Skip to main content
sharethis

อดีต บก.บลูมเบิร์กแนะวิธีทำข่าวสืบสวนสอบสวนเกี่ยวกับอาชญากรรมสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่การลักลอบตัดไม้ การค้าสัตว์ป้า ไปจนถึงปัญหาขยะพิษ ด้วยวิธีการสืบค้นข้อมูลเชิงลึกจากฐานข้อมูลที่หลากหลาย ทั้งการใช้ฐานข้อมูลจากภาครัฐและนอกภาครัฐ การใช้เทคโนโลยีและโซเชียลมีเดีย รวมถึงการแฝงตัวเข้าไปคลุกคลีกับแก๊งอาชญากรเพื่อล้วงข้อมูล

ที่มา: Shutterstock (อ้างใน GIJN)
 

เครือข่ายผลประโยชน์ทางธุรกิจ หน่วยงานรัฐ และกลุ่มอาชญากรรมผิดกฎหมาย ล้วนต่างเป็นสาเหตุในการทำลายสิ่งแวดล้อมด้วยกันทั้งนั้น ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง พวกเขาเหล่านี้ต่างขับเคลื่อนการลักลอบค้าสิ่งผิดกฎหมายในทั่วโลก ทั้งสัตว์ป่า อาหารทะเล ป่าไม้ สินแร่ ขยะอันตราย รวมทั้งสารพิษต่างๆ อาชญากรรมทางสิ่งแวดล้อมเหล่านั้นอาจมีบางอย่างเกี่ยวเนื่องไปด้วยกับการทำอาชญากรรมประเภทอื่นๆ เช่น การค้ายาเสพติด และการฟอกเงิน เป็นต้น

องค์กรอาชญกรรมทางสิ่งแวดล้อม

เพื่อที่จะอธิบาย “จุดร่วม” ของตัวแสดงต่างๆ ทางอาชญากรรม แอนเดรีย ครอสตา (Andrea Crosta) ผู้อำนวยการบริหารของ Earth League International ได้บอกเล่าถึงการพบกับนักค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายชาวเอเชียผู้มีชื่อเสียงคนหนึ่งที่ประเทศหนึ่งในทวีปอเมริกาใต้ ซึ่งขณะนั้นเขากำลังขายครีบฉลามและชิ้นส่วนอื่น ๆ ของสัตว์อยู่

เมื่อคนหนึ่งจากองค์กรอาชญากรรมมาถึง “แทบจะในทันทีที่เราก็พูดถึงการฟอกเงิน” จากนั้นก็มีบุคคลที่สามเข้ามาร่วมพูดคุย เขาทำงานในศุลกากรของสนามบินนานาชาติ คอยจัดแจงการลักลอบขนของผิดกฎหมาย “แทบจะทุกอย่าง รวมถึงคน”

“นี่สินะ สิ่งที่อธิบายว่าอาญชากรรมทางสิ่งแวดล้อมในระดับสูงมีหน้าตาเป็นอย่างไร” ครอสตา กล่าว

โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Program) เคยระบุไว้ในปี 2017 ว่า “การทำลายธรรมชาติ เป็นการก่ออาชญากรรมที่เกิดขึ้นบ่อยที่สุดอับดับเป็น 4 ของโลก สร้างมูลค่าความเสียหายสูงถึง 258,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 5-7 ในทุกๆ ปี และยังมีส่วนร่วมกับอาชญากรรมข้ามชาติรูปแบบอื่นๆ อีกด้วย”

อย่างไรก็ตาม การประเมินโดยใช้มูลค่าเงินเป็นเพียงวิธีหนึ่งในการวัดมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้น สิ่งที่สำคัญกว่านั้นก็คือผลกระทบความเสียหายที่นักวิทยาศาสตร์แจกแจงไว้ ไม่ว่าจะเป็นการตัดไม้ทำลายป่า การประมงเกินขีดจำกัด การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ โรคติดต่อจากสัตว์สู่คน และผลกระทบจากวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้นก็ยังถูกเร่งด้วยอาชญากรรมทางสิ่งแวดล้อมต่างๆ ที่เด่นชัดที่สุดคือการลักลอบตัดไม้ทำลายป่า การลักลอบซื้อขายสารเคมีต้องห้ามที่ส่งผลต่อภาวะโลกร้อนในตลาดมืด ทั้งนี้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้นส่งผลลบต่อความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม ทั้งยังเพิ่มความกดดันทางสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

การหาแหล่งข้อมูล

การหาแหล่งข้อมูลจำเป็นต้อง “หว่านแหขนาดใหญ่” เพราะความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันออกไปอย่างกว้างขวางที่มีทั้งการทุจริต องค์กรอาชญากรรม และอาชญากรรมทางสิ่งแวดล้อม

ผู้ร้ายของเรื่องนี้ปรากฎอยู่ในหลายตัวแสดง ตั้งแต่แรงงานระดับล่างไปจนถึงผู้บริโภคที่อยู่ยอดบนสุด มีอยู่ตลอดห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงเจ้าหน้าที่ที่ทุจริต การเข้าไปพัวพันกับองค์กรอาชญากรรมนั้นเป็นเรื่องปกติ แต่นักวิจัยบางคนเริ่มเห็นเฉดสีเทาๆ ในการกระทำเหล่านี้ โดยหนึ่งในนักวิจัยเรียกการลักลอบค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายว่าเป็น “อาชญากรรมแบบที่ไม่เป็นระบบ”

สื่อมวลชนและผู้สังเกตการณ์หลายคน เน้นให้คุณค่ากับการค้นหาว่าอาชญากรรมเกิดขึ้นที่ไหน และสิ่งผิดกฎหมายถูกนำไปซื้อขายต่อที่ใด แต่อีกสิ่งที่ถูกมองข้ามก็คือการเปิดเผยให้เห็นถึงห่วงโซ่อุปทานทั้งหมดของการกระทำความผิด เราเริ่มค้นหาได้จากหลายๆ จุด ตั้งแต่ว่าใครเป็นผู้จัดหาดำเนินการ ใครเป็นผู้สนับสนุนทางการเงิน หรือใครได้ผลประโยชน์จากอาชญากรรมทางสิ่งแวดล้อม

แหล่งข้อมูลที่ยอดเยี่ยมที่สามารถนำไปใช้ได้ในงานข่าวสืบสวนด้านสิ่งแวดล้อมมีทั้ง

  • องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรนอกภาครัฐ (NGOs) ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับนานาชาติ
  • พลเมืองท้องถิ่น
  • เจ้าหน้าที่รัฐประเภทต่างๆ รวมถึงคนที่ทำงานด้านการค้าและการขนส่ง
  • เจ้าหน้าที่ด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
  • เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย
  • นายพราน เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ชาวประมง
  • คนที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทาน ไม่ใช่แค่ผู้ค้าแต่ยังรวมไปถึงคนทำงานในภาคการขนส่ง
  • คนที่ถูกตัดสินว่ากระทำความผิด หรือถูกจำคุกจากอาชญากรรมทางสิ่งแวดล้อม
  • นักวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์
  • ผู้บริโภค
  • ข่าวเกี่ยวกับเรื่องการจับกุมและคดีความในศาล

การค้นหาเบาะแสในโลกออนไลน์ก็มีความสำคัญ เพื่อเจาะจงลงไปว่าพื้นที่ไหนมีการแพร่หลายของการค้าสัตว์ป่า ทั้งนี้ ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญร่วมด้วย เพราะหลายครั้งที่ผู้ซื้อและผู้ขายมักปกปิดเส้นทางธุรกรรมของพวกเขา

สิ่งที่สำคัญคือต้องทำความเข้าใจกฎหมายและระเบียบของบังคับเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม แล้วหาว่าผู้ซื้อและผู้ขายใช้วิธีใดในการหลบเลี่ยง

นอกจากนี้ควรให้เวลากับเรียนรู้เกี่ยวกับแง่มุมต่างๆ ทางธุรกิจของการค้าขายสินค้าแต่ละชนิด ตัวอย่างเช่น จากรายงาน Razing Africa: Combatting Criminal Consortia in the Logging Sector ในปี 2018 ระบุว่า ธุรกิจค้าไม้สามารถจำแนกลงไปให้เห็นถึง 5 ขั้นตอน คือ คัดแยก ทำสี ขนส่ง ทำการตลาด และฟอกเงินจากผลกำไร  รายงานดังกล่าวแสดงให้เห็นลูกเล่นในอาชญากรรมทางสิ่งแวดล้อมที่พยายามใช้อยู่บ่อยครั้ง นั่นคือการนำสินค้าผิดกฎหมายมาปะปนกับสินค้าถูกกฎหมาย เพื่อหลบเลี่ยงการตรวจจับ

กรณีตัวอย่าง

‘พวกเขาเผด็จศึกต้นไม้’ บริษัทสัญชาติจีน และชนชั้นนำนามิเบีย ทำเงินหลายล้านจากการตัดไม้ผิดกฎหมายในป่าชิงชันผืนสุดท้าย

โครงการรายงานขบวนการอาชญากรรมและการทุจริต (Organized Crime and Corruption Reporting Project: OCCRP) ผู้ทำข่าวสืบสวนชิ้นนี้ ได้ตรวจสอบการลักลอบตัดไม้เนื้อแข็งซึ่งได้รับการคุ้มครอง[ทางกฎหมาย]ในประเทศนามิเบีย ซึ่งกระทำโดยบริษัทตัวแทนสัญชาติจีน 2 แห่ง อย่างเช่น ‘ไม้ชิงชันแอฟริกา’ (African Rosewood) นอกจากเดินทางไกลและยาวนานเพื่อสัมภาษณ์แหล่งข่าวและสังเกตการณ์ด้วยตนเองแล้ว ผู้สื่อข่าวจอห์น โกรบเลอร์ (John Grobler) ได้วางตนเองอยู่ในมุมมองของนักค้าไม้ โดยโกรบเลอร์เข้าไปดูรายงานการบัญชีภายในของรัฐบาล ตลอดจนข้อมูลการส่งออก และตรวจสอบพบว่าผู้อพยพชาวจีนคนหนึ่งซึ่งมีประวัติอาชญากรยาวเหยียดเป็นเจ้าของบริษัทดังกล่าว

เสือจากัวร์ในโบลิเวียตกเป็นเป้าหมายของการไล่ล่าชิ้นส่วนเสือสายพันธุ์อเมริกา

ข่าวสืบสวนจากเว็บไซต์ Mongabay โดยวาเนสซา โรโม (Vanessa Romo) เผยให้เห็นว่ากลุ่มค้าของเถื่อนสัญชาติจีนได้ลักลอบนำชิ้นส่วนร่างกายเสือจากัวร์ออกจากโบลิเวีย การสืบสวนระบุได้ว่ากลุ่มอาชญากรรมทั้ง 3 กลุ่มที่ทำการในโบลิเวียนั้น เกือบทั้งหมดมีสัญชาติจีน ข่าวสืบสวนชิ้นนี้ถูกพัฒนาขึ้นด้วยการรวบรวมข้อมูลโดยองค์กร Earth League International และ Dutch national committee of the International Union for Conservation of Nature (IUCN)

เชื้อเพลิงขยะที่ถูกเผาในบัลแกเรีย อาจเต็มไปด้วยของขยะที่เป็นพิษ

เซเนีย วาครูเชวา (Ksenia Vakhrusheva) นักข่าวผู้เขียนงานชิ้นนี้ชี้ให้เห็นว่ากฎข้อบังคับที่หละหลวมและการควบคุมที่ไม่เพียงพอนั้นทำให้กระบวนการเผาขยะมูลฝอยกลายเป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพได้ วาครูเชวาเขียนในเนื้อข่าวว่า “ขยะที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ เช่น อิตาลี สร้างความกังวลอย่างมากเรื่องสุขภาพและความปลอดภัยของสาธารณชน ดังที่กลุ่มนักกิจกรรมชาวอิตาลีผู้ต่อต้านกลุ่มผู้มีอิทธิพลอ้างว่ากระบวนการกำจัดของขยะในประเทศพวกเขานั้นมีสายสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับองค์กรอาชญากรรม ที่มักจะแอบนำขยะเป็นพิษปะปนไปกับขยะที่ถูกส่งออก” โดยบทความต้นฉบับของวาครูเชวาถูกตีพิมพ์บนเว็บไซต์ bellona.ru ในเดือนมิถุนายน 2019 และถูกแปลเป็นภาษารัสเซียตีพิมพ์ในเว็บไซต์ bluelink.info

Radio Free Europe/Radio Liberty ได้เปิดโปงว่ากลุ่มอาชญากรในรัสเซีย
ลักลอบขโมยน้ำมันจำนวนมหาศาลได้อย่างไร
ที่มา: Radio Free Europe/Radio Liberty (อ้างใน GIJN)
 

การปล้นน้ำมันครั้งใหญ่ของรัสเซีย

Radio Free Europe พบว่าองค์กรอาชญากรรมมีส่วนเกี่ยวข้องในการขโมยน้ำมัน “ปริมาณมากระดับอุตสาหกรรม” และนำน้ำมันเหล่านั้นไปขายต่อในรัสเซีย  เซอร์จี คาซอฟ-คาสเซีย (Sergei Khazov-Cassia) ผู้เขียนรายงานข่าวสืบสวนสอบสวนชิ้นนี้ระบุว่า “มีกลุ่มองค์กรอาชญากรรมลักลอบดูดน้ำมันไม่ทราบจำนวนออกจากท่อส่ง โดยใช้ท่อเถื่อนและหัวปั๊มจ่ายน้ำมันที่ขโมยมา เชื่อมต่อไปยังรถบรรทุกและเรือบรรทุกน้ำมันที่จอดรออยู่ ขณะที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยให้การคุ้มครองและช่วยเหลือในการขนย้าย เพื่อแลกกับส่วนแบ่งเป็นผลประโยชน์นอกกฎหมาย”

อาชญากรรมที่เยือกเย็นที่สุดของยุโรป

การสืบสวนสอบสวนนี้ทำขึ้นโดย Environmental Investigation Agency องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรนอกภาครัฐในสหราชอาณาจักร ที่ระบุว่ามีเครือข่ายผิดกฎหมายที่ใช้ประเทศโรมาเนียเป็นประตูทางเข้าสู่ยุโรป เพื่อส่งสาร Hydrofluorocarbons (HFCs) ซึ่งเป็นสารทำความเย็นและแช่แข็ง ที่สร้างแก๊ซเรือนกระจก

ภาพใหญ่

สำหรับข้อมูลในภาพรวม สามารถดูได้จากรายงานที่ถูกจัดทำโดยองค์กรระหว่างประเทศ เช่น

รายงานขององค์กรนอกภาครัฐไม่แสวงหาผลกำไรที่สืบสวนเฉพาะลงไปในแต่ละประเด็น

ในส่วนรายงานที่มาจากโลกวิชาการอย่าง จุดร่วมของอาชญากรรมทางสิ่งแวดล้อมกับอาชญากรรมรุนแรงอื่นๆ เป็นรายงานในปี 2020 ที่เขียนโดยใช้ฐานคิดแบบงานวิจัย และเป็นผลงานของดาน พี.แวน อูห์ม (Daan P. van Uhm) และริค ซี.ซี. นิจิมาน (Rick C.C. Nijman) นักอาชญวิทยา ที่ระบุไว้ในงานว่า “การเพิ่มขึ้นของอาชญากรรมทางสิ่งแวดล้อมในแต่ละปี รวมกับหายนะของโลกที่กำลังจะตามมา แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการสืบเสาะหาองค์กรอาชญากรรมรูปแบบต่างๆ ที่นำไปสู่การค้าทรัพยากรทางธรรมชาติอย่างผิดกฎหมาย”

ดูรายงานอื่นๆ ที่จัดทำโดยองค์กรระหว่างประเทศและองค์กรพัฒนาเอกชนเพิ่มเติมได้ ที่นี่

เคล็ดลับและเครื่องมือในการทำข่าวสืบสวนเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม

การแฝงตัว

การแฝงตัวเป็นวิธีการพื้นฐานที่เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายและนักวิจัยจากองค์กรนอกภาครัฐไม่แสวงหาผลกำไรใช้ปฏิบัติงาน แต่ก็มีความเสี่ยงค่อนข้างมาก ผู้สื่อข่าวต้องมีความสามารถในระดับสูงก่อนจะตัดสินใจปลอมแปลงตัวตนเข้าไปฝังตัวภายในโลกของอาชญากรรม สำหรับแนวทางที่มีประโยชน์เกี่ยวกับความเสี่ยงและสิ่งที่ได้จะรับจากการใช้กลยุทธ์การแฝงตัวเพื่อทำข่าวสืบสวนแบบนี้ สามารถอ่านเพิ่มเติมได้จาก International Center for Journalists (ICFJ)

“การแฝงตัวเพื่อทำข่าวสืบสวนต้องมีการสร้างบทบาทสมมุติขึ้นมา แต่ในความเห็นของฉัน วิธีนี้ควรเก็บไว้ใช้เป็นที่พึ่งสุดท้าย” จูเลียน เรดีเมเยอร์ (Julian Rademeyer) ผู้แต่งหนังสือ “สังหารเพื่อกำไร:เปิดโปงการค้านอแรดผิดกฎหมาย” กล่าวเตือน ขณะที่เอสเธอร์ นาคาซซิ (Esther Nakazzi) นักข่าวอิสระด้านวิทยาศาสตร์ และผู้สื่อข่าวพิเศษของ Internews ประจำประเทศซูดานกล่าวเสริมว่า “คนที่คุณเข้าไปข้องแวะติดต่อเรื่องอาชญากรรมทางสิ่งแวดล้อมนั้น พวกเขาเป็นอาชญากรอยู่แล้ว พวกเขาใช้ความรุนแรงได้เสมอ” นาคาซซิและคนอื่นๆ เสนอคำแนะนำหลายข้อ รวมถึงขั้นตอนการปฏิบัติงานเพื่อความปลอดภัยแน่นหนา กล่าวคือ หากต้องเข้าไปที่จุดอันตราย ก็ควรให้ข้อมูลที่อยู่/สถานที่ [แชร์โลเคชัน] กับบรรณาธิการและเพื่อนร่วมงานไว้ นอกจากนี้ควรทำงานเป็นคู่ และจงทำตัวให้น่าเชื่อถือ นาคาซซิยังแนะนำอีกว่า “จงเชื่อมั่นในการปกปิดตัวตนของคุณ” และ “เป็นการเป็นการเข้าไว้” เพื่อจะให้งานลุล่วงไปด้วยดี

การใช้โดรนและดาวเทียมเพื่อขุดคุ้ยลงไปในกิจกรรมอย่างการลักลอบตัดไม้หรือทำเหมืองเถื่อน ถือเป็นทางเลือกที่อันตรายน้อยกว่า

พอล ราดู (Paul Radu) ผู้รวมก่อตั้ง OCCRP เคยอธิบายไว้ในบทสัมภาษณ์ของ Forbes ว่า “เมื่อคุณรวบรวมข้อมูลได้แล้ว แกะรอยเส้นทาง แล้วมุ่งหน้าไปที่นั่น คนพวกนี้จะต้องขนย้ายไม้เถื่อนด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง คุณเข้าไปหาว่าใครเป็นเจ้าของยานพาหนะเหล่านั้น หรือที่ที่พวกเขาจะไปคือที่ไหน เพื่อจะทำเช่นนี้ คุณอาจใช้กล้องส่องสัตว์ ที่คุณสามารถติดตั้งไว้บนต้นไม้ บางตัวก็มีอินฟาเรด บางตัวก็มีที่ตรวจจับเสียง หรือมีเซนเซอร์ตรวจจับอากาศยาน เพื่อบอกได้ว่าตอนไหนที่มีเครื่องบินมาปล่อยอะไรสักอย่างไว้ สัญญาณของข้อมูลจากการสังเกตการโดยตรง จะสามารถนำไปรวมเข้ากับข้อมูลที่คุณสามารถหามาได้”

สามารถดูข้อแนะนำของ GIJN ในการใช้ภาพถ่ายดาวเทียม และโดรน เพิ่มได้

การใช้โซเชียลมีเดีย

ทุกวันนี้โซเชียลมีเดียถูกใช้เพื่อเป็นพื้นที่ในการค้าขายสิ่งผิดกฎหมายอย่างกว้างขว้าง การค้นหาในโซเชียลมีเดียจึงอาจทำให้เจอไอเดียของข่าวได้ รวมไปจนถึงชื่อของผู้ต้องสงสัย แหล่งข้อมูล และภาพถ่ายหลักฐาน

การใช้คำศัพท์เพื่อค้นหาข้อมูลให้แม่นยำนั้นต้องใช้ความรู้เฉพาะทาง GIJN จึงพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญด้านการสืบสวนสอบสวนเพื่อค้นหารหัสคำที่ถูกใช้บ่อยๆ และรวบรวมเคล็ดลับจากคำแนะนำของพวกเขา ดังต่อไปนี้

  • คิดหาคีย์เวิร์ดเกี่ยวกับสายพันธ์ุที่ต้องการ
  • รวบรวมศัพท์เกี่ยวกับธุรกรรมแต่ละประเภท อย่างเช่น ซื้อ สั่งซื้อ จัดซื้อ หรืออื่นๆ
  • คิดอย่างรอบครอบว่าจะใช้แพลตฟอร์มไหนในการค้นหา
  • ระมัดระวังในการปกป้องตัวตนของคุณเวลาใช้โซเชียลมีเดีย

สำหรับใช้ดูผ่านๆ ว่ามีอะไรที่พอจะนำไปใช้ได้ เข้าดูที่หน้าทวิตเตอร์ของ Hounds of Actaeon ซึ่งเป็นกลุ่มที่ทุ่มเทเพื่อการเปิดโปงปัญหาการค้าสัตว์ป่าในโซเชียลมีเดียโดยเฉพาะ

บางเรื่องราวที่ใช้เป็นตัวอย่างได้

ฐานข้อมูลที่เป็นประโยชน์

มีฐานข้อมูลที่จำเพาะ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับรายชื่อสัตว์ซึ่งได้รับความนิยมเป็นพิเศษ แม้รายชื่อทั้งหมดจะมีจำนวนมาก แต่จากลิสต์เหล่านี้ คุณจะเจอชื่อที่น่าสนใจมากที่สุด ดูรายชื่อด้านล่างตามสถิติการค้าขาย การตรวจยึด และบันทึกการจับกุม

  • The Cite trade database คือ ฐานข้อมูลที่ใหญ่ที่สุด เกี่ยวกับการค้าขายสัตว์สูญพันธ์ุและไกล้จะสูญพันธุ์ระดับนานาชาติ
  • Global Fishing Watch มีแผนที่กับข้อมูลแสดงความเคลื่อนไหวของเรือประมงพาณิชย์
  • IUU Fishing Index การจัดอันดับประเทศที่ถูกรายงานว่ามีการทำประมงผิดกฎหมาย
  • EcoCrime Data ข้อมูลเจาะจงไปที่ลุ่มน้ำแอมะซอน

บันทึกการซื้อขาย

การลักลอบขนของเถื่อนมักจะใช้การปลอมแปลงเอกสาร ซุกซ่อนสินค้า หรือติดสินบนเจ้าหน้าที่

ข้อสรุป โดย ‘TRAFFIC’ องค์กรนอกภาครัฐไม่แสวงหาผลกำไรระหว่างประเทศที่ทำงานโดยตรงเกี่ยวกับการค้าสัตว์ป่า แจกแจงให้เห็นลักษณะทั่วๆ ไปของเทคนิคที่ใช้ในการทุจริตซื้อขายสัตว์ป่า

UN Comtrade Database เป็นการเก็บสถิติการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งเน้นเฉพาะการค้าสัตว์ที่ถูกกฎหมาย แต่สามารถนำข้อมูลการนำเข้าและส่งออกมาเปรียบเทียบกัน ทำให้เห็นความไม่ชอบมาพากลของข้อมูล ซึ่งอาจจะพาเราไปสู่ประเด็นอื่นๆ ได้

เอกสารเกี่ยวกับการส่งสินค้าที่รู้จักในชื่อ “ใบตราส่งสินค้าทางทะเล” ก็เป็นแหล่งข้อมูลล้ำค่าได้ เพราะมีการระบุชื่อของแต่ละฝ่ายในการส่งสินค้า ว่าของถูกส่งไปที่ไหน ใครเป็นผู้รับ และมีลายเซ็นกำกับ แต่น่าเสียดายที่บันทึกพวกนี้ไม่ได้เป็นข้อมูลสาธารณะในทุกประเทศ แต่ในสหรัฐฯ อินเดีย หลายประเทศแถบลาตินอเมริกา รวมไปถึงปานามาและเปรูสามารถเข้าถึงได้

การใช้บันทึกการค้าหลายๆ รูปแบบ อาจนำไปสู่การเจอชื่อของบริษัทที่มีพิรุธ บ่อยครั้งที่บริษัทและตัวบุคคลมีสิ่งที่เกี่ยวข้องกัน นักข่าวบางคนหามูลค่าของบริการทางพาณิชย์ในการค้าขายและส่งสินค้า พบว่าสินค้าบางรายการไม่ได้มีมูลค่าอะไรมากมายแต่กลับมีการตั้งราคาที่สูงเกินจริง เช่นในรายงานเหล่านี้ Panjiva, Import Genius และ Equasis

สไลด์นำเสนอชิ้นหนึ่ง ของมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย โดยเจียนนีนา เซกนินิ (Giannina Segnini) ศาสตราจารย์ด้านสื่อสารมวลชน ระบุให้เห็นถึงวิธีการหาหัวข้อข่าวจากการค้นหาตู้สินค้าขนส่งและใบตราส่งสินค้าทางทะเล นอกจากนี้ยังมีอีกสไลด์ของเธอคือ Learning Custom Languages to Track Shipments

ความสามารถในการสืบค้นข้อมูลจากแหล่งข้อมูลแบบโอเพนซอร์ส (Open Source) จะเป็นประโยชน์ที่ทำให้สามารถเจาะลึกลงไปได้ว่าใครเป็นเจ้าของตัวจริงของบริษัท

สำหรับแหล่งข้อมูลที่น่าสนใจในประเด็นนี้ ดูได้ที่ฐานข้อมูลการติดตามการขนส่งทางทะเล ห่วงโซ่อาหาร และการค้นหาบริษัท ของ GIJN

บันทึกการตรวจยึดและจับกุม

รายงานข่าวและฐานข้อมูลเกี่ยวกับการกับกุมและตรวจยึด สามารถเปิดประตูไปสู่โลกของการค้าสิ่งผิดกฎหมายได้ เรื่องราวแบบนี้เกิดขึ้นที่ อินเดีย (ในกรณีการตัดไม้ผิดกฎหมาย) หรือ ออสเตรเลีย (ในกรณีการพนันไก่ชน)

บันทึกการจับกุมถูกในบทความนี้เขียนโดย International Policy Digest ใช้เพื่ออธิบายเส้นทางการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายโดย “ดิ เอนเทอร์ไพรส์” กลุ่มบริษัทที่ตกลงราคาขายร่วมกันเพื่อไม่ให้มีการแข่งขันซึ่งอยู่ในทางตะวันตกของทวีปแอฟริกา ส่วนรายงานของสำนักข่าว Mongabay อาศัยเอกสารของทางการในการทลายการทำเหมืองทองผิดกฎหมาย โดยเครือข่ายอาชญากรรมที่เรียกว่า Los Topos หรือ The Moles

ฐานข้อมูลในการตรวจยึดรวมไปถึง

  • The Wildlife Trade Portal โดย TRAFFIC เครื่องมือเชิงปฏิบัติการแสดงโอเพนซอร์สด้านข้อมูลการตรวจยึดสัตว์ป่าและข้อมูลเหตุการณ์ ช่องทางนี้สามารถสืบค้นหาผลลัพธ์ ซึ่งไม่ได้ให้แค่รายชื่อ แต่ยังสามารถแสดงผลในรูปแบบหน้ากระดานที่ใช้ในการสรุปข้อมูล (dashboard) อีกด้วย
  • ฐานข้อมูลการจับกุมสัตว์ป่าผิดกฎหมาย ดูแลโดย C4ADS องค์กรนอกภาครัฐไม่แสวงกาผลกำไรในกรุงวอซิงตัน ดี.ซี สามารถเข้าถึงได้โดยการส่งคำขอไปทางอีเมล info@c4ads.org
  • เครื่องมือติดตามอาชญากรรมทางสิ่งแวดล้อมทั่วโลก สร้างขึ้นโดย Environmental Investigation Agency องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรในสหราชอาณาจักร 

การสืบค้นข้อมูลศาล

การสืบสวนหาที่มาที่ไปว่าเกิดอะไรขึ้นในการจับกลุ่ม มักจะได้แง่มุมที่ดีมาใช้ในเขียนรายงาน โรเบิร์ต มักกาห์ (Robert Muggah) ผู้ร่วมก่อตั้ง Igarapé Institute กล่าวขณะให้สัมภาษณ์กับ Mongabay ว่า “การติดตามอาชญากรรมทางสิ่งแวดล้อม คือการบังคับใช้หลักนิติธรรม (Rule of Law)”

สำหรับการเข้าถึงบันทึกการจับกุมของทางการนั้นอาจมีความยุ่งยากอยู่บ้าง แต่รายละเอียดในนั้นสามารถบอกล่าเรื่องราวได้มากมาย

Oxpeckers Centre for Investigative Environmental Journalism หรือ Oxpeckers องค์กรนักข่าวสืบสวนในประเทศแอฟริกาใต้ ได้สร้างฐานข้อมูลจำนวนมากที่ “ออกแบบโดยนักข่าวเพื่อนักข่าว” สำหรับใช้ในติดตามกระบวนการศาลในคดีอาชญากรรมเกี่ยวกับสัตว์ป่า สามารถเข้าถึงฐานข้อมูลนี้ได้ ที่นี่ ซึ่งครอบคลุมทั้งอาชญากรรมด้านสัตว์ป่าในยุดรปและข้ามทวีป และยังมี RhinoCourtCases ซึ่งเป็นฐานข้อมูลการค้านอแรกในตอนใต้ของทวีปแอฟริกาอีกด้วย 

สำหรับแหล่งรวบรวมข้อมูลอื่นๆ ในระดับประเทศ เช่น ในอินเดียมีการรวบรวมข้อมูลอาชญากรรมเกี่ยวกับสัตว์ป่า ดูแลโดยสมาคมพิทักษ์สัตว์ป่าแห่งอินเดีย (Wildlife Protection Society of India: WPSI) เป็นต้น 

สำหรับแหล่งข้อมูลเพิ่มเติม

ที่มา:

โทบี แมคอินทอช (Toby McIntosh) เป็นที่ปรึกษาอาวุโสของ GIJN เคยทำงานกับบลูมเบิร์ก (Bloomberg BNA) ในรัฐวอชิงตันเป็นเวลา 39 ปี เคยเป็นอดีตบรรณาธิการของ FreedomInfo.org ระหว่างปี 2010-2017 ซึ่งเขาเคยเขียนรายงานเกี่ยวกับนโยบายด้านเสรีภาพของการให้ข้อมูล (FOI) ทั่วโลก และเป็นคณะกรรมการของ FOIANet เครือข่ายนานาชาติที่ทำงานในประเด็นเสรีภาพของการให้ข้อมูล

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net