Skip to main content
sharethis

สื่อหลักของเยอรมนีรายงานว่า ส.ส. จากพรรคฝ่ายซ้าย (DIE LINKE) เรียกร้องให้กรมสรรพากรแห่งรัฐบาวาเรียตรวจสอบการชำระภาษีบ้านและที่ดินของ ร.10 จากกรณีพระตำหนักส่วนพระองค์ในเมืองทุทซิง รวมถึงเรียกร้องให้ตรวจสอบการชำระภาษีมรดกซึ่ง ส.ส. เคยถามไว้ในสภาเมื่อ 2 ปีที่แล้ว แต่ยังไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน

19 ก.พ. 2565 สำนักข่าวดอยช์เวเลย์ (Deutsche Welle) ซึ่งเป็นสื่อกระแสหลักของเยอรมนีรายงานเมื่อวันที่ 14 ก.พ. ที่ผ่านมาว่าเซวีม ดาเดเลน (Sevim Dağdelen) ส.ส. จากพรรคฝ่ายซ้าย (DIE LINKE) ซึ่งเป็นพรรคร่วมฝ่ายค้านในรัฐสภาเยอรมนีเรียกร้องให้หน่วยงานสรรพากรท้องถิ่นของรัฐบาวาเรียตรวจสอบการชำระภาษีบ้านและที่ดิน รวมถึงภาษีมรดกของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.10) เนื่องจากสื่อเยอรมันเคยรายงานว่าพระองค์ทรงมีพระตำหนัก (บ้าน) ส่วนพระองค์ในเมืองทุทซิง มูลค่าประมาณ 10 ล้านยูโร (364.44 ล้านบาท) และมีรายงานเพิ่มเติมจากสื่อเยอรมันว่าพระองค์มักเสด็จฯ ประทับที่โรงแรมแกรนด์ซอนเนินบิเคิล (Grand Hotel Sonnenbichl) ในเมืองการ์มิช-พาร์เทินเคียร์เชินซึ่งอยู่ห่างจากเมืองทุทซิงประมาณ 60 กิโลเมตร

สำนักข่าว DW ระบุเพิ่มเติมว่าบ้านส่วนพระองค์ของ ร.10 ในเมืองทุทซิงนั้นเป็นบ้านหลังที่สอง ซึ่งพระองค์ทรงซื้อไว้เมื่อหลายปีก่อน และมีความเป็นไปได้ว่าในขณะนี้ กรมสรรพากรแห่งรัฐบาวาเรียอาจจะกำลังตรวจสอบการชำระภาษีบ้านและที่ดินของบ้านหลังนี้ นอกจากนี้ ยังมีประเด็นคำถามที่ยังค้างคาในรัฐสภาเยอรมนีเรื่องการชำระภาษีมรดกของ ร.10 ซึ่งกฎหมายของเยอรมนีกำหนดให้ผู้ที่ได้รับมรดกจากบิดามารดาหรือบุคคลอื่นๆ ตามกฎหมาย ต้องเสียภาษีมรดกร้อยละ 30 ของมูลค่ามรดกทั้งหมดที่ได้รับ ซึ่ง ส.ส.พรรคกรีนและพรรคฝ่ายซ้ายที่ตั้งกระทู้ถามในสภาเมื่อ 2 ปีก่อนระบุว่า ร.10 อาจต้องเสียภาษีมรดกมูลค่าสูงถึง 3,000 ล้านยูโร อย่างไรก็ตาม รัฐบาลเยอรมนีชุดก่อนตอบคำถามเพียงสั้นๆ ว่า “การจัดเก็บภาษีมรดกเป็นหน้าที่ของรัฐบาลท้องถิ่นแต่ละรัฐ”

เซวีม ดาเดเลน ส.ส.พรรคฝ่ายซ้าย (DIE LINKE) และสมาชิกกรรมาธิการการต่างประเทศของสภาผู้แทนราษฎรของเยอรมนี เธอเป็นหนึ่งในคณะผู้จัดทำรายงานการเสด็จประทับในเยอรมนีของกษัตริย์ไทยในรอบหลายปีที่ผ่านมาและเสนอเรื่องต่อรัฐสภาเยอรมนีเมื่อปี 2563 (ภาพจากเว็บไซต์ทางการของเซวีม ดาเดเลน, ข้อมูลเพิ่มเพิ่มจากบีบีซีไทย)
 

ทั้งนี้ สำนักข่าว DW สอบถามไปยังกรมสรรพากรแห่งรัฐบาวาเรียในประเด็นการจัดเก็บภาษีของ ร.10 ในเยอรมนี แต่กรมสรรพากรแห่งรัฐบาวาเรียปฏิเสธที่จะตอบคำถามเรื่องการชำระภาษีของ ร.10 เนื่องจากต้องปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองความเป็นส่วนตัว ด้านดาเดเลนให้ความเห็นต่อเรื่องนี้ว่าเป็นเรื่องไม่ดีนักที่มีข้อกังหาเรื่องการชำระภาษีมรดกของบุคคลซึ่งมีรายได้สูงเกิดขึ้นในรัฐบาวาเรีย เพราะการเลี่ยงชำระภาษีถือเป็นเรื่องที่บัญญัติไว้ในกฎหมายระหว่างประเทศ เธอจึงเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐต้องปฏิบัติต่อทุกคนในเรื่องนี้อย่างเท่าเทียม

นอกจากตำแหน่ง ส.ส. แล้ว ดาเดเลนยังเป็นหนึ่งในสมาชิกกรรมาธิการ (กมธ.) การต่างประเทศของสภาผู้แทนราษฎรเยอรมนี เธอให้สัมภาษณ์กับ DW ว่ารัฐบาลเยอรมนีตอบคำถามอย่าง ‘ใสซื่อ’ เรื่องการประทับในเยอรมนีของ ร.10 พร้อมระบุว่าไม่พบหลักฐานว่า ร.10 ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจบนแผ่นดินเยอรมนี พร้อมกันนี้ เธอยังเรียกร้องให้อันนาเลนา เบียร์บ็อค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของเยอรมนีจากพรรคกรีน ต้องประกาศสถานะทางการทูตของกษัตริย์ไทยเป็น ‘บุคคลทางการทูตที่ไม่พึงประสงค์’ (persona non grata)* เพื่อให้แน่ชัดว่าประมุขแห่งรัฐอื่นจะไม่ใช้อำนาจทางการเมืองใดๆ ระหว่างที่พำนักอยู่ในเยอรมนี

*ข้อมูลจากสถาบันการต่างประเทศเทวะวงศ์วโรปการอธิบายนิยามของคำว่า ‘Persona non grata’ ไว้ว่าเป็นศัพท์ที่ใช้กับนักการทูตหรือผู้แทนทางการทูตที่ประจำอยู่ในประเทศซึ่งรัฐบาลของประเทศนั้นไม่ปรารถนาให้อยู่ต่อไปอีกแล้ว หลังจากที่ได้ไปประจำทำงานในตำแหน่งอยู่ในประเทศนั้น หรือก่อนหน้าที่นักการทูตผู้นั้นจะเดินทางไปถึงดินแดนของประเทศผู้รับ (Receiving State)

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2563 ฟริธยอฟ ชมิดท์ (Frithjof Schmidt) ส.ส.จากพรรคกรีน ซึ่งในขณะนั้นเป็นพรรคฝ่ายค้าน และเป็นพรรคต้นสังกัดของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศคนปัจจุบันของเยอรมนี ตั้งกระทู้ถามสดด้วยวาจาต่อไฮโค มาส (Heiko Maas) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้นต่อกรณีการเสด็จฯ ประทับและการปฏิบัติพระราชกรณียกิจของ ร.10 ขณะที่พระองค์ประทับอยู่ในเยอรมนี ต่อมาในวันที่ 12 พ.ย. 2563 กระทรวงการต่างประเทศของเยอรมนีทำหนังสือชี้แจงต่อสภาผู้แทนราษฎรเยอรมนีอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร โดยระบุว่า “ไม่มีหลักฐานอันน่าเชื่อถือว่าพระมหากษัตริย์ของไทยทรงตัดสินพระราชหฤทัยในการใดๆ ระหว่างทรงประทับในเยอรมนี”

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ช่วงปลายปีที่แล้ว สำนักข่าว Bild และสื่อต่างชาติอื่นๆ รายงานว่า ร.10 เสด็จฯ ออกจากประเทศไทยไปประทับที่เยอรมนีแล้ว หลังจากนั้นจึงมีรายงานว่าเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศของเยอรมนีออกมายืนยันว่ากษัตริย์ไทยจะไม่มีการปฏิบัติพระราชกรณียกิจหรือกระทำการใดๆ ที่ขัดต่อหลักกฎหมายของประเทศเยอรมนี กฎหมายระหว่างประเทศ และกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ขณะทรงพำนักอยู่ในเยอรมนี

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:

แปลและเรียบเรียงจาก:

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net