Skip to main content
sharethis

ย้อนเส้นทางการทำข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนของนักข่าวอังกฤษคนหนึ่งที่เกาะติดตามหาข้อมูลที่หายไปของ 'คนไร้บ้าน' จนนำมาสู่การตีแผ่เรื่องราวโศกนาฎกรรมและ 'รอยร้าว' ที่เกิดขึ้นในระบบสวัสดิการของสหราชอาณาจักร และสามารถเปลี่ยนบทสนทนาจากเรื่องความตายของคนไร้บ้าน ไปสู่การสร้างระบบฐานข้อมูลเชิงสถิติระดับประเทศ

ที่มา: Andrew Garthwaite/Bureau Local

ในฤดูหนาวปี 2017 เมื่อเมฟ แม็กเคลนาฮาน (Maeve McClenaghan) นักข่าวชาวอังกฤษกำลังเลื่อนดูทวิตเตอร์ โพสต์ของสมาชิกชุมชนท้องถิ่นแห่งหนึ่งเกี่ยวกับการตายของคนไร้บ้านก็เตะตาเธอเข้าอย่างจัง

นอกเหนือจากความรู้สึกสะเทือนใจต่อโศกนาฎกรรมที่เกิดขึ้น แม็กเคลนาฮานรู้สึกเหมือนกับว่าเธอเคยเห็นเรื่องราวแบบนี้มาก่อน เมื่อเธอค้นหาข้อมูลเบื้องต้นก็พบโพสต์จำนวนหนึ่งที่มีแบบแผนเดียวกันปรากฎอยู่ทั่วประเทศ พูดถึงความตายอย่างโดดเดี่ยวของคนไร้บ้านซึ่งถูกรำลึกอย่างเศร้าโศกโดยเสียงของคนในท้องถิ่น อย่างไรก็ตาม ช่องว่างด้านข้อมูลของหน่วยงานทางการยังคงมีอยู่ สำหรับแม็กเคลนาฮานแล้ว เธอรู้สึกเหมือนกับว่ามีบางสิ่งบางอย่างกำลังเกิดขึ้น ซึ่งยิ่งใหญ่กว่าการโพสต์รำลึกถึงการตายของคนไร้บ้าน แต่ไม่มีใครนำข้อมูลเหล่านั้นมาปะติดปะต่อกัน

แม็กเคลนาฮานตัดสินใจขุดลึกลงไปหาต้นตอของเรื่องนี้ โดยร่วมมือกับทีมของเธอที่ Bureau Local ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ Bureau of Investigative Journalism (TBIJ) [สำนักงานข่าวสอบสวน – องค์กรสื่อไม่แสวงหากำไรของอังกฤษ: ผู้แปล] และเริ่มจากการตั้งคำถามง่ายๆ ว่า “หากข้อมูลบอกกับเราว่าคนไร้บ้านกำลังเพิ่มขึ้น แสดงว่าคนตายในสภาพที่ไร้บ้านก็กำลังเพิ่มขึ้นด้วยหรือไม่”

เมฟ แม็กเคลเนกฮาน (ที่มา: เอื้อเฟื้อภาพโดยเจ้าของภาพ)
 

แม้การตั้งคำถามจะค่อนข้างง่าย แต่การหาคำตอบกลับไม่ง่าย แม็กเคลนาฮานเริ่มต้นด้วยการปรึกษาหารือกับเจ้าหน้าที่ ใช้เวลาหลายสัปดาห์เพื่อโทรหาทุกคนที่เธอนึกออกและอาจจะมีข้อมูลเกี่ยวกับผู้เสียชีวิตขณะไร้บ้านรวบรวมไว้ เธอพยายามติดต่อทุกคนตั้งแต่เจ้าหน้าที่ในสำนักงานนิติเวช โรงพยาบาล ตำรวจ สภาท้องถิ่น ไปจนถึงหน่วยงานของรัฐบาลกลาง แต่ทุกคนบอกกับเธอเป็นเสียงเดียวกันว่าพวกเขาไม่มีข้อมูล และให้เธอไปติดต่อคนอื่น พร้อมยืนยันว่าคนๆ นั้นจะต้องมีข้อมูลอย่างแน่นอน

หลังจากยกหูโทรศัพท์นับครั้งไม่ถ้วน แม็กเคลนาฮานจึงตระหนักว่าไม่มีใครตอบคำถามนี้ได้เลย “เมื่อฉันบอกกับบรรณาธิการว่าอย่างนั้น เรารู้สึกตกใจมากและตัดสินใจว่านี่จะเป็นภารกิจของเรา เราจะออกเดินทางและพยายามเติมเต็มช่องว่างดังกล่าวและหาข้อมูลด้วยตัวเอง” แม็กเคลเนกฮานบอกกับ Global Investigative Journalism Network (GIJN) [เครือข่ายข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนสากล - ผู้แปล] ในการสัมภาษณ์เมื่อไม่นานมานี้ เธอหวังว่าจะบันทึกการตายโดยไร้บ้าน บอกเล่าเรื่องราวของคนเหล่านี้ และสร้างฐานข้อมูลเป็นเวลา 18 เดือน ซึ่งเน้นไปที่ขนาดของปัญหาและกดดันให้มีการแก้ไขปัญหาเหล่านั้น จนในที่สุด แม็กเคลนาฮานและทีมก็ผุดโครงการการตายโดยไร้บ้าน (Dying Homeless) ซึ่งเป็นการทำข่าวสืบสวนที่ใช้เวลากว่า 18 เดือน มีเครือข่ายนักข่าวเข้ามามีส่วนร่วมกว่า 1,000 คน และนำไปสู่การบันทึกความตายของคนไร้บ้านทั่วสหราชอาณาจักรกว่า 800 คนในเวลาต่อมา

กุญแจสำคัญของโครงการนี้คือการระดมความช่วยเหลือจาก Bureal Local ของ TBIJ ซึ่งเป็นเครือข่ายสืบสวนที่มีนักข่าว พลเมืองจิตอาสาชุมชน และผู้เชี่ยวชาญที่เข้าร่วมกว่า 1,426 คน แม็กเคลนาฮานใช้แบบฟอร์มง่ายๆ บนกูเกิลเพื่อให้สมาชิกเครือข่ายกรอกรายละเอียดเกี่ยวกับผู้เสียชีวิตซึ่งเป็นคนไร้บ้านที่พวกเขาพบ โดย TBIJ โฆษณาแบบฟอร์มดังกล่าวบนทวิตเตอร์และนำขึ้นบนเว็บไซต์โดยหวังให้แบบฟอร์มเข้าถึงคนได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

“ฉันจะอ่านแต่ละชื่ออย่างละเอียด ตรวจสอบเทียบกับแหล่งข้อมูลอื่น และตรวจสอบข้อเท็จจริงในรายละเอียด ก่อนจะนำข้อมูลดังกล่าวไปรวมในฐานข้อมูลที่นำเสนอต่อสาธารณะ นี่เป็นงานใหญ่ แต่มันสำคัญมากในการช่วยให้เรามั่นใจว่าเราไม่ได้นับซ้ำและเรากำลังรายงานข้อเท็จจริงอย่างระมัดระวังโดยปกปิดชื่อในรายละเอียดต่างๆ เมื่อจำเป็น” แม็กเคลนาฮานกล่าวถึงกระบวนการวิเคราะห์ข้อมูลที่ส่งเข้ามา

แม้การหาคำตอบทางสถิติจะเป็นหัวใจของการเล่าเรื่องนี้ แต่โครงการก็พยายามไปให้ไกลกว่าตัวเลขด้วยการจับประเด็นและรำลึกเรื่องราวของคนที่ตายไปแต่ละคนด้วย

แม็กเคลนาฮาน ร่วมด้วยชาร์ลส์ บูเทาด์ เพื่อนร่วมงานของเธอ และสมาชิกคนอื่นๆ ในทีมเดินทางไปทั่วสหราชอาณาจักร ไปที่โรงครัวเพื่อคนยากไร้และศูนย์พักพิงคนไร้บ้าน เพื่อพบกับแหล่งข้อมูลและศึกษาประเด็นนี้ด้วยตัวเอง พวกเขาค้นรายงานข่าวจากสื่อท้องถิ่นอย่างละเอียด และพูดคุยกับแพทย์ รวมถึงบุคคลอื่นๆ ที่ทำงานเกี่ยวกับคนไร้บ้าน เพื่อเพิ่มชื่อของคนไร้บ้านเหล่านั้นเข้าไปในรายชื่อของคนไร้บ้านที่เสียชีวิต นอกจากนี้ ทีมงานทั้งหมดยังรวบรวมรายละเอียดจากการชันสูตรของตำรวจและเจ้าหน้าที่นิติเวชเอาไว้ด้วย ซึ่งแม็กเคลนาฮานเรียกกระบวนการดังกล่าวว่า “การสืบสวนปริศนาแบบกึ่งต่อจิ๊กซอว์ กึ่งคราวด์ซอร์ส (crowdsource)”

หลังรวบรวมข้อมูลทั้งหมดแล้ว ทีมต้องวิเคราะห์และทำความเข้าใจข้อมูลดังกล่าว  โดนแม็กเคลนาฮานกล่าวว่า “หลังการเริ่มโครงการนี้ เราได้ข้อสรุปว่าการรวบรวมข้อมูลแบบการต่อจิ๊กซอว์ทำให้พวกเรารู้สึกไม่สบายใจที่จะเปรียบเทียบตรงๆ ระหว่างข้อมูลช่วงฤดูหนาวแรกกับฤดูหนาวถัดมา แทนที่จะทำอย่างนั้น เราใช้วิธีขุดลึกหาสาเหตุเพื่อดูว่าการตายเหล่านี้ได้รับการตรวจสอบโดยทางการหรือไม่และเมื่อไร และเราดูปัจจัยสาเหตุบางส่วนของการตายร่วมด้วย”

แม้การหาคำตอบทางสถิติจะเป็นหัวใจของการเล่าเรื่องนี้ แต่โครงการก็พยายามไปให้ไกลกว่าตัวเลขด้วยการจับประเด็นและรำลึกเรื่องราวของคนที่ตายไปแต่ละคนด้วย การเล่าเรื่องของแต่ละคนเน้นย้ำความล้มเหลวของระบบคุ้มครองคนไร้บ้านในสหราชอาณาจักร เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นมีหน้าที่ตามกฎหมายในการยับยั้งป้องกันและบรรเทาปัญหาคนไร้บ้าน อย่างไรก็ตาม การสืบสวนบ่งชี้ว่ามีคนที่ตกหล่นจากรอยร้าวที่กลายเป็นช่องโหว่ของระบบ และหลังจากผ่านไป 18 เดือน ตัวเลขผู้เสียชีวิตถูกบันทึกไว้มีกว่า 800 ราย ทาง Bureau Local จึงนำข้อค้นพบดังกล่าวไปมอบให้กับพิพิธภัณฑ์คนไร้บ้าน (Museum of Homelessness) เพื่อตีแผ่เรื่องราวเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง

ที่มา: สำนักพิมพ์แม็กมิลแลน
 

อย่างไรก็ตาม แม็กเคลนาฮานยังไม่พร้อมที่จะวางมือจากเรื่องนี้ เธอยังคงตามเรื่องนี้ต่อด้วยการเขียนหนังสือชื่อ “No Fixed Abode: Life and Death Among the UK’s Forgotten Homeless” [ไม่มีหลักแหล่ง: ชีวิตและความตายของคนไร้บ้านที่ถูกลืมในสหราชอาณาจักร] ซึ่งเน้นการนำเสนอความล้มเหลวต่างๆ ของระบบที่ก่อให้เกิดวิกฤตคนไร้บ้านในสหราชอาณาจักร นอกจากนี้ เธอยังอัดรายการพ็อดคาสต์เกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้อีกหนึ่งตอนด้วย

แม็กเคลนาฮานกล่าวว่าหลังจากสืบสวนเรื่องนี้นานจนไม่ได้นับเดือน เธอพบว่าระบบความช่วยเหลือที่คิดว่ามีไว้เพื่อคนไร้บ้านกลับถูก “เฉือนออก เพราะถูกตัดงบประมาณ การตัดความช่วยเหลือด้านสุขภาพจิต ด้านบริการบำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดและสุรา รวมถึงลดการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ของรัฐ (Benefit cap) ตลอดจนค่าเช่าบ้านที่สูงขึ้น และการขาดบแคลนที่อยู่อาศัย ทั้งหมดนี้ก่อให้เกิดพายุโหมกระหน่ำอย่างสมบูรณ์แบบ”

“บริการหลายอย่างเหล่านี้เป็นสิ่งที่มองไม่เห็น จนกระทั่งถึงเวลาที่เราต้องใช้มัน เราหวังหรือคาดหวังว่าจะมีบริการช่วยเหลือที่พร้อมหากว่าเรามีปัญหา แต่การรายงานข่าวของฉันแสดงให้เห็นว่าเพราะเหตุใดนี่จึงไม่ใช่ความจริงอีกแล้ว” แม็กเคลนาฮานกล่าวเสริม

ข่าวเชิงสืบสวนชินนี้ของแม็กเคลนาฮานมีชื่อเข้าชิงรางวัลสาขาข่าวสืบสวนยอดเยี่ยมจาก Amnesty Media Award และรางวัลสาขาการรณรงค์ยอดเยี่ยมจาก British Journalism Award นอกจากนี้ แม็กเคลนาฮานยังได้รับเลือกเป็นผู้ท้าชิงรางวัล Orwell Prize อีกด้วย ไม่เพียงเท่านั้น รายงานข่าวของแม็กเคลนาฮานยังได้รับรางวัลข่าวสืบสวนยอดเยี่ยมประจำปี 2019 จากสมาคมราชสถิติ (Royal Statistical Society) โดยผู้ตัดสินชื่นชมการรายงานข่าวของเธอว่า “โดดเด่นอย่างแท้จริง”

การสืบสวนทั้งหมดเริ่มต้นด้วยคำถามง่ายๆ และการเห็นช่องว่างของข้อมูล แต่คนไร้บ้านก็เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลกเช่นกัน โดยแม็กเคลนาฮานให้เคล็ดลับแก่นักข่าวสืบสวนที่อยากสำรวจหัวข้อนี้หรือหัวข้อคล้ายคลึงกันในประเทศของตนเอง ดังต่อไปนี้

1. อย่าให้ข้อมูลที่หายไปทำให้คุณถอดใจ

แม็กเคลนาฮาน กล่าวว่า ช่องว่างข้อมูลไม่จำเป็นต้องทำให้การทำข่าวสืบสวนของคุณเกิดปัญหาเสมอไป ที่จริงแล้วมันอาจจะเป็นโอกาสสำหรับคุณก็ได้ โครงการ Dying Homeless แสดงให้เห็นแล้วว่านักข่าวไม่จำเป็นต้องสูญเสียกำลังใจ หากยังไม่มีข้อมูลที่ตอบคำถามของคุณ แม็กเคลนาฮานอธิบายวิธีการสืบสวนของเธอว่าเป็น “ศาสตร์ที่คลุมเครือ” เนื่องจากทีมของเธอใช้แบบฟอร์มของกูเกิลในการรวบรวมรายละเอียดเกี่ยวกับคนไร้บ้านที่เสียชีวิต ซึ่งถูกส่งไปยังนักข่าวท้องถิ่น ผู้เชี่ยวชาญ และคนที่ทำงานเกี่ยวกับชุมชนของคนไร้บ้าน แบบฟอร์มดังกล่าวค่อนข้างเรียบง่ายและถามข้อมูลทั่วไป เช่น ชื่อ อายุ และที่นอนประจำของผู้ตาย ข้อมูลเหล่านี้เปิดโอกาสให้ทีมทำข่าวสามารถวาดภาพประสบการณ์ของคนไร้บ้านออกมาได้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

“นี่คือการสืบสวนปริศนาแบบกึ่งต่อจิ๊กซอว์กึ่งคราวด์ซอร์ส (crowdsource)” – เมฟ แม็กเคลนาฮาน

“เราไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญในด้านนี้ ดังนั้นเราจึงใช้นิยาม [คนไร้บ้าน] เดียวกับที่มูลนิธิ Crisis ใช้ในรายงานหลายชิ้นของพวกเขา โดยคนไร้บ้านหมายถึงคนที่นอน [นอกอาคารบ้านเรือน] คนที่อยู่ในที่พักฉุกเฉิน โฮสเทล และเปลี่ยนที่นอนไปเรื่อยๆ”  แม็กเคลนาฮานอธิบาย

ทีมของแม็กเคลนาฮานตัดสินใจกำหนดระยะเวลาการเก็บข้อมูลทั้งหมด 18 เดือนเพื่อให้ครอบคลุมฤดูหนาว 2 ครั้ง แม้ว่าชุดข้อมูลนี้จะมีข้อจำกัดบางประการ (ที่ทำให้การเปรียบเทียบระหว่างปีเป็นเรื่องยาก) แต่แม็กเคลนาฮานบอกว่าการวิเคราะห์อย่างเป็นทางการของพวกเขาพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าคนไร้บ้านกำลังเสียชีวิตเพิ่มมากขึ้นจริงๆ โดยวิธีวิทยานี้เป็นรากฐานให้กับสำนักงานสถิติแห่งชาติในการนับจำนวนผู้เสียชีวิตขณะไร้บ้านเป็นของตัวเอง ซึ่งต่อยอดมาจากการสืบสวนนี้ด้วย

2. ประสานความร่วมมือ

การสืบสวนนี้จะเป็นไปไม่ได้เลยหากไม่มี Bureau Local และการส่งข้อมูลจากสาธารณะชน แม็กเคลนาฮานเล่าว่า “การประสานความร่วมมือสำคัญมากๆ เพราะเรามีตาอยู่ในพื้นที่ทั่วสหราชอาณาจักร”

ตลอดระยะเวลา 18 เดือน นักข่าวท้องถิ่นตีพิมพ์ข่าวเกี่ยวกับการเสียชีวิตของคนไร้บ้านกว่า 95 เรื่อง แม็กเคลนาฮานบอกว่านั่นหมายถึง “ว่าประเด็นเหล่านี้ไม่ได้ถูกลืมแต่อย่างใด เรื่องราวของคนเหล่านี้ถูกบอกเล่า และบอกเล่าในเชิงลึกอย่างที่มันควรค่าแก่การถูกบอกเล่า” นอกจากนี้ TBIJ ยังใช้แฮกแท็ก #MakeThemCount (อย่าลืมพวกเขา) เพื่อสร้างความตระหนักรู้มากยิ่งขึ้น โดยแฮชแท็กดังกล่าวเป็นการเล่นคำพ้อง ซึ่งหมายถึงการนับจำนวนศพคนไร้บ้าน และการให้ความสำคัญกับการตายของคนไร้บ้าน

ข่าวสืบสวนชิ้นนี้กลายเป็นประเด็นระดับชาติ โดยแม็กเคลนาฮานเชื่อว่าการรายงานข่าวแบบสองทางก่อให้เกิดแรงสั่นสะเทือนเป็นอย่างมาก “การที่เรานำเสนอข่าวในระดับชาติและระดับท้องถิ่นโดยให้ข้อมูลด้านนิติเวชอย่างละเอียด เพราะเราถูกร้องขอให้ทำนั้น ทำให้ทุกคนต้องมีส่วนรับผิดชอบในทุกระดับ นักข่าวท้องถิ่นสามารถถามกับสภาท้องถิ่นได้ว่าการเสียชีวิตของคนเหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ทำไมถึงไม่มีการตรวจสอบอย่างเป็นทางการในประเด็นนี้ คุณจะเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้อย่างไร ส่วนในระดับชาติ เราสามารถบอกได้ว่ามันเป็นเรื่องน่าอายอย่างเหลือเชื่อ เราในฐานะหนึ่งในประเทศที่ร่ำรวยที่สุดในโลก กลับมีคนไร้บ้านเสียชีวิตกว่า 800 คนในรอบ 18 เดือน” แม็กเคลนาฮานกล่าว พร้อมระบุว่าการประสานความร่วมมือทำให้การสืบสวนมีพลัง

3. ตรวจสอบข้อเท็จจริงของคุณ 

แม้แม็กเคลนาฮานจะบอกว่ากระบวนการเก็บข้อมูลของเธอเป็นศาสตร์ที่คลุมเครือ  แต่เธอก็ตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างระมัดระวังเพื่อให้แน่ใจว่าการนับจำนวนคนไร้บ้านที่เสียชีวิตนั้นแม่นย่ำที่สุดเท่าที่จะทำได้ และเธอบอกว่านี่คือสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง หนึ่งในวิธีการตรวจสอบยืนยันอันดับแรกๆ คือการเดินทางไปทำข่าวด้วยตัวเอง

“ฉันเดินทางไปทั่วประเทศด้วยตนเองและทำความรู้จักกับคนที่ทำงานในโรงครัวเพื่อคนยากไร้ ไปที่โฮสเทล และเดินทางไปพบแพทย์ปฏิบัติการที่ทำงานกับคนที่เผชิญกับภาวะไร้บ้าน เพื่อให้พวกเขาส่งข้อมูลเข้ามา” เธอเล่าย้อนอดีต

แน่นอนว่าแม็กเคลนาฮานไม่สามารถตรวจสอบข้อมูลทั้งหมดด้วยตัวเองได้ ดังนั้นทีมของเธอจึงพัฒนาเกณฑ์การตรวจสอบข้อมูลขึ้นมาขณะที่ข้อมูลถูกส่งเข้ามาผ่านแบบฟอร์มกูเกิล โดยเธออธิบายว่า “ถ้าข้อมูลมาจากแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือ เราจะนำมันเข้ามารวมอย่างสบายใจ เราเชื่อมั่นในนักข่าวท้องถิ่นของเราว่าพวกเขารายงานข่าวเหล่านี้มาอย่างละเอียดถี่ถ้วนแล้ว หากข้อมูลมาจากสาธารณะชน เราจะตรวจสอบด้วยการเข้าไปพูดคุยกับองค์กรที่ทำงานกับคนไร้บ้านในพื้นที่นั้นๆ เพื่อยืนยันข้อมูลกับพวกเขาอีกครั้ง”

แม็กเคลนาฮานเสริมว่านี่เป็นเรื่องสำคัญ ไม่ใช่แค่ในแง่ของการตรวจสอบข้อเท็จจริง แต่ยังทำเพื่อให้แน่ใจด้วยว่าจะไม่มีเรื่องละเอียดอ่อนของผู้เสียชีวิตอยู่ในรายละเอียดข่าว ซึ่งอาจทำให้คนอื่นตกอยู่ในความเสี่ยง ”เราพึ่งพาการสร้างความเชื่อใจมากๆ กับองค์กรเหล่านั้น” เธอกล่าว

4. ระลึกถึงผู้อยู่เบื้องหลังเรื่องราวอยู่เสมอ

คนไร้บ้านบางส่วนที่ถูกบันทึกการเสียชีวิตโดย TBIJ ที่มา: ขอบคุณภาพจาก TBIJ

ตั้งแต่เริ่มต้นการสืบสวนนี้ แม็กเคลนาฮานรู้ดีอยู่แล้วว่ามันไม่ใช่แค่เรื่องข้อมูล โดยเธอกล่าวว่า “ข้อมูล 800 จุดในฐานข้อมูลของเราคือคนหนึ่งคนที่มีคนรัก มีความหวัง มีความฝัน และมีประวัติที่รุ่มรวย ฉันใช้เวลาปีนั้นกับการไปงานศพ ไปดูผลชันสูตรศพ รวมถึงพูดคุยกับสมาชิกครอบครัวและเพื่อนของคนที่จากไป”

Bureau Local สร้างเพจบนเว็บไซต์ขององค์กรเพื่อเล่าเกร็ดของเรื่องราวบางส่วนเหล่านี้ แม็กเคลนาฮานบอกว่านี่คือแรงบันดาลใจสำคัญที่ทำให้เธอเขียนหนังสือของเธอ เธอกล่าวว่า “เรื่องราวที่เราได้ยินนั้นทั้งสำคัญ ทั้งน่าตื่นตาตื่นใจและน่าสนใจ ไปพร้อมๆ กับทำให้ใจแตกสลาย เพราะเรื่องของแต่ละคนถูกถ่ายทอดออกมาด้วยรูปแบบที่ต่างกัน รูปแบบที่ระบบความช่วยเหลือที่ล้มเหลวต่างกันจนช่วยพวกเขาไว้ไม่ได้”

“เมื่อสถิติอย่างเป็นทางการชุดแรกเผยแพร่ออกมา มันรู้สึกประมาณว่า โอเค นี่ไม่ใช่ประเด็นที่ถูกเพิกเฉยได้อีกต่อไปแล้ว” – เมฟ แม็กเคลนาฮาน

เรื่องเล่าต่างๆ ที่ถ่ายทอดความเป็นมนุษย์เน้นให้เห็นถึงความสำคัญของคนไร้บ้านเหล่านี้ แม็กเคลนาฮานเชื่อว่าการเข้าใจความละเอียดอ่อนของสถานการณ์ของแต่ละคนเป็นสิ่งขาดไม่ได้ในการระบุสาเหตุและผลลัพธ์ของการเป็นคนไร้บ้านยุคใหม่ในสหราชอาณาจักร ทั้งยังเน้นให้เห็นว่าอะไรคือเป็นสิ่งที่ต้องเปลี่ยน

“ฉันคิดว่าการลงลึกในเรื่องราวเหล่านี้เท่านั้นที่จะทำให้คุณเข้าใจว่า มีหลายช่วงเวลาที่การเข้าไปแทรกแซงสามารถช่วยได้ แต่มันไม่มี และนี่คือวิธีการที่เราจะถอดบทเรียนเพื่อป้องกันไม่ให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นอีก” เธอกล่าว

นอกเหนือจากแรงสั่นสะเทือนทางอารมณ์ โครงการ Dying Homeless ยังก่อให้เกิดผลลัพธ์ในโลกความจริงอีกด้วย ในปี 2018 สำนักงานสถิติแห่งชาติและสำนักงานการทะเบียนแห่งชาติของสกอตแลนด์เริ่มสร้างฐานข้อมูลเชิงสถิติ รวบรวมจำนวนคนไร้บ้านที่เสียชีวิตอย่างเป็นทางการในอังกฤษ สกอตแลนด์ และเวลส์ ขณะที่ทีมของ TBIJ แบ่งปันฐานข้อมูลดังกล่าวให้ตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อช่วยให้หน่วยงานเหล่านี้สามารถพัฒนาวิธีวิทยา ทั้งนี้ สำนักงานสถิติแห่งชาติได้กล่าวคำขอบคุณ TBIJ สำหรับ “คำแนะนำและการสนับสนุน[ด้านข้อมูล]” อีกด้วย

เบน ฮัมเบอร์สโตน รองผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์สุขภาพและเหตุการณ์ชีวิตของสำนักงานสถิติแห่งชาติเขียนในเวลานั้นว่า “การเข้าใจปัญหาเป็นขั้นตอนแรกสู่การแก้ปัญหา และการสร้างฐานข้อมูลเชิงสถิติเหล่านี้จะช่วยให้สังคมตัดสินใจได้ดีขึ้นในการแก้ไขปัญหาคนไร้บ้านและยุติการเสียชีวิตของคนไร้บ้านในชุมชนของเรา” 

“เมื่อสถิติอย่างเป็นทางการชุดแรกเผยแพร่ออกมา มันรู้สึกประมาณว่า โอเค นี่ไม่ใช่ประเด็นที่ถูกเพิกเฉยได้อีกต่อไปแล้ว จะมีการถกเถียงกันนี้อย่างอึกทึกครึกโครมหลังจากนั้น และนักการเมืองก็จะออกมาบอกว่านี่เป็นวิกฤตการณ์ด้านมนุษยธรรมบนแผ่นดินสหราชอาณาจักร และสิ่งต่างๆ จะต้องมีการเปลี่ยนแปลง”แม็กเคลนาฮาน กล่าวพร้อมชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการเปลี่ยนการนับตัวเลขให้กลายเป็นเรื่องทางการ

ฟรานเซสกา อัลบานีส หัวหน้าฝ่ายวิจัยและประเมินผลของมูลนิธิ Crisis บอกว่าโครงการนี้ก่อให้เกิดผลกระทบใหญ่ขึ้น 2 ประการ ประการแรกคือสำนักงานสถิติแห่งชาติให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาเป็นแหล่งข้อมูลทางการที่มีการเผยแพร่เป็นรายงานประจำปี โดยข้อมูลเหล่านี้ช่วยชี้ให้เห็นแนวโน้มของตัวเลขผู้เสียชีวิตขณะเป็นคนไร้บ้านได้อีกด้วย

อีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันในความเห็นของอัลบานีส คือ เรื่องราวของความเป็นมนุษย์ที่ TBIJ บอกเล่าผ่านโครงการนี้

“งานชิ้นนี้มีอิทธิพลมากๆ ในการนำเรื่องราวของความเป็นมนุษย์ นำความตระหนักรู้ว่าสิ่งที่เรากำลังพูดถึงคือชีวิตของผู้คน ผู้คนหลายร้อยคนกำลังตายไปในสภาพไร้ที่อยู่อาศัย และเราสามารถป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นได้” อัลบานีสกล่าว

ที่มา: 

ฮันนาห์ คูแกนส์ เป็นนักเขียนฟรีแลนซ์และผู้ช่วยบรรณาธิการของ GIJN จบปริญญาโทด้านการทำข่าวสอบสวนจากมหาวิทยาลัยซิตี้ และเคยทำงานเป็นนักวิจัยในฮ่องกงโดยสนใจเกี่ยวกับเรื่องอาชญากรรมต่อสัตว์ป่าและการลักลอบค้าผิดกฎหมาย นอกจากนี้ เธอยังเคยทำงานเป็นนักวิจัยให้กับรายการ Dispatches ของช่อง 4 ในสหราชอาณาจักรอีกด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net