Skip to main content
sharethis

กลุ่มยืนหยุดทรราช เชียงใหม่ - ประชาชน รวมตัวไปยื่นหนังสือถึงประธานศาลฏีกาและอธิบดีผู้พิพากษาภาค 5 เรียกร้องศาลเคารพสิทธิประกันตัวจำเลยคดีการเมืองทุกคน โดยเฉพาะ ม.112 ทั้ง วุฒิ, อานนท์ นำภา, ขนุน สิรภพ, เก็ท โสภณ และผู้ต้องหาคนอื่นที่คดียังไม่ถึงที่สุด ยืนยันทุกคนควรได้รับการประกันตัวมาตรฐานเดียวกับ “ทักษิณ ชินวัตร” เพื่อให้หลักปฏิบัติในกระบวนการยุติธรรมไทยเป็นไปในมาตรฐานเดียวกัน

 

19 ก.ค. 2567 เวลา 09.00 น. ที่บริเวณหน้าศาลจังหวัดเชียงใหม่ กลุ่มยืนหยุดทรราช เชียงใหม่ และประชาชนจำนวนหนึ่งรวมตัวกันไปยื่นหนังสือถึงประธานศาลฏีกา และอธิบดีผู้พิพากษาภาค 5 เรียกร้องให้ศาลเคารพสิทธิประกันตัวของผู้ต้องหาและจำเลยคดีการเมือง โดยเฉพาะ ม.112 ทั้งนี้ กลุ่มยืนหยุดทรราช เชียงใหม่ ได้จัดกิจกรรมยืนนิ่งเป็นเวลา 1.12 ชม. ที่ข่วงประตูท่าแพ เรียกร้องสิทธิในการประกันตัวให้แก่ผู้ต้องขังทางการเมืองมาตั้งแต่ปี 2563

กลุ่มยืนหยุดทรราชมีความเห็นว่า การปฏิเสธสิทธิประกันตัวของศาลที่เกิดขึ้น ไม่สอดคล้องกับหลักการกฎหมายทั้งในและระหว่างประเทศ ทั้งในอดีตและปัจจุบัน โดยเฉพาะหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ (presumption of innocence) ที่มีการรับรองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 29 วรรค 2 และวรรค 3 ที่ว่า “ในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้” และ “การควบคุมหรือคุมขังผู้ต้องหาหรือจำเลยให้กระทำได้เพียงเท่าที่จำเป็น เพื่อป้องกันมิให้มีการหลบหนี”

จำเลยในคดีตามมาตรา 112 อาทิ วุฒิ, อานนท์ นำภา, สิรภพ พุ่มพึ่งพุทธ (ขนุน), โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง (เก็ท) หรือจำเลย/ผู้ต้องหาคนใดก็ตามที่คดียังไม่ถึงที่สุด ล้วนสมควรได้รับการประกันตัวเช่นเดียวกับทักษิณ ชินวัตร เพื่อให้หลักปฏิบัติในกระบวนการยุติธรรมเป็นไปตามมาตรฐานเดียวกัน

 

  

เชียงใหม่

 

เชียงใหม่

 

เชียงใหม่

 

เชียงใหม่

 

เชียงใหม่

 

ทางศาลจังหวัดเชียงใหม่ได้ส่ง ชาติชาย แก้วกก ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการประจำศาลจังหวัดเชียงใหม่ ออกมาเป็นตัวแทนมารับมอบหนังสือจากประชาชน ทั้งนี้ ระหว่างการจัดกิจกรรมมีเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบราว 10 คน มาร่วมสังเกตการณ์ตลอดกิจกรรม

สำนักข่าว Lanner มีการรายงานว่า หลังจากมีการยื่นหนังสือที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ กลุ่มยืนหยุดทรราช ได้มีการอ่าน บทกวี โดย อานนท์ นำภา “ฝัน, ท้อ, รอคอย” ที่เขียนเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2567 มีการอ่าน จดหมาย ของ ขนุน สิรภพ ที่เขียนเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2567 มีการอ่าน จดหมายจาก เก็ท โสภณ ที่วันเขียนเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2567 และปิดท้ายด้วยการตะโกนว่า “ถึงขุนเขา ปล่อยเพื่อนเราเดียวนี้ ปล่อยเพื่อนเราเดียวนี้ ยกเลิก 112  ยกเลิก 112”

 

เนื้อหาในหนังสือที่ยื่นต่อประธานศาลฏีกา และอธิบดีผู้พิพากษาภาค 5 

ในนามของ “กลุ่มยืนหยุดทรราช” ซึ่งประกอบด้วยนักกิจกรรมเพื่อสังคมที่ได้ปฏิบัติการทางตรง โดยการยืนนิ่งเป็นเวลา 1.12 ชม. ที่ข่วงประตูท่าแพ จังหวัดเชียงใหม่ มาตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบัน เพื่อเรียกร้องให้ศาลเคารพสิทธิประกันตัวของผู้ต้องหาและจำเลย ซึ่งถูกกล่าวหาและดำเนินคดีที่มีแรงจูงใจทางการเมือง โดยเฉพาะในช่วงที่มีการใช้เสรีภาพในการชุมนุมและการแสดงออกอย่างกว้างขวางนับตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา ส่งผลให้มีผู้ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกและการชุมนุมทางการเมือง โดยเฉพาะตามมาตรา 112 แล้วอย่างน้อย 272 คน ใน 303 คดี และหลายคนไม่ได้รับสิทธิประกันตัว แม้คดียังอยู่ระหว่างการพิจารณา 

กลุ่มยืนหยุดทรราชมีความเห็นว่า การปฏิเสธสิทธิประกันตัวที่เกิดขึ้น ไม่สอดคล้องกับหลักการกฎหมายทั้งในและระหว่างประเทศ ทั้งในอดีตและปัจจุบัน โดยเฉพาะหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ (presumption of innocence) ซึ่งมีการรับรองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 29 วรรค 2 และวรรค 3 ที่ว่า “ในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้” และ “การควบคุมหรือคุมขังผู้ต้องหาหรือจำเลยให้กระทำได้เพียงเท่าที่จำเป็น เพื่อป้องกันมิให้มีการหลบหนี”

           หลักการในประเทศนี้สอดคล้องตรงกันกับหลักการในระดับสากล ในบรรดาสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันรับรอง รวมทั้งปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (UDHR) ข้อ 11 ที่ว่า “บุคคลซึ่งถูกกล่าวหาด้วยความผิดทางอาญา มีสิทธิที่จะได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ จนกว่าจะมีการพิสูจน์ว่ามีความผิดตามกฎหมายในการพิจารณาโดยเปิดเผย” และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง (ICCPR) ข้อ 14 วรรค 2 ที่ว่า “บุคคลทุกคนซึ่งต้องหาว่ากระทำผิดอาญา ต้องมีสิทธิได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าจะพิสูจน์ตามกฎหมายได้ว่ามีความผิด”

การคุ้มครองหลักการนี้ยังปรากฏในกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ รวมทั้งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108/16 ที่ว่า “การสั่งไม่ให้ปล่อยชั่วคราว จะกระทำได้ต่อเมื่อมีเหตุอันควรเชื่อ” ว่า “ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะหลบหนี จะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน จะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น ผู้ร้องขอประกันหรือหลักประกันไม่น่าเชื่อถือ และจะเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวน” 

ความจริงแล้ว หลักการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ มีที่มาตั้งแต่หลักกฎหมายสมัยโรมัน ดังภาษิตละตินที่ว่า “Ei incumbit probatio qui dicit, non qui negat” “ภาระพิสูจน์ย่อมตกเป็นของบุคคลผู้กล่าวหา ไม่ใช่บุคคลที่แก้ต่างว่าไม่ได้กระทำ” หมายถึงว่าตราบที่ยังไม่มีการพิสูจน์ทราบว่าบุคคลนั้นมีความผิดจริง ย่อมต้องสันนิษฐานว่าเขาเป็นผู้บริสุทธิ์ และศาลต้องอำนวยให้บุคคลเหล่านั้นได้ใช้สิทธิในการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ และเสมอภาคกับฝ่ายที่เป็นผู้ร้อง (equality of arms) 

การปฏิเสธสิทธิประกันตัวโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร นอกจากจะเป็นการละเมิดต่อพันธกรณีที่รัฐมีต่อกฎหมายทั้งภายในและระหว่างประเทศแล้ว ยังเป็นการจำกัดสิทธิในการต่อสู้คดี ทั้งให้ผู้ต้องหา/จำเลยในคดีเหล่านั้นไม่ได้รับสิทธิในการพิจารณาอย่างเป็นธรรม (right to fair trial) ซึ่งมีการบัญญัติรับรองไว้ทั้งกฎหมายภายในประเทศและระหว่างประเทศเช่นกัน

ดังกรณีของ ‘วุฒิ’ อดีตพนักงานรักษาความปลอดภัย วัย 48 ปี ซึ่งนับแต่วันที่ 27 มี.ค. 2566 ที่พนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีเขาต่อศาลอาญามีนบุรี จากการถูกกล่าวหาว่าโพสต์เฟซบุ๊ก 12 ข้อความ วุฒิไม่เคยได้รับสิทธิประกันตัวเลย ถูกสั่งขังมาตลอด โดยศาลมักอ้างว่า “พฤติการณ์เป็นความผิดร้ายแรง” แต่กลับไม่คำนึงว่า การจำกัดอิสรภาพของเขาเป็นเวลากว่าหนึ่งปีเช่นนี้ ย่อมเป็นการจำกัดการเข้าถึงทนายความและพยานหลักฐานที่เขาจะสามารถนำเสนอต่อศาล เพื่อแก้ต่างให้กับตนเองได้ ส่งผลให้ฝ่ายจำเลยต้องเสียเปรียบฝ่ายโจทก์ ไม่อาจเรียกว่าเป็นการพิจารณาอย่างเป็นธรรมได้เลย

จำเลยในคดีตามมาตรา 112 ไม่ว่าจะเป็น ‘วุฒิ’, อานนท์ นำภา, สิรภพ พุ่มพึ่งพุทธ (ขนุน), โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง (เก็ท) หรือจำเลย/ผู้ต้องหาคนใดก็ตามที่คดียังไม่ถึงที่สุด ล้วนสมควรได้รับการประกันตัวเช่นเดียวกับคุณทักษิณ ชินวัตร เพื่อให้หลักปฏิบัติในกระบวนการยุติธรรมเป็นไปตามมาตรฐานเดียวกัน

กลุ่มยืนหยุดทรราชจึงมีข้อเรียกร้องให้ศาลเคารพสิทธิประกันตัว คำนึงถึงความสำคัญของหลักกฎหมายทั้งในและระหว่างประเทศ หลักกฎหมายที่ดำรงสืบมาเป็นพันปีตั้งแต่สมัยโรมัน และให้พิจารณาปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหา/จำเลย โดยเฉพาะในคดีตามมาตรา 112 ซึ่งได้ถูกใช้เป็นเครื่องมือปราบปรามทางการเมืองอย่างชัดเจน ไม่ได้เป็นไปเพื่อปกป้องสถาบันกษัตริย์อย่างที่อ้างแต่อย่างใด เว้นแต่มีเงื่อนไขที่สอดคล้องกับช้อยกเว้นตามกฎหมาย รวมทั้งมาตรา 108/16 อย่างขัดเจน

 

ขอแสดงความนับถือ

กลุ่มยืนหยุดทรราช

กลุ่มประชาชนในจังหวัดเชียงใหม่

 

 

 

 

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net