พุทธะ พุทธแท้ พุทธแต๊ พุทธต๊าช

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ตลอดปีพุทธศักราช 2564 พุทธศาสนาของประเทศไทยได้กลายเป็นดราม่า เป็นมีม เป็นไวรัล ถูกตั้งคำถามอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งน่าจะมีส่วนเกี่ยวเนื่องกับบรรยากาศการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่สถาบันหลักทั้งหลายของประเทศไทยถูกตั้งคำถามจากประชาชน

ไล่มาตั้งแต่เดือนเมษายน เมื่อสารคดีเรื่อง เอหิปัสสิโก ซึ่งเป็นสารคดีเกี่ยวกับวัดพระธรรมกายออกฉายลงโรงฉาย ช่วงนั้น เรื่อง วัดพระธรรมกาย ก็ถูกสังคมนำขึ้นมาพูดคุยถกเถียงขึ้นอีกครั้ง และยังมีบางส่วนโยงใยไปถึง มหาเถระสมาคมอันมีส่วนข้องกับการเมืองของไทยเสมอมา
  
ในช่วงเดียวกัน ก็มีพระจากหลายสังกัดหลายนิกายเข้าร่วมการเคลื่อนไหวทางการเมือง ในนาม “แก๊งแครอท” การเคลื่อนไหวหนึ่งที่เป็นข่าวขึ้นมา คือ สมณะดาวดิน สมณะสังกัดนิกายสันติอโศก ได้ลาออกจากนิกายเพราะความเห็นต่างทางการเมือง สมณะดาวดินได้เคลื่อนไหวโดยการอดอาหารอยู่ที่หน้าศาลฎีกาเพื่อประท้วงที่ศาลมีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวนักโทษทางการเมืองอยู่ 8 วัน จนมีการแจ้งความและถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดี จับถอดผ้าเหลืองด้วยข้อหาแต่งกายเลียนแบบสงฆ์ในวันที่ 21 เมษายน มหาเถระสมาคมกดดันพระเณรที่ออกไปร่วมม็อบหรือขึ้นปราศรัยในม็อบ ทั้งหมดนั้นนำมาด้วยข้อถกเถียงขึ้นอย่างกว้างขวางว่า เหมาะสมแล้วหรือไม่ที่พระจะออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง 

18 เมษายน พระธรรมกร ซึ่งเป็นเจ้าสำนักสงฆ์แห่งหนึ่งในจังหวัดหนองบัวลำภู ได้ใช้เครื่องประหารแบบกิโยตินสูงสี่เมตรที่สร้างขึ้นใช้ตัดคอตนเอง โดยทั้งลูกศิษย์และญาติโยมต่างรับรู้เรื่องนี้กันเป็นอย่างดีว่า พระธรรมกรได้กระทำการดังกล่าวเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา 

หลังเกิดเหตุการณ์พระมหาไพรวัลย์ วรรณบุตร* ได้เดินทางไปถึงสำนักสงฆ์แห่งนั้นด้วยตนเอง พระมหาไพรวัลย์วิเคราะห์ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นว่า ความเชื่อของพระธรรมกรได้มาจากคัมภีร์ที่เขียนขึ้นในชั้นหลังๆ โดยเฉพาะคัมภีร์อนาคตวงศ์ซึ่งถูกแต่งขึ้นโดยพระกัสสปะ ภิกษุจากอินเดียใต้ หลังพุทธปรินิพพานถึง 1,700 ปี 

นอกจากนั้นมหาไพรวัลย์ยังได้พูดถึง บทสวดทำวัตรเย็น ที่ว่า "ข้าพเจ้าขอมอบกายถวายชีวิตนี้ แด่พระพุทธเจ้า แด่พระธรรม และพระสงฆ์" ท่านบอกว่า คำสวดท่อนนี้ก็มีปัญหามาก เพราะแต่งขึ้นในสมัยพระวชิรญาณภิกขุออกผนวช สมัยที่ตั้งคณะพระธรรมยุติ คำสวดหลายตอนเอาอย่างคริสต์ศาสนาที่เน้นการถวายตัวเพื่อพระเจ้า

วันที่ 3 กันยายน พระมหาไพรวัลย์ไปไลฟ์สดทางเฟสบุคร่วมกับพระมหาสมปอง** ด้วยลีลาเปี่ยมอารมณ์ขันไม่เคร่งขรึมเหมือนที่คนไทยคุ้นเคย เรียกคนชมขึ้นถึงหลักแสน หลังจากนั้นก็เกิดดราม่าคำครหาขึ้นมาว่า การพูดแบบตลกเฮฮาของพระนั้นไม่สำรวมไม่เหมาะสม แต่ก็มีคำโต้แย้งกลับมาว่า ที่มีคำครหานั้นมาจากเหตุที่พระทั้งสองรูปเหน็บแนมวิจารณ์นโยบายการทำงานของรัฐบาลหรือเปล่า

ถัดมาไม่ถึงเดือน เกิดข่าวลือจากภายในของมหาเถระสมาคมว่า จะมีการเสนอเปลี่ยนตัวเจ้าอาวาสวัดสร้อยทอง จากเดิมที่พระราชปัญญาสุธี (เป็นพระอาจารย์ของพระไพรวัลย์) กำลังรั้งตำแหน่งรักษาการเจ้าอาวาส มาเป็นเป็น พระศรีปริยัติสุธี ด้วยคำกล่าวอ้างว่า พระราชปัญญาสุธีย่อหย่อน ไม่สนองงานคณะสงฆ์ 

พระไพรวัลย์รู้สึกถึงความไม่ชอบมาพากล สงสัยว่าพระอาจารย์ของตนกำลังถูกกลั่นแกล้ง เนื่องมาจากเล่นงานตนเองไม่ได้ จึงไปหาทางเล่นงานอาจารย์แทน

ความรู้สึกคับแค้นต่ออำนาจอันคุกคามนั้นได้ถึงกับทำให้ท่านส่งสารถึงมหาเถระสมาคม แถลงคำประกาศว่าจะสึก น้ำตาไหลสะอื้นไห้ด้วยความคับแค้นกลางไลฟ์ พระมหาสมปองก็สำทับมาว่าจะออกตามพระมหาไพรวัลย์ช่นกัน แล้วน้ำตาสายนั้นก็ได้กลายเป็นไวรัลขึ้นมาอีก ร้อนถึงต้องมีจดหมายชี้แจงมาจากคณะกรรมการที่แต่งตั้งเจ้าอาวาสอย่างปัจจุบันทันด่วน 

28 กันยายน นายวินัย หรืออดีตพระยันตระผู้เคยโด่งดังในอดีตได้เดินทางกลับจากประเทศสหรัฐอเมริกาที่ไปอาศัยอยู่กลับเข้าประเทศไทย มีทั้งฆราวาสพระสงฆ์มากมายที่เคยเป็นลูกศิษย์เดินทางไปกราบไหว้ด้วยความศรัทธา เรียกเสียงฮือฮาจากคนทั้งประเทศได้อีกครั้ง ว่าเกิดอะไรขึ้นกับพระสงฆ์ไทยที่ก้มลงกราบฆราวาส

ปลายเดือนตุลาคม ก็เกิดพุทธดราม่าขึ้นอีกครั้ง เมื่อ นัท นิศามณี เน็ตไอดอล เจ้าของเพจสะบัดแปรง ได้ปล่อยคลิปวิดีโอในวันฮัลโลวีนด้วยการแต่งตัวแต่งหน้าคลับคล้ายพระพุทธเจ้าแน่นอน คำถามที่เราต้องได้ยินแน่ๆ ก็คือ

เหมาะสมหรือไม่?

ก่อนจะตอบคำถามนั้น เราจะลองย้อนไทม์ไลน์ไล่ทบทวนประวัติศาสตร์พุทธดูกันสักหน่อย เพราะไหนๆ รัฐไทยก็ได้ประกาศว่า ศาสนาพุทธคือศาสนาประจำชาติ กษัตริย์ไทยเป็นพุทธศาสนิกชน ไทยเปลี่ยนการนับปีแบบจุลศักราชอันเป็นการนับแบบพม่า มาเป็น ร.ศ. (รัตนโกสินทร์ศักราช) ก่อนจะมาเป็นพุทธศักราชในสมัยรัชกาลที่ 8 แสดงว่าพุทธศาสนานั้นต้องมีความสำคัญไม่น้อยกับรัฐชาติไทย

ตั้งแต่ วันเพ็ญเดือนหก ก่อน พศ.1 สักเจ็ดสิบกว่าปี ตอนที่เจ้าชายสิทธัตถะถอดเครื่องทรงแบบกษัตริย์ก่อนจะไปหยิบผ้าดิบห่อศพมานุ่งห่ม แม้ดินแดนชมภูทวีปจะเป็นดินแดนแห่งโยคีและผู้แสวงบุญ แต่มันก็น่าจะมีคนที่มองการนุ่งห่มแบบนั้นว่า 'ไม่เหมาะ'

ทั้งๆ ที่คำสอนของพุทธนั้นปฎิเสธการนับถือรูปเคารพ หากเมื่อสมณะโคดมปรินิพพาน พุทธศักราช 1 เริ่มต้นขึ้น ผ่านไปหกร้อยกว่าปี หลายประเทศเริ่มสร้างพระพุทธรูป พระพุทธรูปชุดแรกนั้นเป็นศิลปะคันธาระ ใบหน้าของพระพุทธเจ้าออกไปทางชาวกรีกด้วยอิทธิพลของกรีก-โรมัน หลังจากนั้นโลกก็ได้เห็นพระพุทธรูปมากมายหลายลักษณะ แตกต่างกันไปตามแต่อิทธิพลทางวัฒนธรรมของอำนาจชนชาติที่ปกครองอยูในดินแดนแถบนั้น พระพุทธรูปบางวัฒนธรรมนั้นมีเครื่องตกแต่งประดับประดาวิจิตรบรรง พระแก้วมรกต ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งที่เราไม่ต้องดูไกลนัก

แม้จะกล่าวอ้างกุศโลบายถวายเป็นพุทธบูชา ใช้กุศโลบายความสวยงามดึงคนเข้าสู่หลักธรรมของศาสนา 

แต่ 'เหมาะสมหรือไม่' ก็ยังคงเป็นคำถามที่ยังคงไร้คำตอบที่ชัดเจนเสมอมา

นอกจากนั้นยังมีพระพุทธรูปจำนวนหนึ่งที่ตั้งใจสร้างให้ อัปลักษณ์ เช่น พระสังกัจจายน์ พระอรหันต์ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะในทางผู้อธิบายความย่อให้พิสดาร แต่สิ่งที่คนรู้กันและเชื่อกันมากคือ เดิมทีท่านเป็นพระรูปงาม แต่เห็นคนต่างพากันชื่นชมรูปลักษณ์ จึงตั้งใจใช้อภิญญาเสกตัวเองให้อ้วนพลุ้ยไม่น่าดู ตั้งแต่นั้นเราก็ได้เห็นแต่พระสังกัจจายนะในร่างอ้วนพุงพลุ้ย ด้วยกุศโลบายให้คนเข้าใจว่า สวย ไม่สวย นั้นก็เพียงแค่รูป พอใจไม่พอใจเฉยๆ ก็เป็นเพียง เวทนา 

พระสังกัจจายนะ นั้นเป็นพระที่ได้รับการนับถือมากในลัทธิมหายาน เรามักจะพบเจอพระพุทธรูปของพระสังกัจจายนะในวัดจีนเกือบทุกแห่ง ซึ่งลัทธิมหายานนี้เองก็ได้เป็นต้นกำเนิดของลัทธิเซ็น ซึ่งเป็นลัทธิที่ลดทอนพิธีกรรมเคร่งขรึมไปเน้นที่การปฎิบัติและตื่นรู้แบบฉับพลัน หรือพูดง่ายๆ ก็คือเป็นความพยายามบรรุลธรรมในแบบที่พ้นออกไปจากกรอบนั่นเอง ซึ่งบางครั้งถ้าดูเผินๆ จะเหมือนกับการเล่นการล้อเลียน 

และแน่นอนว่า การปฏิบัติเพื่อการตื่นรู้ของพระนิกายเซ็นนั้นก็อาจจะถูกบางความเชื่อมองได้ว่า 'ไม่เหมาะ'

หากกล่าวถึงพระพุทธรูปโดยที่ไม่กล่าวถึงพระเครื่องก็คงจะไม่สมบูรณ์ในภาพรวม จากการสืบค้น พระเครื่อง นั้นเดิมทีเรียกว่า พระพิมพ์ ที่พบว่ามีขึ้นตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 10 หรือ 11 พระพิมพ์ถูกสร้างขึ้นเพื่องานบุญ และจะฝังไว้ตามเจดีย์ที่วัด ไม่มีความนิยมนำมาห้อยติดตัวหรือนำมาไว้ที่บ้านดังเช่นปัจจุบัน เหตุด้วยคนสมัยนั้นแยกว่า ความศักดิ์สิทธิ์จะต้องอยู่ที่วัด พระเครื่องเพิ่งจะมีการนำเอามาห้อยติดตัวเป็นเครื่องรางซึ่งรับอิทธิพลจากตะวนตกเมื่อสมัยรัชกาลที่ 4 นี่เอง*** 

ทั้งพระพุทธและพระเครื่องนี่ย่อมไม่ใช่คำสอนดั้งเดิมของพระพุทธเจ้าอย่างแน่นอน ยิ่งมาในชั้นหลังๆ การผลิตพระเครื่องนั้นแม้จะทำโดยพระสงฆ์ แต่กลับผ่านการปลุกเสกด้วยพิธีแบบพรหมณ์กึ่งผี และเป็นไปในเชิงพุทธพาณิชย์อย่างชัดเจน พุทธศาสนิกชนนิยมยึดถือใช้เป็นเครื่องรางของขลัง หรือนำมาเก็บสะสม ความยึดถือในวัตถุด้วยความงมงายนั้นยิ่งห่างไกลจากคำสอนดั้งเดิมไปไกลลิบ 

เรื่องแบบนี้ 'เหมาะสมหรือไม่'

อีกเหตุการณ์อันสำคัญที่เกิดขึ้นในรัชสมัยพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวคือการตั้งธรรมยุตินิกาย โดย พระวชิรญาณเถระ (รัชกาลที่ 4) จุดหมายก็เพื่อฟื้นฟูการสั่งสอนพระพุทธศาสนา และการประพฤติปฏิบัติของพระสงฆ์ให้ถูกต้องตามพระธรรมวินัยตามที่ได้ทรงศึกษา* แม้ว่าจะมีการบริหารจัดการคณะสงฆ์มาตั้งแต่สมัยอยุธยาแล้ว แต่นี่เป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่มีคำประกาศใช้พระราชบัญญัติลักษณะการปกครองคณะสงฆ์ พระราชบัญญัติฉบับนี้มีชื่อว่า พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ร.ศ. 121 ซึ่งตามมาด้วยการจัดตั้งมหาเถระสมาคมอันจะมีอำนาจและบทบาทอย่างมากมายมหาศาลต่อศาสนาพุทธในประเทศไทยต่อมาจนถึงปัจจุบัน เช่น ออกระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการปฏิบัติต่างๆ ของพระ ข้อกำหนดเกี่ยวกับการศึกษาพระเปรียญธรรม (มีวุฒิ) รวมถึงการแต่งตั้งพระในตำแหน่งต่างๆ ซึ่งไม่เคยมีปรากฏในพระไตรปิฎก 

ในปัจจุบัน เราพบว่ามหาเถระสมาคมนั้นเป็นองค์กรอันใหญ่โตระดับประเทศ ตำแหน่งต่างๆ มีความสำคัญ พระสังฆราชนั้นต้องแต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์ และถ้าจะพูดว่ามีความเกี่ยวพันสลับซับซ้อนโยงใยกับอำนาจการเมืองภายนอก ก็ไม่น่าจะผิดนัก 

และถ้าจะถามว่า อำนาจและตำแหน่งนั้น 'เหมาะสมหรือไม่' กับนักบวช ก็คงไม่ผิดนักถ้าจะถาม

การหยิบศาสนามาใช้กับวัตถุประสงค์บางอย่างนั้นเกิดขึ้นนานแสนนานมาแล้ว เริ่มต้นในสมัยที่เรายังเชื่อในเรื่องเหนือธรรมชาติ มี ผี เทพเจ้า ต่อมาเรามีพระเจ้า ศาสนาถูกผนวกกับการเมืองกลายเป็นศาสนจักร ในบางแห่ง ผู้นำศาสนาก็คือผู้ปกครองประเทศ จนถึงบัดนี้ หลายๆ แห่งในโลก ศาสนากับการเมืองก็ยังแยกกันไม่ออก

ตั้งแต่มีศิลปะเกิดขึ้น มนุษย์ก็ได้นำศิลปะไปผูกพันกับศาสนา แรกเริ่มเดิมทีก็แสดงถึงศรัทธา หากเมื่อเทพนิยายอันศักดิ์สิทธิ์เรื่องราวสมมติเทพเริ่มจางคลายลง ศิลปินก็เริ่มวิพากษ์ตั้งคำถาม แม้กระทั่งประชดประชันล้อเลียน ถึงปัจจุบัน ในประเทศเสรี การหยิบเรื่องของศาสนาหรือนักบวช กระทั่งตัวศาสดามาเล่นแร่แปรธาตุนั้นดูจะเป็นเรื่องที่พบเห็นได้เสมอๆ จนเป็นเรื่องธรรมดาสมัญไปแล้ว 

ยกตัวอย่างเช่น นวนิยายและภาพยนตร์ เรื่อง Davinci Code ได้บอกเล่าความคิดว่าด้วยพระเยซูนั้นมีทายาท ซึ่งทั้งตัวนิยายและภาพยนตร์ก็ถูกศาสนจักรโจมตีอย่างหนัก, นิยายชุด His Dark Material นั้นตั้งใจวิพากษ์ศาสนจักรโดยตรง, การ์ตูนอย่าง Priest ก็มีนักบวชเป็นคาแรคเตอร์หลัก, นิยายอิงพระไตรปิฎกอย่าง ไซอิ๋ว มีพระโพธิสัตว์มาเป็นตัวละคร, พระวัดเส้าหลินเป็นตัวละครและและเคล็ดวิชาอยู่ในนิยายกำลังภายในอันโด่งดังหลายต่อหลายเรื่อง แถมบางเรื่องยังเป็นตัวร้าย, 

ที่มา: bookriot.com/saint-young-men-available-in-the-us/

ญี่ปุ่น มีทั้งมังงะเรื่อง Saint young men ที่เอาทั้งพระพุทธเจ้าและพระเยซูมาเจอกันในยุคปัจจุบัน หรือ Record of Ragnarok ที่มีตัวละครพระพุทธเจ้าฉบับวัยรุ่นแต่งตัวเปรี้ยวซ่า แม้แต่ไทยเองเรายังมีหนังที่ตัวเอกเป็นพระมานานแล้วอย่าง หลวงตา หรือตระกูล หลวงพี่เท่ง หลวงพี่แจ๊ส ต่างๆ หลายต่อหลายภาค 

เรียกได้ว่า พระ ศาสดา หรือศาสนา นั้นได้กลายมาเป็นส่วนนึงของวัฒนธรรมร่วมสมัยไปนานแล้ว 


ที่มา: แฟนเพจ สะบัดแปรง

แต่เหตุใด เมื่อมีการวาดภาพพระพุทธเจ้าในปางอุลตร้าแมน เกิดมีการแต่งกายแบบคอสต์เพลย์เลียนแบบพระพุทธเจ้าขึ้นมา จึงเกิดเป็นคำถาม เหมาะสมหรือไม่ เป็นพุทธดราม่าขึ้นมาได้อีก

มาทำความเข้าใจวัฒนธรรมคอสเพลย์สักเล็กน้อย การแต่งคอสเพลย์นั้นคือการแสดงอย่างหนึ่งซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อร่วมอีเว้นต์หรือแสดงออกถึงความชอบอย่างคลั่งไคล้ต่อสตอรี่ต่อวัฒนธรรมนั้นๆ แต่งตัวแต่งหน้าทำผมเลียนแบบคาแรคเตอร์ที่ตนชื่นชอบจากหนัง นิยาย การ์ตูน เกมส์ 

เราลองมาพิเคราะห์การแต่งเป็นพระพุทธเจ้าของ นัท นิศามณี เริ่มตั้งแต่ สวมหมวกที่มีลักษณะคล้ายผมหยิกเป็นก้นหอยตามที่เราเห็นเศียรของพระพุทธรูป 

แต่จะว่าไปแล้ว นั่นเป็นทรงผมของพระพุทธเจ้าจริงหรือไม่ ก็ยากที่ใครจะตอบได้ เพราะดูเหมือนภาพพระพุทธเจ้าที่คุ้นเคยของสังคมไทยนั้นก็คือภาพของพระพุทธรูป เพราะเราไม่มีภาพจริงของพระพุทธเจ้า เราจึงยึดถือเอาภาพของพระพุทธรูปมาเป็นตัวแทน 

ไล่ลงมาที่เครื่องนุ่งห่ม นัทนั้นแต่งอิงตามการนุ่งห่มจีวรของสงฆ์ไทย ลงมาที่กลีบบัวประดับตกแต่งตรงส่วนท่อนล่าง เราคาดเดาได้ไม่ยาก เพราะบัวนั้นเป็นดอกไม้ที่นิยมใช้ในพิธีกรรมพุทธไทย ในพระไตรปิฎกมีพูดถึงบัวสี่เหล่า หรือในตำนานที่แรกเกิดพระพุทธเจ้าก็มีดอกบัวมารองรับการก้าวเดิน 

คือจะว่าไปการใช้ดอกบัว ก็ไม่ได้ผิดไปจากตำนานที่เราเคยชินนั่นเอง 

หากถ้าเราลองใคร่ครวญขบคิดตามพระไตรปิฏกพราหมณ์สำนักอื่นนั้นเรียกพระตถาคตว่า สมณะโล้น ก็อาจมีความเป็นได้ว่า พระพุทธเจ้าจะโกนผม หรือผมสั้นเกรียนติดหนังหัว แต่การนุ่งห่มและสีของจีวรแบบพระสงฆ์ไทยนั้นก็ต่างจากภิกขุในสมัยพุทธกาล รวมถึงพระในศาสนาพุทธของที่อื่นๆ เพราะเริ่มต้นนั้นสมณะโคดมเพียงไปคว้าผ้าห่อศพมาพันร่าง หลังจากนั้นจึงมีการนำเปลือกไม้มาย้อมสี

ส่วนดอกบัวนั้นก็เพียงตำนาน

เป็นไปได้ไหมว่า ไม่ได้มีตาชั่งสากลใดเลยจะใช้ตัดสินมาตรฐาน เหมาะ หรือ ไม่เหมาะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไร ความเหมาะสมนั้นได้เปลี่ยนแปรไปตามรสนิยมของบุคคล กลุ่มคน ความเชื่อ สถานที่ เวลา ไม่มีอะไรตายตัวแน่นอน เหมาะสมของยุคหนึ่งที่หนึ่งก็อาจกลับกลายเป็นไม่เหมาะสมในอีกยุคสมัยอีกสถานที่

พานึกย้อนไปเมื่อ พศ.2516 ประเทศแถบอินโดจีนกำลังตกอยู่ในความหวดกลัวภัยคอมมิวนิสต์ พระสงฆ์ไทยรูปหนึ่งถึงกับพูดว่า ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป คำพูดอันน่าสะพรึงกลัวนี้ได้แพร่กระจายออกไปทั่วทุกแห่งในประเทศ ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ และผ่านสถานีวิทยุ จะพูดว่าโดยการจัดการรัฐก็ไม่น่าจะผิดไกล อันนำมาซึ่งโศกนาฏกรรมสังหารหมู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 

เหตุใดช่วงเวลานั้นสังคมกลับไม่ได้ตั้งคำถามดังๆ ถึงความ เหมาะสม และช่างน่าแปลกเหลือเกินที่ต่อมา แม้ผ่านมานานหลายปีก็ไม่มีการสืบสวนสอบสวนเอาความกับพระรูปนั้นเลย

ไม่นานมานี้ ผู้เขียนได้เห็นภาพวาดของ Angus McBride จิตรกรวาดภาพแนวเหมือนจริงที่นิยมวาดภาพจากประวัติศาสตร์ ศิลปินคนนี้ได้วาดภาพจำลองฉากเทศนาหรือสนทนาธรรม โดยคนกลุ่มหนึ่งนั่งอยู่บนสนามหญ้าชายป่าใต้ร่มไม้ ในกลุ่มประกอบไปด้วยคนนุ่งห่มขาวแบบพราหมณ์ คนหัวโล้นเตียนหุ่มผ้าสีส้ม ทั้งหมดนั้นกำลังตั้งใจฟังชายหนุ่มผมยาวเกล้ามวยผู้นุ่งผ้าสีส้มเปลือยร่างท่อนบน 

หลายคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ภาพนี้ช่างดูสมจริง ดูสบายๆ ดูง่ายๆ ดูสามัญธรรมดาไร้อภินิหารหรือการตกแต่งให้วิจิตร เรียบง่ายเหมือนคำสอนของศาสดา

หากภาพในหัวของเราจะเห็นว่าพระพุทธเจ้ามีหน้าตาแบบนี้ เราอาจไม่รู้สึกกระไรเลยเมื่อเราเห็นการแต่งคอสเพลย์ของนัท  

ที่มา: แฟนเพจ สะบัดแปรง 

หรือถ้าเราจะลองจินตนาการเล่นๆ ว่า เราเดินเข้าไปในภาพ ยื่นโทรศัพท์มือถือที่แสดงรูปของนัทที่แต่งกายแบบนั้นให้ชายหนุ่มผมยาวคนนั้นดู ใช้กูเกิลทรานสเลทถามเค้าว่า เค้ารู้สึกอย่างไร คุณคิดว่าชายหนุ่มคนนั้นจะโกรธา ด่าว่าไม่เหมาะสม หรือไม่

หรือเขาจะเพียงยิ้มน้อยๆ หรืออาจจะเอ่ยเบาๆ ว่า รูปา รัมมะนังวา กันแน่หนอ 

ภันเต

 

ปล. ส่งท้าย ต้นปี พ.ศ. 2565 ทั้งพระมหาไพรวัลย์และพระมหาสมปองได้ลาสิกขาบทเป็นที่เรียบร้อย แม้กระนั้นก็ยังมีเรื่องมีราวต่างๆ ตามมามากมาย ทั้งที่เกี่ยวกับพุทธศาสนาบ้างและไม่เกี่ยวบ้าง

*พระมหาไพรวัลย์ เป็นพระในสังกัดวัดสร้อยทองอารามหลวง เป็นพระหัวก้าวหน้าพูดจาทันสมัย ใช้โซเชียลมีเดียสื่อสารกับคนรุ่นใหม่ได้คล่องแคล่ว มีลูกศฺิษย์รวมทั้งคนติดตามหลายแสน

**พระมหาสมปอง พระนักเทศน์มหาชนผู้มีแนวคิดว่า ธรรมะไม่จำเป็นต้องอยู่ที่วัด ธรรมะไปได้ทุกที่ การเผยแพร่ธรรมะของพระมหาสมปองนั้นให้สาระทางธรรมด้วยความบันเทิงสนุกสนาน เพื่อให้เข้าถึงพุทธศาสนิกชนได้อย่างทั่วถึงทุกช่องทางโดยสื่อหลากหลาย

***(https://www.silpa-mag.com/history/article_28309
 

 

ที่มาภาพปก: Facebook Tanakorn Wongpanya

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท