'บาส' หนุ่มเชียงรายอดข้าวหน้าศาลได้ประกันคดี 112 จากการโพสต์เฟซบุ๊ก 25 โพสต์

ศาลจังหวัดเชียงรายให้ประกันตัว 'บาส' มงคล ถิระโคตร โดยใช้หลักประกัน 1.5 แสนบาท หลังถูกจับขณะอดอาหารเรียกร้องสิทธิประกันตัวหน้าศาลอาญา และนำตัวไปแจ้งข้อหามาตรา 112 ที่ สภ.เมืองเชียงราย จากการโพสต์เฟซบุ๊ก 25 โพสต์

16 เม.ย. 2564 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า เวลา 09.30 น. ตำรวจพาตัวมงคลจาก สภ.เมืองเชียงราย ไปยังศาลจังหวัดเชียงราย เพื่อขอฝากขังระหว่างการสอบสวนในชั้นตำรวจ ขณะที่ทนายความยื่นคัดค้านฝากขัง โดยผู้ต้องหาถูกคุมตัวรออยู่ในรถคุมขังของตำรวจ ไม่นำตัวลงมาในอาคารศาล โดยอ้างถึงสถานการณ์โควิด-19

ต่อมา 14.39 น. ศาลจังหวัดเชียงรายมีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังมงคลระหว่างการสอบสวนของตำรวจ ในข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ โดยให้เหตุผลว่า น่าเชื่อว่าคดีมีความร้ายแรง อัตราโทษสูง พนักงานสอบสวนมีอำนาจในการขอฝากขัง คำร้องคัดค้านของทนายความยังไม่มีน้ำหนักรับฟังได้เพียงพอ ทนายความจึงยื่นคำร้องขอประกันตัว

จากนั้น 15.55 น. ศาลจังหวัดเชียงรายอนุญาตให้ประกันตัวมงคล โดยวางหลักทรัพย์ประกัน 1.5 แสนบาท จากกองทุนราษฎรประสงค์เป็นหลักประกัน

ทั้งนี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนยังให้ข้อมูลเพิ่มอีกว่า มงคลเป็นนักกิจกรรมใน จ.เชียงราย ประกอบอาชีพค้าขายเสื้อผ้าออนไลน์ และเดินทางจาก จ.เชียงราย มาอดอาหารหน้าศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ตั้งแต่ 12 เม.ย. 2564

หลังอดอาหารเข้าสู่วันที่ 3 ในช่วงเวลาประมาณ 13.00 น. ของวันที่ 14 เม.ย. 2564 เจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สน.พหลโยธิน ทั้งในและนอกเครื่องแบบเข้าจับกุมตัวมงคล โดยแสดงหมายจับของศาลจังหวัดเชียงราย และระบุว่าได้รับการประสานงานมาจาก พ.ต.อ.มานพ เสนากูล รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเชียงราย

หมายจับเลขที่ 42/2564 ลงวันที่ 14 เม.ย. 2564 มี พ.ต.ท.ภาสกร สุขะ รองผู้กำกับสอบสวน สภ.เมืองเชียงราย เป็นผู้ร้องขอออกหมาย ระบุข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และข้อหานำเข้าและเผยแพร่หรือส่งต่อ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) โดยอ้างเหตุในการขอออกหมายจับว่ามงคลได้หรือน่าจะได้กระทำความผิดอาญา ซึ่งมีอัตราโทษสูงเกินสามปี

จากนั้น ตำรวจได้นำตัวมงคลขึ้นรถควบคุมผู้ต้องหาไปยัง สน.พหลโยธิน เพื่อจัดทำบันทึกการจับกุม โดยมงคลให้การปฏิเสธข้อกล่าวหาในชั้นจับกุม

จนเวลาประมาณ 14.00 น. ตำรวจนำตัวมงคลขึ้นรถตู้ของ สน.พหลโยธิน เพื่อเดินทางไปส่งตัวที่ จ.เชียงราย ต่อมาทราบว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สภ.เมืองเชียงราย นำรถมารับตัวมงคลที่บริเวณ จ.นครสวรรค์ ก่อนนำตัวไปถึง สภ.เมืองเชียงราย ประมาณ 00.45 น. พนักงานสอบสวนระบุว่าจะแจ้งข้อกล่าวหาและสอบปากคำมงคลในช่วงบ่ายวันถัดไป

ทั้งนี้มงคลยังยืนยันการอดอาหารต่อไป แม้จะถูกจับกุมก็ตาม โดยมีประชาชนที่ติดตามข่าวสาร ได้นำน้ำดื่ม เกลือแร่ และนม มาฝากให้เขาระหว่างถูกควบคุมตัวในห้องขังของ สภ.เมืองเชียงราย

เช้าวันที่ 15 เม.ย. 2564 เวลาประมาณ 09.00 น. ทนายความของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเดินทางไปถึง สภ.เมืองเชียงราย พบว่า ตำรวจนำตัวมงคลไปจากห้องควบคุมผู้ต้องหาตั้งแต่ช่วงเช้า ก่อนจะพากลับมาควบคุมตัวในห้องขังของ สภ.เมืองเชียงราย เวลาประมาณ 09.20 น. เจ้าหน้าที่ระบุว่า นำตัวมงคลไปตรวจค้นบ้านพักใน จ.เชียงราย โดยแสดงหมายค้นต่อญาติของมงคลแล้ว แต่มงคลระบุว่าตนไม่ได้เห็นหมายค้นดังกล่าว และไม่ได้ถูกนำตัวลงจากรถของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อร่วมในการตรวจค้น ทำให้ไม่ทราบว่ามีการตรวจยึดทรัพย์สินหรือสิ่งของใดหรือไม่

เวลาประมาณ 13.00 น. พ.ต.ท.ภาสกร สุขะ รองผู้กำกับสอบสวน สภ.เมืองเชียงราย ได้นำตัวมงคลออกมาแจ้งข้อกล่าวหาและสอบปากคำ 

ก่อนการสอบปากคำ ตำรวจทำบันทึกการตรวจยึด โดยมีการตรวจยึดโทรศัพท์มือถือของมงคลจำนวน 1 เครื่อง ตั้งแต่การจับกุมตัวที่กรุงเทพฯ แล้ว มงคลได้ยินยอมให้เจ้าหน้าที่ตรวจยึด แต่ปฏิเสธไม่ให้เข้าถึงข้อมูลในเครื่องมือสื่อสาร โดยได้ลงชื่อในบันทึกตรวจยึดว่า “ไม่ยอมรับมาตรา 112 ที่ป่าเถื่อน”  

ขณะเดียวกัน ยังทราบเพิ่มเติมว่าในการตรวจค้นบ้านพักของมงคล เจ้าหน้าที่จากกองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดเชียงราย ตรวจยึดสิ่งของ ได้แก่ กระดาษเขียนข้อความ, แถลงการณ์ของราษฎร, ปลอกแขวนลายชูสามนิ้ว และริบบิ้นสีแดง โดยให้มารดาของมงคลเป็นผู้ลงชื่อรับทราบในเอกสารการตรวจยึดดังกล่าว และไม่ทราบแน่ชัดว่าสิ่งของที่ตรวจยึดดังกล่าวเกี่ยวข้องกับพฤติการณ์ในคดีอย่างไร

พ.ต.ท.ภาสกร แจ้ง 2 ข้อกล่าวหาต่อมงคล ได้แก่ ข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3)

ตำรวจได้ระบุพฤติการณ์ข้อกล่าวหาว่ามาจากการโพสต์ภาพและคลิปวิดีโอ แชร์ข้อความและคลิปวิดีโอ พร้อมเขียนข้อความประกอบ เผยแพร่ในเฟซบุ๊กในช่วงระหว่างวันที่ 2-11 มี.ค. 2564 จำนวนรวมทั้งหมด 25 โพสต์ อาทิ การโพสต์ภาพและข้อความที่แสดงออกต่อพระบรมฉายาลักษณ์, การแชร์คลิปสารคดีและรายงานข่าวต่างประเทศเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ไทย, การแชร์โพสต์ของ Somsak Jeamteerasakul พร้อมเขียนข้อความประกอบ

ตำรวจระบุว่าในช่วงเวลาดังกล่าว งานการข่าวและความมั่นคงของกองกำกับการสืบสวนตำรวจภูธรจังหวัดเชียงรายได้สืบสวนติดตามพฤติการณ์ความเคลื่อนไหวของผู้ใช้เฟซบุ๊กดังกล่าว พบว่า โพสต์ข้อความและภาพดูหมิ่น หมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี จึงได้รายงานไปยังผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 พิจารณา ก่อนภูธรภาค 5 โดยคณะกรรมการพิจารณาคดีความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ได้พิจารณาและสั่งการให้ทำการสืบสวนสอบสวน และได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนเมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2564 

ต่อมาคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนได้รวบรวมพยานหลักฐานและพิสูจน์ทราบตัวบุคคล ก่อน พ.ต.ต.ปราโมทย์ บุญตันบุตร จะเป็นผู้เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีกับนายมงคล ถิระโคตร ที่สภ.เมืองเชียงราย เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2564 และพนักงานสอบสวนได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลจังหวัดเชียงรายออกหมายจับในวันถัดมา

สำหรับพฤติการณ์ที่ถูกกล่าวหา ทางพนักงานสอบสวนระบุว่าคดีจะนับเป็นความผิดจำนวนกี่กรรมนั้น ขึ้นอยู่กับทางพนักงานอัยการพิจารณาต่อไป 

มงคลได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และหากมีพยานหลักฐานที่ใช้ในการต่อสู้คดีเพิ่มเติม จะยื่นต่อพนักงานสอบสวนภายใน 15 วันต่อไป

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ในจำนวนคดีมาตรา 112 ที่เริ่มกลับมาบังคับใช้ในช่วงปลายเดือน พ.ย. 2563 มีผู้ถูกดำเนินคดีทั้งหมดอย่างน้อย 86 ราย ใน 79 คดี แล้ว โดยในช่วงสองเดือนที่ผ่านมา แนวโน้มของการดำเนินคดีจากการโพสต์หรือแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ทยอยเพิ่มมากขึ้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท