Skip to main content
sharethis

'อานันท์ ปันยารชุน' สรุปบทเรียน 30 ปีเหตุการณ์พฤษภา'35 ประวัติศาสตร์ยังซ้ำรอย ประชาธิปไตยยังไม่พัฒนาดีขึ้น รัฐประหารมีแต่ทำให้เลวลง การบริหารล้มเหลวเกิดการคอร์รัปชันทรัพยากรกระจุกอยู่กับคนชั้นบน หวั่นจะเกิดวิกฤตที่หนักกว่าเก่า แนะรัฐบาลสร้างความสามัคคีปรองดอง ปฏิรูปโครงสร้าง แก้การผูกขาดทางเศรษฐกิจ ปลุกจิตสำนึกประชาชน ตอบยากจะมีรัฐประหารอีกหรือไม่


อานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี

6 มี.ค. 2565 สภาที่ 3 แจ้งข่าวต่อสื่อมวลชนว่า นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ช่องยูทูปสภาที่ 3 ถึงบทเรียน 30 ปี เหตุการณ์พฤษภาคม 2535 สังคมไทยได้อะไรในการพัฒนาประชาธิปไตย ว่า ความจริงแล้วเหตุการณ์เกิดขึ้นตอนเดือนพฤษภาคม 2535 ถ้าดูตามประวัติศาสตร์การเมืองของเมืองไทยแล้ว เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เมื่อเดือนพฤษภาคม 2535 และเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกเปิดตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองสมบูรณาญาสิทธิราชย์และมาเป็นระบบการปกครองของพระเจ้าแผ่นดินภายใต้กฎหมายภายใต้รัฐธรรมนูญตั้งแต่ 2475 มาจนถึงปัจจุบันและประวัติศาสตร์ไทยมันก็ ซ้ำรอย อยู่เรื่อยๆ มีรัฐบาลที่บริหารราชการแผ่นดิน ไม่ค่อยเป็นไปตามความต้องการหรือความประสงค์ ของชาวบ้านชาวไร่ชาวนาคนยากจน มีการฉ้อโกง คอร์รัปชันต่างๆนานา เสร็จแล้วทหารก็ต้องปฏิวัติรัฐประหาร บางครั้งก็สำเร็จบางครั้งก็ไม่สำเร็จ 

“แต่ไม่ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงโดยการยึดอำนาจจากรัฐบาลที่ส่วนใหญ่ ก็อาจจะมาจากวิธีการที่ไม่บริสุทธิ์ผุดผ่องเท่าไหร่ ไม่ได้ทำให้เมืองไทยดีขึ้นเลย ในแง่ของการบ่มนิสัยของการเป็นประชาธิปไตย หรือเข้าใจลึกซึ้งถึงหลักการประชาธิปไตย สุดท้ายแล้วก็ปรากฏขึ้นทุกครั้ง การฉ้อโกงของเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ว่าจะเป็นทหาร พลเรือน พ่อค้า นักธุรกิจ ก็มีขึ้นมาเรื่อย 79 ปีผ่านไป มองในแง่นั้นแล้วเมืองไทยไม่ได้ดีขึ้น เพราะเราไม่ค่อยสนใจประวัติศาสตร์ เราปล่อยให้ประวัติศาสตร์มันซ้ำแล้วซ้ำอีก”

นายอานันท์ กล่าวต่อว่า อย่างที่อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ เคยพูดว่าเราทำอะไรเราทดลองด้วยวิทยาศาสตร์ เราทดลองแล้วมันไม่สำเร็จ เราก็ทดลองอีกใช้วิธีการเดียวกันซ้ำๆซากๆ แล้วเราคิดว่าผลมันจะออกมาแตกต่างกัน แต่ผลออกมามันยังเหมือนเดิมเพราะฉะนั้นทุกครั้งเมื่อมีปัญหาของรัฐ ก็แก้ด้วยการที่ทหารยึดอำนาจกันแล้วทหารก็มาปกครองหรืออาจจะร่วมงานการปกครอง บางครั้งอาจจะดีขึ้นมาชั่วคราว แต่สุดท้ายก็กลับเป็นแบบเดิมคือไม่สำเร็จ อันนี้ไอน์สไตน์พูดชัดเลยว่าถ้าทุกครั้ง เราใช้วิธีการทดลองแบบเก่า แล้วคาดหวังว่าผลลัพธ์จะออกมาดีขึ้นๆ แตกต่างกันไปมันเป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นถ้าจะมองให้ลึกซึ้งแล้ว คิดว่าต้องพยายามเข้าใจว่าการแก้ไขปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้น ในทุกยุคสมัยถ้าเป็นการแก้ไขโดยใช้อำนาจมันมันยากที่จะให้เป็นผลลัพธ์ เพราะการบริหารประเทศชาติ จริงอยู่อำนาจของรัฐยังมีอยู่ รัฐบาลก็เป็นผู้ใช้อำนาจรัฐ

“แต่การใช้อำนาจรัฐ ต้องเป็นการใช้อำนาจที่มีความแนบเนียน หรือต้องก่อให้เกิดผลประโยชน์กับประชาชนส่วนใหญ่ และต้องเป็นการใช้อำนาจที่ให้เกิดการเข้าใจกันและกันมากขึ้น ไม่ใช่ใช้อำนาจเพื่อที่ทำให้เกิดความเกลียดชังกันมากขึ้น หรือใช้อำนาจในอันที่จะทำให้ขัดขวาง กับคนกลุ่มหนึ่งที่มีความเห็นแตกต่างจากเรา เพราะนอกเหนือจากการแบ่งปันทรัพยากรของชาติ ให้กับประชาชนทั่วถึงทุกหมู่เหล่า ให้มีความยุติธรรมมีความชอบธรรมมากขึ้นแล้ว หน้าที่ของรัฐบาลก็คือการสร้างความสามัคคีปรองดอง แต่ความสามัคคีกับความปรองดอง มันเกิดขึ้นมาจากสูญญากาศไม่ได้ โดยเฉพาะจะให้เกิดหลังจากมีรัฐประหารไปแล้วมันลำบาก ฉะนั้นรัฐบาลที่เข้ามาหลังรัฐประหาร ก็ใช้วิธีการซ้ำซาก จับคนทำโทษคน เล่นงานคนด้วยวิธีการต่างๆ ทั้งทางด้านกฎหมาย โดยใช้อำนาจในทางที่ผิดทั้งนั้น แทนที่จะทำให้แต่ละกลุ่ม ที่มีความเห็นแตกต่างกันนั่งจับเข่าคุยกัน มีระเบียบวาระคล้ายคลึงกัน หาทางออกที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน มันก็ไม่เกิดขึ้น มันก็มานั่งกันแล้วตั้งหน้าจะชนกันอย่างเดียว ต่างฝ่ายต่างมองเป็นศัตรูซึ่งกันและกัน ไม่มีการยอมถอยกันแม้แต่นิดเดียว”นายอานันท์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า เมื่อรัฐบาลไม่สร้างความปรองดอง ภาคสังคมหรือประชาชน จะทำอย่างไรให้เกิดความปรองดอง เพื่อให้ประชาธิปไตยเดินไปข้างหน้า นายอานันท์ กล่าวว่า ประชาชนก็มีเสียงออกมาค่อนข้างมากขึ้น แต่อยู่ที่ว่ารัฐบาลในขณะนั้นฟังมากน้อยแค่ไหน หรือฟังแล้วเข้าใจหรือเปล่า การที่จะให้มีความปรองดองมีความสมานฉันท์กันได้ ต้องเป็นการสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกันสร้างความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกันไม่ดูถูกซึ่งกันและกัน เคารพซึ่งกันและกันทั้งสองฝ่าย ถ้าฝ่ายหนึ่งคิดว่าฉันมีอำนาจคุณต้องฟัง มันก็ปรองดองไม่ได้

เมื่อถามว่า ถ้าสังคมไทยไม่ปรองดอง แล้วเกิดความขัดแย้งเผชิญหน้ากันอย่างนี้ต่อไป ถ้าเกิดวิกฤตขึ้นมาเหมือนในประวัติศาสตร์อีก จะทำอย่างไรไม่ให้เกิดความรุนแรง อดีตนายกฯ กล่าวว่า เชื่อว่าในไม่ช้าก็จะเกิดวิกฤติในเมืองไทยขึ้นอีกและทุกครั้งที่เกิดวิกฤตมันจะหนักกว่าวิกฤตเก่า เพราะจากการที่ล้มรัฐบาล ยึดอำนาจ เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ แล้วตัวเองก็มาบริหารราชการแผ่นดิน ทำซ้ำซากมาเป็น 18 -19 ครั้งในระยะเวลา 78-79 ปี ผลลัพธ์ที่ได้เห็นทันตาเลย คือความจนของราษฎร มีแต่เลวลงๆ แต่เนื่องจากเรื่องของโลกาภิวัตน์ก็ดี เรื่องของระบบการสื่อสารที่ไปรวดเร็ว มองผ่านทั้ง Facebook , Twitter คนอาจจะมีข้อมูลมากขึ้น แต่ข้อมูลที่ได้รับมากขึ้น ไม่ได้หมายความว่าเป็นข้อมูลที่ถูกต้องตรงกับความจริง ทำให้เศรษฐกิจไม่ดีขึ้น ไม่ต้องพูดถึงระบบการบริหารเลยเพราะเลวลง เรื่องธรรมาภิบาลไม่มีใครสนใจแล้ว มีแต่ว่าใครจะเอาอะไรได้มากแค่ไหน แต่แล้วในสังคมที่ทรัพยากรส่วนใหญ่ ไปที่ชั้นบนหมด ไปอยู่กับคนไม่กี่ 10 หรือไม่กี่ 100 คน แต่คนข้างล่างอีก 95% หรือ 60 ล้าน 70 ล้านแทบจะไม่มีใครเห็นหัว ดังนั้นจึงเกิดความน้อยใจเกิดความอึดอัดใจ เกิดความเดือดดาลขึ้นมา ก็ทำให้บรรยากาศที่จะปรองดองกันก็ยากขึ้น

เมื่อถามว่า 30 ปีที่ผ่านมา สรุปแล้วรัฐประหารไม่ใช่คำตอบ แล้วถ้าเกิดความขัดแย้งอีกจะทำอย่างไรที่จะไม่ให้เกิดรัฐประหารอีก อดีตนายกฯ กล่าวพร้อมหัวเราะว่า “ อันนี้คงตอบยาก ถ้าไปขอร้องให้ทหารอย่ารัฐประหารผมไม่แน่ใจว่าจะสำเร็จหรือไม่ ถ้าทหารที่มีอำนาจเขาไม่มีความผิดหรือไม่มีความรู้สึกที่จะประนีประนอม ถ้าเขามองว่าทุกอย่างเป็นเกม ว่าอะไรต้องชนะต้องแพ้ ผมไม่ได้หมายความว่าทหารมาบริหาร แต่ต้องดูว่าทหารใช้อำนาจเป็นหรือเปล่า ถ้าใช้อำนาจไม่เป็นก็กลายเป็นเผด็จการ ถ้าใช้อำนาจเป็นแล้วเป็นเผด็จการ ผลลัพธ์เสียหายมากแต่ถ้าใช้อำนาจเป็น มันก็ยังเป็นเผด็จการอยู่ ก็ไม่ช่วยสั่งสอนให้สังคมรู้จักประชาธิปไตยมากขึ้น เพราะฉะนั้นจะใช้อำนาจเป็นหรือไม่เป็น ผลลัพธ์มันออกมาลบทั้งนั้น”

เมื่อถามว่า การจะให้การก้าวพ้นความขัดแย้งมิติต่างๆในการสร้างประชาธิปไตยด้วยการปฏิรูปประเทศ ซึ่งปฏิรูปมาหลายชุดก็ไม่ประสบความสำเร็จคิดว่าจะปฏิรูปอย่างไรและควรจะโฟกัสที่จุดไหน อดีตนายกฯ กล่าวว่า ที่เราพูดกันเรื่องการปฏิรูปในอดีตส่วนใหญ่ เป็นการปฏิรูปแบบฉาบฉวยในสายตาของผมนะ ไม่ใช่ว่าผมจะต้องถูกเสมอไป ถ้าปฏิรูปประเทศไทยจะต้องปฏิรูปโครงสร้าง สมมุติคุณบอกว่าคุณจะปฏิรูปเศรษฐกิจ ธุรกิจคุณบอกว่าคุณจะไปปราบ คนที่ผูกขาดการซื้อขายอย่างหนึ่ง ไม่ได้ แต่คุณต้องปรับโครงสร้างงานธุรกิจเลย ซึ่งการปรับโครงสร้างจะต้องออกกฎหมาย ออกพระราชบัญญัติหลายอย่าง ซึ่งในต่างประเทศเขาก็มี เช่น อเมริกาก็มี กฎหมาย Antitrust laws สมัยก่อนเมื่อ 100 ปีที่แล้ว อเมริกาก็มีการผูกขาดอำนาจเต็มไปหมด คนร่ำรวยของเขาไม่ว่าจะเป็น จอห์น ดี. ร็อคกี้เฟลเลอร์ เจ้าของบริษัท Standard Oil หรือจะเป็นใคร ร่ำรวยมาจากการผูกขาดอำนาจ พอมี Antitrust laws ก็จะต้องแบ่งออกเป็นหลายบริษัท เพราะฉะนั้นเขาก็ต้องออกกฎหมายหลายอย่าง ในเรื่องในเรื่องของการส่งเสริมให้มีการแข่งขันทางการค้า การไม่มีอำนาจผูกขาด ในการซื้อขาย ซึ่งมีอีกหลายอย่างที่ต้องทำ และต้องโปร่งใสทั้งหมด 

นายอานันท์ กล่าวต่อว่าในทางการเมืองก็เช่นกัน สิ่งแรกที่ต้องทำก็คือต้องเขียนรัฐธรรมนูญที่สะท้อน ความเป็นประชาธิปไตยของสังคม แต่อันนี้มันเพียงเป็นตัวหนังสือ แต่ที่มันยากเกี่ยวกับเรื่องประชาธิปไตยก็คือ ของจิตใจคน อาจจะต้องมีการปรับ หลักสูตรในโรงเรียนต่างๆให้เข้าใจว่าประชาธิปไตยคืออะไร ที่ผ่านมาช่วงที่ตนมีบทบาท ในการร่วมเขียนรัฐธรรมนูญ เราไปกันทั่วประเทศ มีการมองว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่กินได้หรือไม่ ซึ่งเราก็เข้าใจว่าเขาหมายถึงอะไร แต่ถ้าเราบอกว่า เขียนรัฐธรรมนูญขึ้นมาให้คนกินได้มันไม่พอ สิ่งเหล่านี้ต้องมีโครงสร้างของประเทศ โดยเฉพาะในเรื่องของการศึกษา โครงสร้างทางการเมือง ซึ่งทั้งคู่มีความเร่งด่วนขาดอะไรอย่างหนึ่งไปไม่ได้ รัฐธรรมนูญ 2540 คนเขาชมว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ อิงกับหลักการประชาธิปไตยมากที่สุด มีการสร้างกลไกใหม่ๆให้มีการคานอำนาจซึ่งกันและกัน แต่พอผ่านมา 20 ปี บางมาตราหรือบางบทนั้นมันใช้ไม่ได้ และเราจะไปหวังว่าคนที่จะมาอยู่ในคณะกรรมการอิสระ เป็นคนที่ไม่ผูกพันกับพรรคการเมืองมันเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นหลายสิ่งที่จะนำมาใช้ หลักการใหญ่ๆยังใช้ได้ แต่เรื่องปลีกย่อยก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลงบ้าง

“แต่บอกอะไรบางอย่างว่าทุกสิ่งทุกอย่าง จะมีการเปลี่ยนแปลงโดยตัวของมันเองหรือโดยฝีมือของคนตลอดเวลา สิ่งที่เราทำนั้นไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญหรือนโยบายรัฐบาล มันต้องเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ สิ่งแวดล้อม เพราะฉะนั้นทุกสิ่งทุกอย่างในสากลโลก จะต้องมีการเปลี่ยนแปลง ต้องปรับตัวเองให้เข้ากับสถานการณ์ เขียนรัฐธรรมนูญมา เป็นไปไม่ได้ที่จะใช้ 100 -200 ปี นอกจาก เป็นรัฐธรรมนูญที่ไม่ใส่รายละเอียดจนเกินไป เช่น ของสหรัฐอเมริกา มีการปรับปรุง 18 -19 -20 ครั้ง ผิดกับรัฐธรรมนูญไทย มี 400 มาตรา แจงรายละเอียดหมด แล้วยังต้องมีกฎหมายลูกด้วย ของอเมริกาพูดแต่ในเรื่องของหลักการ แต่คิดว่าอะไรก็ตามที่คิดว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงโดยอำนาจ สิ่งที่ยากที่สุดเวลาที่จะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงปฏิรูป คือ จิตใจและวิธีคิดของคน ปฏิรูปจิตสำนึกของคนนั้นยากมาก ปฏิรูปนิสัยคนก็ยาก”อดีตนายกฯ กล่าว

เมื่อถามว่า สถานการณ์ปัจจุบันที่สังคมไทยผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านความขัดแย้งมากมายแล้ว คิดว่าจะสามารถปฏิรูปได้หรือไม่ นายอานันท์ กล่าวว่า ถ้าเราพูดถึงประชาธิปไตย ตนก็ยังเป็นห่วงเรื่องของรัฐธรรมนูญ มีรัฐบาลที่มาจากประชาชน นายกรัฐมนตรีต้องเป็นส.ส. ต้องมีอิสรภาพในการพูด ออกความเห็น เสรีภาพในการชุมนุมต้องมีความโปร่งใสมีความยุติธรรมเสมอภาคเรื่องกฎหมาย แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่ค่อยมีการพูดถึง คือ การปกครองโดยระบอบรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐบาลมีหน้าที่ในการจัดสรรทรัพยากรของชาติ ให้เป็นไปตามความต้องการของพลเมืองส่วนใหญ่ ด้วยความยุติธรรม เสมอภาค ชอบธรรม แต่อีกอันหนึ่งรัฐบาลมีหน้าที่บริหารงาน ที่บอกว่าเสียงข้างมากเป็นผู้ปกครอง แต่ไม่ค่อยพูดถึงว่าเสียงข้างน้อยจะทำอย่างไร ความจริงเสียงข้างมากจะต้องเคารพเสียงของคนกลุ่มน้อยด้วย ที่ผ่านมาเราบอกว่าเราชนะวิน-วินกัน เหมือนแข่งม้า ใครชนะได้ถ้วยไปเลย ที่สองเอาทิ้ง ความจริงแล้วประชาธิปไตยจะอยู่ได้ต้องเห็นอกเห็นใจ เห็นผลประโยชน์ของเสียงข้างน้อยด้วย ต้องประนีประนอม แล้วต้องทำงานร่วมกันพูดคุยกัน ความเห็นที่แตกต่างกันเป็นสิ่งที่ทำได้ แต่ในกรอบของการเมืองไทยเวลาเป็นศัตรูกันก็เป็นศัตรูที่ถาวรเลย


ชี้คนที่จะบริหารประเทศต้องเป็นคนรุ่นใหม่ จะนำความคิดเก่าๆ มาใช้ไม่ได้แล้ว หนุนแก้ ม.112 ทำให้โทษเบาลงเหลือโทษทางแพ่ง มีผู้รับผิดชอบชัดเจนไม่ใช่ใครก็ฟ้องได้แกล้งใครก็ได้ 

นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ช่องยูทูปสภาที่ 3 ถึงคนรุ่นใหม่ที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย รัฐบาลควรจะฟังหรือมีทางออกอย่างไร ว่ารัฐบาลต้องมองถึงอนาคตด้วย คนแก่อย่างผมต้องรู้ว่า เวลาของเรามันหมดไปแล้ว ความจริงแล้วคนอย่างรุ่นของผมมันต้องอยู่ข้างนอกเวทีซึ่งเราอาจจะออกความเห็นนอกเวทีได้ แต่คนที่จะบริหารประเทศต้องเป็นคนรุ่นใหม่แล้ว ส่วนคนรุ่นใหม่จะมีอายุเท่าไหร่นั้นก็ตาม แต่จะต้องเป็นคนที่มีความคิดใหม่ๆ จะนำความคิดเก่าๆมาใช้ไม่ได้แล้ว

“อย่างผมมีทั้งลูกมีทั้งหลานและมีทั้งเหลน ลูกของเราก็สอนอย่างหนึ่ง คือมีความเห็นอย่างหนึ่ง หลานอีกอย่างหนึ่ง ส่วนเหลนผม 3 ขวบสามารถพูดโต้กับคุณทวดได้แล้ว เขามีวิธีคิดของเขาโอเคมากเนื่องจาก เขาเป็นเหลนเราจะทำอะไร อาจจะเป็นสิ่งที่น่ารักน่าดูตลอดไป แต่ถ้าเราบอกว่าเด็กคนนี้ทำอะไรขวาง ไปขวางเขาก็ไม่ได้” นายอานันท์ กล่าว

เมื่อถามอีกว่าคนรุ่นเก่ามองว่าเด็กรุ่นใหม่ ที่เคลื่อนไหวเรียกร้อง เรื่องปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นเรื่องที่สุดโต่งเกินไปหรือไม่ อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เพ้อฝัน บางกรณีก็มีเหมือนกัน วาทะทำให้หลงระเริงไป มันมันกับการพูดก็เลยอาจจะเลยเถิดไปบ้าง แต่คิดว่านั่นไม่ใช่ของแปลกหรือของเสียหาย แต่มันต้องการความเข้าใจ 

“ถ้าเห็นว่าสุดโต่ง เราก็อย่าไปยุ่งกับเรื่องสุดโต่ง เราต้องหาทางประนีประนอมกัน คือต้องคุยกัน แต้ถ้าจะมาตั้งหน้าตั้งตาไม่คุยหรือพูดกันไม่รู้เรื่อง ไม่คุยจะบอกว่าเด็กพวกนี้จะรู้ดีได้อย่างไร มันไม่เคยปกครองประเทศ มาจะพูดอย่างนี้ไม่ได้ หรือถ้าเด็กบอกว่าผู้ใหญ่พวกนี้พูดกันไม่รู้เรื่องเลย ทำอะไรก็ไม่เป็น ก็ไม่ได้อีก ทุกคนมีทั้งส่วนดีและส่วนไม่ดีก็ต้องคุยกัน ซึ่งผมเคยพูดว่าผู้ใหญ่ต้องเห็นใจเด็กมากกว่า หรือคุยกันไม่ใช่กันแบบ 50- 50 หลายสิ่งหลายอย่างผู้ใหญ่ต้องให้เด็ก 60 หรือ 70 คนที่มีอำนาจคน ที่มีอายุอยู่ในฐานะที่จะแสดงความเห็นอกเห็นใจได้ง่ายกว่าแต่คนที่ถูกตัดสิทธิต่างๆมาโดยตลอด คนที่เกิดมาในสังคม ที่มีความเดือดร้อนเอาเปรียบซึ่งกันและกัน เขาเป็นผู้เสียมาตลอดชีวิต” นายอานันท์ กล่าว

เมื่อถามว่าถ้ามองถึงปัญหาความขัดแย้งในมาตรา 112 จะมีทางออกอย่างไร นายอานันท์ กล่าวว่า ส่วนตัวของผมไม่มีปัญหาที่จะมีมาตรา 112 แต่อาจต้องมีการปรับปรุงบางอย่าง จะมีการปรับคำพูดนั้นโอเค ผมไม่คิดว่าโดยทั่วไปต่างประเทศหรือหลายประเทศที่เขายังมีกฎหมายข้อนี้ใช้อยู่ เขาไม่ถือว่ามันเป็นอาชญากรรม แต่ส่วนมากเขาจะฟ้องในเรื่องทางแพ่ง หลายประเทศที่ปกครองโดยมีพระเจ้าแผ่นดิน อยู่ภายใต้กฎหมาย อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ หรือบางประเทศมีแล้วเขาไม่นำมาใช้เลย แต่ประเทศที่ยังนำมาใช้อยู่ เขาพยายามทำให้โทษเบาลงไป นอกจากนี้ในปัจจุบันมาตรา 112 ใครฟ้องก็ได้ ผมอยากจะแกล้งคุณ ผมบอกว่าคุณพูดอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วผมไปรายงานตำรวจถ้าตำรวจไม่ทำอะไร ก็จะถูกกล่าวหาว่าไม่ปฏิบัติหน้าที่ ตำรวจก็ต้องจดบันทึกเอาไว้ เขาก็กลัวว่าถ้าไม่ดำเนินการอะไร ก็อาจจะมีปัญหาของตัวเอง และก็เสนอขึ้นไปเรื่อยจนไปถึงยอดสุด ก็มีการสั่งฟ้อง 

“บางกรณีที่สั่งฟ้องนั้นต้องเรียกว่ามันโง่เง่า ตรงนี้คือเรื่องของการใช้อำนาจที่ไม่ถูกต้อง เพราะฉะนั้นถ้ากฎหมายนี้จะอยู่ต่อไป ก็ต้องระบุให้ชัดว่าใครเป็นคนที่จะสั่งให้สอบสวนสั่งให้ดำเนินคดีขึ้นสู่ศาลได้ สมมุติอาจจะเป็นนายกรัฐมนตรี หรือเป็นรัฐมนตรีมหาดไทย รัฐมนตรียุติธรรม ต้องมีคนรับผิดชอบทางด้านการเมือง แต่อย่าไปยุ่งเกี่ยวกับสถาบัน อย่าไปแตะต้องสถาบันเลย อย่าไปดึงสถาบันลงมาอยู่กับเรา สถาบันต้องอยู่เหนือกว่ากฎหมายธรรมดาอยู่แล้ว ที่ผ่านมาผมได้ประสบกับชีวิตส่วนตัว สถาบันไม่มายุ่งเรื่องการเมือง ฉะนั้นเมื่อเราอย่าเอาการเมืองเข้าไปสู่ในวัง ต้องยกวังขึ้นมา” อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าว

ถามถึงกรณีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อตอนรัฐประหารที่ผ่านมาเหมือนกับว่าน่าจะอยู่ได้ไม่นาน แต่ไปๆมาๆก็อยู่ได้ 8 ปี มีเสียงเรียกร้องให้นายกฯลาออก แต่พล.อ.ประยุทธ์ ก็ยังอยู่มาได้ สะท้อนอะไรถึงสังคมไทย ทั้งที่บริหารงานล้มเหลวมากมาย นายอานันท์ กล่าวพร้อมหัวเราะว่า “เรื่องนี้คุณต้องไปถามนายกฯประยุทธ์เอง” เมื่อถามอีกว่า บางคนเทียบกับพล.อ.สุจินดา คราประยูร แต่พล.อ.สุจินดากลับโดนว่ามาจนถึงทุกวันนี้ นายอานันท์ กล่าวว่า “คุณสุจินดาเขายังมีความละอาย อย่างตอนเกิดเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ท่านทรงเรียกคุณจำลอง ศรีเมือง และพล.อ.สุจินดาเข้าไปในวัง และท่านทรงขอให้ว่าอย่าสู้รบกันนะ เพราะประชาชนเสียหาย ประชาชนตายไม่มีใครชนะ ท่านพูดแค่นั้นในหลวงไม่ได้บอกว่าให้ลาออก แต่ทั้ง 2 คนก็แสดงความเข้าใจว่าอะไรกำลังเกิดขึ้น ในหลวงท่านไม่ได้ทรงบอกว่าพวกคุณต้องลาออกไป เพราะฉะนั้นมันอยู่ที่จิตสำนึกของคน”

เมื่อถามว่า เสียงเรียกร้องรัฐบาลก็เยอะ ตามหลักการแล้วถ้าเสียงเรียกร้องมากๆ นายกฯควรจะพิจารณาตัวเองอย่างไร อดีตนายกฯ กล่าวว่า ไม่รู้ แต่ถ้าดูที่ต่างประเทศ เขาลาออกกันง่ายๆ มีเรื่องอะไรที่บางครั้งไม่ใช่เรื่องที่พิสูจน์ได้ด้วยซ้ำ ในฐานะนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีถ้ามีการกล่าวหาหรือเรียกร้องว่า มีการเกิดความสงสัยอย่างมาก เรื่องของบุคลิกของตัวเองหรือนโยบาย มันก็อยู่ที่ผู้นั้นจะใช้วิจารณญาณ ในต่างประเทศส่วนใหญ่ก็จะมีการลาออก
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net