Skip to main content
sharethis

'พนิดา' พรรคก้าวไกล ในฐานะสมาชิกอนุกรรมาธิการกิจการศาลฯ แถลงต่อสื่อ รู้สึกผิดหวัง หน่วยงานรัฐ โดยเฉพาะกระทรวงพลังงานไม่เข้าร่วมประชุมหาทางออกร่วมกัน ประเด็น ปตท.สผ.ถูกกล่าวหาลงทุนในกิจการน้ำมันและก๊าซของรัฐบาลทหารพม่า เชื่อมโยงความรุนแรงและการละเมิดสิทธิมนุษยชนพม่า พร้อมต้องการคำชี้แจงเหตุผลที่เข้าร่วมประชุมไม่ได้

 

25 ก.ค. 2567 เพจเฟซบุ๊ก The reporters ถ่ายทอดสดออนไลน์วันนี้ (25 ก.ค.) พนิดา มงคลสวัสดิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) เขต 1 สมุทราปราการ พรรคก้าวไกล และเป็นสมาชิกคณะอนุกรรมาธิการกิจการศาลฯ แถลงต่อสื่อมวลชนกรณีอนุกรรมาธิการกิจการศ่าลฯ กรรมาธิการการกิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุน มีวาระการประชุมหัวข้อว่าด้วยความเชื่อมโยงกันระหว่างการดำเนินการบริษัทในเครือ ปตท. และการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศเมียนมา ครั้งที่ 3 แต่กลับไม่มีหน่วยงานรัฐเข้าร่วม โดยเฉพาะกระทรวงพลังงานที่ไม่เคยมาร่วมสักครั้ง ด้าน สส.พรรคก้าวไกล เผยรู้สึกผิดหวัง และยืนยันการประชุมไม่ได้มีการมาหาคนผิด แต่ต้องการหาทางออกร่วมกัน

พนิดา กล่าวถึงที่มาที่ไปของการประชุมวันนี้ สืบเนื่องจากคณะอนุกรรมาธิการฯ โดยมี เบญจา แสงจันทร์ เป็นประธาน กำลังพิจารณาวาระความเชื่อมโยงกันระหว่างการดำเนินการบริษัทในเครือ ปตท. และการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศเมียนมา โดยได้รับเรื่องร้องเรียนมาจากเครือข่ายภาคประชาสังคมทั้งคณะทำงานติดตามการลงทุนข้ามพรมแดน (ETO Watch) และกลุ่มรณรงค์หยุดเงินเปื้อนเลือดเมียนมา (Blood Money Campaign) ยื่นหนังสือถึงคณะกรรมาธิการฯ เมื่อ 1 ก.พ. 2567 ในตั้งข้อสังเกตในการเชื่อมโยงบริษัท ปตท. กับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในเมียนมา โดยอ้างว่ารัฐบาลไทยกับบริษัทไทยอาจมีส่วนร่วมสนับสนุนการเงินรายใหญ่ให้กับรัฐบาลทหารพม่าในการนำไปซื้ออาวุธปราบปรามประชาชนผ่านการลงทุนในบริษัทวิสาหกิจน้ำมันและก๊าซของเมียนมา และในหนังสือระบุด้วยว่า อุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซเป็นแหล่งเงินตรารายได้ต่างประเทศที่สำคัญที่สุดของรัฐบาลทหารพม่า ซึ่งส่วนใหญ่มาจากก๊าซธรรมชาติที่กลุ่มบริษัท ปตท. ของไทย รับซื้อในโครงการก๊าซธรรมชาตินอกชายฝั่งอ่าวเมาะตะมะ หรือโครงการแท่นขุดเจาะ ‘ยานาดา’ ดำเนินการโดย ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (หรือ ปตท.สผ.) แต่ขณะเดียวกัน ผู้ร่วมทุนอื่นๆ ซึ่งเป็นบริษัทต่างชาติอย่างโททาล และเชฟรอน ต่างถอนตัวออกจากโครงการนี้เรียบร้อยแล้ว ซึ่งประเด็นดังกล่าวได้รับความสนใจจากสาธารณชน และไม่ได้มีแค่อนุกรรมาธิการฯ ของเราที่พิจารณาเท่านั้น แต่ยังได้รับการพิจารณาที่ห้องประชุมของกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐฯ ของประธานรังสิมันต์ โรม

อนึ่ง หลังจากเมื่อประมาณ 5 เม.ย. 2567 บริษัท Unocal Myanmar Offshore Company Limited (UMOC) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยในเครือเชฟรอน ได้ถอนตัวจากโครงการแท่นขุดเจาะก๊าซธรรมชาติ ‘ยาดานา’ อ่าวเมาะตะมะ และได้ทำการโอนหุ้นทั้งหมด ให้กับ ปตท.สผ. โดย ปตท.สผ.จะมีสัดส่วนการลงทุนที่ร้อยละ 62.9630 และทำให้ ปตท.สผ. เป็นผู้ดำเนินการของโครงการดังกล่าว

ขณะที่ข้อมูลจากกลุ่มรณรงค์เงินเปื้อนเลือด หรือ Blood Money Campaign ระบุด้วยว่า บริษัท ปตท.สผ. ปัจจุบันลงทุนในโครงการแท่นขุดเจาะก๊าซธรรมชาติของบริษัทวิสาหกิจน้ำมันและก๊าซของเมียนมา (MOGE) ทั้งหมด 3 โครงการ ได้แก่ เยตะกุน ซาติกา และยาดานา

นอกจากนี้ นี่ไม่ได้เป็นครั้งแรกที่ ปตท. ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนสนับสนุนการละเมิดสิทธิมนุษยชนในเมียนมา เพราะว่าเมื่อ ธ.ค. 2565 กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาตินอร์เวย์ หรือ Norway Sovereign Wealth Fund ซึ่งเป็นกองทุนความมั่งคั่งที่ใหญ่ที่สุดในโลก ประกาศถอนตัวการลงทุนในหุ้น ปตท. และ ปตท.น้ำมันและค้าปลีก (PTT-OR) เนื่องจากกังวลว่าบริษัทดังกล่าวอาจมีส่วนร่วมในการสนับสนุนความรุนแรงในเมียนมา ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่ไม่อาจยอมรับได้

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

 

พนิดา ระบุว่า มีการเรียกประชุมหัวข้อนี้ทั้งหมด 3 ครั้ง โดยครั้งแรกเป็นเรื่องการลงทุนที่เมียนมา มีการเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาหารือหลายหน่วยงาน เช่น กระทรวงกลาโหม สภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ และ ปตท.สผ. นอกจากนี้ มีการเชิญกระทรวงพลังงานในฐานะผู้กำหนดนโยบายมาด้วย แต่ว่ากระทรวงพลังงานได้เข้ามาร่วมประชุมและชี้แจงในห้องกรรมาธิการกิจการศาลฯ ใหญ่ ในวาระการรับหลักการเท่านั้น แต่ในวันเดียวกันกับการประชุมครั้งแรกไม่ได้เข้ามาชี้แจงในคณะอนุกรรมาธิการกิจการศาลฯ  

สส.พรรคก้าวไกล ระบุต่อว่า การประชุมครั้งที่ 2 เมื่อ 18 ก.ค.ที่ผ่านมา หัวข้อว่าด้วยการจัดหาพลังงานกลับมาภายในประเทศ ซึ่งได้มีการเชิญสำนักงานกำกับกิจการพลังงาน สำนักงานคณะกรรมการกำกับนโยบายรัฐวิสาหกิจ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ปตท. ปตท.สผ. และได้มีการเชิญกระทรวงพลังงานมาด้วย หากแต่ในการประชุมครั้งที่ 2 กระทรวงพลังงานไม่ได้มาเข้าร่วมประชุมอนุกรรมาธิการฯ

พนิดา ระบุต่อว่า ในการประชุมครั้งที่ 3 วันนี้ (25 ก.ค.) เราตั้งใจให้เป็นครั้งสุดท้าย เป็นเจตนารมณ์ของการหาทางออกร่วมกัน เพื่อหาข้อสรุปในการแก้ไขปัญหานี้ และเราต่างเข้าใจดีว่าแต่ละหน่วยงานที่เราเชิญมาต่างมีภารกิจสำคัญของตัวเอง และเราอยากจะมีข้อเสนอของฝ่ายนิติบัญญัติตามข้อเท็จจริงที่ได้จากการชี้แจงจากหน่วยงานต่างๆ เพื่อนำเสนอไปยังคณะรัฐมนตรี เพื่อให้ฝ่ายบริหารพิจารณาออกมาเป็นนโยบายของรัฐบาล หรือว่าสนับสนุนการช่วยเหลือการละเมิดสิทธิมนุษยชนในเมียนมา และขณะเดียวกัน ให้สอดคล้องกับภารกิจใน ปตท. และ ปตท.สผ. ในฐานะที่เป็นรัฐวิสาหกิจที่มีภารกิจในการจัดหาพลังงานก๊าซธรรมชาติ

สส.พรรคก้าวไกล สมุทรปราการ ระบุว่า วันนี้มีการเชิญนายกรัฐมนตรี กระทรวงการคลัง กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพลังงาน ธนาคารแห่งประเทศไทย ปตท. และ ปตท.สผ. แต่ครั้งนี้ผู้ที่เข้ามาชี้แจงมีเพียงธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และผู้ชี้แจงจากกระทรวงการต่างประเทศ แต่หน่วยงานอื่นๆ ไม่ได้มา โดยเฉพาะกระทรวงพลังงานที่ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 ที่ไม่มีผู้ชี้แจงจากกระทรวงพลังงานเข้ามา แม้ว่านายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ผู้แทนจากกระทรวงพลังงานเข้ามาชี้แจงด้วยซ้ำ

พนิดา กล่าวชื่นชม ปตท. และ ปตท.สผ.ที่ได้เข้ามาชี้แจงในการประชุม 2 ครั้งแรก และวันนี้ที่มาไม่ได้ก็มีการทำหนังสือชี้แจงด้วย แต่หน่วยงานรัฐหน่วยงานอื่นๆ โดยไม่มีการทำเอกสารชี้แจงใดๆ ออกมาเลย

พนิดา มองว่า นี่เป็นเรื่องน่าผิดหวัง เพราะว่าพวกเธอมองว่าวาระนี้เป็นเรื่องสำคัญเพื่อสื่อสารและตอบคำถามต่อสังคม รวมถึงเป็นพื้นที่ฝ่ายบริหารใช้เป็นกระบอกเสียงชี้แจงต่อสังคม เพราะว่าผลกระทบไม่ได้เกิดขึ้นทั้งในประชาชนไทย แต่เกิดขึ้นในประเทศเพื่อนบ้าน สถานการณ์ 3 ปีของรัฐประหารพม่าซึ่งเริ่มเมื่อปี 2564 เข่นฆ่าผู้คนไปมากมาย และก็กระทบกับเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย จึงเป็นที่มาที่ไปของการแถลงวันนี้ว่าต้องการสื่อสารกับประชาชนว่าฝ่ายนิติบัญญัติ และคณะอนุกรรมาธิการของเรา ให้ความสำคัญอย่างมาก และอยากจะมีข้อสรุปในการแก้ไขปัญหาให้กับทางสังคม

"อยากฝากกลับไปฝ่ายรัฐบาลด้วยเช่นกันว่า ปัญหาเดียวกันนี้ที่เกิดขึ้นในรัฐบาลของท่านนั้น ท่านมองว่าอย่างไร และมีแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างไร หรือข้อมูลใดๆ ที่ท่านมีและอาจเป็นประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนได้ เราอยากได้ข้อมูลนั้น และอยากได้คำชี้แจงจากหน่วยงานที่มีข้อมูลด้วยว่า เหตุใดไม่สามารถเข้ามาชี้แจงใน คณะกรรมาธิการได้" พนิดา กล่าว

ด้าน รัชต์พงศ์ สร้อยสุวรรณ สส.พรรคก้าวไกล จ.ตาก เขต 2 กล่าวว่า เขาไม่ได้เรียกมาเพื่อหาคนผิด แต่เราเรียกมาเพื่อหาข้อมูล และหาทางออกให้กับปัญหาในสังคม และในปัญหาที่กำลังถูกพูดถึง อย่างที่ระบุไป เราไม่ได้หาคนผิด เราเพียงแต่หาคำตอบให้กับประชาชน และประชาชนในประเทศเพื่อนบ้าน 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net