พีมูฟชุมนุมทำเนียบ ตั้งเวทีเสวนา 'ทำไมต้องยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน' ชี้ ลิดรอนสิทธิเสรีภาพ สร้างความเดือดร้อน

ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือพีมูฟ จัดกิจกรรมหน้าทำเนียบ เรียกร้องรัฐหยุดใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ปิดปากประชาชน พร้อมตั้งเวทีเสวนา 'ทำไมต้องยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ' ชี้กฎหมายมีช่องโหว่ ลิดรอนสิทธิเสรีภาพ และสร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชน

22 ก.พ. 2565 วันนี้ เวลา 09.00 น. iLaw และทีมสังเกตการณ์การชุมนุม Mobdata Thailand รายงานว่าที่หน้าสถาบันเทคโนโลยีราชมงคลวิทยาเขตพาณิชยการพระนคร ถ.พิษณุโลก ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือ P-Move (พีมูฟ) จัดกิจกรรม "พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ปิดทางแก้ปัญหาฉุกเฉินชาวบ้าน" เพื่อเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐถอนคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 2 คดีของประชาชนที่มาชุมนุมเรียกร้องสิทธิเมื่อช่วงเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา โดยคดีแรกมีผู้ถูกกล่าวหา 11 คน ส่วนคดีที่สองมีผู้ถูกกล่าวหา 6 คน ก่อนเริ่มกิจกรรมตำรวจมีการวางแผงเหล็กกั้นที่บริเวณพาณิชยการพระนครและศาลกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ เพื่อไม่ให้ผู้ชุมนุมเดินทางเข้าประชิดทำเนียบรัฐบาล

iLaw รายงานลำดับเหตุการณ์ ดังนี้

08.22 น. ผู้ชุมนุมบางส่วนรวมตัวกันหน้าศาลกรมหลวงชุมพร แยกพาณิชยการ เนื่องจากบนสะพานชมัยมรุเชฐ และหน้าทำเนียบรัฐบาลมีเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดกากีและชุดควบคุมฝูงชน ตั้งแผงเหล็กปิดการจราจรสามชั้น

09.18 น. ที่แยกพาณิชยการ จำนงค์ หนูพันธ์ ปราศรัยผ่านเครื่องขยายเสียง ถึงการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาควบคุมการใช้สิทธิและเสรีภาพของประชาชน โดยเขากล่าวว่า "พวกผมมาในวันนี้ เพื่อให้รู้ว่ารัฐบาลไม่จริงใจ ตลบตะแลง ไม่สามารถแก้ปัญหาได้จริงแม้บางเรื่องจะเห็นชอบใน ครม. แล้วก็ตาม เราไม่ได้มาเพื่อให้แก้ปัญหาระดับพีมูฟ แต่มาเพื่อให้แก้ระดับนโยบายในทุกเรื่องของพี่น้องที่เดือดร้อนหนี้สินของพี่น้องทุกกลุ่มซึ่งไม่ได้เกิดจากพี่น้องเองแต่เกิดจากการบริหารประเทศที่ล้มเหลว" ระหว่างการปราศรัย เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดควบคุมฝูงชน และเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดกากียืนประจำการอยู่

จำนงค์ หนูพันธ์ (ภาพโดย Chana La)
 

10.31 น. จำนงค์ประกาศเรียกผู้ชุมนุมตั้งขบวนลงถนนเตรียมฝ่าแนวกั้นแนวแรกที่หน้าโรงเรียนพาณิชยการพระนคร จากนั้นเดินฝ่าแนวไปประชิดแนวรั้วข้างศาลกรมหลวงฯ ก่อนถึงแยกพาณิชยการ เวลา 10.36 น. ตำรวจชุดกากีประชิดแนวรั้วที่ศาลกรมหลวงฯ ประกาศให้ออกจากแนว มิเช่นนั้นจะดำเนินการตามกฎหมาย ขอความร่วมมือให้ผู้จัดกิจกรรมดูแลผู้ชุมนุมให้อยู่หลังแนวแผง

ภาพขณะผู้ชุมนุมกลุ่มพีมูฟประชิดแนวแผงเหล็กหน้าโรงเรียนพาณิชยการพระนครและฝ่าแนวกั้นไปที่แยกพาณิชยการ (ภาพโดย Chana La)
 

10.37 น. ตำรวจในชุดควบคุมฝูงชนเริ่มเข้ามาสมทบที่ด้านหลังแนวตำรวจชุดกากีศาลกรมหลวงฯ จำนงค์ประกาศว่า เราต้องยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ให้ได้ ที่ผ่านมาประชาชนเพียงมาเรียกร้องแต่กลับถูกดำเนินคดี ระหว่างนี้ตำรวจนำลวดหนามหีบเพลงมากางปิดเสริมแนวบนสะพานชมัยมรุเชฐ

10.44 น. จำนงค์ประกาศให้ตั้งเวทีที่หน้าแนวศาลกรมหลวงชุมพรฯ มีการผลัดเปลี่ยนกันปราศรัย โดยเวทีมีผู้เข้าร่วมเสวนาจัดข้างรถเครื่องเสียง มีการแขวนป้ายผ้าข้อความ “ปลดปล่อยอิสรภาพยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน” ซึ่งมีผู้เข้าร่วมเสวนาทั้งหมด 5 คน

11.53 น. หลังยุติวงเสวนา มีการอ่านกวีและแสดงละครพีมูฟเพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เรียกร้องให้รัฐบาลฟังเสียงประชาชนและกลุ่มชาติพันธ์ และเรียกร้องให้ยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

12.14 น. กลุ่มพีมูฟเริ่มอ่านแถลงการณ์ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมเรื่อง ปลดปล่อยอิสรภาพประชาชน ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยประกาศจุดยืน 3 ข้อ ว่า

  1. เรายืนยันว่าการชุมนุมติดตามการแก้ไขปัญหาของพีมูฟเป็นไปตามหลักสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ตามหลักการประชาธิปไตยที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญทุกฉบับและหลักสิทธิมนุษยชนสากล ไม่ควรถูกจํากัดด้วย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉะนั้น เราจะไม่ไปรายงานตัวตามหมายเรียก ที่นัดหมายให้เราต้องเข้าพบพนักงานสอบสวนในวันนี้
  2. เราขอเรียกร้องให้ยกเลิกการออกหมายเรียกตัวแทนพีมูฟและนักเคลื่อนไหวทั้ง 16 คนโดยทันทีและต้อง ยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ตลอดจนยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการจำกัดสิทธิของประชาชน
  3. หลังจากนี้พีมูฟจะประสานงานเครือข่ายทั่วประเทศเพื่อติดตามให้ยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ต่อไป เพื่อปลดปล่อยอิสรภาพของพวกเราในนามประชาชนให้ สามารถมีสิทธิ มีเสียงบนแผ่นดินประเทศนี้อย่างแท้จริง

ระหว่างอ่านแถลงการณ์ ทางกลุ่มพีมูฟนำนกพิราบผู้ร่วมกิจกรรมปีนข้ามรั้วแผงเหล็กหนึ่งชั้น เดินไปเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่ตำรวจหน้าสะพานชมัยมรุเชฐ ก่อนปล่อยนกพิราบทั้งหมดสู่อิสรภาพ

แถลงการณ์ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม

เรื่อง ปลดปล่อยอิสรภาพประชาชน ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

พวกเราขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือ พีมูฟ (P-Move) คือประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายและกฎหมายของรัฐจากทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 20 ม.ค. จนถึงวันที่ 3 ก.พ. ปีนี้ พวกเราได้ออกมาเคลื่อนไหวยาวนานถึง 15 วัน เพื่อ “ทวงสิทธิ” และ “สร้างอำนาจกำหนดชีวิตประชาชน” จนเมื่อบรรลุข้อเรียกร้องแล้วจึงได้ยุติการชุมนุมและเดินทางกลับภูมิลำเนา

ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2565 สถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้งได้ออกหมายเรียกสมาชิกพีมูฟจำนวน 11 คน ในข้อหา “ร่วมกันฝ่าฝืนพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ” และเมื่อวันที่ 12 ก.พ. 2565 ก็ได้มีการออกหมายเรียกกลุ่มนักเคลื่อนไหวที่ออกมาเรียกร้องสิทธิร่วมกับพวกเราเพิ่มอีก 6 คนในข้อหาเดียวกัน รวมทั้งสิ้น 2 หมายเรียก มีผู้ถูกออกหมายถึง 16 คน

พีมูฟเห็นว่าการแจ้งข้อกล่าวหาและออกหมายเรียกดังกล่าวคือความไม่เป็นธรรม และยังแสดงให้เห็นถึงความ “หน้าไหว้ หลังหลอก” ของรัฐบาลชุดนี้ เนื่องจากการกลับมาเคลื่อนไหวครั้งนี้เป็นไปเพื่อการทวงสิทธิที่รัฐบาลและหน่วยงานรัฐได้พรากไปจากประชาชน พี่น้องต้องเดินทางมาจากหลากหลายพื้นที่ห่างไกลทั่วประเทศท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดเพื่อเรียกร้องสิทธิที่ตนเองพึงมี การใช้มาตรการทางกฎหมายเพื่อจัดการกับพี่น้องเช่นนี้จึงเป็นเรื่องที่ไร้มนุษยธรรมอย่างยิ่ง และยิ่งแสดงให้เห็นชัดเจนขึ้นไปอีกว่าตั้งแต่มีการนำ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กลับมาใช้ตั้งแต่วันที่ 25 ม.ค. 2563 โดยอ้างสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด เป็นเพียงการอ้างมาตรการทางกฎหมายในการ “ปิดปาก” ประชาชนและกดหัวพวกเราให้จมดินเท่านั้น

ณ ที่นี้ พวกเราพีมูฟขอประกาศจุดยืนของเราต่อเพื่อนๆ ผู้ร่วมอุดมการณ์ และต่อสาธารณชน ดังนี้

  1. เรายืนยันว่า การชุมนุมติดตามการแก้ไขปัญหาของพีมูฟเป็นไปตามหลักสิทธิและเสรีภาพของประชาชนตามหลักการประชาธิปไตยที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญทุกฉบับและหลักสิทธิมนุษยชนสากล ไม่ควรถูกจำกัดด้วยพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉะนั้น เราจะไม่ไปรายงานตัวตามหมายเรียก ที่นัดหมายให้เราต้องเข้าพบพนักงานสอบสวนในวันนี้
  2. เราขอเรียกร้องให้ยกเลิกการออกหมายเรียกตัวแทนพีมูฟและนักเคลื่อนไหวทั้ง 16 คนโดยทันที และต้องยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ตลอดจนยกเลิกพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ที่ถูกนำมาเป็นเครื่องมือในการจำกัดสิทธิของประชาชนอย่างพร่ำเพรื่อ
  3. หลังจากนี้ พีมูฟจะประสานงานเครือข่ายทั่วประเทศเพื่อติดตามให้ยกเลิกพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ต่อไป เพื่อปลดปล่อยอิสรภาพของพวกเราในนามประชาชนให้สามารถมีสิทธิ มีเสียงบนแผ่นดินประเทศนี้อย่างแท้จริง

ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม
22 ก.พ. 2565

12.30 น. พ.ต.อ.สมยศ อุดมรักษาทรัพย์ ผู้กำกับ สน.นางเลิ้ง กล่าวกับผู้ชุมนุมพีมูฟถึงการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และประมวลอาญามาตรา 215 ว่าเป็นไปตามข้อกฎหมายหากมีอะไรผิดพลาดหรือหากคิดว่าเป็นการกลั่นแกล้งให้โทษตนเท่านั้นรวมถึงการจัดกิจกรรมครั้งก่อนมีคนติดโควิด-19

“…มวลชนกลุ่มต่างๆ ที่มาแจ้งปัญหาความเดือดร้อน ตัวแทนรัฐบาลได้พยายามส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาเจรจาพูดคุยด้วยตลอด ตั้งแต่การชุมนุมที่เกาะกลางถนน หน้าสำนักงาน UN ได้กีดขวางการจราจร ทางเราก็ได้อำนวยความสะดวกดูแลความปลอดภัยพี่น้องมวลชนตลอดมา จนกระทั่งท่านยกระดับการชุมนุมเคลื่อตัวจากหน้า UN มายังหน้าถนนพิษณุโลกเราก็พยายามประชาสัมพันธ์ไม่ให้ผู้ชุมนุมและแกนนำยึดถนนพิษณุโลกเป็นพื้นที่ชุมนุม เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีความแออัด และส่งผลกระทบให้กับประชาชน ทั้งนักเรียนนักศึกษา เรียนในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระนคร และเรียนในโรงเรียนราชวินิตมัธยม มันจะส่งผลกระทบต่อประชาชนที่มีสิทธิใช้ทางในการสัญจรไปมา” พ.ต.อ.สมยศ กล่าว

“ผมประกาศแจ้งเตือนทุกครั้งในขณะที่ท่านเดินขบวนหรือพยายามฝ่าฝืนคำสั่งของผม สิ่งที่ผมต้องตัดสินใจดำเนินคดีแก่ท่าน ขอให้ชัดเจนว่ามันเป็นปัญหาข้อเท็จจริงว่า ผู้มาร่วมชุมนุมในกลุ่มผู้ชุมนุมมีคนติดโควิด-19 ผมจึงต้องดำเนินคดีตามกฎหมาย … สิ่งที่ผมทำนั้นยึดตามหลักข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง ถ้าเกิดสิ่งที่ผมทำไม่ถูกต้องพ่อแม่พี่น้องขอให้มาลงที่ผม ผมพร้อมจะรับผิดชอบในสิ่งที่ผมทำ ถ้าผมใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในการกลั่นแกล้ง ทำให้ผู้ชุมนุมเดือดร้อนขอให้มาลงที่ผมนะครับ ผมพร้อมรับผิดชอบ ชี้แจงทุกอย่าง ทุกอย่างมีช่องทางทางกฎหมายอยู่ ถ้าเห็นว่าการปฏิบัติของผมไม่ถูกต้องท่านก็มีช่องทางในการร้องทุกข์ ในการร้องเรียนผม ผมพร้อมรับผิดชอบชี้แจงทุกอย่าง ทุกอย่างมีการถ่ายภาพ มีการทำรายงานเป็นลายลักษณ์อักษรไว้ทุกงาน” พ.ต.อ.สมยศ กล่าว

ผู้ชุมนุมพีมูฟบางส่วน (ภาพโดย Chana La)
 

หลังจากนั้น จำนงค์กล่าวแย้งว่าการมาชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาลหรือการมาที่หน้าสำนักงานองค์การสหประชาชาติในครั้งก่อนนั้นเพราะปัญหาไม่ได้ถูกแก้ไข และตั้งคำถามถึงการใช้กฎหมายแก่ผู้มาร่วมให้กำลังใจและเยาวชนนั้นว่าถูกต้องหรือไม่

13.00 น. มีการแสดงดนตรีจากน้ำ คีตาญชลี ก่อนจะจบกิจกรรม และพบนัดหมายอีกครั้งในวันที่ 1 มี.ค. 2565 ที่ สน. นางเลิ้ง เพื่อทวงถามความคืบหน้าตามข้อเรียกร้อง

สรุปเสวนา 'ทำไมต้องยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน'

ในการชุมนุมครั้งนี้ กลุ่มพีมูฟได้จัดเสวนาหัวข้อ 'ทำไมต้องยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน' โดยมีอานนท์ ชวาลาวัณย์ จาก iLaw ร่วมเสวนากับตัวแทนผู้ถูกออกหมายเรียกความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ได้แก่ นิธิป คงทอง จากเครือข่ายสลัมสี่ภาค จันทร (สงวนนามสกุล) จากกลุ่มบางกลอยคืนถิ่น และดวงพร (สงวนนามสกุล) จากภาคี Saveบางกลอย และมีพชร คำชำนาญ กองเลขานุการพีมูฟเป็นผู้ดำเนินรายการ

ผู้สังเกตการณ์การชุมนุมของ iLaw รายงานการเสวนาโดยระบุว่าอานนท์กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ว่ามาจากการใช้เเก้ปัญหาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใน 3 จังหวัดชายเเดนภาคใต้เมื่อ พ.ศ.2548 ซึ่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นกฎหมายชั่วคราวที่มีระยะเวลาประกาศใช้ได้ไม่เกิน 3 เดือน เมื่อเเก้ปัญหาเสร็จสิ้นเเล้วก็ต้องยกเลิกประกาศ หากเเก้ไขปัญหาไม่ได้ ก็ต้องขอมติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อต่ออายุ หาก ครม. ไม่อนุมัติ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก็จะไม่สามารถประกาศใช้ต่อไปได้

(จากซ้ายไปขวา) อานนท์ ชวาลาวัณย์, ดวงพร (สงวนนามสกุล), จันทร (สงวนนามสกุล), นิธิป คงทอง, ศรีไพร นนทรีย์ และพชร คำชำนาญ (ภาพโดย Chana La)
 

อานนท์กล่าวต่อไปอีกว่าในปี 2563 สถานการณ์โควิด-19 ที่มียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น มีการชุมนุมแฟลชม็อบกระจายหลายแห่ง ทำให้เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2563 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเเละบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เมื่อวันที่ 26 มี.ค. 2563 เป็นต้นมา จนกระทั่งในปัจจุบัน แม้ว่าจะไม่มีการชุมนุมและยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศลดลง นายกรัฐมนตรีก็ยังไม่ได้ประกาศยุติการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งใกล้ครบ 2 ปีแล้ว

อานนท์กล่าวว่าถ้อยคำที่ใช้ใน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นั้น ต่างจากถ้อยคำที่ใช้ในการประกาศห้ามชุมนุม โดยถ้อยคำของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กล่าวถึงการห้ามรวมตัวทำกิจกรรมในลักษณะเสี่ยงต่อโรค หมายความว่า หากเป็นกิจกรรรมที่เป็นการชุมนุมโดยไม่เสี่ยงต่อโรค มีการเว้นระยะห่าง การใส่หน้ากากอนามัย และปฏิบัติตนตามมาตรการของทางรัฐก็ยังสามารถชุมนุมได้ อย่างไรก็ตาม ตำรวจกลับใช้การดำเนินคดีความผิดฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาเป็นเงื่อนไขในการเข้าชุมนุม สร้างความเดือดร้อนรำคาญ เเละความยากลำบากให้เเก่ผู้เข้าเรียกร้อง

ดวงพรจากภาคี Saveบางกลอย ซึ่งเป็นเยาวชน เเละได้รับหมายเรียกคดีฝ่ายฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทั้งหมด 6 หมายเรียก กล่าวว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นเครื่องมือของรัฐบาลที่ใช้ในการควบคุมประชาชนเเละโจมตีผู้ชุมนุม เนื่องจากเมื่อได้รับหมายเรียกคดีก็ต้องเดินทางไปสถานีตำรวจและศาล ก่อให้เกิดภาระค่าใช้จ่ายทางการเดินทาง เเละต้องสละเวลาในการทำสิ่งต่างๆ อย่างมาก และส่งกระทบไปถึงครอบครัวของตน ดวงพรกล่าวต่อไปอีกว่าคลัสเตอร์โควิด-19 ไม่เคยเกิดจากผู้ชุมนุม ดังนั้น การส่งหมายเรียกในคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จึงเป็นความอัปยศของหน่วยงายตำรวจ

จันทร (สงวนนามสกุล) เป็นเยาวชนชาวจากบ้านบางกลอยและเป็นผู้เเปลเนื้อความคำพูดของมารดาในการชุมนุมเพราะมารดาของเธอไม่สามารถสื่อสารภาษาไทยได้ จันทรกล่าวถึงความรู้สึกในการรับหมายคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ว่า "รู้สึกเฉยๆ กับการโดนหมายเรียก เพราะว่ารู้อยู่เเล้วว่าต้องโดน ไม่ช้าก็เร็ว" จันทรกล่าวต่อไปว่าตนได้หมดความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมของประเทศนี้ เพราะเหตุการณ์ที่มารดาของตนโดนจับเพียงเพราะขึ้นปราศัยพูดเกี่ยวกับความปัญหา ความกดขี่ เเละการละเมิดสิทธิ ทำให้น้องของตนต้องถูกพรากไปสู่สถานสงเคราะห์ อย่างไรก็ตาม การที่ตนได้รับหมายเรียกก็ทำให้ลำบากในการเดินทางจากบางกลอยบนไปที่ อ.เเก่งกระจาน ซึ่งมีทั้งปัญหาในการเดินทางรวมถึงภาระค่าใช้จ่าย

นิธิปกล่าวว่าตนโดนหมายเรียก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่การชุมนุมของกลุ่มพีมูฟขณะเคลื่อนไปปักหลักที่หน้าสำนักงานองค์การสหประชาชาติ (UN) และรู้สึกไม่พอใจในกฎหมายฉบับนี้ใน 3 ประเด็น คือ ข้อเเรก รัฐบาลชุดนี้อ้างว่าตัวเอง เข้ามาเเบบถูกและชอบธรรม และออกกฎหมายปิดกั้นเสรีภาพของประชาชน ข้อสอง รัฐบาลไม่เข้าใจเรื่องสิทธิของประชาชน รวมถึงสิทธิมนุษยชน ข้อสุดท้าย รัฐบาลชุดนี้ไม่เข้าใจปัญหาและข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม อีกทั้งยังไม่มีความจริงใจในการเเก้ปัญหา นิธิปมองว่าการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ของรัฐบาลมีเจตนาใช้อำนาตเกินขอบเขต ทางพีมูฟจะติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด และจะยังคงชุมนุมต่อไปหากไม่มีการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

นอกจากนี้ ในการเสวนายังมีศรีไพร นนทรีย์ ตัวแทนกลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง เข้าร่วมพูดคุยด้วย โดยศรีไพรมาชุมนุมร่วมกับกลุ่มสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ อินเทอร์เนชันแนล แห่งประเทศไทย เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยนำงบกลางมาจ่ายชดเชยให้ลูกจ้างโรงงานบริลเลียนท์ที่ถูกลอยแพมานานเกือบ 1 ปี ซึ่งเป็นในช่วงเวลาเดียวกันกับการชุมนุมของกลุ่มพีมูฟ

ศรีไพรกล่าวว่าหลังเหตุการณ์รัฐประหาร ปัญหาของกลุ่มแรงงานถูกซุกไว้และไม่ได้รับความสนใจ ซึ่งตนได้ออกมาชุมนุมเรียกร้องและขึ้นปราศรัยบนเวทีต่างๆ รวมถึงการชุมนุมของสหภาพไทรอัมพ์ในวันนี้ และตนก็เป็นหนึ่งในคนที่ได้รับหมายเรียกฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินเช่นกัน ทั้งๆ ที่ทุกครั้งที่เข้าร่วมชุมนุม ตนปฏิบัติตามมาตรการของรัฐ ใส่หน้ากากหน้ามัย เว้นระยะห่าง และฉีดวัคซีนครบแล้ว แต่รัฐบาลกลับแจกหมายเรียกคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ให้ตน รวมถึงผู้ชุมนุมคนอื่นๆ

ผู้ดำเนินรายงานถามต่อไปยังอานนท์เกี่ยวกับประเด้น พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ว่ามีการเลือกปฏิบัติของผู้ชุมนุมกับตำรวจหรือไม่ และทำอย่างไรถึงจะสามารถยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ได้ ซึ่งอานนท์บอกว่าตนไม่ไม่สามารถตอบคำถามแรกแทนตำรวจซึ่งเป็นผู้ดูเเลการชุมนุมได้ เนื่องจากต้องให้ทางตำรวจแจ้งวิธีคิดว่า การชุมนุมแบบไหนทำได้ หรือการชุมนุมแบบไหนทำไม่ได้

อานนท์กล่าวต่อไปว่าจำนวนผู้ที่โดนหมายเรียกในคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คือ 1,415 คน รวมมากกว่า 603 คดี ทั้งหมดนี้เป็นข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งการแจ้งข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มากขนาดนี้ต้องใช้เจ้าหน้าที่เเละทรัพยากรจำนวนมากเพื่อดำเนินคดี หรือพิจารณาคดีในชั้นศาล อานนท์บอกว่าการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีช่องโหว่ทางกฎหมาย เพราะปกติเเล้ว หากการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่ไม่เป็นธรรรม ผู้ถูกบังคับใช้กฎหมายสามารถร้องเรียนผ่านทางศาลปกครองได้ เเต่ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กำหนดไว้ว่าเจ้าหน้าที่รัฐไม่ต้องขึ้นศาลปกครอง ดังนั้น การถ่วงดุลอำนาจของรัฐกับประชาชนจึงไม่สมดุล แต่ถึงกระนั้น ผู้ที่โดนหมายเรียกคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ต้องขึ้นสู้คดีในชั้นศาลอยู่ดี เช่น คดีการชุมนุมที่ท่าน้ำนนท์ ซึ่งต่อมาไม่ถูกสั่งฟ้อง เนื่องจากการชุมนุมในครั้งนั้น เป็นการชุมนุมในที่โล่ง ไม่เสี่ยงต่อการเเพร่ระบาด เเต่ก็มีบางการชุมนุม เช่น คาร์ม็อบ ที่นำโดยสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด ซึ่งเป็นการชุมนุมโดยใช้รถยนต์ส่วยตัว ไม่มีความเสี่ยงต่อโรคระบาด แต่ตำรวจผู้ใช้กฎหมายยื่นข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ให้แก่ผู้ร่วมชุมนุม แม้ว่าศาล.ึ่งเป็นระบบกระบวนการยุติธรรมในประเทศได้ตีความตามตัวบทกฎหมาย ยึดมั่นในความถูกต้อง แต่ถ้าถูกตำรวจตั้งข้อหาแล้วก็ต้องดำเนินตามขั้นตอน ซึ่งทำให้เกิดความลำบากและค่าใช้จ่ายที่ไม่ควรจะเกิดขึ้นแก่ประชาชน

สำหรับคำถามที่สองเรื่องการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นั้น อานนท์ตอบว่าการยกเลิกไม่ได้เป็นเพียงอำนาจของนายกฯ เพียงคนเดียว แต่เป็นมติร่วมของ ครม. ถ้าหมดระยะเวลาและต้องการต่ออายุก็ต้องได้รับความเห็นชอบจาก ครม. ดังนั้น เราอาจจะใช้วิธีดูนโยบายหรือกดดันพรรคการเมืองในการเลือกตั้งครั้งต่อไปว่ามีความคิดเห็นอย่างไรเกี่ยวกับ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ต้องการยกเลิกหรือมีความคิดเห็นในการเเก้ปัญหาอย่างไร

ขณะที่ดวงพรให้เหตุผลเรื่องความจำเป็นในการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ว่ากฎหมายนี้เปิดช่องให้ตีความได้กว้างเกินไป พร้อมตั้งคำถามเกี่ยวกับการใช้อำนาจภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ว่าเป็นการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ ดวงพรเห็นว่าจริงๆ แล้วมีกฎหมายหลายฉบับที่สามารถนำมาแก้ไข และดูแลสถานการณ์ได้ จึงเห็นควรควรให้ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

ส่วนจันทรกล่าวว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นกฎหมายที่กดขี่ สร้างความเดือนร้อนรำคาญให้กับประชาชน แม้กระทั่งเยาวชน
แต่ถึงจะใช้อย่างไร ตนก้ยืนยันจะสู้ต่อไป

"เสนอว่า ยกเลิกไปเลย ถ้ายกเลิกไม่ได้ก็ออกไป" นิธิป กล่าว

ด้านศรีไพกล่าวทิ้งท้ายการเสวนาว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อคุกคามกลุ่มคนคิดต่าง แต่กลุ่มที่เชียร์รัฐบาลไม่เคยถูกออกหมายเรียก ตนจึงขอให้ประชาชนออกมาเรียกร้องด้วยกันเพื่อยกเลิกกฎหมายนี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท