สภาเลื่อนพิจารณาร่างกฎหมาย 'ปลดอาวุธ คสช.' เสนอโดย iLaw คาดได้คิวอีกทีวันพุธหน้า

เจ้าหน้าที่รัฐสภาแจ้งว่าร่างกฎหมายปลดอาวุธ คสช. ที่เสนอโดย iLaw ยังไม่ได้รับการพิจารณาในวันนี้ (1 ธ.ค. 2564) สอดคล้องกับท่าที่ของตัวแทนวิปรัฐบาลและฝ่ายค้านเมื่อวานนี้ที่ระบุว่าอาจจะไม่ได้พิจารณา เนื่องจากมีร่างกฎหมายอื่นๆ รอคิวอยู่แล้วตามวาระก่อนหน้า ทั้งนี้ ทาง iLaw ระบุว่าอาจจะมีการพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้อีกครั้งในวันที่ 8 ธ.ค. นี้

1 ธ.ค. 2564 วันนี้ (1 ธ.ค. 2564) เวลาประมาณ 12.00 น. ผู้สื่อข่าวประชาไทได้รับแจ้งจากทางไอลอว์ (iLaw) ว่าเจ้าหน้าที่รัฐสภาโทรศัพท์มาแจ้งทาง iLaw ว่าวันนี้ไม่ต้องเดินทางไปที่รัฐสภา เพื่ออภิปรายร่าง พ.ร.บ.ยกเลิกประกาศและคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย พ.ศ. .... หรือ "ร่างกฎหมายปลดอาวุธ คสช." หลังจากที่เจ้าหน้าที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรแจ้งต่อ iLaw เมื่อวันที่ 25 พ.ย. ที่ผ่านมาว่าร่างกฎหมายดังกล่าวจะได้รับการพิจารณาในวันนี้

ร่างกฎหมายปลดอาวุธ คสช. ที่เสนอโดย iLaw มาจากการรวบรวมรายชื่อประชาชนจำนวน 13,409 คน เพื่อเสนอให้ยกเลิกประกาศและคำสั่ง คสช. รวม 35 ฉบับ ซึ่งออกโดยการอ้างอำนาจการเป็นรัฏฐาธิปัตย์เมื่อเข้าทำรัฐประหาร และอำนาจพิเศษจาก “มาตรา 44” ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 โดยทาง iLaw เริ่มต้นรวบรวมรายชื่อประชาชนตั้งแต่เดือน ม.ค. 2561 และนำรายชื่อทั้งหมดที่รวบรวมได้ เสนอร่างฉบับนี้เสนอต่อสภาเมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2562 โดยใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญในการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย และถือเป็นร่าง พ.ร.บ.ฉบับแรกที่เข้าชื่อเสนอโดยประชาชนที่ได้เสนอต่อรัฐสภาชุดใหม่หลังการเลือกตั้ง ทั้งนี้ ร่างกฎหมายดังกล่าวใช้เวลาประมาณ 2 ปี 5 เดือนกว่าจะถูกบรรจุเข้าสู่วาระการพิจารณาในสภา แต่ต้องถูกเลื่อนออกไปอีกครั้ง ซึ่งทาง iLaw ระบุว่าร่างกฎหมายปลดอาวุธ คสช. อาจจะได้รับการพิจารณาอย่างเร็วที่สุดคือวันพุธหน้า (8 ธ.ค. 2564)

ช่วงเช้าวันนี้ (1 ธ.ค. 2564) รังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกลได้ออกมาแถลงข่าวเรียกร้องให้รัฐสภาเร่งพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้โดยเร็ว หากได้พิจารณาเสร็จสิ้นภายในวันนี้จะยิ่งส่งผลดีต่อประเทศ นอกจากนี้ ยังมีร่างกฎหมายยกเลิกคำสั่ง คสช. ที่เสนอโดยปิยบุตร แสงกนกกุล ซึ่งมีเนื้อหาสาระในทำนองเดียวกับร่างของ iLaw ก็ยังไม่ได้รับการพิจารณาในวันนี้ด้วยเช่นกัน

ก่อนหน้านี้ เมื่อวานนี้ (30 พ.ย. 2564) iLaw และภาคประชาสังคมจัดกิจกรรม “รวมพลังประชาชนรื้อระบอบ คสช.” ที่บริเวณทางเข้ารัฐสภา แยกเกียกกาย เพื่อเสวนาแลกเปลี่ยนก่อนพิจารณาร่างกฎหมายปดลอาวุธ คสช. โดยมีจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี, ทัศนีย์ บูรณุปกรณ์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย, อรนุช ผลภิญโญ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน และสุภาภรณ์ มาลัยลอย ผู้จัดการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLaw) มาร่วมพูดคุยถึงประเด็นผลกระทบที่เกิดจากการรัฐประหารและการใช้อำนาจตามคำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. ทั้งในแง่ของสิทธิมนุษยชนและการบริหารประเทศ โดยในช่วงท้ายของกิจกรรม ชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์และรองประธานวิปรัฐบาล และสุทิน คลังแสง ส.ส.เพื่อไทย และประธานวิปฝ่ายค้าน ได้เดินทางมารับมอบหนังสือจากผู้จัดกิจกรรม ซึ่งทั้งคู่กล่าวในทำนองเดียวกันว่าร่างกฎหมายฉบับนี้อาจไม่ได้รับการพิจารณาในสภาภายในวันนี้ (1 ธ.ค. 2564) เพราะมีกฎหมายฉบับอื่นที่สภาต้องพิจารณาไปตามวาระและอาจใช้เวลานาน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ข้อมูลจากเว็บไซต์ iLaw ระบุว่าแม้ คสช. จะหมดสถานะไปแล้วแต่ประกาศคำสั่งทั้งหลายยังได้รับการรับรองโดยรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 279 ให้มีผลบังคับใช้ตลอดไปจนกว่าจะถูกยกเลิก และช่องทางการยกเลิกในระบบประชาธิปไตยก็คือ การเสนอให้รัฐสภาออกพระราชบัญญัติมายกเลิก

 ตัวอย่างของประกาศและคำสั่งที่เสนอให้ยกเลิก เช่น คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558, 5/2558 และ 13/2559 ที่ให้อำนาจทหารเอาคนไปกักขังเป็นเวลาเจ็ดวัน, ประกาศ คสช. ฉบับที่ 26/2557 ให้ตั้งคณะกรรมการชุดพิเศษเพื่อสั่งปิดกั้นเว็บไซต์ได้โดยไม่ต้องขอหมายศาล, คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 47/2560 ที่ให้ยกเว้นการใช้ผังเมืองในโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี), ประกาศ คสช. ฉบับที่ 97/2557 ที่ให้ควบคุมเนื้อหาในสื่อมวลชน, ประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557 ที่ให้เอาพลเรือนขึ้นศาลทหาร, ประกาศ คสช. ฉบับที่ 40/2557 ที่ให้การไม่มารายงานตัวกับ คสช. เป็นความผิด ฯลฯ

ทั้งนี้ แม้ประกาศและคำสั่งของ คสช. บางฉบับก็ถูกยกเลิกไปก่อน ทั้งการยกเลิกโดย คสช. เอง และศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้ยกเลิก ยังเหลืออีก 17 ฉบับที่ยังมีผลใช้บังคับอยู่เรื่อยมา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท