้เข้าเยี่ยม อาการของพลทหารประจักษ์ก็ดีขึ้น โดยพยาบาลได้แจ้งเพิ่มเติมว่าก่อนหน้านี้ พลทหารประจักษ์มีอาการคลุ้มคลั่งเช่นเดียวกันนี้ถึง 3 ครั้ง

9) วันที่ 22 พ.ย. 2564 มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ได้รับแจ้งจากปพิชญาอีกครั้งว่า ภายหลังเข้าเยี่ยมพลทหารประจักษ์ บุตรชายอีกครั้ง พบว่าบุตรชายยังคงไม่ได้สติดี ระหว่างที่พูดคุยยังคงพูดรู้เรื่องบ้าง ไม่รู้เรื่องบ้าง และเป็นผู้ป่วยติดเตียง ไม่สามารถลุกเดินไปไหนได้

ด้าน สุพรรษา มะเหร็ม ทนายความสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า คดีนี้ยังคงเป็นไปตามกระบวนยุติธรรมของกรมสอบสวนคดีพิเศษ อาจล่าช้าไปบ้างด้วยสถานการณ์โควิด-19 ประกอบกับฐานะทางบ้านตอนนี้ค่อนข้างขัดสน เนื่องจากแม่ของพลทหารประจักษ์ต้องลาออกจากงานมาดูแลลูกชายและหลานชาย และประกอบอาชีพรับจ้างทำเหรียญกำพลแจกตามงานศพในพื้นที่เท่านั้น ซึ่งได้รายได้ไม่เกินสัปดาห์ละ 1,000 บาท ขณะที่ภาระค่าใช้จ่ายอยู่กับแม่ทั้งหมด ซ้ำร้ายแม่ของพลทหารประจักษ์ก็สุขภาพไม่ดี รถจักรยานยนต์ล้มไปเมื่อ 3-4 เดือนก่อน เป็นผลให้ขามีปัญหา การพาแม่และครอบครัวเข้าพบ พมจ.ตรัง เมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2564 เพื่อขอให้มีการเยียวยาทั้งจากกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ หรือกองทุนยุติธรรม โดยขอให้เยียวยาในเบื้องต้นก่อน ขณะที่เมื่อเข้าพบผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เขาก็บอกให้ดำเนินการไปตามกระบวนการยุติธรรม เนื่องจากถ้าเป็นการกระทำที่เกิดขึ้นในค่ายทหาร ฝ่ายพลเรือนจะไม่สามารถเข้าไปจัดการได้

“การดำเนินคดีจำเป็นต้องให้ความเป็นธรรมทั้งสองฝ่าย ไม่ว่าจะฝ่ายทหารหรือครอบครัวพลทหารประจักษ์ โดยหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องจะต้องสืบสวนสอบสวน เพื่อหาข้อเท็จจริงที่ให้ความเป็นธรรมทั้งสองฝ่าย โดยฝ่ายผู้เสียหายที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำของฝ่ายกองทัพ จะต้องได้รับความเป็นธรรมด้วยเช่นกัน” สุพรรษา กล่าว

ทั้งนี้ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ในฐานะองค์กรสิทธิมนุษยชนที่ให้ความช่วยเหลือทางด้านคดีความกับพลทหารประจักษ์ แก้วคงธรรม และครอบครัว จึงขอให้ทุกคนร่วมกับติดตามความคืบหน้าคดีดังกล่าวว่าท้ายที่สุดกรมสอบสวนคดีพิเศษจะสามารถรวบรวมพยานหลักการและสั่งฟ้องในคดีดังกล่าวได้หรือไม่

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท