เพื่อไทย-ก้าวไกล ฉะ 'ศักดิ์สยาม' ปมสั่งปิดหัวลำโพง แนะเร่งสร้างส่วนต่อขยายจากบางซื่อ-สานต่อยุคยิ่งลักษณ์

รองโฆษกพรรคเพื่อไทยถามรัฐรีบปิดใช้หัวลำโพงเอื้อใคร แนะเปิดใจหยิบแผนฟื้นฟูสมัยยิ่งลักษณ์มาสานต่อ อนุรักษ์ของเดิม-เพิ่มรายได้ ด้านรองเลขาฯ พรรคก้าวไกล ชี้ คำสั่งปิดสถานีหัวลำโพงวุ่นเกิดจากการบริหารผิดพลาด ควรเร่งแก้ปัญหาสายสีแดงบางซื่อ-หัวลำโพง

24 พ.ย. 2564 ทีมสื่อพรรคเพื่อไทยรายงานว่า ชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ รองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ชะลอคำสั่งให้ยุติการเดินรถที่สถานีรถไฟหัวลำโพงตั้งแต่เดือน พ.ย. 2564 เป็นต้นไป เพื่อรับฟังความคิดเห็นว่าที่ผ่านมาประชาชนผู้ใช้บริการรถไฟไม่เคยรับรู้ล่วงหน้ามาก่อนถึงแผนการยกเลิกวิ่งรถไฟเข้าสู่สถานีหัวลำโพง หากไม่เกิดกระแสต่อต้านและตั้งคำถามของสังคม ศักดิ์สยามคงเดินหน้าต่อทั้งที่ตามแผนแม่บทการพัฒนารถไฟฟ้าในกรุงเทพมหานครระบุไว้ว่าในปี 2568 รถไฟฟ้าสายสีแดงเข้มจากบางซื่อ-หัวลำโพงจะก่อสร้างแล้วเสร็จ ซึ่งพอดีกับแผนนำพัฒนาพื้นที่สถานีรถไฟหัวลำโพงในเชิงพาณิชย์ซึ่งจะเริ่มขึ้นในปี 2568 เช่นกันด้วย จึงไม่เข้าใจว่าเหตุใดศักดิ์สยามจึงต้องเร่งรีบยกเลิกการเดินรถไฟมายังสถานีรถไฟหัวลำโพง หรือการตัดสินใจดังกล่าวเป็นไปเพื่อผลประโยชน์อื่นใดหรือไม่

ชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ
 

ชนินทร์ กล่าวว่า หากนายศักดิ์สยามอ้างว่าที่ต้องการยกเลิกการเดินรถไฟเข้ามายังสถานีรถไฟหัวลำโพงเพื่อจะได้นำที่ดินไปประมูลนำรายได้มาแก้ไขปัญหาหนี้สินการรถไฟแห่งประเทศไทยที่สะสมรวม 600,000 ล้านบาทนั้น ยิ่งเป็นข้ออ้างที่ขาดกระบวนการคิดและไตร่ตรองที่ดีพอ เนื่องจากแนวทางการแก้หนี้ด้วยการนำที่ดินของการรถไฟเพื่อเปิดให้เอกชนเข้ามาประมูลเพื่อเช่าในระยะยาวนั้นมีการดำเนินการมาโดยตลอด ในขณะที่แผนเพิ่มรายได้ให้กับการรถไฟฯ ที่จัดทำโดยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ก็ได้ทำโรดแมปไว้แล้วอย่างเป็นระบบโดยที่ยังคงการใช้งานสถานีหัวลำโพงเอาไว้ โดยแผนงานมี 3 ขั้นตอน ได้แก่ การยกระดับการบริการพื้นฐาน การออกแบบการบริการให้ตอบสนองผู้ใช้งานที่เพิ่มขึ้น และการสร้างรายได้ผ่านธุรกิจบริการใหม่

นอกจากนี้ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ยังได้มอบหมายให้ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ออกแบบแผนงานและปรับปรุงการใช้งานหัวลำโพงเอาไว้ตั้งแต่ปี 2556 ภายใต้แนวคิด “Service Design”  หรือการออกแบบบริการโดยคำนึงถึงผู้มีส่วนร่วมทั้งระบบ เช่น การปรับปรุงพื้นที่กายภาพอาคาร, ปรับเปลี่ยนพื้นที่ใช้งานบางส่วน, ปรับเปลี่ยนพื้นที่เชิงพาณิชย์ โดยยังคงอัตลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมและวัฒนธรรมไว้ทั้งหมด เพื่อให้หัวลำโพง “ไม่ใช่แค่จุดเริ่มต้นของการเดินทาง แต่เป็นจุดหมายหนึ่งของการท่องเที่ยวด้วย” ดังนั้นจึงอยากให้รัฐบาลคิดใหม่ หากจะปรับเปลี่ยนหัวลำโพงควรต้องสร้างชีวิตชีวา (Revitalize) ตามวิถีคนเมือง ไปพร้อมกับการอนุรักษ์ประวัติศาสตร์อย่างมีคุณค่าให้กับคนเมืองในปัจจุบัน  โดยต้องสร้างรายได้ด้วย

“ในฐานะสถาปนิก ผมรู้สึกเสียดายที่การบริหารงานของรัฐบาลชุดนี้ มุ่งเน้นแต่สร้างผลประโยชน์เชิงตัวเลข แต่ลืมฟังเสียงของประชาชน การดำรงไว้ซึ่งคุณค่าของสถานที่ และการออกแบบแนวนโยบายด้วยความคิดสร้างสรรค์ หากรัฐบาลและกระทรวงคมนาคมมีความจริงใจต่อการพัฒนาประเทศ ผมขอเรียกร้องให้เปิดใจหยิบแผนงานหรือการศึกษาต่างๆ ของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์มาพัฒนาต่อ มีหลายโครงการที่ไม่ได้ถูกนำมาสานต่อเพื่อเป็นประโยชน์แก่ชาติบ้านเมือง” ชนินทร์กล่าว

 

'ก้าวไกล' ชี้ ต้องเร่งสร้างเส้นทางรถไฟบางซื่อ-หัวลำโพง ไม่ใช่สั่งปิดแล้วอ้างคนดราม่า

ทีมสื่อพรรคก้าวไกลรายงานว่าการยุติการเดินรถเข้าออกสถานีรถไฟหัวลำโพง ที่ทำให้ประชาชนเดือดร้อนจำนวนมาก กลับกลายเป็นเรื่องที่ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มองเป็นเรื่อง ‘ดราม่า’ กันไปเอง โดยละเลยความจริงที่ว่า ปัญหาของเรื่องนี้ไม่ได้อยู่ที่ประชาชนคัดค้านการปิดสถานีหัวลำโพงโดยสิ้นเชิง แต่ปัญหาอยู่ที่การปิดสถานีหัวลำโพงโดยไม่มีทางเลือกอื่นที่สะดวกสบาย ไม่สิ้นเปลือง ซึ่งเป็นผลมาจากการบริหารที่ผิดพลาดของรัฐบาลเอง

ในขณะที่ ศักดิ์สยาม ขอให้สังคมหยุดดราม่าเรื่องนี้ โดยอ้างการขาดทุนของการรถไฟ ทำให้ต้องนำที่ดินมาพัฒนาหารายได้เชิงพาณิชย์ แต่ข้อเท็จจริงก็คือ ตามแผนการพัฒนาของการรถไฟ เดิมทีจะยังคงไว้ทั้งสถานีบางซื่อและสถานีหัวลำโพง โดยกิจกรรมส่วนใหญ่จะย้ายมาอยู่ที่สถานีบางซื่อ แต่ยังคงสถานีหัวลำโพงไว้เพื่อเป็นจุดเชื่อมต่อสำคัญ ‘ใจกลางเมือง’ พร้อมกันนั้น จะมีการพัฒนาเชิงพาณิชย์ทั้ง 2 สถานี โดยจะเชื่อมต่อกันด้วยโครงการสายสีแดง แต่เพราะโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ทำให้ต้องมีการ ‘เปลี่ยนแผน’ และทำให้สายสีแดงช่วงบางซื่อ-หัวลำโพงล่าช้าออกไป

หน้าที่ของรัฐมนตรีนั้น ควรจะเป็นการเร่งแก้ไขปัญหาให้สายสีแดงช่วงบางซื่อ-หัวลำโพงแล้วเสร็จโดยเร็ว แต่กลับยุติการเดินรถเข้าออกสถานีหัวลำโพง ลอยแพประชาชนจำนวนมากที่ต้องใช้การเดินทางเส้นนี้ แล้วกล่าวหาประชาชนว่า ‘ดราม่า’ กันไปเอง โดยแถไปเรื่องรถไฟขาดทุนเพื่อมาปิดสถานีหัวลำโพง

สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และรองเลขาธิการพรรคก้าวไกล อธิบายว่าประเด็นนี้ต้องแยกแยะเรื่องการขาดทุนของการรถไฟกับการยุติการเดินรถเข้าออกสถานีหัวลำโพงออกจากกัน การรถไฟขาดทุนจริง แต่มีการทำให้ภาพการขาดทุนถูกขยายมากเกินควร ทั้งที่ควรให้ความสำคัญกับการให้บริการประชาชนมากกว่า และรัฐมนตรีคมนาคมเองต่างหากที่ทิ้งโอกาสล้างหนี้ด้วยการนำที่ดินไปประเคนให้นายทุนใหญ่

สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ
 

“หากท่านรัฐมนตรีเข้าใจในประเด็นนี้ ก็อย่าดราม่าให้มากในเรื่องของการขาดทุน ต้องให้ความสำคัญกับการให้บริการสาธารณะมากกว่าการขาดทุนทางบัญชี เรื่องการแก้ปัญหาการขาดทุนทางบัญชีโดยการนำพื้นที่มาพัฒนาเชิงพาณิชย์เป็นเรื่องที่ดี แต่ก็น่าเสียดาย ‘ที่ดินมักกะสัน’ ที่ท่านรัฐมนตรีนำไปประเคนให้นายทุนใหญ่แทนที่จะนำมาล้างหนี้”

ก่อนหน้านี้ พรรคก้าวไกลเคยขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษา ตรวจสอบการดำเนินการโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) และการกำหนดพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก แต่รัฐบาลก็ปฏิเสธการตรวจสอบโดยสภาไปอย่างมีเงื่อนงำ ด้วยการคว่ำญัตตินี้ไปอย่างไร้เหตุผล

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท