FTA Watch เผย รมว.ต่างประเทศ รับปากยังไม่นำ #CPTPP เข้า ครม. หากยังไม่มีการศึกษารอบด้าน

FTA Watch เผยผลการเข้าหารือกับ ดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ รับปากยังไม่นำ #CPTPP เข้า ครม. หากยังไม่มีการศึกษารอบด้าน

20 ธ.ค.2564 เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'FTA Watch' ของกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน โพสต์รายงานว่า การเข้าหารือของ ดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) พร้อมคณะ กับ FTA Watch และองค์กรเครือข่ายภาคประชาสังคม #NoCPTPP ต่อกรณีการเข้าร่วมเป็นประเทศสมาชิกของความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ CPTPP ได้ข้อสรุปว่า จะยังไม่มีการนำ CPTPP เข้าให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบเพื่อยื่นเจตจำนงเข้าร่วมความตกลงนี้กับประเทศสมาชิกหากยังไม่มีการศึกษาข้อมูลอย่างรอบด้าน

FTA Watch และเครือข่ายฯ ระบุว่าเป็นตัวแทนของประชาชนกว่า 400,000 คนที่ร่วมลงชื่อคัดค้านการที่ไทยจะเข้าร่วมความตกลง CPTPP ต้อนรับการเข้าพบหารือของดอน และคณะ พูดคุยถึงข้อกังวลในผลกระทบที่รุนแรงและระยะยาวต่อประชาชน และนำเสนอให้กนศ.ยุติความพยายามที่จะนำเรื่องการเข้าร่วมความตกลง CPTPP ให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศ

อย่างไรก็ตาม ดอน ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศได้รับทราบถึงจุดยืนของภาคประชาสังคม และกล่าวว่า “เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่เกี่ยวข้องกับหลายภาคส่วนไม่ใช่รัฐบาลอย่างเดียว ข้อมูลที่กนศ.ให้มากับข้อมูลของ FTA Watch และองค์กรเครือข่ายภาคประชาสังคม #NoCPTPP นั้นแตกต่างกันมาก คนละมุมกันเลย วันนี้เราได้ทราบแล้ว เพราะอย่างนั้นอย่าเพิ่งเรียกร้องอะไร เดี๋ยวเราจะเอากลับไปคุยกัย กนศ. แล้วมาแก้ไข ไม่อยากให้การประชุมครั้งนี้เป็นเรื่องของการเรียกร้อง”

นอกจากนี้ ดอน ปรมัตถ์วินัย ยังได้รับปากกับกลุ่ม FTA Watch และเครือข่ายภาคประชาสังคมว่า จะยังไม่นำ CPTPP เข้าครม. จนกว่าจะมีการศึกษาที่ชัดเจนและครอบคลุมถึงผลกระทบทุกฝ่ายอย่างแท้จริงรอบด้านตามข้อกังวลของภาคประชาสังคม

ในการสัมภาษณ์เพิ่มเติมหลังการประชุมหารือ นิมิตร์ เทียนอุดม ตัวแทน FTA Watch ได้ย้ำถึงจุดยืน 4 ข้อของภาคประชาชนซึ่งได้รวมอยู่ใน ข้อเสนอแนะจากรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ สภาผู้แทนราษฎร และข้อเสนอของสภาองค์กรของผู้บริโภค คือ

  • หนึ่ง การเข้าร่วมความตกลง CPTPP คือการยอมรับข้อตกลงที่เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาหลายฉบับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอนุสัญญาระหว่างประเทศเพื่อการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ หรือ UPOV 1991 ซึ่งเป็นอนุสัญญาที่เอื้อผลประโยชน์ให้กับอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร ซึ่งมีผลกระทบด้านลบต่อเกษตรกร ทั้งราคาเมล็ดพันธุ์ที่จะแพงขึ้น สิทธิเกษตรกรที่ถูกลิดรอน และการทำลายความหลายหลากทางชีวภาพ
  • สอง การเข้าร่วมความตกลง CPTPP จะทำให้ประเทศไทยต้องยอมรับการนำเข้าสินค้าที่ปรับสภาพเป็นของใหม่ โดยเฉพาะส่วนที่เป็นเครื่องมือทางการแพทย์ และขยะพลาสติกและอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะยิ่งซ้ำเติมปัญหาสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจากขยะอิเล็กทรอนิกส์และขยะสารพิษที่ประเทศไทยเผชิญอยู่ให้หนักหน่วงขึ้นไปอีก
  • สาม การเข้าร่วมความตกลง CPTPP จะเปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติที่เป็นเอกชนฟ้องร้องรัฐบาล ถ้ารัฐบาลออกหรือบังคับใช้กฎหมายหรือนโยบายใด ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อผลประกอบการของนักลงทุนต่างชาติ แม้ว่าจะเป็นไปเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชน โดยจะส่งผลให้รัฐบาลต้องระงับการออกหรือบังคับใช้กฎหมายเพื่อประโยชน์ของประชาชน และชดเชยค่าเสียหายจำนวนมหาศาลให้กับนักลงทุนต่างชาติที่เป็นเอกชน โดยใช้เงินภาษีของประชาชนจ่าย
  • และสุดท้าย ข้อบทในความตกลง CPTPP ที่เกี่ยวข้องกับระบบทรัพย์สินทางปัญญา จะก่อให้เกิดผลกระทบร้ายแรงต่อระบบสุขภาพและการสาธารณสุขของประเทศไทย เนื่องจากจะทำให้ยารักษาโรคแพงขึ้นอย่างมหาศาล จากงานวิจัยการประเมินผลกระทบของ CPTPP ชี้ให้เห็นว่า ประเทศไทยจะมีค่าใช้จ่ายด้านยาเพิ่มขึ้นเกือบ 400,000 ล้านบาท เพราะประเทศต้องพึ่งพายานำเข้าและมีสิทธิบัตรเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 71 ในปัจจุบัน เป็นร้อยละ 89 และอุตสาหกรรมผลิตยาในประเทศจะมีส่วนแบ่งตลาดลดลงมากกว่า 100,000 ล้านบาท แน่นอนว่านี่จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงโดยตรงต่อระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่เป็นผลงานอวดชาวโลกของไทย

FTA Watch และเครือข่ายฯ จะยังคงจับตามองการเคลื่อนไหวของคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ในการพิจารณาศึกษาผลกระทบของ CPTPP อย่างใกล้ชิดต่อไป

สำหรับ องค์กรเครือข่ายภาคประชาสังคม #NoCPTPP ประกอบด้วย 1. FTA Watch 2. มูลนิธิชีววิถี 3. กรีนพีซ ประเทศไทย 4. มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ 5. เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย 6. เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก 4 ภาค 7. มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) 8. กลุ่มศึกษาปัญหายา 9. ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา 10. มูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนา 11. มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ 12. มูลนิธิบูรณะนิเวศ 13. มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค 14. มูลนิธิสุขภาพไทย 15. เครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจสุรา 16. เครือข่ายงดเหล้า 17. TUNONICOTINE 18. โครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านทรัพยากรแร่ 19. กลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา 20. เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ 21. กลุ่มคนรักษ์บ้านเกิดบำเหน็จณรงค์ (คัดค้านเหมืองโปแตชและโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.ชัยภูมิ) 22. กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน (คัดค้านเหมืองทองคำ ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย) 23. กลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาส (คัดค้านการขุดเจาะสำรวจแร่โปแตช อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร)

24. กลุ่มรักษ์น้ำซับคำป่าหลาย (คัดค้านการขอประทานบัตรทำเหมืองหินทราย ต.คำป่าหลาย อ.เมือง จ.มุกดาหาร) 25. กลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได (คัดค้านการทำเหมืองหิน ต.ดงมะไฟ อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู) 26. กลุ่มรักษ์บ้านแหง (คัดค้านการขอประทานบัตรทำเหมืองถ่านหินลิกไนต์ ต.บ้านแหง อ.งาว จ.ลำปาง) 27. กลุ่มรักษ์ลำคอหงษ์ (คัดค้านการขอประทานบัตรทำเหมืองโปแตช อ.โนนสูง จ.นครราชสีมา) 28. กลุ่มคนเหล่าไฮงามไม่เอาเหมืองแร่ (คัดค้านการขอประทานบัตรทำเหมืองทรายแก้ว ต.เหล่าไฮงาม อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์) 29. สมาคมพิทักษ์สิทธิชุมชนเขาคูหา (คัดค้านการทำเหมืองหินปูน ต.คูหาใต้ อ.รัตภูมิ จ.สงขลา) 30. สมัชชาคนจน 31. เครือข่าย People Go Network 32. คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) 33. มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) 34. เครือข่ายบริการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม We Fair และ 35. เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ (WWN)

ส่วนประชาชนกว่า 400,000 คนร่วมลงชื่อคัดค้านผ่านช่องทางออนไลน์ของ Greenpeace Thailand’s petition และ Change.org/NoCPTPP

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท