Skip to main content
sharethis

‘นุก’ ชูเกียรติ เเสงวงค์ นักกิจกรรมชาว จ.สมุทรปราการ ที่มักแต่งตัวไปร่วมชุมนุมด้วยเสื้อครอปเอวลอย และกางเกงวอร์ม พร้อมรอยสักเต็มสองแขน เสมือนเป็นเครื่องแบบของเขา ถูกคุมขังจากข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ตั้งแต่ 23 มี.ค. 2564 หลังเข้าร่วมชุมนุมในวันที่ 20 มี.ค. 2564 หรือ #ม็อบ20มีนา ที่จัดโดยกลุ่ม 'REDEM'

ศาลไม่ให้ประกันตัวนุก โดยให้เหตุผลว่า เพราะเกรงจะกระทำความผิดซ้ำ ก่อนกรมราชทัณฑ์จะยืนยันว่าเขาติดโควิด-19 ในเรือนจำ เมื่อวันที่ 24 เม.ย. 2564 และถูกส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ ทั้งยังไม่เคยได้รับสิทธิในการประกันตัว

ประชาไทมีโอกาสพูดคุยกับนุกก่อนที่เขาจะถูกควบคุมตัว เพื่อทำความรู้จัก ทำความเข้าใจว่า อะไรทำให้เขาตัดสินใจเคลื่อนไหวทางการเมือง ไปจนถึงสิ่งที่เขาต้องเผชิญในฐานะ ‘จัสตินไทยแลนด์’

ทำไมต้องจัสติน?

30 ก.ย. 2563 ประชาไทเดินทางไปพบ ‘นุก’ ชูเกียรติ แสงวงค์ ที่ไม่ได้มาในชุดเสื้อครอปเอวลอยและกางเกงวอร์มที่เคยคุ้นตา แต่ยืนยันว่ารอยสักนั้นเป็นของจริง เพราะตัวเขาเองประกอบอาชีพช่างสัก

 

นุกเริ่มตอบคำถามว่า เลือกแต่งตัวแบบนี้จากบริบทของการชุมนุม จากสิ่งที่น้องๆ และคนในสังคมไทยกำลังพูดถึง เป็นการเปรียบเทียบให้คนได้นึกถึงกระแสในโลกออนไลน์

“ผมบอกเลยว่า ไม่แพงนะ คิดง่ายๆ คือ หลักร้อยบาทเอง ทั้งเสื้อและกางเกงเลย ผมก็จะสั่งจากเว็บออนไลน์ให้ส่งมา เราคิดว่ามันใกล้เคียงกับที่จัสติน (จัสติน บีเบอร์ นักร้องชาวแคนาดา) เขาแต่ง” นุกเล่าถึงชุดที่กลายเป็นภาพจำประจำตัว พร้อมเปิดเผยในวันนั้นว่า จริงๆ แล้วเขามีชุดแบบนี้แค่ชุดเดียว แต่ถึงจะมีแค่ชุดเดียวก็จัดการซักตากได้ทันแม้เป็นฤดูฝน

“ตัวผมเองไม่ได้ไปชุมนุมทุกม็อบหรือทุกที่ เพราะผมก็มีภาระหน้าที่ มีงานด้วย ผมไม่ได้มีต้นทุน มีทรัพย์ หรือมีคนคอยสนับสนุน สิ่งที่ผมออกไปต่อสู้เพื่อออกไปถามหาความถูกต้อง แล้วเรียกร้องสิ่งที่พึงจะมีในบ้านเรา” นุกให้เหตุผลไว้เช่นนั้น

อย่างไรก็ตาม เมื่อถามว่าทำไมเขาถึงกล้าใส่เสื้อครอปเอวลอยออกไปในที่สาธารณะ นุกตอบว่า “ถึงจะไม่เป็นจัสติน ไม่ว่าเป็นชุดอะไรผมก็กล้าใส่นะ เพราะเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์” เขาย้ำว่า สิ่งที่ตัวเขาและเพื่อนกำลังเรียกร้อง กำลังต่อสู้อยู่ มีส่วนที่เกี่ยวพัน เกี่ยวโยงกับสิ่งที่ผู้คนเรียกร้อง และสังคมไทยควรจะเปิดกว้างในเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐานตามระบอบประชาธิปไตย รวมถึงไม่อยากให้คนตีค่ากันจากเพียงภาพลักษณ์ ว่าคนที่แต่งตัวแบบนี้ มีรอยสักแบบนี้ เป็นคนไม่ดี

จุดเริ่มต้นสนใจการเมือง

"ปกติไม่เคยยุ่งเกี่ยวกับการเมือง แต่ด้วยอายุตั้งแต่เด็กๆ ผมก็เคยโดนผลกระทบจากการเมืองหรือว่าผลกระทบจากความไม่ถูกต้องในบ้านเรา ผมเลยคิดว่าผมต้องทำอะไรสักอย่าง แล้วในประเทศไทยเองมันยังมีความกลัวอะไรหลายๆ อย่างที่ทำให้ผมคิดแล้วคิดอีก ต้องรวบรวมข้อมูลหาข้อเท็จจริงก่อนที่จะไปแสดงจุดยืนหรือพูดอะไรบางอย่าง เพราะว่ามันก็เกี่ยวพันกับข้อกฎหมายด้วย" นุกเผย

"ผมโดนเวนคืนที่โดยไม่ได้รับสิ่งตอบแทน โดนไล่ที่ ทำให้ผมกับครอบครัวต้องย้ายออกจากในตัวจังหวัด เรามองเห็นอะไรหลายๆ อย่างที่มันผิดมาตลอด แล้วเขาก็ยังทำกันอยู่ คือการคอร์รัปชั่น” เขาเล่าถึงผลกระทบครั้งใหญ่ในวัยเด็กที่ทำให้เริ่มสนใจการเมือง ก่อนจะเล่าต่ออย่างระมัดระวังว่า การคอร์รัปชั่นนี่เองที่ดึงให้เขายิ่งค้นลึกลงไปว่า พื้นฐานการคอร์รัปชั่นมาจากไหน และทำให้เขายั้งใจยั้งคิดอยู่นานก่อนจะออกไปแสดงความคิดเห็น

แต่ท้ายที่สุดนุกก็ตัดสินใจแสดงออกทางการเมือง ด้วยความเชื่อว่า “ประเทศไทยควรที่จะพัฒนาได้”

“ยุคของทักษิณมันก็ดีระดับนึง ทำให้ประชาชนลืมตาอ้าปากได้ ทำให้ครอบครัวผมมีเงินพอกินพอใช้ ทำให้เราได้รับการศึกษา ทำให้เราได้รับสิ่งใหม่ๆ เข้ามา แต่พอหลังๆ มา เกิดการแบ่งพรรค แบ่งพวก แบ่งสี เกิดการนองเลือด ทำให้เราย้อนกลับไปถึงอดีตเมื่อครั้งที่ทุกคนเดือดร้อนและออกมาเรียกร้อง มักจะมีการเสียชีวิตเกิดขึ้น ซึ่งผมคิดว่ามันไม่โอเคสำหรับสังคม เป็นสิ่งที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น” เขาเล่า

“ด้วยตัวของผมเอง ผลกระทบมันเกิดแน่นอนเนื่องจากครอบครัวผมก็ล้ม ธุรกิจโดนผลกระทบจากพิษเศรษฐกิจของการบริหารของรัฐบาลชุดนี้ หลังเกิดการรัฐประหารเราเห็นสิ่งที่เปลี่ยนไปเลย ประเทศเรามันหยุด เกิดการแช่แข็ง อยู่ในระบอบที่ทหารเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมือง แล้วจากทหารสู่นักการเมือง ตามหลักการบริหารหรือในโลกของความเป็นจริง มันหมดยุคที่ทหารจะเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมือง ประชาชนไม่มีปาก ไม่มีเสียง ไม่สามารถแสดงความคิดเห็นได้ เมื่อไรที่มีคนออกมาแสดงความคิดเห็นก็จะถูกดำเนินคดี ตามกฎหมายที่พวกเขาเขียนขึ้นมา” นุกย้อนถึงสาเหตุที่ทำให้เขาออกมาร่วมแสดงออกทางการเมืองรอบนี้

อยากเห็นประเทศดีกว่านี้

“ตัวผมเองหรือหลายๆ คนที่ออกไปชุมนุมต้องการเห็นประเทศไทยพัฒนาไปในทางที่ดี ไม่ใช่พัฒนาในทางที่แย่ลง พวกเราต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เราต่อสู้เพื่อประเทศชาติ ต่อสู้เพื่อคนในชาติของเรา เราต่อสู้เพื่อปกป้องแม้กระทั่งตัวสถาบันเอง แม้กระทั่งตัวข้าราชการเอง” นุกขยายความต่อถึงความต้องการที่ทำให้ออกไปร่วมชุมนุม หลังจากที่เฝ้าเห็นคนถูกดำเนินคดีในยุค คสช.

เขาเชื่อว่า “เมื่อใดก็ตามที่เราออกมาเรียกร้องในสิ่งที่ถูกต้อง มาช่วยกันตรวจสอบ การกระทำที่ผิดกฎหมาย หรือความเหลื่อมล้ำในสังคมจะลดน้อยลง ผมคิดว่ามันต้องขับเคลื่อนไปพร้อมๆ กัน พอเราศึกษาเข้าไปแล้ว 10 ข้อของน้องๆ หรือ 3 ข้อที่เราเรียกร้องไป นั่นคือปัญหาจริงๆ ที่มันอยู่กับประเทศไทยมานานมาก สมควรที่จะเปลี่ยนแปลง สมควรที่จะปรับให้สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย ให้อยู่ภายใต้กฎหมายที่มันควรจะเป็นตามหลักสากล”

ความหวังขั้นต่ำที่สุด

เมื่อถามว่า อย่างน้อยที่สุด เขาหวังอะไรจากการออกไปชุมนุม นุกตอบอย่างชัดเจนว่า ความเท่าเทียมและเสรีภาพในการพูดและการแสดงออก เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ที่กำลังผุดขึ้นมาเรื่อยๆ

แต่ขณะเดียวกัน นุกเองก็ไม่แน่ใจว่าความหวังขั้นต่ำที่สุดของเขาจะได้รับการตอบสนองหรือไม่ 

“ผมก็จับจุดไม่ได้ว่า สิ่งที่เราจะได้คืออะไร แม้เราจะออกไปกดดันรัฐบาล รัฐบาลก็ยังไม่ฟังเสียงของประชาชน มันเป็นการต่อสู้ที่... โอ้โห! มันยาวนานครับ แล้วก็ไม่รู้ว่าสิ่งที่เราเรียกร้องไปจะได้กลับมามากน้อยแค่ไหน มันก็เป็นอะไรที่พูดยากเหมือนกันว่าจะได้อะไรกลับมาบ้าง เอาเป็นว่า รัฐบาลชุดนี้ไม่ควรอยู่ ประชาชนต้องได้สิทธิตรงนี้ ในการเลือกผู้แทนคนใหม่เข้าไปนั่งทำหน้าที่แทนรัฐบาลชุดนี้ หรือสามารถเลือกรัฐบาลชุดใหม่เข้าไปทำงานแทนพวกเขาได้” นุกกล่าว

การชุมนุมครั้งไหนสนุกที่สุด?

“ผมคิดว่า วันที่ 19-20 ก.ย. สนุกที่สุด ผมไม่ได้นอนเลยนะวันนั้น อยู่หลังเวทีไม่ได้นอนเลย มันก็ระแวงไปหมด ด้วยบทเรียนที่ถอดมาจากคนเสื้อแดง เขาบอกปัญหาต่างๆ ว่ามันอาจจะเกิดอะไรแบบนี้”

นุกยังบอกอีกว่า ส่วนที่เขาชื่นชอบ คือ มีคนหลากหลายกลุ่มที่ออกมาร่วมเรียกร้อง หรือแสดงความเห็นถึงสิ่งที่อยากให้เกิดในประเทศไทย เช่น กลุ่มสุราปลดแอก ซึ่งในประเทศไทยยังถูกผูกขาดโดยนายทุนยักษ์ใหญ่ และกลุ่มพนักงานบริการ ที่ออกมาเรียกร้องให้ยกเลิก พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณ พ.ศ. 2539  เป็นต้น

ชูเกียรติ แสงวงค์ (คนนั่งที่ 2 จากซ้าย) ในการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร

ชูเกียรติ แสงวงค์ (คนนั่งที่ 2 จากซ้าย) ในการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร

ราคาของการออกไปชุมนุม

ปี 2563 ม็อบเดต้าไทยแลนด์รวบรวมสถิติการชุมนุมจากทั่วประเทศได้ถึง 779 ครั้ง หรือโดยเฉลี่ยในหนึ่งวันอาจมีการชุมนุมถึง 2 ครั้ง ซึ่งนุกยอมรับว่าเขาไม่ได้เข้าร่วมทุกการชุมนุม

“ผมจะรู้จักกับน้องๆ พวกแกนนำ ก็คุยกันตลอด ด้วยทุนทรัพย์เรา เราก็ไม่ได้มีอะไรขนาดนั้น เราเลือกงานที่สำคัญๆ จริงๆ มันก็เซฟตัวผมเองด้วย ผมออกไปผมก็โดนคดี ไม่ใช่ว่าไม่โดน เราไม่ได้มีเงินมากขนาดนั้นที่จะไปสู้คดี เราก็ไม่รู้ว่าถ้าเราออกไปบ่อยๆ แล้วจะโดนอะไรบ้าง ปัจจุบันนี้แค่ออกไปไม่บ่อยมาก”

แต่ถึงอย่างนั้น นุกก็ไม่พ้นถูกคุกคามเช่นที่นักกิจกรรมหลายคนเผชิญ 

“ครอบครัวผมเองก็โดนคุกคามจากทางรัฐ โดนข่มขู่ เขาาจะไม่มาหาเราแต่จะไปหาบุคคลรอบข้าง แล้วให้บุคคลรอบข้างมาขู่เราอีกทีหนึ่งว่า การที่เราออกไปแสดงออกจะโดนอะไรยังไงบ้าง ผมว่ามันไม่โอเค มันควรจะเลิกได้แล้ว มันไม่มีความปลอดภัยในครอบครัวผมด้วย”

นุกให้รายละเอียดเพิ่มว่า เขาเหมือนมีผู้ติดตาม เป็นเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบบ้าง เป็นตำรวจสันติบาลบ้าง บางทีก็เป็นฝ่ายปกครองจังหวัด หรือ กอ.รมน.

“พวกนี้จะคอยตามติดเราอยู่แล้ว เขาาจะดูบริบทการใช้ชีวิตของเราว่าไปไหน ทำอะไร ครอบครัวเราทำอะไร เขาจะมีข้อมูลเราหมด พวกนี้เขาสามารถค้นหาข้อมูลเราได้อยู่แล้ว เพราะทุกครั้งที่เราออกไปชุมนุม เขาก็จะถ่ายรูปไว้ มีข้อมูลของเรา แล้วมันก็เกิดการคุกคาม เขาทำเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น มาสอบถามข้อมูลเรา ออกแนวข่มขู่ซะมากกว่าที่จะมาปกป้องเรา”

 

“อย่างล่าสุดที่ผมคุยกับพ่อ พ่อจะบอกผมว่า ถ้าเราไปพูดถึงข้างบนมากเกินไป ระวังนะ เราก็เห็นหลายๆ เคสแล้วว่าโดนอะไรบ้าง อันนี้เขาก็เตือนมาเพราะได้ยินมาจากคนกลุ่มนี้ ทุกครั้งที่เขา (พ่อ) มาพูดกับผม คือ มีบุคคลไปหาเขาที่บริษัท ที่บางปู ไปสอบถามหาผมบ้าง มาหาที่ร้านบ้าง ผลกระทบก็เกิดกับที่ร้าน เอากฎหมายเอาอะไรมาพยายามคุกคามเราทุกทาง ทำให้เกิดผลกระทบกับเราในการใช้ชีวิตประจำวัน มันคือการข่มขู่ทางอ้อมว่า ถ้าเราไปยุ่งมากๆ ครอบครัวเราจะเป็นอะไร จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง บางคนอาจจะเกิดผลกระทบกับชีวิต บางคนอาจจะเกิดผลกระทบกับธุรกิจ

“พ่อผมเปิดร้านอาหาร เปิดบริษัท บางทีมันก็เช็คประวัติง่ายๆ อยู่แล้ว ร้านผมก็ไม่ได้อยู่ไกลเลย ก็อยู่หน้าคอนโด ก่อนวันที่ผมไปทำกิจกรรมเขาก็ยังมานั่งอยู่หน้าคอนโด ผมก็จะอาศัยยาม ก็ถามยามว่า ถ้ามีใครมาถามหาก็ให้รายงานเราก่อน เขาก็จะบอกว่ามีคนมาเฝ้าเราตั้งแต่เวลานี้ถึงเวลานี้

"พ่อก็จะบอกว่า มีคนมาหาพ่อ มาบอกพ่อว่าอยากให้ถอย ไม่อยากให้ออกไปประท้วง หรือไม่อยากให้เราแสดงเชิงสัญลักษณ์ในลักษณะที่พาดพิงไปถึงตัวสถาบันเอง มันเกิดการข่มขู่พ่อมากๆ เลย ที่พ่อชี้แจงมา คือ มีโอกาสที่เขาจะเอากฎหมายมาเล่นงานเรา เขาจะปั่นป่วนธุรกิจเราเมื่อไรก็ได้ เขาจะปิดร้านเราเมื่อไรก็ได้” นุกเล่า

เขาบอกว่าเหตุการณ์เหล่านี้เริ่มตั้งแต่เขาออกมาเคลื่อนไหว และเริ่มเป็นที่รู้จักของสื่อ โดยเริ่มจากงานชุมนุมที่ จ.สมุทรปราการ ซึ่งเหมือนเป็นการเปิดตัวจัสตินไทยแลนด์ จากนั้นคนก็เริ่มจับตามองว่า ทำไมเขาถึงกล้าออกมาแสดงความคิดเห็น แสดงจุดยืน และทำไมถึงกล้าที่จะแต่งตัว แต่ถึงอย่างนั้น นุกก็ยังยืนยันที่ออกจะไปชุมนุม เพราะคิดว่าทำในสิ่งที่ถูกต้อง และเรียกร้องในสิ่งที่ควรจะเปลี่ยนแปลง

ขอร้องอย่างเดียว

เมื่อนุกยืนยันที่จะออกไปร่วมชุมนุมในชุดเก่งของเขา ผลที่ตามมานอกจากการคุกคามที่ลามไปถึงครอบครัว คือ การถูกเบลอหายไปทั้งตัวในภาพข่าวหลายสำนัก แม้ช่วงแรกเขายอมว่า งงๆ และไม่ได้ซีเรียสมากนัก แต่เมื่อถูกเบลอไปทั้งตัวในภาพข่าวการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ที่สนามหลวง เขาก็อยากจะขอร้องต่อสื่อว่า อย่าเบลอภาพเขา

“ขอร้องอย่างเดียวครับ อย่าเบลอภาพผมเท่านั้นเอง เปิดพื้นที่ในการแสดงจุดยืน ในการแสดงความคิดเห็น หรือในการออกมาแสดงตัวตนของผม ออกมาแสดงว่าไม่ว่าจะเป็นใครก็ช่าง ก็เห็นเคสแล้วว่า แค่ผมออกมาแต่งตัวเป็นจัสตินยังเบลอภาพผมเลย แล้วถ้าคนอื่นอยากแต่งตัวแนวๆ คล้ายจัสตินจะโดนเบลอภาพไหม แล้วคุณต้องมีเหตุผลเพียงพอว่าทำไมถึงเบลอภาพผม อันนี้คุณเบลอภาพโดยไม่มีเหตุผลให้กับผม ซึ่งคนอื่นคุณไม่เบลอ แต่มาเบลอผมแค่คนเดียว ผมทำอะไรผิด

“ในสังคมไทย คนที่ถูกเบลอภาพคือฆาตกร เหมือนผมไปฆ่าคนตาย เหมือนผมเป็นผู้ผิดกฎหมายร้ายแรง ต้องเบลอหน้าอะไรขนาดนั้น อันนี้คือไม่เห็นอะไรเลย เห็นเป็นเงาๆ บางคนบอกผมกลายเป็นวิญญาณ” นุกกล่าวทิ้งท้าย

 
สำหรับ ทิพากร เส้นเกษ ผู้รายงานชิ้นนี้ เป็นนักศึกษา นิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ปัจจุบันฝึกงานกับกองบรรณาธิการข่าวประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net