Skip to main content
sharethis

ปตท.สผ. จับมือ บ.เชฟรอน ขึ้นเป็นผู้ดำเนินการโครงการ ‘ยานาดา’ ในอ่าวเมาะตะมะ ประเทศเมียนมา เพื่อให้ผลิตก๊าซ 770 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันเป็นไปอย่างต่อเนื่อง มีผล 20 ก.ค. 65 ด้าน NGO ไทยหวั่น รัฐไทยส่งเงินค่าก๊าซเข้ากระเป๋า ‘มินอ่องหล่าย’ ซื้ออาวุธปราบประชาชนต่อ

แท่นขุดเจาะก๊าซธรรมชาติ โครงการ ยานาดา อ่าวเมาะตะมะ ประเทศเมียนมา (ภาพจาก Energy News Center)

1ุ5 มี.ค. 65 กระทรวงพลังงานรายงานข่าววานนี้ (14 มี.ค.) บนเว็บไซต์ ‘Energy News Center’ เผยว่า บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (ปตท.สผ.) จับมือบริษัทย่อยของเชฟรอน เดินหน้าโครงการ ‘ยาดานา’ ในอ่าวเมาะตะมะ ประเทศเมียนมา หลังบริษัท โททาลเอนเนอร์ยี่ จากประเทศฝรั่งเศส ประกาศถอนตัวก่อนหน้านี้ เพื่อให้ผลิตก๊าซ 770 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เป็นไปอย่างต่อเนื่อง มีผล 20 ก.ค. 65  

ทั้งนี้ แหล่งก๊าซยานาดา ถือเป็นแหล่งก๊าซที่สำคัญที่สามารถผลิตก๊าซได้อย่างต่อเนื่องในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา โดยมีกำลังผลิตปัจจุบันอยู่ที่ 770 ล้านลูกบาศก์ (ลบ.) ฟุตต่อวัน ซึ่งประมาณ 220 ล้าน ลบ.ฟุตต่อวัน ใช้ในเมียนมา เพื่อการผลิตกระแสไฟฟ้า หรือตีเป็นประมาณ 550 ล้าน ลบ.ฟุตต่อวัน สำหรับเป็นเชื้อเพลิงโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ และขนาดเล็ก จำนวน 12 โรง หรือประมาณ 11% ของความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติของไทย 

บริษัท ปตท.สผ. พิจารณาอย่างรอบคอบในการเข้าเป็นผู้ดำเนินการในโครงการยาดานา ต่อจากบริษัท โททาลเอนเนอร์ยี่ส์ ซึ่งถอนตัวออกจากโครงการ และเชื่อว่าการเข้าเป็นผู้ดำเนินการจะสามารถช่วยรักษาความต่อเนื่องในการจัดหาพลังงานให้กับทั้ง 2 ประเทศได้

โดยการเข้าเป็นผู้ดำเนินการโครงการยาดานาของ ปตท.สผ. ครั้งนี้ได้รับการแต่งตั้งจากผู้ร่วมทุนของโครงการแล้ว อย่างไรก็ตาม การเข้าเป็นผู้ดำเนินการจะมีผลในวันที่ 20 ก.ค. 65 และได้รับความร่วมมือจากบริษัท โททาลเอนเนอร์ยี่ส์ ในการเปลี่ยนผ่านการเป็นผู้ดำเนินการในช่วงเวลาดังกล่าว เพื่อให้การผลิตก๊าซธรรมชาติสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องและปลอดภัย

ทั้งนี้ ตามเงื่อนไขในสัญญาการร่วมทุน (Production Operating Agreement หรือ POA) สัดส่วนการร่วมทุนของบริษัท โททาลเอนเนอร์ยี่ส์ จะกระจายให้กับผู้ร่วมทุนรายอื่นในโครงการตามสัดส่วนการลงทุน โดยไม่คิดมูลค่า ซึ่งจะส่งผลให้ บริษัท ปตท.สผ. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ถือสัดส่วนการลงทุนร้อยละ 37.0842 โดยบริษัท เชฟรอน ซึ่งมีบริษัทย่อยคือบริษัท ยูโนแคลเมียนมา ออฟชอร์ จะเป็นผู้ถือสัดส่วนการลงทุนมากที่สุด ร้อยละ 41.1016 ภายหลังจากบริษัท โททาลเอนเนอร์ยี่ส์ ยุติการเป็นผู้ร่วมทุนและเป็นผู้ดำเนินการ

หวั่นส่งเงินเข้ากระเป๋ากองทัพพม่า

ธีระชัย ศาลเจริญกิจถาวร  ผู้ประสานงานคณะทำงานติดตามความรับผิดชอบการลงทุนข้ามพรมแดน (ETOs Watch Coalition) กล่าวว่า ตั้งแต่กองทัพพม่าทำรัฐประหารเมื่อ 1 ก.พ. 64 ประชาชนพม่าเคยรณรงค์ให้บริษัทต่างชาติระงับการส่งเงินค่าก๊าซโครงการยานาดา ให้กับประเทศพม่า เนื่องจากเงินเหล่านี้จะทุนทรัพย์ให้กับกองทัพพม่า เพื่อซื้ออาวุธปราบปรามผู้ประท้วง 

ไม่ใช่แค่ประชาชนพม่า แต่เมื่อปีที่แล้ว (2564) องค์กรภาคประชาสังคมของไทยพยายามเรียกร้องให้ ปตท.สผ. ระงับการจ่ายเงินค่าก๊าซโครงการยานาดา ให้กับรัฐวิสาหกิจบริษัท น้ำมันและก๊าซแห่งชาติเมียนมา ของกองทัพพม่า 

“โครงการจากก๊าซธรรมชาติถือเป็นสัดส่วนรายได้จำนวนมากที่ทำให้ทหารพม่าได้เงินจากตรงนี้ไป ถ้าเราตัดระงับเงินในส่วนนี้ได้ อย่างน้อยเงินในการซื้ออาวุธของกองทัพพม่าอาจจะลดน้อยลง และเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนด้วย”

“หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมเราไม่เรียกร้องให้ถอนการลงทุน แต่ให้งด หรือระงับแทน เพราะถ้าถอนไป มันจะมีผู้ถือหุ้นใหม่มาซื้อหุ้นต่อ หรือดำเนินการต่ออยู่ดี ถอนไป เงินก็ยังไหลอยู่” ธีระชัย กล่าว พร้อมระบุว่า มีการพยายามเรียกร้องให้มีการระงับบัญชีดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา (Escrow Account) เพื่อให้กองทัพพม่าไม่สามารถนำเงินไปใช้ได้ จนกว่ากองทัพพม่าจะยอมลงจากอำนาจ หรือยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่โมเดลยังคงเป็นเรื่องห่างไกลในภาคปฏิบัติ  

“ไทยเป็นประเทศแรกที่มีแผนปฏิบัติการว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นตามหลักการ NAP เราควรให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ โดยเฉพาะบริษัทหลักๆ ใหญ่ๆ ควรคำนึงถึงเรื่องนี้เป็นพิเศษ” ผู้ประสานงาน ETA Watch ทิ้งท้าย

ทั้งนี้ สำนักข่าว เดอะการ์เดียน อ้างอิงข้อมูลจาก Human Rights Watch ซึ่งเป็นองค์กรตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน เผยว่า โครงการยานาดา สร้างรายได้ให้กองทัพพม่าเป็นกอบเป็นกำ เป็นจำนวนสูงถึง 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี และถือเป็นแหล่งรายได้หลักจากนอกประเทศที่ใหญ่ที่สุดในเมียนมา

ก่อนหน้าบริษัทโททาลถอนตัว โครงการยานาดา มีผู้ร่วมลงทุนทั้งสิ้น 4 บริษัท 1) บริษัทย่อยโททาล ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ทศวรรษ 1990 โดยมีหุ้นส่วนอยู่ที่ 31.24% 2) บริษัทย่อยของเชฟรอน จากสหรัฐฯ ถือหุ้นอยู่ที่ 28.26% 3) ปตท.สผ. ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ บริษัท ปตท. จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทพลังงานของไทย และ 4) บริษัท น้ำมันและก๊าซแห่งชาติเมียนมา (Myanmar Oil and Gas Entreprise - MOGE) 

แต่เมื่อ 21 ม.ค. 65 บริษัทโททาลฯ ประกาศถอนตัวจากการลงทุนโครงการดังกล่าว โดยระบุในแถลงการณ์อ้างสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนและหลักนิติธรรมอันย่ำแย่ในเมียนมาหลังกองทัพทำรัฐประหารเมื่อปีที่แล้ว
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net