P-move จัดเสวนาสื่อสารถึงสาธารณชน เหตุใดต้องมาชุมนุมครั้งนี้

ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือ P-move จัดงานเสวนา เพื่อสื่อสารไปยังสาธารณชน ใครเป็นใครในการชุมนุมครั้งนี้ และอะไรคือเหตุผลที่ประชาชนต้องตบเท้ามายื่นข้อเสนอเชิงนโยบาย 15 ข้อถึงรัฐบาล

ภาพบรรยากาศการเคลื่อนขบวนไปทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นหนังสือต่อพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ถ่ายโดย พชร คำชำนาญ

21 ม.ค. 65 สื่ออิสระ Friends Talk ไลฟ์สดผ่านเฟซบุ๊ก และยูทูบ วานนี้ (20 ม.ค.) เมื่อเวลา 19.14 น. ที่หน้าสำนักงานสหประชาชาติ หรือ UN ถ.ราชดำเนินนอก ติดตามงานเสวนาจัดโดยขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือ P-move เพื่อสื่อสารไปยังสังคมว่าทำไมประชาชนต้องมาปักหลักชุมนุมหน้า UN (ล่าสุด เมื่อ 21 ม.ค. เปลี่ยนเป็นมาปักหลักที่สะพานมัฆวานรังสรรค์) และเรียกร้องให้รัฐบาลผลักดันข้อเรียกร้อง 15 ข้อเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) และต้องมีมติเห็นชอบเท่านั้น 

ขณะที่ผู้เข้าร่วมเสวนาประกอบด้วย ตัวแทนจากหลายกลุ่ม เช่น เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) สลัม4ภาค บางกลอยคืนถิ่น สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ และอื่นๆ โดยมีนายพชร คำชำนาญ เป็นผู้ดำเนินการเสวนา

เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด

เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด ระบุว่า เหตุผลที่มาเรียกร้องรัฐบาลและปักหลักหน้าสำนักงานสหประชาชาติวันนี้ เพราะก่อนหน้านี้ทางกลุ่มเคยมาเรียกร้องให้ภาครัฐแก้ปัญหาหลายต่อหลายครั้งแล้ว แต่ไม่มีการแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริง มีแต่การแก้ปัญหาระยะสั้นเพียงแค่เฉพาะหน้าอย่างเดียว 

ขณะที่เทือกเขาบรรทัด จ.พัทลุง ขณะนี้กำลังเผชิญปัญหาจากกฎหมาย พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า 2562 พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ และมีกฎหมายลำดับรองที่กำลังออกมา ซึ่งจะจำกัดสิทธิของประชาชนในพื้นที่ป่า ทำให้ประชาชนไม่มีสิทธิ์ที่จะอยู่ในพื้นที่อย่างเสรี ต้องอยู่ในกรอบของอุทยานตลอด นอกจากนี้ มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีอีกด้วย  

เหตุผลที่มาวันนี้ เราอยากเรียกร้องว่า เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นไม่เคยมีปัญหา แต่มีปัญหากับระดับนโยบายที่ไม่แก้ปัญหาอย่างจริงจัง 

สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.)

สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) เป็นกลุ่มของชาวปกากะญอ จากบ้านดอยช้าง บ้านป่าแป๋  ต.ป่าพลู อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน ดูแลจัดการพื้นที่ป่าในพื้นที่ต้นน้ำ 20,134 ไร่ มีประชากร 74 ครัวเรือน และพวกเขาสามารถดูแลจัดการพื้นที่เหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ที่ผ่านมา พวกเขาได้รับผลกระทบจาก พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า 2562 

นอกจากนี้ ประเด็นที่พวกเขาเรียกร้องมีเรื่องโฉนดชุมชน สิทธิในการจัดการที่ดินทรัพยากร และมีประเด็นเรื่องธนาคารที่ดิน และมีเรื่องเขตเศรษฐกิจที่แม่สอด จ.ตาก  

บางกลอยคืนถิ่น

จันทร์ ต้นน้ำเพชร เยาวชนบางกลอย จ.เพชรบุรี และเป็นหนึ่งในผู้ร่วมเสวนาวันนี้ อธิบายถึงปัญหาในพื้นที่บางกลอย ซึ่งตั้งอยู่ในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี คือเรื่องที่ดินที่ชาวบ้านบางรายยังไม่ได้รับการจัดสรร การเจ็บป่วยของชาวบ้านหลังได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก และอื่นๆ 

จันทร์ ต้นน้ำเพชร เยาวชนจากบ้านบางกลอย หมู่ 1 จ.เพชรบุรี

จันทร์ กล่าวว่า ที่เธอมาเรียกร้องรัฐบาลครั้งนี้ เพราะอยากให้คณะกรรมการแก้ปัญหาบางกลอย เปลี่ยนชุด เนื่องจากตั้งมาเกือบปียังไม่มีการแก้ไข และไม่มีการประชุม เคยมีการลงพื้นที่มาแล้วครั้งหนึ่ง ซึ่งเจ้าหน้าที่นัดชาวบ้านแต่เช้า แต่กว่าคณะกรรมการกว่าจะมาก็เที่ยง มาไม่ตรงเวลา ปล่อยให้ชาวบ้านรอ นอกจากนี้ ตัวแทนภาครัฐก็มากล่าวหาชาวบ้านว่าปลูกกัญชา และไม่แฟร์กับชาวบ้าน ไม่เปิดโอกาสให้ชาวบ้านได้แก้ต่างให้ตัวเอง 

ขณะที่วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เคยลงพื้นที่บางกลอยเมื่อปีที่แล้ว 1 ครั้ง แต่ไม่มีการแก้ปัญหาอะไรให้ชาวบางกลอย 

“วราวุธ ขึ้นไปบางกลอยโดยไม่ได้แจ้ง หรือนัดหมายใครไว้ ช่วงเช้า ชาวบ้านทราบว่าวราวุธขึ้นไป ชาวบ้านก็อยากเข้าไปคุยด้วย อยากเข้าไปบอกเล่าปัญหาให้ แต่ว่าท่านมาเป็นกลุ่มใหญ่หลายคน กันไม่ให้ชาวบ้านเข้าถึง ท่านก็ไปดูแปลงพระราชดำริ พอไปดูเสร็จ ก็เดินกลับมา และก็ตรงนั้น มีบ้านหลังหนึ่ง ชาวบ้านคนหนึงสามารถเข้าไปได้ และเขาพูดกับวราวุธว่าผมเป็นคนไม่มีที่ดินนะ วราวุธบอกว่าไม่มีที่ดินเหรอ มาเซลฟี่กันหน่อย และไม่มีการแก้ปัญหาเลย” จันทร์ กล่าว 

พชร กล่าวเสริมว่า ข้อเรียกร้องของจันทร์ และบางกลอยคืนถิ่น คือให้มีการเปลี่ยนคณะกรรมการแก้ปัญหาบางกลอยทั้งชุด ให้เป็นคณะกรรมการอิสระ เป็นกลาง ไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ไม่มีสัดส่วนของข้าราชการประจำ หน่วยงานความมั่นคง กระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม หรือหน่วยงานที่เป็นคู่ขัดแย้งอื่นๆ มีหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ปัญหาให้ชาวบางกลอย 

ต่อมา ขอให้มีการยกเลิกคดีความทั้งหมดของชาวบ้านบางกลอยคืนถิ่น 28 คน และเยาวชนอีก 2 คน และภาคี Saveบางกลอย 10 คน ทั้งที่อยู่ในชั้นพนักงานอัยการ และอยู่ในชั้นพนักงานสอบสวน 

พชร ระบุว่า ต่อมาปัญหาของสมาพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ เทือกเขาบรรทัด จ.พัทลุง และบางกลอย จ.เพชรบุรี อยู่ในข้อเสนอเชิงนโยบายของ P-move 3 ข้อ คือ 1) เรื่องของ พ.ร.ก.นิรโทษกรรมคดีป่าไม้ที่ดิน เนื่องจากหลังรัฐประหารปี’57 นำโดย คสช. มีการออกนโยบายทวงคืนผืนป่า และทำให้คดีความเรื่องสิทธิที่ดินทำกินของชาวบ้านพุ่งสูงขึ้น และส่งผลกระทบต่อคนจนและชาวบ้านอย่างมาก

2) ทบทวน พ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ และ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ปี’62 ซึ่งออกโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ภายใต้การบริหารของ คสช. ซึ่งการออก พ.ร.บ.ทั้งหมด ชาวบ้านและประชาชนไม่มีส่วนร่วมใดๆ ต่อกระบวนการออกกฎหมาย และจะมีการออกกฎหมายรอง ซึ่งกำลังจะสร้างผลกระทบต่อประชาชนอย่างใหญ่หลวง และขอให้มีการตั้งคณะกรรมการทบทวนและแก้ไขกฎหมายทั้งหมด

3) เรื่องชาวชาติพันธุ์ รัฐบาลประยุทธ์พยายามผลิตซ้ำมายาคติทำให้ชาวชาติพันธุ์เป็นอื่น ไม่ใช่คนไทย และเป็นต่างด้าว แต่ความเป็นจริงชาวชาติพันธุ์เป็นชาวพื้นเมืองอยู่มาก่อนกำเนิดรัฐชาติ นอกจากนี้ มีการบอกว่าชาวชาติพันธุ์เกี่ยวข้องกับยาเสพติด สิ่งเหล่านี้เป็นการลดคุณค่าชาวชาติพันธุ์ และสร้างความชอบธรรมเพื่อควบคุมเขาให้ง่ายขึ้น ดังนั้น จึงต้องผลักดันร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิ์และส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง ซึ่งผลักดันโดย P-move และภาคประชาชน เข้าชื่อเสนอกฎหมาย 1 หมื่นรายชื่อ ยื่นถึงประธานสภา และกำลังรอประยุทธ์เซ็นลงนาม 

เครือข่ายสลัม 4 ภาค

สมศักดิ์ บุญมาเลิศ ประธานเครือข่ายสลัม 4 ภาค ระบุว่า เครือข่ายของสลัม 4 ภาค มีชาวบ้านในเครือข่ายทั้งหมด 80 ชุมชน 3,000 ครัวเรือน มีทั่วทั้งภูมิภาค พวกเขาเป็นคนจนเมืองที่อาศัยในพื้นที่ที่ดินของเอกชน ที่ดินของรัฐรูปแบบต่างๆ เช่น ที่ดินการรถไฟ ที่ดินสาธารณประโยชน์ และอื่นๆ ปัญหาของชาวบ้านในเครือข่ายส่วนใหญ่เป็นเรื่องการถูกไล่รื้อที่ดินของรัฐ และถูกดำเนินคดีจำนวนมาก และแม้ในช่วงโควิด-19 เจ้าหน้าที่ยังคงมาไล่รื้อและกดดันไม่หยุด 

ประธานสลัม 4 ภาค กล่าวต่อว่า ประชาชนและชาวบ้านเครือข่ายสลัม 4 ภาค ไม่เคยคิดขัดขวางการพัฒนาโครงการรัฐ แต่เคยถามรึเปล่าว่า ถ้าเกิดว่าถูกไล่ที่เพื่อทำโครงการใหญ่ๆ ของรัฐ จะให้เขาไปอยู่ที่ไหน ก็อยากเสนอว่าให้แชร์กันได้ไหมระหว่างภาครัฐและชาวบ้าน เพราะชาวบ้านก็ใช้เพียงไม่กี่ตารางเมตร (ตร.ม.) เราใช้แค่เต็มที่เพียงแค่ 4x7 ตร.ม. รัฐยังให้ไม่ได้ แถมถูกคดีความ ตอนนี้ถูกคดีความอยู่ในชั้นศาลจำนวนมาก และมีการเรียกให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาต่างๆ 

“หลายคนรู้สึกเนื้อน้อยต่ำใจ ว่าไม่มีใครได้ยิน ทั้งที่เราตะโกนกันดังมาก แต่รัฐมองเห็นนายทุน แค่กระซิบยังได้ยิน ทุกอย่างมันเป็นความอึดอัดใจของพี่น้องไม่ใช่แค่สลัมอย่างเดียว … พี่น้องสลัมเราไม่เคยกีดขวางการพัฒนาโครงการต่างๆ ของรัฐ แต่ขอให้พวกเรามีส่วนร่วมในเรื่องความคิดต่างๆ คุณภาพชีวิต” สมศักดิ์ กล่าว พร้อมระบุว่า ถ้าไม่จนจริงไม่อยู่ให้เขาไล่ เขาฟ้องหรอก แต่การย้ายออกไปไกลที่ทำงาน มันลำบาก เราพยายามต่อรองกับรัฐบาลขอเช่า รัฐยังไม่ให้เลย แต่พอนายทุนขอเช่าง่ายเลย 99 ปี เพราะว่าคนจนเช่าราคาถูก แต่คนรวยให้เงินเยอะกว่า

ประชาชนตั้งขบวนเดินไปทำเนียบรัฐบาล เมื่อ 20 ม.ค. 65 ถ่ายโดย พชร คำชำนาญ

ก่อนหน้านี้ทางสลัม4ภาคพยายามพูดคุยกระทรวงคมนาคมต่างๆ ในชั้นอนุกระทรวง แต่ชั้นนี้ตัดสินใจอะไรไม่ได้ แม้ว่าจะสามารถเรียกประชุมได้ แต่ก็แก้ไขปัญหาไม่ได้เลย หรือแม้กระทั่งกำลังเจรจาอยู่ เจ้าหน้าที่ยังไล่จับประชาชนไล่รื้อที่ดินอยู่เลย

แม้ว่ารัฐบาลประยุทธ์ เป็นรัฐบาลที่เอาใจนายทุน เพราะมองว่าสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้รัฐบาล แต่พชร ชี้ว่า คนที่สร้างเมืองที่แท้จริงคือ ‘คนจนเมือง’ ซึ่งมีคุณค่าไม่แพ้กัน

“สะท้อนถึงพี่น้องคนในเมืองอย่างพวกเขา ผมคิดว่าคนจนเมือง คือคนสร้างเมือง เป็นไปไม่ได้ที่กรุงเทพฯ ที่จะปฏิเสธบทบาทของคนกลุ่มนี้ ในการสร้างการพัฒนา แน่นอนว่ามันไม่สามารถเติมเต็มได้ในแง่ของเศรษฐกิจ เพราะเขาไม่มีรายได้ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเขาสร้างเมือง” พชร กล่าว

พชร. กล่าวเสริมว่า สำหรับข้อเรียกร้องของสลัม4ภาค คือการแก้ไขปัญหาที่ดินการรถไฟ หรือ รฟท. ซึ่งก่อนหน้านี้ มีมติของ รฟท. เมื่อ 2543 ซึ่งมันเป็นมติที่ควรนำไปสู่การเป็นนโยบายการแก้ไขที่ดินการรถไฟทั่วประเทศ แต่ปัจจุบันก็ยังไม่มีการนำไปปฏิบัติ สลัม4ภาคจึงอยากให้นำเอามติตัวนี้มาปฏิบัติอย่างจริงจัง ในการแก้ไขปัญหาของประชาชนที่อาศัยในที่ดิน รฟท. และสุดท้าย ต้องการให้ยุติการดำเนินคดีกับชาวบ้านทั้งหมด 

สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.)

สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ ริเริ่มจากชุมชนแรงงานไร้ที่ดิน ซึ่งเดินทางเข้ามาทำงานในเมืองหลวง กรุงเทพมหานคร จนกระทั่งวันหนึ่งพวกเขามีความคิดว่า ที่ดินเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญ และมองเห็นว่า การเดินทางมาขายแรงงานในเมืองเทพสร้างเพื่อแลกกับรายได้อันน้อยนิด และพอประทังชีวิตตัวเอง ดูเหมือนจะไม่ใช่สิ่งที่พวกเขาคาดหวังไว้

พวกเขาจึงเริ่มรวมตัวกันในนามของ สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ หรือ สกต.เพื่อเรียกร้องให้รัฐปฏิรูปที่ดิน โดยเฉพาะที่ดินที่นายทุนปล่อยร้าง และไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์ เพื่อให้ประชาชนอีกจำนวนมากสามารถเข้าถึงที่ดินดังกล่าวเพื่อใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน หากปล่อยไว้โดยที่ภาครัฐไม่มีการจัดการ นายทุนที่มีทุนทรัพย์มาก ก็สามารถกว้านซื้อที่ดินมากเท่าไรก็ได้ 

อย่างกรณีที่นายทุนเช่าสัมปทานทำไร่สวนปาล์มจากรัฐ เมื่อหมดสัมปทานดังกล่าว เอกชนก็ยังได้รายได้จากตรงนั้นต่อ ไม่ยอมคืนให้ภาครัฐเพื่อมาจัดสรรให้ประชาชนต่อแม้แต่ ตร.นิ้วเดียว สกต.มองเห็นปัญหา จึงรวมตัวเรียกร้องให้เกิดการปฏิรูปที่ดิน คนที่ลุกขึ้นมาต่อสู้ของ สกต.บางรายถูกทำร้ายจนเสียชีวิต ปัจจุบัน สวนปาล์มแห่งนั้นก็ประกาศสัมปทานรุกล้ำที่ดินของประชาชนเข้ามาด้วย 

พชร กล่าวเสริมว่า สิ่งที่เขาเรียกร้อง สะท้อนเรื่องปัญหาของที่ดินชุมชน และธนาคารที่ดิน ซึ่งถ้าสามารถแก้ไขปัญหาได้ จะสามารถกระจายการถือครองที่ดินให้ประชาชนได้ ให้ประชาชนและคนจนเมืองสามารถใช้ที่ดินอย่างยั่งยืน

กลุ่มชาวไทดำ จ.สุราษฎร์ฯ

กลุ่มชาวไทดำ ในพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี หรือเป็นชนกลุ่มน้อยในภาคใต้ โดยปฐมบทของการต่อสู้ของชาวไทดำ คือการต่อสู้กับนิคมอุตสาหกรรม ‘Southern Seaboard’ ซึ่งได้ข้อยุติไปแล้วด้วยชัยชนะของชาวไทดำ นอกจากนี้ ชาวไทดำต้องเผชิญกับการประกาศพื้นที่สาธารณประโยชน์ หรือ นสล.ทับที่โดยไม่มีการมีส่วนร่วมของประชาชน 

สำหรับข้อเรียกร้องของชาวไทดำ คือให้กรมที่ดินประกาศถอนพื้นที่ นสล. ออกไป ซึ่งประเด็นนี้ไม่จำเป็นต้องผ่าน ครม. เนื่องจากทางจังหวัดมีการตรวจสอบเรียบร้อย เหลือแต่รอคำสั่งจากกรมที่ดิน 

สำหรับข้อเรียกร้องของ สกต. อยู่ในข้อ 10 ของ P-move คือ รัฐบาลต้องสั่งการให้มีการแก้ไขปัญหาที่ดินทุกประเภทที่ประชาชนได้รับผลกระทบให้มี แนวทางที่ชัดเจน เช่น ที่ดินสาธารณประโยชน์ ที่ดินรถไฟ ที่ราชพัสดุ ที่ดินในเขตป่า ที่ สปก. และอื่นๆ 

เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.)

เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.) นำโดยแม่ถาวร มีกรณีประเด็นปัญหาหลายกรณี อย่างประชาชนได้รับผลกระทบจากการทวงคืนผืนป่าสวนป่าคอนสาร จ.ชัยภูมิ หรือกรณีอุทยานแห่งชาติไทรทอง ชุมชนบ้านซับหวาย และกรณีดังกล่าวมีประชาชน 14 รายถูกจำคุก และกำลังต่อสู้ในชั้นศาลฎีกา เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวชาวบ้านจึงรวมตัวเป็น คปอ. เพื่อต่อสู้

แม่ถาวร ตัวแทน คปอ. กล่าวถึงปัญหาที่ชาวบ้านภาคอีสานได้รับผลกระทบ มีต้นเหตุมาจากการประกาศกฎหมายแบบ ‘ขนมชั้น’ เช่น ทั้งที่ประกาศพื้นที่แห่งหนึ่งมีการประกาศใช้หลายกฎหมาย เช่น ที่สาธารณะ พ.ร.บ.ป่าสงวน พ.ร.บ.อุทยาน มีความซับซ้อน

นอกจากนี้ เธอเล่าว่า ชาวบ้านเคยมาเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาแล้ว แต่ว่าไม่เคยมีการแก้ปัญหาได้จริง จึงต้องลงมาต่อสู้ร่วมกับประชาชนคนอื่นๆ เรียกร้องให้มีการผลักดันเป็นมติ ครม. 

“มาวันนี้จะให้ทุกเรื่องต้องเป็นมติของ ครม. เพราะว่าข้าราชการชอบเสนอให้ผ่าน ครม.ทุกเรื่อง ถ้าไม่มา ก็คงตายไม่ได้เกิด ถ้าจะไปสู้ทางกฎหมายที่ไม่มีเอกสารสิทธิ สู้ไม่ได้ทุกกรณี เพราะกฎหมายก็บอกว่า ไม่มีเอกสารสิทธิ์ เป็นที่ของหลวง ประชาชนไม่มีสิทธิครอบครองในที่ดิน ดังนั้น จึงต้องอาศัยนโยบาย และพลัง”

“ไม่กลับ ถ้าไม่ได้สิ่งที่เราเรียกร้อง” แม่ถาวร กล่าว 

เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคม

เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคม ทางเครือข่ายก็ดูแลปัญหาตั้งแต่ภาคอีสาน-ภาคใต้ และปัญหาที่ประสบเป็นปัญหาเดียวกับทางเครือข่ายปฏิรูปที่ดินในภาคอีสาน คือ ต้องเผชิญกับการไล่รื้อจากภาครัฐ และการบังคับใช้เขตอุทยานทับที่ชุมชน

กรณีที่เห็นชัดคือชาวเล ภาคใต้ ที่อาศัยตามวิถีชีวิตวัฒนธรรมชาวชาติพันธ์ุ พวกเขาไม่สามารถประกอบอาชีพประมงตามวิถีชีวิตดั้งเดิม หรือหาปลาในพื้นที่ทะเลได้ เนื่องจากรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกประกาศเขตอุทยานทับที่พวกเขาในปี 2562 รวมถึงมีกรณีออกเอกสารสิทธิ์ทับที่ด้วย 

นอกจากนี้ เนื่องด้วยชาวเลอาศัยบริเวณภาคใต้อยู่กันมานาน และบางส่วนอาศัยในเขตท่องเที่ยวซึ่งภาครัฐมาประกาศทีหลังเช่นกรณีเกาะหลีเป๊ะ ซึ่งรัฐก็ไปออกเอกสารสิทธิ์ทับที่ชาวเล และนำไปทำเพื่อใช้การท่องเที่ยว พี่น้องชาวเลที่เป็นคนบุกเบิกพื้นที่ต้องใช้ชีวิตอาศัยในมุมมืด ถูกไล่รื้อที่ และโดนดำเนินคดีเมื่อไรก็ได้ 

ปัญหาทั้งหมดที่ผู้เสวนาได้กล่าว จะถูกรวมในข้อเสนอเชิงนโยบาย 12 ข้อ P-move ทั้งหมด ขณะที่วันนี้ (21 ม.ค.) ทาง P-move ได้เพิ่มข้อเสนอเชิงนโยบายอีก 3 ข้อ รวมเป็นทั้งหมด 15 ข้อ 

P-move อ่านแถลงการณ์หน้าสำนักงาน UN เมื่อ 21 ม.ค. 65 ถ่ายโดย พชร คำชำนาญ

ข้อเสนอเชิงนโยบายของ P-move ทั้งหมด 15 ข้อ ตอนนี้ประกอบด้วย 

1. ต้องยกระดับการจัดการทรัพยากรที่ดินในรูปแบบ “โฉนดชุมชน” ให้เป็นหนึ่งในรูปแบบการกำกับดูแลการ บริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินโดยทั่วไป ตามพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) มาตรา 10 (4) และขอให้สำนักงาน คทช. รับพื้นที่โฉนดชุมชน โดยเริ่มจากพื้นที่สมาชิก ขปส. ที่เสนอเป็นพื้นที่การจัดการที่ดินในรูปแบบโฉนดชุมชนอยู่แล้ว 193 กรณี 

2. ต้องเร่งออกพระราชกฤษฎีกานิรโทษกรรมคดีความที่เกี่ยวกับปัญหาไม้และที่ดินอันเกิดจากการดำเนินการตามนโยบายรัฐ ทั้งนี้ในระหว่างรอการออกกฎหมายดังกล่าว ขอให้ยุติการดำเนินคดีชาวบ้าน และเยียวยาประชาชนให้ได้รับความธรรมและให้กลับไปทำกินในที่ดินเดิมของตนเองได้ 

3. ต้องแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อทบทวนเนื้อหาของ พ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ศ. 2562, พ.ร.บ.อุทยาน แห่งชาติ พ.ศ. 2562 และพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ให้สอคคล้องกับเจตนารมณ์ของ รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 และให้ชะลอการเสนอร่างกฎหมายลำดับรองที่ออกตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ตลอดจนขอให้ยกเลิกมติ

คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 เรื่อง พื้นที่เป้าหมายและกรอบมาตรการแก้ไขปัญหาการอยู่อาศัย และทำกินในพื้นที่ป่าไม้ (ทุกประเภท) เนื่องจากไม่สอดคล้องกับบริบทของแต่ละพื้นที่ 

4. กรณีการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยในที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ให้นำมติคณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2543 มาเป็นนโยบายการแก้ปัญหาชุมชนทั้ง 36 จังหวัด 397 ชุมชน 39,848 หลังคาเรือน ทั้งนี้ นโยบายดังกล่าวต้องนำเข้าสู่การประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อประกาศให้เป็นนโยบายแห่งชาติในการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยชุมชนที่อยู่ในที่ดินของ รฟท. 

5. รัฐบาลต้องผลักดันร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ฉบับที่ร่าง โดยศูนย์มานุษยวิทยาสิริธร (องค์การมหาชน) (ศมส.) และรัฐบาลต้องสนับสนุน “ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครอง สิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง พ.ศ..... ฉบับเข้าชื่อเสนอกฎหมาย 10,000 รายชื่อ เพื่อยกระดับการขับเคลื่อนนโยบายคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2553 ว่าด้วยการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2553 ว่าด้วยการฟื้นฟูวิถีชีวิตวัฒนธรรมชาวกะเหรี่ยง 

6. ข้อเสนอต่อการปฏิรูปที่ดิน ตามกลไกสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (บจธ.) บจธ. ต้องทบทวน ปรับปรุงคณะกรรมการ บจธ. พัฒนา สร้างนวัตกรรมรูปแบบกรรมสิทธิ์ในการจัดการที่ดินและถือครองที่ดินใหม่รูปแบบ ใหม่ๆ พัฒนาช่องทาง กลไกในเข้าถึง ทั้งการสนับสนุนช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อย และให้เร่งดำเนินการจัดซื้อที่ดินในพื้นที่ตามแผนงานระยะสองซึ่งเป็นสมาชิกของ ขปส. ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม

7. ต้องนำเรื่องเข้าคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ชุมชนสมาชิกของ ขปส.ที่อยู่ระหว่างการแก้ไขปัญหา สามารถเข้าถึงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เช่น ถนน ไฟฟ้า ประปา ทะเบียนบ้าน และปรับปรุงที่อยู่อาศัยได้ 

8. ปรับปรุงองค์ประกอบคณะทำงาน 2 คณะ ได้แก่ คณะทำงานศึกษาร่างกฎหมายว่าด้วยการนิรโทษกรรมแก่ราษฎร คณะทำงานแก้ไขปัญหาและศึกษาแนวทางการจัดที่ดินทำกินให้กับชุมชนในรูปแบบ โฉนดชุมชนภายใต้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ และขอให้เร่งรัดจัดการประชุมคณะทำงานฯ ดังกล่าว เป็นกรณีเร่งด่วน

9. ข้อเรียกร้องกลุ่มแม่สอดรักษ์ถิ่น ผลกระทบจากเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด จังหวัดตาก ให้มีการตั้งคณะกรรมการอิสระตรวจสอบข้อเท็จจริงและเยียวยาผลกระทบรายกรณีในทุกมิติ

10. รัฐบาลต้องสั่งการให้มีการแก้ไขปัญหาที่ดินทุกประเภทที่ประชาชนได้รับผลกระทบให้มี แนวทางที่ชัดเจน เช่น ที่ดินสาธารณประโยชน์ ที่ดินรถไฟ ที่ราชพัสดุ ที่ดินในเขตป่า ที่ สปก. และอื่นๆ 

11. แต่งตั้งคณะกรรมการระดับชาติ กำกับ ขับเคลื่อนการฟื้นฟูวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลและ กะเหรี่ยงตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2553 และ 3 สิงหาคม 2553 

12. กรณีชุมชนกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ให้นายกรัฐมนตรีลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหาชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย หมู่ที่ 1 ตำบล

ห้วยแม่เพรียง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหาชุมชนกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยในทุกด้าน ตลอดจนให้ยุติกระบวนการทางคดีของชาวบ้าน 28 คน ชาวบ้านเยาวชน 2 คน และสมาชิกภาคีเซฟบางกลอย 10 คน
 
13 สิทธิสถานะบุคคล ให้มีมติคณะรัฐมนตรีสั่งการเร่งรัดแก้ไขปัญหาด้านสิทธิและสถานะบุคคลของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมให้แล้วเสร็จภายในปี 2566 โดยมีกลุ่มเป้าหมายดังนี้

เครือข่ายการแก้ไขสัญชาติไทย 4 จังหวัด ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง พังงา

เครือข่ายลาวอพยพ จังหวัดอุบลราชธานี

เครือข่ายชาวเลอันดามัน จังหวัด พังงา กระบี่ ระนองสตูล ภูเก็ต

เครือข่ายไทลื้อ จังหวัดพะเยา และคนไทยตกหล่นทางทะเบียนราษฎร์

14. ผลักดันให้มีระบบสวัสดิการถ้วนหน้า ตามที่ภาคประชาชนเสนอกฎหมายระบบสวัสดิการถ้วนหน้า

15. เร่งรัดแก้ไขปัญหาประชาชนผู้ได้ผลกระทบจากโครงการพัฒนาของรัฐ กรณีอ่างน้ำห้วยฝั่งแดง จ.อุบลราชธานี, กรณีโครงการแก้มลิงทุ่งทับใน จ.นครศรีธรรมราช, กรณีอ่างเก็บน้ำแม่มอก จ.ลำปาง, กรณีอ่างน้ำห้วยน้ำรี จ.อุตรดิตถ์, กรณีโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำแม่งาว จ.ลำปาง และโครงการผันแม่ยวม จ.แม่ฮ่องสอน” แถลงการณ์ ขปส. ระบุ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท