Skip to main content
sharethis

บรรณาธิการข่าวอาวุโสของ GIJN ประจำทวีปแอฟริกา ผู้ได้รับรางวัลการทำข่าวสืบสวนสอบสวนระดับโลก เผยวิธีแกะรอยการซื้อขายอาวุธของรัฐบาลที่มักอ้างเหตุผลด้าน 'ความมั่นคง' และไม่เปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณชน จนนำไปสู่การเปิดโปงขบวนการค้าอาวุธข้ามชาติ ที่มีสายสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างรัฐบาล องค์กรอาชญากรรม และพ่อค้าความตาย

แม้ค่าใช้จ่ายทางการทหารในโลกจะสูงเกือบ 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
แต่กลับยากที่จะสืบหาข้อมูลเกี่ยวกับการค้าอาวุธระหว่างประเทศ | ที่มา: Shutterstock
 

เมื่อผู้กำกับภาพยนตร์ ‘แอนดรูว์ นิคโคล’ (Andrew Niccol) เริ่มหาซื้ออุปกรณ์ประกอบฉากในภาพยนตร์ของตนเองเรื่อง ‘Lord of War’ (ชื่อไทย - นักฆ่าหน้านักบุญ) ซึ่งออกฉายในปี 2005 เขาก็ได้เรียนรู้บทเรียนราคาแพงว่าการซื้ออาวุธของจริงนั้นถูกและง่ายกว่าการหาซื้อของปลอมเสียอีก โดยนิคโคลอธิบายเรื่องนี้ระหว่างพาสื่อมวลชนเยี่ยมชมกองถ่ายภาพยนตร์ เมื่อเป็นเช่นนั้น เขาจึงเดินหน้าต่อด้วยการซื้อปืนอาก้า (AK47) ของแท้มา 3,000 กระบอก ทั้งยังเช่ารถถังในราคาที่แพงขึ้นมาหน่อย แม้ว่าเขาได้ทำลายอาวุธบางส่วนทิ้งไปแล้วในประเทศแอฟริกาใต้เพื่อป้องกันไม่ให้อาวุธเหล่านั้นถูกนำมาใช้ใหม่ แต่ด้วยข้อจำกัดด้านงบประมาณ เขาจึงจำเป็นต้องขายอาวุธส่วนที่เหลือ โดยหั่นราคาลดลงมากกว่าครึ่งหนึ่ง เพราะตลาดการค้าอาวุธมีความผันผวนสูง

Lord of War เป็นภาพยนตร์ที่สร้างจากบางส่วนในชีวิตจริงของ ‘วิกเตอร์ บูต’ (Viktor Bout) นักค้าอาวุธชาวรัสเซีย เปิดเรื่องด้วยการติดตามลูกกระสุนนัดหนึ่ง ตั้งแต่กระบวนการบรรจุเข้าสู่รังเพลิง ซึ่งกว่ากระสุนนัดนี้จะปลิดชีวิตคนได้ มันต้องถูกขนส่งผ่านมือหน่วยทหาร กลุ่มก่อการร้าย กลุ่มคลั่งศาสนา ขุนศึก และผ่านสนามรบจากทั่วโลก นอกจากนี้ ภาพยนต์ยังแสดงบทบาทตัวละคร ‘ชาร์ลส์ เทย์เลอร์’ (Charles Taylor) ผู้นำเผด็จการของไลบีเรียในฐานะผู้ซื้อคนสำคัญของบูต ซึ่งเนื้อเรื่องเปิดเผยให้เห็นความซับซ้อนและคลุมเคลือของปฏิสัมพันธ์ระหว่าง รัฐบาล ลอบบี้ยิสต์ นักค้าอาวุธ นักการเงิน หน่วยสืบราชการลับ และผู้ขนส่ง

แม้ทั้งชีวิตของบูตและเทย์เลอร์จะพบกับจุดตกต่ำ โดยบูตถูกพิพากษาจำคุก 25 ปีในเรือนจำสหรัฐฯ หลังจากถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจล่อซื้ออาวุธ ส่วนเทย์เลอร์ถูกตัดสินจำคุก 50 ปี โดยศาลอาชญากรรมระหว่างประเทศที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ แต่งบประมาณด้านการทหารของโลกก็ยังเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ และสูงถึงเกือบ 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2020 ซึ่งประเทศ 4 อันดับแรกที่ทุ่มงบประมาณด้านการทหารมากที่สุดก็คือสหรัฐฯ จีน รัสเซีย และสหราชอาณาจักร ประเทศเหล่านี้เองก็ยังเป็นผู้ขายอาวุธรายใหญ่ของโลกอีกด้วย ตลาดการค้าอาวุธในโลกมีลักษณะเป็นลูกโซ่ แลกเปลี่ยนเงินกันเองภายในธุรกิจรูปแบบเดียวกัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นตัวขับเคลื่อนให้เกิดองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ การแสวงหาประโยชน์จากสงคราม ไปจนถึงการผลักดันให้เกิดผู้นำเผด็จการ รวมทั้งการหาผลประโยชน์จากความขัดแย้ง

สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ก็เพราะกฎหมายในระดับนานาชาติที่ใช้ควบคุมการซื้อขายอาวุธนั้นทั้งไม่เข้มแข็ง ขัดกันเอง อยู่ภายใต้อิทธิพลของผู้นำฉ้อฉล และเต็มไปด้วยช่องโหว่ นอกจากนั้นก็ยังมีอุปสรรคมากมายในการเปิดโปงขบวนการค้าอาวุธ ตั้งแต่การปกปิดความลับในการขนส่งอาวุธทั้งทางน้ำและทางอากาศ หนำซ้ำกลับมีหน่วยงานที่คอยปกป้องผู้ค้าอาวุธอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีระบบแลกเปลี่ยนที่ปล่อยให้สามารถนำของผิดกฎหมายมาใช้ เช่น การนำงาช้างไปแลกกับสิ่งของใช้อื่นๆ เป็นต้น

แม้จะต้องมีการแสดงเอกสาร แต่การลักลอบขนส่งสินค้าผิดกฎหมายก็สามารถเล็ดลอดสายตาไปได้ เว้นเสียแต่ว่าเจ้าหน้าที่ศุลกากรหรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจะมีหลักฐานที่ชัดเจนจริงๆ ถึงจะมีการตรวจค้นหรือเข้ายึด อย่างในประเทศแอฟริกาใต้ เจ้าหน้าที่ในสนามบินเอกชนแห่งหนึ่งบอกกับผู้เขียนว่า “พวกเราไม่มีส่วนได้ส่วนเสียอะไร มันไม่ได้อยู่ในอำนาจของเราที่จะไปเผชิญหน้าหรือสร้างศัตรูกับใคร”

กรณีนี้ไม่เหมือนกับการค้ายาเสพติดหรือการค้ามนุษย์ซึ่งเป็นสิ่งต้องห้ามในทุกที่ แต่ความลับทางการเงิน การค้าอาวุธ และอาชญากรรมสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง เช่น การค้าไม้ การลักลอบล่าสัตว์ หรือการทำเหมือง สิ่งเหล่านี้สามารถกระทำผ่านช่องว่างของกฎเกณฑ์ต่างๆ ได้ กิจกรรมเหล่านี้จะถูกเก็บเป็นความลับได้ขนาดไหนนั้นขึ้นอยู่กับแต่ละขอบเขตของอำนาจศาลในที่นั้นๆ ตลอดจนระบบกฎหมายการเงินและการขนส่งที่เกี่ยวข้อง

อย่างเช่นการที่บูตถูกจับกุมไปนั้น ก็ไม่ได้หยุดเครือข่ายของเขาที่ยังคงส่งอาวุธจากซูดานไปยังซีเรีย โดยยังคงใช้ผู้สั่งการสัญชาติแอฟริกาใต้และรัสเซีย พร้อมด้วย 'บริษัทหน้าฉาก' ที่ตั้งอยู่ในประเทศมอริเชียส และปลอมแปลงเอกสารเพื่อลักลอบขนอาวุธขึ้นเครื่องบินทั้งลำ ทั้งนี้ มีรายงานว่าบริษัทด้านอากาศยานบางแห่งในมอริเชียสยังทำการปลอมแปลงเที่ยวบินส่วนบุคคลลักษณะนี้อยู่ด้วย

บางครั้ง เครื่องบินขนสินค้าจะปิดช่องส่งสัญญานเมื่อเข้าสู่น่านฟ้าสากล เพื่อทำให้เจ้าหน้าที่ควบคุมจราจรทางอากาศตรวจพบไม่ได้ แต่เครื่องบินขนส่งสินค้าของบูตนั้นเป็นลำเล็ก และบินต่ำกว่าเรดาร์จนแทบจะไม่สามารถตรวจพบได้ ทั้งเส้นทางบินภายในประเทศและระหว่างประเทศ โดยเฉพาะรุ่นเก่าที่ไม่มีระบบจีพีเอสติดมากับตัวเครื่อง ส่วนรัฐบาลของมอริเชียสในเวลานั้น ก็ไม่ได้ทำอะไรจริงจังมากไปกว่าออกแถลงการณ์ปฏิเสธว่าไม่พบสิ่งผิดปกติใดๆ

เพราะกำบังของรัฐบาลที่ใช้ปกป้องการค้าอาวุธและธุรกิจของพวกเขา มีตั้งแต่การงดเว้นภาษี ที่เปิดทางให้มันแพร่กระจายไปสู่ทุกหนแห่ง ด้วยการปกปิดจากการเข้าถึงข้อมูลของสาธารณะ

สิ่งแรกที่นักข่าวสืบสวนมักทำคือการพยายามเจาะลงไปหาสิ่งผิดกฎหมายหรือการกระทำทุจริตที่เกี่ยวกับอาวุธ ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่มันจะเชื่อมโยงไปสู่ความขัดแย้ง องค์กรอาชญากรรม การทุจริต และการแสวงผลประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ

ขอบเขตในระดับโลก

ปัจจุบันมีกฎหมายระหว่างประเทศที่ควบคุมและบังคับใช้กับอุตสาหกรรมอาวุธน้อยกว่าในอุตสาหกรรมกล้วยและถั่วเหลืองเสียอีก ผู้เชี่ยวชาญเคยประเมินว่าอุตสาหกรรมค้าอาวุธนั้นมีส่วนในการทุจริตทั้งหมดในโลกกว่าร้อยละ 40 (เท่าที่มีการเปิดเผยข้อมูล)

แผนภาพแสดงสัดส่วนการส่งออกอาวุธโดย 10 ประเทศแรกที่เป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุด
(ที่มา: ฐานข้อมูลการแพร่กระจายอาวุธ SIPRI เดือน มี.ค. 2021)
 

ข้อมูลจาก Stockholm International Peace Research Institute (SIPRI) ระบุว่าร้อยละ 90 ของอาวุธทั้งหมดในโลกมาจากเพียง 10 ประเทศเท่านั้น ปัจจุบันเกือบร้อยละ 40 ของอาวุธทั้งโลกเท่าที่มีข้อมูลบันทึกไว้ มาจากสหรัฐฯ และประมาณครึ่งหนึ่งนั้นถูกส่งออกไปยังตะวันออกกลาง ส่วนใหญ่ส่งไปที่ซาอุดีอาระเบีย ซึ่งถือว่าเป็นประเทศที่นำเข้าอาวุธรายสำคัญโลก

แรงกดดันทางการทูตกระตุ้นให้หลายประเทศส่งรายงานการนำเข้าและส่งออกอาวุธในแต่ละปี เช่น ‘สนธิสัญญาว่าด้วยการค้าอาวุธ’ (Arms Trade Treaty: ATT) ที่เห็นชอบโดยสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ได้สร้างขอบเขตการปฏิบัติหลายประการ เพื่อจำกัดการค้าขายและใช้อาวุธที่สร้างความขัดแย้ง ละเมิดสิทธิมนุษยชน และเพื่อการก่อการร้าย ขณะที่มากกว่า 100 ประเทศร่วมลงชื่อให้สัตยาบันในสนธิสัญญานี้ แต่ประเทศหลักๆ ที่ส่งออกอาวุธอย่างรัสเซียและสหรัฐฯ กลับไม่ยอมร่วมลงนาม ส่วนประเทศที่ให้สัตยาบันไปแล้วอย่างจีนกลับไม่ส่งรายงานประจำปีให้กับสหประชาชาติ

ในทางปฏิบัติการเปิดข้อมูลในรายงานการค้าอาวุธมักจะไม่แสดงข้อมูลที่แน่ชัด ส่วนใหญ่จะแทนที่ด้วยบัญชีรายการความสำเร็จว่าประเทศนั้นๆ ได้ทำอะไรไปแล้วบ้าง ซึ่งก็หาข้อพิสูจน์ไม่ได้อีกเช่นกัน ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ที่จัดทำรายงานการค้าอาวุธในบางประเทศกลับเป็นผู้ทรงอิทธิพลหรือนักการเมืองที่สนับสนุนกิจการที่ผิดต่อข้อบังคับของสนธิสัญญาเสียเอง นอกจากนี้ กฎหมายภายในของหลายประเทศที่ร่วมจัดทำสนธิสัญญาควบคุมการค้าอาวุธ ยังมีความคลุมเครือขัดแย้งกันเอง และไม่สามารถตีความตัวบทกฎหมายได้อย่างชัดเจนอีกด้วย

การจับผิดเอกสารธุรกรรมทางการเงินที่ชอบด้วยกฎหมาย รวมถึงเอกสารสัญญาหรือเอกสารขนส่งนั้นถือว่ายาก เพราะเอกสารเหล่านั้นอาจใส่สินค้าจริงอาจมีมากกว่าที่ระบุไว้ การรายงานแต่ละครั้งมักไม่สอดคล้องกันในแต่ละปี อีกทั้งในแต่ละประเทศก็ยังมีความแตกต่างเรื่องการจำแนกว่าอะไรคืออาวุธ จึงทำให้ความเข้าใจในขบวนการค้าอาวุธนั้นยุ่งยาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกระบวนการผลิต การกระจายสินค้า และวิธีทำให้ถูกกฎหมาย รวมไปถึงตัวเลขหนี้สิน การแลกเปลี่ยน และการประสานประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกันอีก

อย่างไรก็ตาม งานข่าวสืบสวนสอบสวนอาจเจาะลึกลงไปโดยใช้ประโยชน์จากข้อมูลสาธารณะได้

กิจการภายใน

ถ้าประเทศนั้นไม่ถูกคว่ำบาตรหรือประเทศอื่นไม่ถูกสั่งห้ามขายอาวุธให้ การค้าขายอาวุธระหว่างประเทศส่วนใหญ่จะถูกจัดให้เป็นเรื่องกิจการภายในที่หาทางตรวจสอบถ่วงดุลได้ยาก แต่สำหรับการเริ่มเขียนรายงานข่าวสืบสวนสอบสวน ข้อมูลเหล่านี้อาจช่วยให้เข้าใจพื้นของการตกลงซื้อขายอาวุธได้

  1. การนำเข้าอาวุธของรัฐบาลมักประกาศให้ประมูลราคาหรือเสนอราคาเป็นการภายใน หรือไม่ก็จบลงด้วยการล็อบบี้จากบริษัทข้ามชาติหรือรัฐบาลต่างชาติที่ต้องการเสนอขายอาวุธให้
  2. รัฐบาลของประเทศที่ส่งออกอาวุธนั้น ไม่เพียงแค่อนุมัติการขายยุทโธปกรณ์ระหว่างประเทศ แต่ยังเสนอขายบริการและเทคโนโลยี [ด้านอาวุธ] ให้แก่ประเทศผู้สั่งซื้ออีกด้วย (แต่ก็ขึ้นอยู่กับประเทศผู้สั่งซื้อว่ามีกระบวนการอนุมัติภายในอย่างไร)
  3. ยุทโธปกรณ์อาจถูกผลิตและขายโดยบริษัทเอกชน หรือรัฐวิสาหกิจ หรือบริษัทที่รัฐบาลควบคุมอยู่
  4. ข้อสังเกตเรื่องการจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์อาจจบลงที่รัฐบาลเป็นผู้ผลิต ขาย และส่งออกเอง ในรูปแบบ ‘การจัดหายุทโธปกรณ์และบริการทางการทหารผ่านรัฐบาล’ (FMS) หรือใช้ภาคเอกชนที่ทำธุรกิจด้านความมั่นคงของประเทศนั้นๆ เป็นผู้ส่งออก (ในรูปแบบข้อตกลงเชิงพาณิชย์)

ประเทศผู้ส่งออกอาวุธส่วนใหญ่ มักสนับสนุนและแก้ต่างให้หน่วยงานเอกชนด้านความมั่งคงของตน โดยอ้างว่าหน่วยงานเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของความมั่นคงระดับชาติ ตลอดจนบอกว่าเป็นเครื่องมือในการสร้างความสัมพันธ์ทางภูมิรัฐศาสตร์ ‘ใบรับรองจากผู้ใช้ปลายทาง’ (End-user certificates) เป็นเอกสารที่ลงชื่อโดยรัฐบาลฝ่ายที่เป็นผู้นำเข้ายุทโธปกรณ์ ลงรายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับการซื้อสินค้า และบอกถึงวัตถุประสงค์เฉพาะเจาะจงว่าอาวุธนั้นจะนำไปใช้อย่างไร เช่น ใช้ฝึกต่อต้านการก่อการร้าย ใช้งานด้านความมั่นคงหรือปฏิบัติการเพื่อรักษาเสถียรภาพ การมีใบรับรองผู้ใช้ปลายทางนั้นก็เพื่อที่จะป้องกันไม่ให้อาวุธถูกใช้นำไปในการทารุณกรรมหรือละเมิดสิทธิมนุษยชน ไปจนถึงถูกนำไปขายต่อหรือส่งเป็นของขวัญแก่รัฐที่ไม่เป็นที่ยอมรับของสังคมโลกหรือหน่วยงานที่ฉ้อฉลและใช้ความรุนแรง

อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริง หลังจากขายอาวุธหลายอย่างให้ผู้ซื้อรายหนึ่ง โดยเฉพาะอาวุธขนาดเล็ก อาวุธเหล่านั้นมักถูกส่งต่อไปยังอีกรายหนึ่งเสมอ เช่น มติของสหประชาชาติที่ห้ามส่งอาวุธไปประเทศลิเบียนั้นไม่สามารถยุติการนำเข้าอาวุธของประเทศนี้ได้ เพราะการส่งอาวุธให้ลิเบียจะทำผ่านการปลอมแปลงจัดฉาก ใช้หน่วยงานลับ และขนส่งอาวุธผ่านน่านน้ำดินแดนปลอดภาษี อย่างบาฮามาส หมู่เกาะมาร์แชลล์ หรือไลบีเรีย ซึ่งอนุญาตให้ประเทศสามารถนำเข้าสิ่งผิดกฎหมายหรือสิ่งของต้องห้าม ไปจนถึงสินค้าที่ฝ่าฝืนมาตราการต้องห้ามของนานาชาติ โดยมีการใช้ ‘บริษัทลอย’ (Shell company) ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อใช้ประกอบการทำธุรกรรมทางธุรกิจ แต่ไม่มีสินทรัพย์หรือหน่วยปฏิบัติงานเป็นของตัวเองอย่างชัดเจน [ผู้แปล - เช่นเดียวกับกรณีปานามาเปเปอร์ส] ทำให้ลิเบียสามารถครอบครองยานเกราะและระเบิดที่มาจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และบริษัทเอกชนด้านความปลอดภัยในรัสเซียได้

ประเทศต่างๆ อาจไม่ได้จ่ายเงินสดซื้ออาวุธเสมอไป บ่อยครั้งที่ใช้ข้อแลกเปลี่ยนทางการเงินมาทดแทน

ในประเทศซูดาน ทองคำจากเหมือง ‘เจเบล อามีร์’ (Jebel Amir) ถูกส่งออกไปยังสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ แลกกับการให้บริษัทลอยที่จดทะเบียนอยู่ในกลุ่มประเทศอ่าวเปอร์เซีย คอยจัดหารถลำเลียงพลหุ้มเกราะและอุปกรณ์อื่นให้ โดยเหมืองทองแห่งนี้เป็นหนึ่งในเหมืองทองที่ใหญ่ที่สุดในทวีปแอฟริกาซึ่งตั้งอยู่ใน ‘ดาร์ฟูร์’ (Darfur) พื้นที่ที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งของซูดาน

การสืบสวนสอบการค้าอาวุธ ควรเน้นไปที่ว่าอะไรที่ทำให้การเข้าถึงอาวุธนั้นเป็นไปได้ง่าย ไม่ใช่มีเพียงแค่การสนับสนุนจากองค์กรอาชญากรรม ระบอบอำนาจนิยม หรือภาวะความขัดแย้ง แต่ยังต้องลงไปถึงเชื้อเพลิงที่ขับเคลื่อนกระบวนการเหล่านี้ด้วย อย่างในช่วงปี 2020 การระบาดของ COVID-19 สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจและขาดสภาพคล่องทางการเงินแก่ประเทศแอฟริกาใต้ รัฐบาลแอฟริกาใต้จึงผ่อนปรนสนธิสัญญาที่เคยบอกว่าจะไม่ส่งต่ออาวุธให้ผู้อื่น (end-user certificate protocol) โดยได้รับแรงกดดันจากซาอุดีอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ จากเดิมที่การซื้อขายอาวุธจะต้องผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย ปัจจุบันถูกแทนที่ด้วยการตกลงซื้อขายผ่านกระบวนการทางการทูตที่กระบวนการตรวจไม่มีความเข้มงวด

แต่สำหรับนักข่าวสืบสวนที่สามารทำงานข่าวข้ามพรมแดนได้ การมีข้อมูลที่เพียงพอทำให้สามารถบ่งชี้ พิสูจน์ และยืนยัน [ข้อมูล] ในแง่มุมต่างๆ อย่างมีวิจารณญาณ สิ่งเหล่านี้ทำให้สามารถติดตามโครงสร้างผู้ค้าอาวุธและระบบที่ใช้ปิดข้อตกลงทางการค้า แม้กระทั่งการหาว่าจุดไหนที่พวกผู้ค้าอาวุธพยายามจะเปลี่ยนแปลงรูปแบบพฤติกรรม ทำให้การขายอาวุธมีประสิทธิภาพหรือเป็นความลับได้ดียิ่งขึ้น เพราะพวกเขาเป็นมนุษย์ จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะปรับตัวหารูปแบบใหม่ๆ

กรณีศึกษา

พ่อค้าความตาย

วิคเตอร์ บูต (Viktor Bout) นักธุรกิจชาวรัสเซียน่าจะเป็นผู้ค้าอาวุธรายที่ใหญ่ที่สุดในโลก เขาเคยถูกขนานนามว่าเป็น ‘บุรุษไปรษณีย์ที่เก่งที่สุดในโลก’ เพราะสามารถส่งสินค้าได้ทุกรูปแบบ โดยเฉพาะยุทโธปกรณ์ผิดกฎหมาย รายชื่อลูกค้าของบูตนั้นสลับซับซ้อน ส่วนบริษัทของเขามักจะเปลี่ยนชื่อและตำแหน่งที่ตั้งอยู่บ่อยครั้ง บริษัทของบูตเคยส่งอาวุธให้กับ ‘อาหมัด ชาห์ มะซูด’ (Ahmed Shah Massoud) ผู้นำของแนวร่วมอิสลามเพื่อการปลดปล่อยอัฟกานิสถาน ในขณะเดียวกันก็ขายอาวุธให้กับกลุ่มตาลีบัน ซึ่งเป็นศัตรูของมะซูดอีกด้วย บูตขายอาวุธให้กับรัฐบาลแองโกลาและขายอาวุธให้กับกลุ่มกบฏที่ต้องการโค่นล้มรัฐบาลด้วยเช่นกัน เขาเคยส่งอากาศยานไปคุ้มกัน ‘โมบูตู เซเซ เซโก’ (Mobutu Sese Seko) ผู้นำเผด็จการในประเทศสาธารณรัฐซาอีร์ [ผู้แปล - ปัจจุบันคือประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก หรือคองโก-กินชาซา] และส่งให้กลุ่มกบฏที่สู้กับโมบูตู นอกจากนี้ บูตยังร่วมงานกับกองกำลังติดอาวุธปฏิวัติโคลอมเบีย (FARC) และ ‘มูอัมมาร์ กัดดาฟี’ (Muammar Gaddafi) เผด็จผู้อื้อฉาวของลิเบีย รวมถึงคนอื่นๆ

แม้บูตจะเป็นที่รู้จักจากธุรกิจค้าอาวุธผิดกฎหมาย แต่เขายังประกอบกิจการขนส่งสินค้าทางเครื่องบินอย่างถูกกฎหมาย รวมไปถึงธุรกิจที่ให้บริการด้านการเดินทางแก่องค์กรสหประชาชาติ และองค์กรทางมนุษยธรรมอื่นๆ เขาทำธุรกิจมากมายกับรัฐบาลในประเทศตะวันตกหลายแห่ง รวมถึงสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ กระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ และเอกชนผู้ร่วมสัญญาเคยจ่ายเงินให้เขาหลายล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อสนับสนุนโครงการฟื้นฟูจากภาวะสงครามอีกด้วย

นักข่าวสืบสวน 2 คน คือ ‘ดักลาส ฟาราห์’ (Douglas Farah) และ ‘สตีเฟน บรอน’ (Stephen Braun) อาศัยการสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่การทูตและบุคคลที่อุทิศตนเองเพื่อติดตามสิ่งที่บูตทำ คนที่บูตเคยร่วมงานด้วย รวมไปทั้งตัวตนของบูตเอง เพื่อนำมาเขียนหนังสือเกี่ยวกับบูต ที่ชื่อว่า ‘Merchant of Death: Money, Guns, Planes, and the Man Who Makes War Possible’

ติดตามรหัสหางเครื่องบิน

ข้อมูลการบินซึ่งรวมไปถึง ‘รหัสหางเครื่องบิน’ (เลขทะเบียนของอากาศยาน) อาจเปิดเผยสิ่งน่าสนใจได้ เช่น สาธารณรัฐคองโก (บางครั้งก็ถูกเรียกว่า ‘คองโก-บราซาวีล’) ที่ไม่ได้รายงานการนำเข้าอาวุธมานานเกิน 3 ทศวรรษ และเนื่องจากไม่มีคำสั่งห้ามนำเข้าอาวุธมาในประเทศ จึงทำให้หน่วยงานระหว่างประเทศอย่างสหประชาชาติ ไม่มีการเรียกร้องให้สาธารณรัฐคองโกเปิดเผยข้อตกลงซื้อขายอาวุธ แต่ถึงกระนั้นก็มีหลักฐานออกมาว่า มีอาวุธมากกว่า 500 ตันจากประเทศอาเซอร์ไบจานถูกนำเข้ามายังสาธารณรัฐคองโก การสืบสวนของโครงการรายงานอาชญากรรมและการทุจริต (Organized Crime and Corruption Reporting Project: OCCRP) พบว่าการขนถ่ายอาวุธครั้งใหญ่มักเกิดขึ้นช่วงก่อนการเลือกตั้ง เช่น ในปี 2559 และ 2564 โดยอาวุธเหล่านั้นถูกใช้หลังการเลือกตั้งเพื่อกำจัดคนที่เห็นต่าง อาวุธส่วนใหญ่ที่นำเข้ามาประกอบด้วยปืนครก เครื่องยิงจรวด ระเบิดมือ และปืนกลกำลังสูง ที่ประเทศบัลแกเรียและเซอร์เบียเป็นผู้ผลิตหรือผู้ขาย โดยมีรัฐบาลอาเซอร์ไบจานเป็นพ่อค้าคนกลาง 

นอกจากนี้ เอกสารข้อตกลงการซื้อขายยังแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลซาอุดีอาระเบียเป็นฝ่ายร่วมให้การสนับสนุน ทำให้เห็นว่าซาอุดีอาระเบียต้องการให้สาธารณรัฐคองโกเข้าร่วมเป็นกลุ่มชาติสมาชิกโอเปค (OPEC) ที่ซาอุดีอาระเบียครอบงำอยู่ และสามารถควบคุมกำลังผลิตน้ำมันได้ถึง 4 ใน 5 ของปริมาณน้ำมันทั่วโลก โดยอาเซอร์ไบจานและสาธารณรัฐคองโกต่างเป็นประเทศที่บริหารโดยตระกูลเผด็จการ ในขณะที่ซาอุดีอาระเบียถูกควบคุมโดยราชวงศ์ ทั้งนี้ การติดตามสัญญาณของอากาศยานเผยให้เห็นว่าอาวุธเริ่มถูกขนส่งก่อนโดยกองทัพอากาศอาเซอร์ไบจาน แต่ในปี 2560 มีข้อมูลว่าสายการบินเอกชน Silk Way Airlines เริ่มเป็นผู้ขนส่งอาวุธด้วย ซึ่งการขนส่งโดยใช้สายการบินเอกชนทำให้ถูกเพ่งเล็งน้อยกว่าการใช้เครื่องบินของกองทัพ อย่างไรก็ตาม การสายบิน Silk Way Airlines มีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับครอบครัวผู้ปกครองของอาเซอร์ไบจาน

นายหน้าจากไนเจอร์

ไนเจอร์ หนึ่งในประเทศที่ยากจนที่สุดในโลก ใช้จ่ายงบประมาณกองทัพไปเกือบ 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นับตั้งแต่ปี 2554-2562 โดยมีอย่างน้อย 137 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ถูกดูดหายไปจากการจัดซื้ออาวุธในราคาที่สูงเกินจริงโดยเจ้าหน้าที่รัฐบาลที่ฉ้อฉล ในปี 2559 รัฐมนตรีกลาโหมของไนเจอร์ได้ซื้อเครื่องบินขนส่งทางทหาร 2 ลำ และอาวุธจู่โจมเฮลิคอปเตอร์อีกจำนวนมากมาจาก ‘โรโซโบโรนเอ็กซ์พอร์ต’ (Rosoboronexport) องค์กรภาครัฐของรัสเซียที่ทำหน้าที่ส่งออกอุปกรณ์ทางการทหาร การจัดซื้อนั้นยังรวมไปถึงอุปกรณ์ซ่อมบำรุงและกระสุนที่มีราคาแพงเกินจริง รวมราคาที่ไนเจอร์ต้องจ่ายอยู่ที่ 54.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นการจ่ายเกินราคาไปมากกว่า 19.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไม่มีการชี้แจงหรือตรวจสอบใดๆ และรัฐบาลรัสเซียรับการชำระเงินผ่านสาขาของ VTB ธนาคารที่ถือหุ้นใหญ่โดยรัฐบาลรัสเซียนั่นเอง 

รัฐมนตรีกระทรวงความมั่นคงของไนเจอร์มอบหมายให้ ‘อะบูบาการ์ ฮิมา’ (Aboubacar Hima) ทนายความผู้ทรงอิทธิพล เป็นนายหน้าเพียงหนึ่งเดียวในการจัดซื้อ โดยอนุญาตให้บริษัทลอยของเขาเป็นผู้ร่างสัญญาและจัดทำข้อตกลงซื้อขายด้วยวิธีที่ไม่ถูกต้อง ข้ามขั้นตอนทางกฎหมาย หรือไม่ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการ นอกจากนี้ ฮิมายังทำหน้าที่เป็นนายหน้าในข้อตกลงลักษณะเดียวกันนี้ให้กับบริษัทอื่นๆ จากรัสเซีย ยูเครน และแม้กระทั่งจีน ซึ่งเขากุมข้อมูลของแต่ละฝ่ายไว้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในเวลาเดียวกันนั้น ฮิมาก็ยังเป็นที่ต้องการตัวจากรัฐบาลของหลายประเทศในแอฟริกาตะวันตก เช่น ไนจีเรีย ซึ่งเขามีสถานะพลเมืองของที่นั่น และเขาถูกจะถูกส่งตัวไปขึ้นศาลสหรัฐฯ ในคดีเกี่ยวกับการค้าอาวุธผิดกฎหมาย

แหล่งข้อมูลอย่างเอกสารในชั้นศาล ใบปลิวโฆษณา และเว็บไซต์ของบริษัท สามารถใช้หาข้อมูลราคามาเปรียบเทียบ หรือทำให้รู้ถึงจำนวนอาวุธที่ขาย แม้แต่กระทั้งชื่อไอพีที่อยู่ของโดเมนก็สามารถนำไปสู่เบาะแสที่มีค่าได้

เคล็ดลับและเครื่องมือ

เช่นเดียวกับการซื้อขายสินค้าประเภทอื่นๆ อาวุธจะต้องถูกสั่งซื้อ ผลิต จัดทำเอกสารซื้อขายหรือแลกเปลี่ยน และขนส่งจากผู้ส่งถึงผู้รับ GIJN แนะนำให้ลองค้นหาจากแหล่งข้อมูลต่อไปนี้

  • ทะเบียนอาวุธ: The United Nations Register of Conventional Arms (UNROCA) ถูกกำหนดขึ้นใน ค.ศ.1991 เพื่อเก็บข้อมูลการซื้อขายอาวุธอย่างเป็นทางการระหว่างแต่ละประเทศผ่านความสมัครใจในการเปิดเผยข้อมูล ข้อมูลเหล่านี้สามารถเข้าถึงได้แบบสาธารณะและอาจเปิดเผยความลับบางส่วนของรัฐบาลใดรัฐบาลหนึ่งได้ในกรณีที่รัฐบาลไม่สามารถรายงานการซื้อขายอาวุธ แต่คู่ค้ากลับเปิดเผยรายละเอียด การขึ้นทะเบียนอาวุธยังระบุครอบคลุมไปถึงอาวุธขนาดเล็ก เช่น ปืนกล เครื่องยิงจรวด รวมไปถึงระบบยุทโธปกรณ์หลักๆ อย่างยานเกราะต่อสู้ เฮลิคอปเตอร์จู่โจม และเครื่องยิงมิสไซล์ระยะไกล แหล่งข้อมูลที่ให้ข้อมูลในลักษณะเดียวกัน คือ Stockholm International Peace Research Institute (SIPRI) ซึ่งมีรายงานข้อมูลรายประเทศ เกี่ยวกับงบประมาณด้านความมั่นคง การโอนถ่ายอาวุธ การแบนอาวุธ แม้กระทั่งติดตามการให้ความช่วยเหลือทางการทหารระหว่างประเทศ
  • บันทึกการขนส่ง: ชุดข้อมูลการบิน อย่าง FlightRadar24 และ FlightAware สามารถให้ข้อมูลเกี่ยวเครื่องบิน ซึ่งรวมถึงรหัสหางเครื่องบิน ประเทศที่ขึ้นทะเบียน และความเคลื่อนไหวล่าสุด ขณะที่ชุมชนข้อมูลด้านการบิน เช่น r/aviation ซึ่งเป็นของ Reddit หรือ Airliners.net ให้ข้อมูลที่มีลักษณะเฉพาะ ซึ่งถูกสำรวจจากนักบินและช่างเทคนิคจากทั่วโลก และเพื่อความแน่นอน ลองเข้าไปดูที่ ‘คู่มือการสังเกตเครื่องบิน’ ของ GIJN’ และ ‘Icarus แพลตฟอร์มในการติดตามเครื่องบินจาก C4ADS’ สำหรับข้อมูลการขนส่งทางทะเล ให้เริ่มดูที่ ‘การติดตามขนส่งทางทะเล’ ของ GIJN เพิ่มเติมด้วยชุดข้อมูลจาก Marine TrafficImport Genius และ Panjiva เพื่อดูข้อมูลเกี่ยวกับเส้นทาง สินค้า ผู้ส่ง ผู้รับและที่อยู่ เรือขนส่งสิ้นค้านั้นต้องมีการขึ้นทะเบียนสัญชาติกับประเทศใดประเทศหนึ่งเช่นเดียวกับเครื่องบิน โดยต้องระบุว่ามีรัฐบาล บริษัท หรือบุคคลใดเป็นเจ้าของ ส่วนการสังเกตพิรุธในการขนส่งนั้นให้เฝ้าระวังเขตงดเว้นภาษีในการเดินเรือและเขตปกปิดความลับทางการบิน เช่น หมู่เกาะมาร์แชลล์ สามเหลี่ยมเบอร์มิวดา และประเทศไลบีเรีย ซึ่งจะมีกฎหมายและระเบียบการค้าปกปิดข้อมูลทะเบียนเหล่านั้นไว้อยู่
  • โครงสร้างองค์กร: นอกเหนือจากการระบุถึงตัวตนของผู้เป็นเจ้าของหรือผู้บริหารองค์กรค้าอาวุธผ่านการใช้ฐานข้อมูล นักข่าวยังควรชี้ให้เห็นถึงโครงสร้างองค์กรและการเชื่อมโยงตัวผู้เล่นระดับสูงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย รวมไปถึงวัตถุประสงค์การดำเนินกิจการ ประเทศที่เข้าไปเปิดกิจการ รายละเอียดของบริษัทในเครือหรือบริษัทที่เกี่ยวข้องว่ามีกิจกรรมอะไรบ้างที่เกิดขึ้น มีการนำตัวเลขสินทรัพย์ดั้งเดิมมาเทียบกับตัวเลขกำไร เอกสารภาษี บันทึกผลกำไรและขาดทุน ไปจนถึงโครงสร้างทางการเงิน แม้กระทั่งคดีความที่กำลังเกิดขึ้น ซึ่งอาจจะมีการต้องมีการเปิดเผยข้อมูลกันในชั้นศาล การตรวจสอบข้อมูลสาธารณะอย่างข้อมูลในชั้นศาลและบันทึกการจ่ายภาษี ทั้งนี้ นักข่าวจะต้องทำความเข้าใจกฎหมายของแต่ละเขตอำนาจศาล และรายละเอียดเฉพาะของกฎหมายด้วย

แต่บางทีเครื่องมือที่ดีที่สุดสำหรับสื่อมวลชน คือความพยายามในการขวนขวายหาความรู้ว่าทำไมอาวุธถึงเป็นศูนย์กลางความอยุติธรรมของโลก การครอบครองอาวุธถือเป็นเครื่องมือในการค้ำจุนระบอบเผด็จการ อย่างที่เกิดขึ้นในสาธารณรัฐคองโก กาบอง และกินี นอกจากนี้ การครอบอาวุธยังเอื้อให้กลุ่มองค์กรอาชญากรรมบ่อนทำลายประชาธิปไตยและใช้ยาเสพติดมอมเมาผู้คนในสังคม อีกทั้งการครอบอาวุธยังทำให้เกิดการค้าสัตวป่าหรือค้ามนุษย์

ตราบใดที่ความเชื่อมโยงเหล่านี้ยังไม่ถูกเปิดเผยโดยมีหลักฐานที่ชัดเจนและหนักแน่นมากกว่าการรณรงค์ที่จับต้องไม่ได้ อาวุธจะยังคงถูกเก็บอยู่ในคลังแสง และไม่ได้ถูกเปลี่ยนเป็นเม็ดเงินเพื่อนำมาใช้เดิมพันกับอนาคตของโลก 

ข้อมูลเพิ่มเติม

ที่มา:

คาดิจา ชาริฟ (Khadija Sharife) เป็นนักข่าวสืบสวนที่เคยได้รับรางวัล เธอเข้าร่วมกับ Organized Crime and Corruption Reporting Project (OCCRP) เมื่อปี 2560 และเป็นบรรณาธิการอาวุโสคนปัจจุบันของภูมิภาคแอฟริกา เธอเป็นอดีตผู้อำนวยการแพลตฟอร์มเพื่อการคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแส และมีส่วนในการสืบสวนเกี่ยวกับการตัดไม้อย่างผิดกฎหมายในมาดากัสการ์ การทุจริตในแองโกลา และผู้ค้าสินค้าโภคภัณฑ์ที่กระตุ้นให้เกิดการค้าอาวุธในสาธารณรัฐโกตดิวัวร์หรือประเทศไอวอรีโคสต์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net