Skip to main content
sharethis

อัยการฟ้อง "รามิล" ศิลปิน Artn’t ด้วยม.112 เหตุระหว่างการแสดงเพื่อเรียกร้องสิทธิประกันตัวของผู้ต้องขังคดีการเมือง ใช้เท้าชี้พระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 อัยการอ้างใช้อวัยวะเบื้องต่ำเป็นการจาบจ้วงดูหมิ่น

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า เมื่อวานนี้ (28 ก.พ.2565) ที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ พนักงานอัยการมีนัดฟังคำสั่งฟ้องคดีของ ศิวัญชลี วิธญเสรีวัฒน์ หรือ วิธญา คลังนิล (ชื่อเดิม) หรือ “รามิล” นักศึกษาภาควิชาปรัชญาและศาสนา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสมาชิกกลุ่มศิลปิน Artn’t ต่อศาลในข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จากการใช้เท้าชี้ไปที่พระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 ระหว่างการแสดงศิลปะการแสดง (Performance art) เพื่อเรียกร้องสิทธิประกันตัวให้กับผู้ต้องขังคดีการเมือง

อัยการได้บรรยายฟ้องว่าเมื่อวันที่ 1 พ.ค.2564 เวลาประมาณ 18.00 น. ศิวัญชลีได้เลือกสถานที่ที่มีพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 และทำการแสดงสัญลักษณ์ด้วยป้ายข้อความ “คืนสิทธิประกันตัวให้ประชาชน” และปีนขึ้นไปบนป้ายชื่อมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และใช้น้ำสีแดงราดตัวโดยมุ่งให้น้ำสีแดงกระเด็นไปเลอะพระบรมฉายาลักษณ์และป้ายข้อความทรงพระเจริญที่อยู่เหนือป้ายชื่อมหาวิทยาลัย อีกทั้งยังแสดงกิริยาท่าทางต่างๆ และมีการนอนหงายใช้เท้าขวาชี้ไปที่พระบรมสัญลักษณ์ ซึ่งเท้าเป็นอวัยวะเบื้องต่ำเป็นการแสดงออกทางกิริยาท่าทางจาบจ้วงล่วงเกินดูหมิ่น หมิ่นประมาท และแสดงความอาฆาตมาดร้ายกษัตริย์ โดยการไม่ถวายพระเกียรติกษัตริย์ เป็นศูนย์รวมของศรัทธาและเคารพบูชาของประชาชนชาวไทย โดยประการที่น่าจะทำให้พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวเสื่อมเสียพระเกียรติ ถูกดูหมิ่น เกลียดชัง

ฟ้องยังบรรยายต่อว่าป้ายข้อความดังกล่าวนั้น เมื่อประชาชนทั่วไปพบเห็นก็เข้าใจได้ว่ากษัตริยืเป็นผู้สนับสนุนผู้นำรัฐบาลปัจจุบันให้กระทำการลิดรอนสิทธิเสรีภาพประชาชน ศิวัญชลีมีเจตนาทำให้ประชาชนเกิดความแตกแยกและเคลือบแคลงสงสัยในกษัตริย์และระบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพื่อก่อความไม่สงบในบ้านเมือง อันเป็นการทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ ทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพต่อพระมหากษัตริย์ซึ่งอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะละเมิดไม่ได้ และเป็นการทำด้วยวิธีอื่นใดอันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชม หรือแสดงกิริยาทั่วไปที่วิญญูชนพึงกระทำโดยสุจริต

อัยการยังคัดค้านการประกันตัวศิวัญชลีอีกด้วยโดยอ้างว่าคดีมีอัตราโทษสูง และเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงในราชอาณาจักร เกรงว่าจำเลยจะหลบหนีและไปก่อคดีเช่นเดียวกับคดีนี้ซ้ำอีก หลังจากอัยการยื่นฟ้องแล้วศิวัญชลีจึงถูกนำตัวไปขังใต้ถุนศาล

อย่างไรก็ตาม ทนายความได้ยื่นขอประกันตัวศิวัญชลีโดยใช้ตำแหน่งนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ของนายประกัน จากนั้นศาลเชียงใหม่มีคำสั่งอนุญาตให้เขาได้ประกันตัวระหว่างพิจารณาคดีและกำหนดวันนัดพร้อมเป็นวันที่ 25 ก.ค.2565 เวลา 9.00 น.

กิจกรรมที่ทำให้ศิวัญชลีถูกดำเนินคดีมาตรา 112 คดีแรก แฟ้มภาพ

ศูนย์ทนายความฯ ระบุอีกว่าคดีที่อัยการฟ้องศิวัญชลีวันนี้เป็นม.112 คดีที่สองของเขาแล้ว โดยก่อนหน้านี้เขาถูกฟ้องจากการแสดงงานศิลปะที่คล้ายกับธงชาติแต่ไม่มีสีน้ำเงินมาก่อนแล้ว นอกจากนั้นเขายังถูกดำเนินคดีจากการชุมนุมทางการเมืองอื่นๆ อีกจะมีคดีรวมแล้ว 9 คดี

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net