Skip to main content
sharethis

เริ่มอภิปรายร่างกฎหมาย #ปลดอาวุธคสช จากทั้งภาคประชาชนและของพรรคอนาคตใหม่ ภาคประชาชนชี้ประกาศ คำสั่ง คสช.ยังมีผลอยู่หลายฉบับทั้งส่วนที่กระทบต่อประเด็นสิ่งแวดล้อมเช่นการตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษและโรงงานอุตสหากรรม หรือคำสั่งที่ให้อำนาจทหารควบคุมตัวคนก็ยังมีสภาพเป็นกฎหมายอยู่ 

8 ธ.ค. 2564 วันนี้ (8 ธ.ค. 2564) เวลา 15.45 น. ที่รัฐสภา ในการประชุมสภามีการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ยกเลิกประกาศและคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย พ.ศ. ....  ที่จอน อึ๊งภากรณ์และคณะเสนอโดยมีประชาชนลงชื่อร่วม 12,609 คน และร่างพระราชบัญญัติยกเลิกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติและคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ พ.ศ. .… ที่ปิยบุตร แสงกนกกุล พรรคอนาคตใหม่ กับคณะผู้เสนอ

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการ iLaw ชี้แจงร่างกฎหมาย "ปลดอาวุธ คสช."

สุภาพร มาลัยลอย ผู้จัดการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLaw) ชี้แจงร่างกฎหมาย "ปลดอาวุธ คสช." ต่อสภา

อานนท์ ชวาลาวัณย์ หนึ่งในผู้นำเสนอร่างกฎหมาย "ปลดอาวุธ คสช." อภิปรายถึงประกาศ คำสั่ง คสช. ที่แทรกแซงกระบวนการยุติธรรมหลังรัฐประหาร

 

5 ปี ไร้ซึ่งเสรีภาพ ถึงเวลารื้อถอน #ปลดอาวุธคสช

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการไอลอว์ (iLaw) ตัวแทนผู้เสนอ ร่าง พ.ร.บ.ยกเลิกประกาศและคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย พ.ศ. .... หรือร่างกฎหมายปลดอาวุธ คสช. โดยไอลอว์ กล่าวว่า ภายใต้เวลากว่าห้าปีที่ คสช. ทำรัฐประหาร ประเทศไทยถูก คสช. ปกครองด้วยกฎหมายพิเศษ ประกาศ คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่เป็นใหญ่อยู่เหนืออำนาจกฎหมายทั้งปวง ภายใต้ช่วงเวลานี้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้าคณะรัฐประหารได้ลงนามประกาศและคำสั่ง รวมแล้ว 556 ฉบับ กฎหมายเหล่านี้ออกมาโดยอำนาจของคนๆ เดียว ขาดการมีส่วนร่วม ขาดการตรวจสอบถ่วงดุล แล้วเมื่อประกาศใช้ก็ให้มีผลทันที ขณะที่เรามีกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กว่า 800 ฉบับ แต่เรากลับมีประกาศคำสั่งของคณะรัฐประหารอีก 500 กว่าฉบับ จึงเป็นระบบกฎมหายที่ไม่ปกติอย่างแน่นอน

“เป็นเวลากว่าห้าปีที่เราอยู่ภายใต้ประกาศ คสช. ที่ 7/2557 และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ที่ห้ามชุมนุมการเมืองเกิน 5 คน ในช่วงเวลานี้ไมใช่แค่การชุมนุมบนท้องถนนที่หายไป แต่การจัดสวนาวิชาการในมหาลัยก็ทำไม่ได้ การจัดประชุมในห้องประชุก็ทำไมได้ แม้แต่การนัดหมายมาคุยกันในสถานที่ส่วนตัวไม่ได้ แล้วก็มีคนที่ถูกจับกุดำเนินคดีด้วยข้อหานี้ 421 คน”
“เป็นเวลาเกือบ 5 ปีที่ คสช. มีอำนาจพิเศษเรียกใครก็ได้ไปรายงานตัวในค่ายทหาร ถ้าไม่ไปก็มีความผิด มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท ถ้าหากไปแล้วผ่านการปรับทัศนคติก็จะถูกบังคับให้เซ็น MOU แล้วถ้าปล่อยตัวออกมาแล้วแสดงความคิดเห็นทางการเมืองก็ถูกดำเนินคดีฐานฝ่าฝืน MOU มีโทษเท่ากัน แล้วก็มีคนที่ถูกดำเนินคดีด้วยข้อหานี้อย่างน้อย 15 คน”

“เป็นเวลาเกือบ 5 ปีที่สื่อไม่มีเสรีภาพในการนำเสนอด้วยตนเอง แต่อยู่ภายใต้ประกาศ คสช. ที่จำกัดการนำเสนอเนื้อหาที่ขัดต่อประกาศ คสช. และสร้างความขัดแย้ง และยังมีคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ออกตามมา สั่งให้ กสทช. ลงโทษสื่อมวลชนที่นำเสนอเนื้อหาที่อาจจะเข้าข่ายเป็นความผิดโดยคุ้มครอง กสทช. ไม่ให้ถูกฟ้องและไม่ต้องรับผิดจากการออกคำสั่งกับสื่อมวลชนที่อาจจะถูกฟ้องได้

ในทางตรงกันข้าม คสช. ยังสั่งให้วิทยุโทรทัศน์ และสื่อมวลชนทุกช่อง ถ่ายทอดเนื้อหาตามที่ คสช. สั่ง ปรากกฎว่าได้เห็นคนๆ หนึ่งนั่งพูดทุกเย็นที่ทุกช่องต้องถ่ายทอดพร้อมกัน”

“เป็นเวลาเกือบ 5 ปีที่พรรคการเมืองเกือบทุกพรรค ถูกสั่งห้ามทำกิจกรรม ห้ามเคลื่อนไหว ห้ามทำธุรกรรม และแม้มีการประกาศการเลือกตั้งเข้าสู่ฤดูการเลือกตั้งมีกฎมหายการเลือกตั้ง ก็ยังมีคำสั่งหัวหน้า คสช. ออกมาอีกว่าพรรคการเมืองไหนทำกิจกรรมอะไรต้องได้รับการอนุญาตจาก คสช. เป็นรายกรณีไปโดยที่หัวหน้า คสช. ที่ออกคำสั่ง ก็ลงสมัครรับเลือกตั้งด้วยเหมือนกัน”

“เป็นเวลา 5 ปีที่เราอยู่ภายใต้คำสั่ง 64 และ 66 ที่ให้อำนาจทหารเข้าจับกุมประชาชน หรือเกษตรกรรายย่อย รื้อถนน ทำลายผลผลิตทางการเกษตร และดำเนินคดีโดยอ้างว่าจะทวงคืนผืนป่าทั้งที่มีข้อตกลงมาก่อนแล้วว่าชาวบ้านทำกินได้ ทำให้ปัจจุบันมีประชาชนจำนวนมากไร้ที่ดินทำกินและอยู่อาศัยและต้องอยู่ในเรือนจำด้วยอำนาจตามประกาศคำสั่งเหล่านั้น”

“และมากกว่า 5 ปีที่เสรีภาพการแสดงออก การชุมนุม เสรีภาพสื่อ และเสรีภาพทางการเมือง ภายใต้ยุค คสช.ไม่ได้มีอยู่เลย หรือถ้าจะมีก็เท่าที่ คสช. อนุญาตให้มีเท่านั้นเอง และยังมีประกาศอีกหลายฉบับที่กระทบในประเด็นอื่นๆ ด้วย”

“หลังการทำรัฐประหารสิทธิในการเช้าสื่อเสนอกฎหมายตามรัฐธรรรมนูญถูกยกเลิกไปแล้วก็กลับมาอีกครั้งในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 เราจึงเริ่มทำกิจกรรมรวมรายชื่อเพื่อเสนอร่างกฎหมายฉบับนี้ตั้งแต่ พ.ศ.2561 แต่ในระหว่างการทำกิจกรรมของเราก็ถูกขัดขวาง เมื่อเราจะทำกิจกรรม ตั้งโต๊ะล่ารายชื่อ จะจัดเสวนาก็มีทหารมาสั่งห้าม ทำให้การทำกิจกรรมเป็นไปอย่างยากลำบาก จนเราสามารถรวบรวมรายชื่อได้ 13,409 รายชื่อ และนำมาเสนอต่อสภาแห่งนี้เมื่อเดือน มิ.ย. 2562 ใช้เวลาไปปีครึ่ง และรออีก 2 ปีครึ่งกว่าที่ร่างฉบับนี้จะได้นำเข้ามาสู่สภา”

“ตลอดระยะเวลา 4 ปีเต็มที่เราเรียกร้องให้ยกเลิกอำนาจพิเศษของทหารที่จำกัดเสรีภาพของประชาชน และเราก็รอคอยให้มีสภาจากการเลือกตั้งมาพิจารณาอำนาจพิเศาเหล่านี้เสียที ประกาศและคำสั่งหลายฉบับก็สิ้นผลไปโดยตัวมันเอง หลายฉบับแปลงร่างไปอยู่ในกฎหมายอื่นๆ และหลายฉบับ คสช. ก็ตัดสินใจยกเลิกด้วยตัวเอง แต่หลายฉบับก็ยังมีผลบังคับใช้อยู่และหลายฉบับก็ออกตามหลังมาในช่วงเวลานั้นที่เราอาจจะไมได้ยื่นขอยกเลิกมาด้วยตั้งแต่แรก เพราะว่าเมื่อทำกิจกรรมแล้วก็แก้ไขร่าง พ.ร.บ. นี้ไม่ได้ แล้วก็ใช้เวลามานานกว่าจะมาถึงวันนี้”

อำนาจเหนือศาล

สุภาพร มาลัยลอย ผู้จัดการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLaw) กล่าวชี้แจงต่อสภาในประเด็นของกฎหมายยุค คสช. ที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยระบุว่าประกาศคำสั่ง คสช. หลายฉบับได้เปลี่ยนแหล่งอาหารให้กลายเป็นพื้นที่อุตสาหกรรม ที่ผ่านมาประชาชนและชุมชนที่เคยได้ผลักดันกระบวนการการมีส่วนร่วมในทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งมีสิทธิตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 กลับถูกทำลายด้วยประกาศคำสั่ง คสช. เช่น การรวบอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางตามคำสั่ง คสช. ที่ 72/2557 และ 109/2557 ในการแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษขึ้นมาและมีหัวหน้า คสช. เป็นประธาน รองหัวหน้า เป็นรองประธานและมีข้าราชการเข้ามาเป็นคณะกรรมการโดยไม่มีประชาชนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วม

นอกจากนั้น ประกาศ คสช. ยังสั่งให้จัดตั้งคณะกรรมการจัดการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ทำให้มีสำนักงานขึ้นมาจัดการน้ำ ซึ่งเป็นการรวบอำนาจในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติโดยไม่มีประชาชน เมื่อกำหนดพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษแล้ว ยังมีคำสั่งให้จัดหาที่ดินเพื่อรองรับกลุ่มธุรกิจ และเพิ่มพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษเพิ่มอีก 2 จังหวัด ซึ่งกินพื้นที่เขตป่าสงวน ป่าไม้ถาวร และที่ดินหวงห้ามตามราชกฤษฎีกา แต่คำสั่งของ คสช. กลับอนุญาตให้นำที่ดิ่นเหล่านั้นมาจัดทำเป็นนิคมอุตสาหกรรมได้

สุภาภรณ์ กล่าวต่อไปว่า นอกจากจะรวบอำนาจในการจัดการแล้วยังจัดหาที่ดินเพื่อรองรับให้กับกลุ่มธุรกิจในการพัฒนาทั้งเขตป่า และที่ดิน สปก. ซึ่งมีเจตนารมณ์กระจายการเข้าถึงที่ดินเพื่อทำเกษตรกรรม ออกคำสั่ง หัวหน้า คสช. มาจัดที่ดิน สปก. เพื่อทำประโยชน์อย่างอื่นได้ ทั้งที่เมื่อปี 2560 ศาลปกครองมีคำพิพากษาเพื่อให้ยกเลิกระเบียบที่จะนำที่ดิน สปก. ไปทำประโยชน์อย่างอื่น เป็นการออกคำสั่งที่สะท้อนถึงการไม่คำนึงถึงหลักการในการใช้ประโยชน์ที่ดิน สปก. เพื่อการเกษตร และยังอยู่เหนือคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดด้วย

คำสั่งที่ 3/2559 ยังยกเว้นการใช้ผังเมืองและกฎหมายควบคุมอาคารในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษทั้งที่ที่ดินบางผืนเป็นที่ดินที่ผังเมืองกำหนดการพัฒนาชนบทและการเกษตรที่กำหนดร่วมกันใช้พื้นที่การออกคำสั่งดังกล่าวเพื่อเปิดทางให้โรงงานเข้าไปใช้ได้โดยไม่ต้องดูเรื่องผังเมือง อีกทั้งคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับถัดมายังละเมิดสิทธิของประชาชนทั้งประเทศเพราะเป็นคำสั่งที่จะบังคับเปลี่ยนพื้นที่เกษตรกรรมเพื่อตั้งโรงไฟฟ้าขยะ โรงไฟฟ้าชีวมวล โรงงานกำจัดขยะที่จะกระทบต่อสิทธิชุมชนและมาตรการคุ้มครองประชาชนและสิ่งแวดล้อมอย่างร้ายแรง นอกจากคำสั่งที่ให้ยกเว้นผังเมืองแล้ว ยังมีการออกคำสั่งหัวหน้า คสช. เพื่อจัดสาธารณูปโภคสำหรับการทำเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยลัดคิวให้เอกชนประมูลงานก่อนการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม

นอกจากนั้นยังมีคำสั่งให้พัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกโดยยกเว้นการใช้กฎหมายผังเมืองการมีคำสั่งเหล่านี้ที่จะเปลี่ยนฐานอาหารให้กลายเป็นฐานอุตสาหกรรมใช้เวลารวบรัดเพียงหนึ่งปี 11 เดือนผังเมือง EEC ออกมาและมีผลกระทบต่อสิทธิชุมชนแต่เมือ่ประชาชนมาทวงถามการละเมิดสิทธิจากคำสั่งหัวหน้า คสช และฟ้องเพิกถอนคำสั่ง คสช. แต่ศาลปกครองก็ไม่รับฟ้องเพราะว่าเป็นคำสั่งตามมาตรา 44 และเมื่อประชาชนไปใช้สิทธิฟ้องแล้ว 1 ปี 4 เดือนแต่หน่วยงานรัฐยังไม่ยื่นเอกสารใดมาถึงศาลปกครอง และยืดเวลาออกไป

ในขณะเดียวกันพื้นที่ 7 จังหวัดในภาคตะวันออกก็มีโรงงานขยะอุตสาหกรรม 975 แห่ง และคำสั่ง คสช. นี้ก็ยังถูกบังคับใช้อยู่เพราะประชาชนจาก จ.สระบุรี เพิ่งมาร้องเรียนต่อ กมธ.ว่ามีการสร้างโรงงานไฟฟ้าขยะกลางชุมชน ซึ่งทาง คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานอ้างว่ามีคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ /2559 จึงออกใบอนุญาตให้ได้

“วัฒธรรมการรวบอำนาจของ คสช. การยึดครองพื้นที่ทรัพยากรธรรมชาติเพื่อมากระจายให้กลุ่มทุนและยังมุ่งหมายที่จะละเว้นกฎหมายปกติที่รับรองและคุ้มครองสิทธิประชาชนในด้านสิ่งแวดล้อมอันนี้เป็นส่วนสำคัญที่เราคิดว่ามาจากการใช้คำสั่งที่ไม่ใช่แค่ช่วงที่ใช้คำสั่งเท่านั้น แต่เป็นผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมอย่างยาวนานจึงอยากฝากผู้แทนราษฎรทุกท่านว่าถึงเวลาแล้วที่พิจารณาทบทวนกฎหมายเหล่านี้เพื่อนำมาสู่การออกกฎหมายและบังคับใช้ กฎหมายแบบปกติที่คุ้มครองสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมต่อไป”

ประกาศ คำสั่ง คสช. แทรกแซงกระบวนการยุติธรรม

อานนท์ ชวาลาวัณย์ กล่าวว่าเมื่อ คสช. ยึดอำนาจ เพียง 3วัน คสช. ออกประกาศ คสช 37/57 กำหนดให้พลเรือนที่ถุกดำเนินคดีอาญาบางประเภทเกี่ยวกับความมั่นคง หมวดพระมหากษัตริย์และความผิดตามประกาศ คสช ต้องขึ้นศาลทหาร กรมพระธรรมนูญได้ทำสถิติไว้มีรายงานว่าตั้งแต่ 25 พ.ค.2557 ถึง 30 มิ.ย.2561 มีบุคคลพลเรือนถูกดำเนินคดีในศาลทหารกรุงเทพรวมทั้งหมด 238 คดี พลเรือนเป็นจำเลย 367 คน ส่วนที่ศาลทหารต่างจังหวัด มณฑลทหารบกมรายงานว่ามีบุคคลพลเรือนถูกดำเนินคดีทั้งสิ้น 1,485 คดี จำเลยที่เป็นพลเรือนรวมทั้งสิ้น 1,844 คน

อานนท์ชี้ประเด็นปัญหาของการใช้ศาลทหารในช่วงเวลานั้นว่า เรื่องแรกคือความไม่พร้อมทั้งบุคคลากรเพราะไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อใช้ในการพิพากษาคดีในจำนวนมากที่เกิดขึ้นในเวลาพร้อมๆ กัน ทั้งในแง่ธุรการและความรู้ความเชี่ยวชาญของตุลาการศาลทหารที่จะต้องมาพิจารณาคดีพลเรือนโดยเฉพาะอย่างยิ่งคดีการเมืองที่มีความซับซ้อนที่ต่างจากคดีทหารทั่วไป และการนัดคดีก็ไม่ต่อเนื่องดังนั้นจึงมีคดีที่จำเลยในคดีบางส่วนเลือกจะรับสารภาพเพราะเวลาการพิจารณายาวนานแม้ว่าข้อเท็จจริงในคดีไม่ซับซ้อนและศาลยุติธรรมตามปกติพิจารณาจบได้ในเวลาไม่นานหรือไม่เกิน 1 ปี อีกทั้งศาลทหารไม่ได้มีอยู่ครอบคลุมทั่วประเทศจึงมีกรณีที่พลเรือนในคดีต้องเดินทางไปเข้าสู่กระบวนพิจารณาคดีในนอกภูมิลำเนาสร้างความเดือดร้อนเกินจำเป็น

นอกจากนั้นยังเกิดความเคลือบแคลงในศาลทหารอีกเพราะว่าคดีบางคดีเกิดจากมีคนออกมาต่อต้าน คสช. ที่ทำการรัฐประหารและบางคนก้ถูกทหารจับกุม สอบสวนในค่ายทหารที่เรียกว่าการปรับทัศนคติ จากนั้นก็ถูกนำมาพิจารณาคดีโดยตุลาการศาลทหาร ซึ่งก็มีปัญหาในเชิงหลักการว่าถ้าศาลทหารที่ก็เป็นทหารจะมีความเป้นกลางหรือไม่เมื่อต้องพิจารณาคดีบุคคลที่ออกมาชุมนุมต่อต้านทหารหรือ คสช.

ประการที่สาม ประเทศไทยมีอำนาจตุลาการ มีศาลสถิตยุติธรรมที่ปฏิบัติหน้าที่โดยปกติอยู่แล้ว จึงมีคำถามสำคัญว่าในเวลาที่ คสช. ยึดอำนาจ กระบวนการยุติธรรมหรือศาลของประเทศเรานั้นมีปัญหา มีความไม่พร้อมอย่างไรจึงต้องนำทหารมาเป้นผู้พิจารณาคดีบุคคลพลเรือน ประเด็นปัญหาประการต่อมาคือมีประกาศ คสช อย่างน้อย 2 ฉบับ ที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารเข้ามามีส่วนในกระบวนการยุติธรรม คือ คำสั่งหัวหน้า คสช. 3/2558 และ 13/2559 ที่ให้อำนาจทหารนำไปควบคุมตัวในที่ไม่ใช่สถานีตำรวจได้

อานนท์ยกตัวอย่างกรณีที่มีคนที่เคยถูกทหารควบคุมตัวไปตามอำนาจหัวหน้า คสช.ออกมาเปิดเผยว่าตนถูกถูกถุงดำคลุมหรือปิดตาระหว่างถูกนำตัวไปทำให้กังวลถึงความปลอดภัย และเป็นเรื่องน่าเศร้าที่สมาชิกที่อยู่ในสภาแห่งนี้เคยถูกควบคุมตัวด้วยกระบวนการดังกล่าวเช่นกัน อย่างไรก็ตามคำสั่ง คสช. 3/2558 ไม่ได้ถูกยกเลิกไปเมื่อ คสช. กำลังจะพ้นจากอำนาจและฉบับที่ 13/2559 ก็ยังไม่ได้ถูกยกเลิกไปด้วยเช่นกันซึ่งในทางกฎหมายก็ต้องถือว่าคำสั่งทั้งสองฉบับยังมีผลบังคับใช้อยู่ แม้ว่าปัจจุบันจะยังไม่ปรากฏข่าวว่ามีการใช้คำสั่งทั้งสองฉบับอีก

อานนท์กล่าวว่าเหตุที่ประชาชนเข้าชื่อกันเพื่อเสนอร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้เพราะว่าเราต้องการยืนยันหลักการว่ากฎหมายที่จะนำมาใช้ปกครองประเทศจะต้องมาจากสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นตัวแทนของปวงชนเท่านั้นไม่ใช่ออกโดยคณะบุคคลที่เข้าสู่อำนาจโดยวิถีทางที่ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญหรือตามระบอบประชาธิปไตย และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าสภาผู้แทนราษฎรในฐานะเป้นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยที่ยึดโยงกับประชาชนโดยตรงจะรับหลักการร่างกฎหมายฉบับนี้ไปก่อนเพื่อเป็นการประกาศเจตนารมณ์ว่าสภาผู้แทนราษฎรในฐานะผู้แทนของปวงชนจะไม่ยอมรับว่าประกาศหรือคำสั่งของผู้ที่เข้าสู่อำนาจด้วยวิถีทางที่ไม่เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตยเป็นกฎหมายที่ชอบธรรมที่จะเป็นก้าวแรกที่จะพาประเทศออกไปจากวังวนแห่งการรัฐประหาร

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net