ศาลอุทธรณ์จำคุก 'บุปผา' ป่วยจิตเภท 78 เดือน เหตุพาดพิงสถาบันฯ อ้างทำเสื่อมเสีย

ศาลอุทธรณ์พิพากษาจำคุก ‘บุปผา’ ผู้ป่วยจิตเภทโพสต์พาดพิงพระบรมวงศานุวงศ์ ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 78 เดือน แต่ให้รอการลงโทษ 3 ปี โดยเห็นว่าแม้อาการป่วยทางจิตทำให้ขาดเจตนาทำผิดฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ แต่มีเจตนานำเข้าข้อมูลเท็จทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติ และสร้างความเสียหายต่อประชาชนที่เคารพเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์

1 มี.ค.2565  เวลา 10.00 น. ห้องพิจารณาคดีที่ 14 ศาลจังหวัดพัทยาอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีที่ ‘บุปผา’ (นามสมมติ) ผู้ป่วยจิตเวชที่ถูกฟ้องข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ โดยภูชิชย์ จิตรบุญ ผู้พิพากษาสั่งให้อ่านคำพิพากษาเป็นการลับ อนุญาตเฉพาะจำเลยและผู้รับมอบอำนาจจากทนายความเข้าฟังเท่านั้น โดยให้เหตุผลว่ากระทบต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน

ติดคุกฟรี 2 ปี

คดีนี้ อัยการศาลมณฑลทหารบกที่ 14 จ.ชลบุรี ฟ้อง ‘บุปผา’ ช่วงกลางปี 2559 จากการโพสต์เฟซบุ๊ก 13 ข้อความ ระหว่างวันที่ 25 ก.พ. 2558 – 19 พ.ค. 2559 พาดพิงถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9, สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมาร (พระยศขณะนั้น), สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี,ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี, พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ, พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา, และพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์

‘บุปผา’ ถูกขังในเรือนจำถึง 2 ปี ระหว่างรอกระบวนการตรวจวินิจฉัยอาการทางจิต เพื่อประเมินความสามารถในการต่อสู้คดีในศาลทหาร ก่อนคดีจะถูกโอนมายังศาลจังหวัดพัทยาเมื่อปี 2562 แม้จะพิจารณาคดีลับ แต่ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาโดยเปิดเผย

ศาลชั้นต้น พิพากษายกฟ้องในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เนื่องจากจำเลยป่วยทางจิต ขาดเจตนาดูหมิ่น หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ แต่ลงโทษตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ทั้ง 13 ข้อความ จำคุกข้อความละ 6 เดือน รวมเป็น 78 เดือน โทษจำคุกให้รอการลงโทษ 3 ปี และให้รักษาอาการป่วยอย่างต่อเนื่อง

ศาลอุทธรณ์ไม่วินิจฉัยประเด็น 112 อ้างโจทก์-จำเลยไม่อุทธรณ์

ในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไม่วินิจฉัยประเด็นประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยให้เหตุผลว่า โจทก์และจำเลยไม่ได้โต้แย้งในประเด็นดังกล่าว รวมถึงการวินิจฉัยไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง

ทั้งนี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยคำร้องอุทธรณ์ของจำเลย แย้งประเด็นที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า สมาชิกของราชวงศ์ ได้แก่ สมเด็จพระเทพฯ, เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ฯ, ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ฯ, พระองค์เจ้าโสมสวลีฯ, พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภาฯ และพระองค์เจ้าสิริวัณณวรีฯ ทรงอยู่ในความหมายของคําว่า “รัชทายาท” จึงได้รับการคุ้มครองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยฝ่ายจำเลยเห็นว่า “รัชทายาท” ต้องเป็นบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์ และต้องมีคุณสมบัติและเงื่อน ไขตามที่กำหนดไว้ในกฎมณเฑียรบาล ซึ่งมีได้เพียงบุคคลเดียว สอดคล้องกับความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องที่ 281/232

กษัตริย์กู้ชาติผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้

สำหรับประเด็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ศาลอุทธรณ์ระบุว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยเป็นผู้ป่วยจิตเภท มีอาการหลงผิดเกี่ยวกับราชวงศ์ จึงขาดเจตนาในการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ไม่อาจลงโทษฐานนำเข้าข้อมูลอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาในหมวดความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตามมาตรา 14 (3) ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ

อย่างไรก็ตาม ศาลอุทธรณ์ระบุในคำพิพากษาว่า “สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันหลักของประเทศชาติที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานในการป้องกันประเทศและรักษาเอกราช นับตั้งแต่อดีตพระมหากษัตริย์ทรงอยู่ในฐานะจอมทัพ เป็นผู้นำในการทำสงครามเพื่อป้องกันประเทศ ดังเช่น ในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช หรือสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงประกาศอิสภาพจากพม่าและทำสงครามเพื่อสร้างความมั่นคงของประเทศ หรือแม้แต่ในสมัยที่ประเทศไทยต้องเผชิญภัยคุกคามจากจักวรรดินิยมตะวันตก ทั้งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงเป็นผู้นำในการดำเนินนโยบายต่างๆ เพื่อรักษาเอกราชของชาติ โดยใช้นโยบายทางการทูตเพื่อสร้างความสัมพันธ์กับราชสำนักต่างชาติเมื่อเผชิญกับความขัดแย้งกับชาติตะวันตก

“ในการทะนุบำรุง บำบัดทุกข์ บำรุงสุข เพื่อให้เกิดประโยชน์สุขและความเจริญแก่สังคม ได้ทรงริเริ่มโครงการต่างๆ ทำให้เกิดการพัฒนาขึ้นทังในด้านเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ทรงเป็นผู้นำในด้านการบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ต่างๆ ด้วยการพระราชทานทุนทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อกิจการสาธารณกุศลอยู่เป็นนิจ ได้แก่ พระราชทานทุนการศึกษา สงเคราะห์คนยากจน คนพิการ เจ็บป่วย และชรา เมื่อราษฎรประสบภัยธรรมชาติ หรือความทุกข์ยาก

“ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์และส่งเสริมการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ทรงเป็นผู้นำทำเป็นแบบอย่างที่ดีของประชาชนและหน่วยราชการนำไปปฏิบัติก่อให้เกิดประโยชน์ในทางการพัฒนาชาติยิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้ สถาบันพระมหากษัตริย์จึงเป็นสถาบันที่อยู่ในหัวใจของประชาชนไทยและเป็นสถาบันที่เคารพ สักการะเหนือเกล้าเหนือกระหม่อมของปวงชนชาวไทยทุกๆ คน ผู้ใดหรือใครจะมาล่วงเกินหรือล่วงละเมิดในทางหนึ่งทางใดมิได้ ไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อม...”

จำเลยป่วยทางจิต ขาดเจตนา 112 แต่มีเจตนาบิดเบือนข้อเท็จจริง

คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ยังระบุอีกว่า ประชาชนมีหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่ข้อความของจำเลยที่โพสต์พาดพิงพระบรมวงศานุวงศ์อันเป็นส่วนหนึ่งของสถาบันพระมหากษัตริย์แสดงให้เห็นว่าจำเลยรู้สำนึกในการกระทำของตน จึงสามารถพิมพ์ข้อความและนำภาพเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ โดยเล็งเห็นผลว่าเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงหรือนำลงข้อมูลอันเป็นเท็จในประการที่น่าจะทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติ ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพสักการะ อันเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น หรือประชาชนชาวไทยที่ให้ความเคารพสักการะและยกย่องเทิดทูนไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์เหนือเกล้าเหนือกระหม่อมตลอดมาตั้งแต่โบราณกาล

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (1) เดิมที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) เป็นการปรับบทมาตราที่คลาดเคลื่อนไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงและกฎหมาย คงโทษจำคุกตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ข้อความละ 6 เดือน รวม 78 เดือน โทษจำคุกรอการลงโทษ 3 ปี ตามที่ศาลชั้นพิพากษา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท