Skip to main content
sharethis

“ก้าวไกล” ยกกรณี นายจ้างมีอคติต่อคนไม่รับปริญญา ผลักดันแก้ ม.15 และ ม.53 เพิ่มคุ้มครอง ความคิด-ความเชื่อ-จุดยืนการเมือง ให้สอดคล้องหลักสากล เล็งผลักดัน “รัฐสวัสดิการ” ผ่านชุดกฎหมายอื่นๆ ด้วย

 

17 ม.ค. 2565 ทีมสื่อพรรคก้าวไกล รายงานว่า จากกรณีการรณรงค์ไม่เข้ารับปริญญาของนักศึกษา ม.เชียงใหม่ และต่อมาพบว่ามีผู้ออกมาแสดงความคิดเห็นทำนองว่า ห้ามรับลูกจ้างที่ไม่ผ่านการรับปริญญานั้น สุเทพ อู่อ้น ส.ส.พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ปกติแล้ว พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน มาตรา 15 และ มาตรา 53 จะเขียนห้ามไม่ให้นายจ้างใช้อคติต่อแรงงานที่มาสมัครงาน และจากกรณีที่เกิดขึ้น เรามีการพูดคุยกันในภายในปีกแรงงานว่า จะใช้โอกาสนี้เสนอแก้ไขกฎหมายมาตรานี้ให้ครอบคลุม ความคิด ความเชื่อ จุดยืน ไปจนถึง ทัศนคติทางการเมือง เพื่อป้องกันการถูกกลั่นแกล้งจากผู้มีทัศนคติที่แตกต่างกัน และฉวยโอกาสใช้ปฏิเสธการจ้างงาน 

“เนื้อหาของกฎหมายแรงงานมาตดังกล่าวมีใจความต่อไปนี้ ‘มาตรา 15 ให้นายจ้างปฏิบัติต่อลูกจ้างชายและหญิงโดยเท่าเทียมกันในการ จ้างงาน เว้นแต่ลักษณะหรือสภาพของงานไม่อาจปฏิบัติเช่น นั้นได้’ และ ‘มาตรา 53 ให้นายจ้างกำหนดค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงาน ในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุดให้แก่ลูกจ้างที่ทำงานอันมีลักษณะ คุณภาพ และปริมาณเท่ากัน หรืองานที่มีค่าเท่าเทียมกันในอัตราเท่ากัน ไม่ว่าลูกจ้างนั้นจะเป็นชายหรือหญิง’ ซึ่งจะเห็นว่ายังเขียนไม่ครอบคลุมมากพอ ใจความหลักเป็นของการเลือกปฏิบัติและอคติ ทางทีมปีกแรงงานของพรรคก้าวไกล จึงตั้งใจและผลักดันส่วนของทัศนคติความ ความคิดความเชื่อ รวมถึงจุดยืนทางการเมือง เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสิทธิและเสรีภาพของปัจเจกบุคคล ซึ่งเป็นหลักการสากลที่นายจ้างทั่วโลกปฏิบัติกับแรงงานของตน” สุเทพ กล่าว

ศุภณัฐ กิ่งแก้ว หนึ่งในทีมผู้ศึกษาและพัฒนาร่างกฎหมายแรงงาน ปีกแรงงานพรรคก้าวไกล กล่าวว่า การตัดสินใจรับปริญญาหรือไม่รับปริญญานั้นเป็นเรื่องของแต่ละคน รวมถึงเกิดขึ้นตามความพร้อมและเหมาะสมของบางครอบครัวด้วย บางครอบครัวก็ไม่มีเงินทองสำหรับทำกิจกรรมดังกล่าว พวกเขาไม่ควรได้รับผลกระทบจากการไม่รับปริญญา ซึ่งเป็นประเด็นที่ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือกลั่นแกล้งกันทางการเมืองอย่างที่ปรากฎในข่าว รวมถึงผู้ใหญ่ เจ้าของกิจการห้างร้าน ก็ไม่มีสิทธิที่จะยกเรื่องนี้ มากีดกันการรับเข้าทำงานครับ ซึ่งปัจจุบันเรื่องการรับปริญญาถูกวิพากษ์วิจารณ์มากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากความเหมาะสมของยุคสมัยที่เปลี่ยนไป และยังมีเรื่องของค่าใช้จ่ายที่บัณฑิตและครอบครัวต้องรับผิดชอบสวนทางกับสภาพเศรษฐกิจ ค่าครองชีพ ที่ปรับสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ หรือนอกจากเหตุผลดังกล่าว และการรับปริญญาก็ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในบางมหาวิทยาลัยไม่มีการรับปริญญามานานเกิน 2 ปีแล้วเป็นอย่างน้อยเนื่องด้วยสถานการณ์การระบาดของโควิด และเหตุผลของสถาบันกันศึกษา หากนายจ้างตั้งใจจะรับลูกจ้างด้วยเงื่อนไขนี้ จึงถือเป็นเรื่องไม่ถูกอย่างยิ่ง เพราะหมายถึงการตัดโอกาสคนที่มีสิทธิตามกฎหมายคุ้มครองอย่างไม่เป็นธรรม

“นอกจากกรณีของการแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน รายมาตราแล้ว พรรคก้าวไกลปีกแรงงาน ยังคงศึกษาความเป็นไปได้ของการจ้างงานในรูปแบบที่เป็นธรรมมากขึ้น รวมถึงนโยบายผลักดันรัฐสวัสดิการ ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติ ที่จะช่วยจ่ายเงินเดือนให้กับผู้สูงอายุให้สามารถใช้ชีวิตอย่างมีสวัสดิภาพโดยไม่ต้องคอยเงินคนแก่ไม่กี่ร้อยบาท โดยผมและทีมปีกแรงงานของพรรคก็กำลังศึกษาเงื่อนไขอื่นๆ ที่จะช่วยแบ่งเบาภาระของพี่น้องแรงงานในขณะนี้ ซึ่งแน่นอนว่าทุกคนได้รับผลกระทบจากการบริหารงานของรัฐบาลที่ไม่เห็นหัวประชาชน ผมหวังว่าเงื่อนไขรายมาตรฐานที่เราขะผลักดันแก้นี้ จะช่วยสร้างความเป็นธรรมและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในการทำงานของพี่น้องแรงงานทุกคน" ศุภณัฐ กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net