Skip to main content
sharethis
  • อดีต รมช.ศึกษา ย้ำโลกในยุควิกฤติโควิด-19 ได้เปลี่ยนไป กำลังเปลี่ยน และจะเปลี่ยนต่อไป ในหลากมิติ
  • นักวิชาการมหาวิทยาลัย ยอมรับว่าระบบการศึกษาไทย ต้องปรับตัวให้ทันกับโลกยุคใหม่ ขณะที่หลายองค์กร หลายสถาบัน สะท้อนปัญหาและหาทางออก
  • เปิดมุมมองคนรุ่นใหม่ กับระบบการศึกษาไทย พร้อมการศึกษาทางเลือก อาจคือคำตอบของการศึกษาเพื่ออนาคต

เมื่อ 4 ปีที่แล้ว มีข่าวที่เขย่าวงการอุดมศึกษาโลก รวมถึงอุดมศึกษาของไทย เมื่อ ศาสตราจารย์ เคลย์ตัน คริสเตนเซน อาจารย์และนักการศึกษาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้เขียนบทความลงในหนังสือ The Innovative University เล่มล่าสุดของเขาว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาว่า มหาวิทยาลัยในอเมริกาปิดตัวไปแล้วกว่า 500 แห่ง จากทั้งหมดกว่า 4,500 แห่ง และคาดการณ์ว่าภายใน 10 ปีข้างหน้า จะมีมหาวิทยาลัยในอเมริกาปิดตัวลงอีกไม่น้อยกว่า 2,000 แห่ง ซึ่งปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากอิทธิพลของการศึกษาออนไลน์ และจำนวนนักเรียนไฮสคูลที่จะเข้าสู่มหาวิทยาลัยลดลง ไม่เพียงแต่ศาสตราจารย์คริสเตนเซนเท่านั้น กระทรวงศึกษาธิการของสหรัฐอเมริกาและสถาบันจัดอันดับมูดีส์ก็ประเมินเช่นกันว่า จะมีวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยขนาดเล็กปิดตัวเพิ่มขึ้น 3 เท่าตัว และมีแนวโน้มการควบรวมกิจการของมหาวิทยาลัยขนาดเล็กเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว

ซึ่งต้นเหตุที่ทำให้วัยรุ่นอเมริกันตัดสินใจเรียนในระดับอุดมศึกษาน้อยลง ส่วนหนึ่งมาจากหนี้ทางการศึกษาที่นักเรียนในระดับมหาวิทยาลัยเกือบร้อยละ 90 ต้องกู้เงินเรียนและเมื่อเรียนจบแล้วต้องเจอกับภาวะเศรษฐกิจที่หางานทำยากทำให้วัยรุ่นอเมริกันเริ่มหาทางเลือกใหม่ให้กับตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการเรียนในระบบออนไลน์ จากอิทธิพลของเทคโนโลยีและการเข้าตีตลาดของหลักสูตรออนไลน์ (MOOCs: Massive Open Online Courses) การศึกษาที่เปิดเสรีให้คนทั่วโลกเข้าถึง โดยไม่จำกัดจำนวน มีทั้งเรียนฟรีและเสียค่าใช้จ่าย แต่เป็นทางเลือกที่คนรุ่นใหม่มองว่าคุ้มค่า เมื่อแลกกับความสะดวกสบาย ได้เรียนกับ ศาสตราจารย์ (Professor) จากมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงอันดับท็อปๆ ของโลก ทำให้คอร์สออนไลน์ได้รับความนิยมจากทั่วโลกอย่างรวดเร็ว

นี่เป็นปรากฏการณ์ที่ไม่ได้ส่งผลกระทบเฉพาะมหาวิทยาลัยในอเมริกา แต่กระทบการศึกษาทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยก็ได้รับผลกระทบจากอิทธิพลของ Digital Disruption หรือ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น โดยเป็นผลมาจากนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่นกัน โดยมีการประเมินสถานการณ์ปัญหานี้ และมีหลายสื่อออกมานำเสนอบทความกันอย่างต่อเนื่องว่า...

  • ไม่เกิน 5 ปี มหาวิทยาลัย เตรียม "เจ๊ง"
  • นับถอยหลัง…มหาวิทยาลัยไทย “เจ๊ง” หรือ “รอด”
  • คาดว่าอีก 2 ปี จะเหลือมหาวิทยาลัยในไทยไม่เกิน 120 แห่ง

มีรายงานว่า มหาวิทยาลัยเอกชนบางแห่งของไทย อาจต้องปิดตัวลงเพราะมีคนสมัครเข้าเรียนไม่ถึงห้าร้อยคน หรือ มหาวิทยาลัยเอกชนบางแห่งกำลังจะขายกิจการให้ต่างชาติ ทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่ส่งผลต่อระบบการศึกษาไทย และ ตลาดแรงงานในอนาคตอันใกล้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน นี่ยังไม่นับรวมผลกระทบจากการลดลงของประชากรไทยที่เด็กเกิดใหม่น้อยลง จากตัวเลขเมื่อ 30 ปีก่อน เด็กเกิดใหม่มีมากกว่า 1 ล้านคน/ปี ปัจจุบันมีเด็กเกิดใหม่ปีละประมาณ 600,000 – 700,000 คน เท่านั้น ทำให้ที่นั่งในมหาวิทยาลัยว่างลงจำนวนมาก

มีข้อมูลรายงานว่า ขณะนี้มีที่ว่างในระดับปริญญาตรีถึง 140,000 ที่นั่ง แต่มีนักเรียนเข้าสู่ระบบเพียง 80,000 คน เท่านั้น และในการรับแอดมิชชันปีการศึกษา 2560 พบว่า ยอดผู้สมัครต่ำสุดในรอบ 10 ปี เป็นสัญญาณเตือนมหาวิทยาลัยไทยกำลังเข้าสู่ภาวะ ห้องเรียนร้าง และสุดท้ายต้องปิดตัวไป โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยเอกชนขนาดเล็กที่สายป่านไม่ยาวพอ

นอกจากนี้ นักวิชาการด้านการศึกษาต่างเห็นตรงกันว่า ปัจจัยเร่งที่ทำให้มหาวิทยาลัยของไทยปิดตัวเร็วขึ้น คือ หลักสูตรไม่ตอบโจทย์ตลาด การเรียนการสอนล้าสมัย ไม่เป็นสากล ขาดแคลนอาจารย์ที่มีคุณภาพ รวมถึงคุณภาพวิชาการและงานวิจัยที่เน้นปริมาณ แต่ไม่ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศหรือของโลก ทำให้โอกาสที่จะได้รับการตีพิมพ์และเผยแพร่ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติน้อยมาก เมื่อเทียบกับงานวิจัยของมหาวิทยาลัยชั้นนำในอาเซียน หรือมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก ปรากฎชัดจากการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลก (World University Rankings) ที่มหาวิทยาลัยของไทยตามหลังมหาวิทยาลัยในเอเชียและอาเซียนอย่างไกลลิบ

จากวิกฤติที่เกิดขึ้น ทำให้มหาวิทยาลัยทั้งรัฐและเอกชนจำนวนมากต้องลดห้องเรียน ยุบรวมหลักสูตร/สาขาวิชา ลดอาจารย์ หรือจ้างออก รวมถึงใช้กลยุทธ์ลด แลก แจก แถม เพื่อจูงใจให้เด็กเข้ามาเรียน

นพ.อุดม คชินทร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

นพ.อุดม คชินทร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า การปิดตัวของมหาวิทยาลัยในสหรัฐเอเมริกา เป็นตัวเลขที่น่ากลัว ทั้งที่การศึกษาของสหรัฐอเมริกามีคุณภาพกว่าประเทศไทยมาก เชื่อว่าอีกไม่นานประเทศไทยจะประสบปัญหาไม่ต่างกัน เนื่องจากการศึกษาออนไลน์ได้รับการพิสูจน์และยอมรับว่า เป็นกระบวนการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพและคุณภาพ โดยนำเทคโนโลยีมาช่วยในการเรียนการสอน ทำให้คุณภาพการเรียนการสอนไม่ต่างจากการเรียนในห้องเรียน อีกทั้งค่าเรียนยังถูก สามารถเรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา ในขณะที่การเรียนการสอนในระบบเดิมต้องลงทุนมหาศาล

“สิ่งที่น่าเป็นห่วง นอกจากการรุกของหลักสูตรออนไลน์แล้ว จำนวนเด็กที่เข้าสู่ มหาวิทยาลัย ที่อเมริกากำลังเผชิญ เป็นวิกฤติที่การศึกษาของไทยกำลังเผชิญเช่นเดียวกัน ย้อนไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ประเทศไทยมีเด็กเกิดใหม่ 1.1 ล้านคน/ปี ตอนนี้ลดลงเหลือ 7 แสนคน/ปี เด็กมัธยมฯ ที่จะเข้าสู่มหาวิทยาลัยลดลงแน่นอน นอกจากนี้ ในอเมริกายังพบว่า เด็กปี 1 ที่เข้าสู่มหาวิทยาลัย ไม่ได้อยู่ในช่วงอายุ 18 – 22 ปี ตามปกติ เพราะเด็กเหล่านี้เมื่อเรียนจบไฮสคูลจะออกไปทำงาน ออกเดินทางไปค้นหาสิ่งที่ตนเองชอบ เรียนรู้จาก Google เมื่อรู้ว่าอยากเรียนหรืออยากทำอาชีพอะไร ถึงจะตัดสินใจเข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัย โดยไม่จำเป็นต้องเรียน 4 ปีเต็ม เพราะครึ่งหนึ่งเขาได้จากการทำงานมาแล้ว”  

ดังนั้น อาจารย์ยุคใหม่จะต้องสอนโดยมุ่งผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนเป็นหลัก มีการบูรณาการการเรียนรู้ในห้องเรียนและนอกห้องเรียน เพื่อให้เด็กเรียนรู้คู่ไปกับการทำงาน หรือฝึกปฏิบัติวิชาชีพจริง หรือให้ผู้ที่อยู่ในภาคอุตสาหกรรมมาถ่ายทอดทักษะประสบการณ์ ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากของจริง ซึ่งจะต้องเริ่มตั้งแต่การออกแบบหลักสูตร การเรียนการสอนร่วมกัน รวมไปถึงการประเมินผล เพื่อให้เด็กที่จบไปมีทักษะในการเป็นผู้ประกอบการ (entrepreneur) ในสถานประกอบการ และสามารถสร้างธุรกิจของตัวเองได้

อดีต รมช.ศึกษา ย้ำโลกในยุควิกฤติโควิด-19 ได้เปลี่ยนไป กำลังเปลี่ยน และจะเปลี่ยนต่อไป

นพ.อุดม ได้ย้ำอีกว่า ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา โควิด-19 ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของโลกมหาศาล ที่ผ่านมานั้น มันทำให้เราเปลี่ยนไปเยอะมาก มีลักษณะแปลกใหม่และท้าทาย คือ มีการเปลี่ยนแปลงเร็ว มีความไม่แน่นอน มีความซับซ้อน และมีความไม่ชัดเจนแล้ว ตอนนี้ มันยังมีความเป็น Disruptive คือมีผลกระทบมาก มีการพลิกผันแบบหน้ามือเป็นหลังมือ และ Discontinuous คือมีความผกผัน ไม่ต่อเนื่องในทิศทางเดิม ดังนั้น เราต้องยอมรับว่ามันเลวร้าย และโควิดมันเป็นตัวขับเคลื่อนและส่งผลกระทบจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของระบบสาธารณสุข ระบบเศรษฐกิจ กำลังคน ตกงาน ไม่มีงานทำ เพราะพิษเศรษฐกิจ และอีกตัวหนึ่งก็คือ เรื่องการศึกษา เราได้ผลกระทบเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาในระดับขั้นพื้นฐาน หรือระดับอุดมศึกษา เพราะฉะนั้น มหาวิทยาลัยต้องปรับตัวสู่บริบทโลกใหม่ ต้องปรับวิธีคิดกันใหม่หมด 

อรุณี กาสยานนท์ รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย

ในขณะที่ อรุณี กาสยานนท์ รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ได้ออกมากล่าวว่า 7 ปี การศึกษาไทย ภายใต้ "พล.อ.ประยุทธ์" ทำเด็กไร้อนาคต ต่างชาติประเมินตกต่ำทุกปี แนะ มองเทรนด์โลก เร่งแก้ ก่อนเด็กไทยตกงานพุ่ง

อรุณี บอกว่า ขณะนี้ปัญหาการศึกษาของไทยอยู่ในภาวะใกล้ปรอทแตกจากปัญหาสะสมหลายด้าน ทั้งกรณีผลการสำรวจทักษะความสามารถด้านการสื่อสารภาษาอังกฤษ (EF English Proficiency Index) ปี 2021 ของเด็กไทยรั้งท้ายตารางอยู่อันดับที่ 100 จากทั้งหมด 112 ประเทศ และต่ำกว่าเวียดนาม เมียนมา และกัมพูชา นอกจากนี้ยังมีเด็กอีกจำนวนมากเข้าไม่ถึงเครื่องมือสื่อการเรียนในช่วงโควิด-19 ขอรับบริจาคโทรศัพท์มือถือใช้แล้วจากหน่วยงานของภาครัฐที่เพิ่งอนุมัติจัดซื้อโทรศัพท์มือถือเครื่องใหม่อีกด้วย ทั้งหมดคือบางส่วนของปัญหาการศึกษาไทยบนปลายยอดภูเขาน้ำแข็งที่โผล่พ้นทะเลออกมาเท่านั้น ซึ่งเกิดจากโครงสร้างการศึกษาที่บิดเบี้ยว ดังนั้นทุกฝ่ายควรใช้โอกาสนี้ในการปรับแก้ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ โดยส่วนตัวมีข้อกังวลใน พ.ร.บ.ฉบับนี้เกี่ยวกับการมอบอำนาจให้คณะกรรมการนโยบายที่มากเกินไปหรือไม่ เพราะมีหัวหน้าส่วนราชการเป็นคณะกรรมการด้วย หากส่วนราชการใดไม่ทำตามมติของคณะกรรมการนโยบาย ถือว่าหัวหน้าส่วนราชการจงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมายไปด้วยหรือไม่ ซึ่งอาจสร้างปัญหาในการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติงานในระดับพื้นที่ ทั้งในฝั่งของครู บุคลากรทางการศึกษา และผู้ปกครอง เป็นต้น

“7 ปี พลเอกประยุทธ์ทิ้งขว้างเด็กไทยไร้อนาคต เด็กจบปริญญาตรี หรือแม้แต่สายวิชาชีพตกงานมากถึง 8.7 แสนคน ยังมีเด็กที่เสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษาอีกจำนวนมากนับล้าน เด็กไทยมากกว่า 2.6 ล้านคนต้องสังเวยให้กับความไร้ความสามารถของท่าน นี่คือสิ่งที่เด็กไทยคงจดจำถ้าเลือกผู้นำผิด แม้แต่อนาคตที่ฝัน เด็กไทยก็ยังไม่มี” รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทยกล่าว

มุมมองคนรุ่นใหม่ กับระบบการศึกษาไทย

หนึ่งฤทัย ใจมีสุข ถือเป็นตัวแทนคนรุ่นใหม่คนหนึ่ง ที่เคยลงทะเบียนเรียนระดับปริญญาตรีในมหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่ เพียง 2 เทอมแล้วตัดสินใจหยุดเรียน ออกมาค้นหาอิสรภาพทางการเงิน มาทำงานขายตรงให้กับบริษัทขายตรงที่มีชื่อเสียงบริษัทหนึ่งอย่างจริงจัง จนมีรายได้ และเคยได้รับรางวัลโบนัสการทำงาน ได้สิทธิไปท่องเที่ยวต่างประเทศด้วยวัย 20 ต้นๆ 

เมื่อเราถามเขาว่า ชีวิตคุณมองระบบการศึกษาของไทยในขณะนี้อย่างไร  คนรุ่นใหม่ยังจำเป็นต้องเรียนสูงๆ ในรั้วมหาวิทยาลัย เพื่อเอาใบปริญญาหรือไม่?

“คิดว่าไม่จำเป็นแล้วครับ โลกได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว อิสรภาพในการใช้ชีวิตมีมากขึ้นกว่าเมื่อก่อน ระบบข้อมูลข่าวสารกว้างไกลมากขึ้น ทุกคนสามารถที่จะเลือกเรียนรู้และประสบความสำเร็จในชีวิตเองได้ ขอเพียงมีเป้าหมายของชีวิต สิ่งนี้เป็นสิ่งสำคัญยิ่งกว่าสิ่งใดทั้งหมด ยกตัวอย่าง บริษัททรงอิทธิพลชั้นนำของโลก เขายังประกาศเปิดรับสมัคร ตำแหน่งงาน ออกแบบหรือครีเอท เขาระบุบอกว่า รับคนที่ไม่จบการศึกษาหรือไม่มีวุฒิเท่านั้น แค่นี้ก็เป็นคำตอบของระบบการศึกษาโลกตอนนี้แล้ว” หนึ่งฤทัย กล่าว

หนึ่งฤทัย ใจมีสุข

“ผมคิดว่าไม่ตอบโจทย์เลยครับ โลกปัจจุบันพัฒนาไปไวมากครับ อยากรู้เรื่องไหนเราสามารถหาข้อมูลเพื่อให้รู้ได้ทันที ยกตัวอย่าง การหาเงินหรือการทำธุรกิจบนโลกออนไลน์ ไม่จำเป็นต้องรอให้จบการศึกษาก็สามารถหาเงิน สร้างรายได้เลี้ยงชีพหรือเลี้ยงครอบครัวคนที่เรารักได้” หนึ่งฤทัย กล่าว พร้อมย้ำ การศึกษาไทยมันไม่สอดคล้องและไม่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของคนยุคใหม่นี้ไปแล้ว

เมื่อถามเป้าหมายชีวิตของหนึ่งฤทัย คนหนุ่มยุคใหม่ เขาบอกว่า เป้าหมายที่สำคัญที่สุดของชีวิตในตอนนี้ คือ อยากประสบความสำเร็จในอาชีพที่ทำอยู่ ก่อนอายุ 30 มันคือเป้าหมายเดิมที่ตนเคยตั้งไว้ตั้งแต่อายุ 23 ปีมาแล้ว

เช่นเดียวกับ ภาคภูมิ โปธา ตัวแทนคนรุ่นใหม่อีกคนหนึ่ง เรียนจบในระดับปริญญาโท รัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เคยทำงานบริหารการเมืองท้องถิ่น แต่ล่าสุด ได้ตัดสินใจลาออกมาทำงานธุรกิจออนไลน์อย่างจริงจัง  บอกเล่าให้ฟังว่า  ในมุมมองของตนเอง เมื่อพูดถึงเรื่องการศึกษาในสังคมไทย ก็ยังจำเป็นต้องใช้วุฒิการศึกษา เพราะว่าวุฒิการศึกษาอยู่คู่กับสังคมไทย มานานแล้ว ดังนั้น ตนคิดว่า ยากมากที่องค์กรหน่วยงานจะรับคนเข้าทำงานโดยไม่ดูวุฒิการศึกษา แต่ก็มีบางงานที่ไม่จำเป็นต้องใช้วุฒิการศึกษาใดๆเลยเพียงแค่ใช้ความรู้เฉพาะทางในการทำงานซึ่งมีอยู่มากมายบนโลกใบนี้

“เหตุผลที่เรียนต่อ ปริญญาโท ก็เพราะว่าช่วงนั้น มีการศึกษา ต่อโดยใช้ทุนของท้องถิ่นในระดับปริญญาโท ผมก็เลยลองไปสัมภาษณ์ที่มหาลัยเชียงใหม่ สอบเข้าในระดับปริญญาโทสาขารัฐประศาสนศาสตร์ ก็เลยคิดว่าจะนำเอาความรู้ในด้านนี้มาประยุกต์ใช้กับการทำงานในท้องถิ่นเพื่อที่จะหวังไว้ว่า จะเป็นการยกระดับท้องถิ่น ในรูปแบบการพัฒนาให้ดีขึ้น และเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ให้กับตนเองในฐานะผู้บริหารท้องถิ่นที่มีวุฒิการศึกษาเป็นเครื่องการันตีทางสังคม”

ล่าสุด เขาตัดสินใจลาออกงานประจำ จากงานบริหารส่วนท้องถิ่น มาทำงานออนไลน์ เทรดหุ้น Forex อย่างจริงจัง

“ตอนนี้ผมลาออกจากงานประจำ เพื่อจะค้นหาตัวเอง สิ่งที่ผมค้นหาก็คือค้นหาไลฟ์สไตล์ให้กับตัวเอง ที่อยากจะทำเงินสร้างรายได้จากออนไลน์ ทำงานที่ไหนก็ได้บนโลกใบนี้ เพียงแค่มีอินเตอร์เน็ต มี Notebook หรือโทรศัพท์ดีๆ สักเครื่อง เอาไว้ทำงาน ส่วนเรื่องแนวทางที่ผมเลือกก็คือการเทรด Forex ซึ่ง เป็นเทรนด์ใหม่สำหรับคนยุคสมัยใหม่จริงๆ ครับ เพราะว่ามันสามารถตอบโจทย์กับไลฟ์สไตล์ของเราอย่างที่บอกอยู่ที่ไหนก็ได้สามารถทำงานกับมันแล้วก็สร้างรายได้ อันนี้แหละครับ ผมว่าเราไม่จำเป็นต้องมีวุฒิการศึกษามาการันตี แต่ต้องอาศัยการศึกษาเรียนรู้เฉพาะทางเกี่ยวกับโดยตรง เราก็สามารถที่จะสร้างรายได้ให้กับตนเอง สามารถนำเงินที่ได้ไปลงทุนกับความฝันของเราได้ด้วย” ภาคภูมิ กล่าว

ภาคภูมิ โปธา

ที่น่าสนใจ ก็คือ คนรุ่นใหม่อย่างภาคภูมิและใครหลายคน นั้นเริ่มหันมาสนใจแนวคิดของ สตีฟ จ็อบส์, แจ็คหม่า และ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก กันมากยิ่งขึ้น

“คิดว่า แนวคิดของบุคคลทั้งสามคนไม่ว่าจะเป็น สตีฟ จ็อบส์, แจ็คหม่า และ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ล้วนเป็นตัวอย่างสำหรับคนรุ่นใหม่ ที่มีวิธีคิด เราสามารถนำวิธีคิดของบุคคลเหล่านี้นำมาประยุกต์ใช้ ในการทำงานซึ่งต้องใช้ฐานคิด แบบบุคคลเหล่านี้และผมเชื่อว่าการที่เรากล้า ที่จะทำอะไรบางอย่างแล้วทำมันอย่างมุ่งมั่นผมเชื่อว่า ความสำเร็จ อยู่ไม่ไกลเกินเอื้อมแน่นอน”

อย่างไรก็ตาม ภาคภูมิ บอกว่า เมื่อมองระบบการศึกษาของไทย ควรเน้นเปลี่ยนโครงสร้างการศึกษาในระดับชุมชน หรือการศึกษาเฉพาะทางใดทางหนึ่งจะเหมาะสมกว่าในยุคนี้ 

“การที่เราจะไปเปลี่ยนโครงสร้างระบบการศึกษาของไทย ที่มีอยู่มานานแล้วผมคิดว่ายากมากครับ แต่เราสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการศึกษาในแต่ละหน่วยย่อยจะดีกว่า เช่นเราสามารถกำหนดทิศทางการศึกษาให้กับลูกเรา  สามารถกำหนดทิศทางการศึกษาให้กับชุมชน เราสามารถกำหนดทิศทางการศึกษาโครงสร้างการศึกษาให้กับธุรกิจใดธุรกิจหนึ่งเพื่อเป็นแนวทางหรือเป็นช่องทางหนึ่งที่เป็นทางเลือกให้กับคนที่อยากเรียนรู้เฉพาะทางเฉพาะด้าน  บางครั้งเราก็ไม่จำเป็นต้องเข้าสู่ระบบโรงเรียนหรือมหาลัยก็ได้  เราใช้วิธีการเรียนการสอนที่จะนำไปสู่เป้าหมายที่เราตั้งไว้  เราก็สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง ก็เริ่มจากที่ตัวเราเป็นสำคัญนั่นล่ะ”

อุทาน นามเสนา กับลูกสาว บาหลี นามเสนา

ในขณะที่ อุทาน นามเสนา พ่อของของน้องบาหลี นามเสนา ซึ่งจัดการศึกษาในรูปแบบครอบครัว หรือ โฮมสคูลและเลือกเรียนกศน.ในระดับม.ปลาย บาหลี เคยเป็นผู้จัดรายการเชฟน้อยกินเปลี่ยนโลก สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ก็ได้บอกย้ำให้เราเห็นภาพของวิกฤติของระบบการศึกษาของไทยในมุมกว้างได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

อุทาน บอกว่า เมื่อย้อนดูตัวเองตั้งแต่ครั้งเยาว์วัย  การศึกษาไทย นั้นได้พรากเขาออกจากครอบครัวอันอบอุ่น ออกจากวิถีชนบทที่เคยมีแต่ความสุข ต้องเข้ามาใช้ชีวิตในเมืองใหญ่ที่ห่างไกลจากบ้านเกิดออกไป เข้ามาสู่สังคมที่แปลกแยก เขาเคยเป็นนักศึกษาในกรุงเทพฯ  เรียนในรั้วมหาลัยแปดปี ก่อนตัดสินใจ ไม่สนใจปริญญา เดินออกมาเรียนรู้ชีวิตจริง ทำงานศิลปะ และสร้างครอบครัว ก่อนย้ายมาลงหลักปักฐานอยู่ที่เชียงใหม่

ที่น่าสนใจ ก็คือ เขาพยายามจะบอกเราว่า การศึกษา ไม่จำเป็นต้องถูกจำกัดอยู่แค่ในห้องเรียนหรือรั้วมหาวิทยาลัย แต่เขาให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ประสบการณ์จริง จากสังคมรอบข้าง จากโลกภายนอกมากกว่า และสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมีความสุข  

โดยเขาเลือกที่จะให้ บาหลี ลูกสาวคนเดียว เลือกตัดสินใจเองที่จะเรียนในระบบโฮมสคูล 

“จริงๆ ผมไม่ได้คาดหวังอะไรกับระบบการศึกษาไทย และก็ไม่ได้คาดหวังอะไรกับโฮมสคูล เพียงแต่ผมจะมุ่งเน้นให้ลูกสาวเรียนรู้สิ่งรอบข้าง ให้เกียรติกับทุกสิ่งที่เราได้เรียนรู้ เคารพในอาชีพทุกอาชีพที่มีอยู่ในสังคมนี้ เพื่อที่วันหนึ่งคุณสามารถไปอยู่ในสังคมมุมไหนก็ได้ในโลกใบนี้...พื้นฐานที่เราให้ลูกเรียนนั้น ไม่ใช่การให้วุฒิทางการศึกษา แต่มันคือพื้นฐานชีวิต วุฒิภาวะที่ให้เขา เรียนรู้ที่จะไม่ก้าวร้าวต่อโลก โลกก็จะไม่ก้าวร้าวต่อคน คุณให้อภัยคนเป็น คุณก็ยิ้มกับผู้คนได้ และคุณได้ขอโทษคน คนเขาก็จะยิ้มให้คุณได้” 

อุทาน บอกอีกว่า ไม่ได้กังวลว่า กลัวลูกจะเรียนไม่เก่ง หรือกลัวจะน้อยใจที่เลี้ยงลูก ไม่ได้เรียนจบสูงๆ ไม่มีใบปริญญา 

“คือเราจะฝึกให้ลูกแบบนี้ คือไม่สร้างความกลัวในเส้นทางที่จะก้าวเดิน เพราะเราคิดว่ามันไม่ใช่ว่าเราจะเดินไปสู่ทางตันหรือทางตาย มันไม่ได้เลวร้ายแบบนั้น มันสามารถเรียนรู้ได้ มนุษย์ทุกคนคิดแล้วเรียนรู้ได้  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการศึกษาหรือการใช้ชีวิต” อุทาน กล่าว

ที่ผ่านมา ครอบครัวของเขา มีการจัดการสอนของโฮมสคูล มีสองรูปแบบ ที่เรียนตามระบบในโรงเรียน คือ การจัดการเรียนการสอน 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ เช่น ภาษาไทย คณิตศาสตร์ สังคม อังกฤษ วิทยาศาสตร์ แต่ว่ามีกลุ่มการเรียน แผนการเรียนอีกรูปแบบหนึ่งนั่นคือ การจัดการเรียนตามความสนใจของเด็ก อย่างกรณีบาหลี นั้นชอบเรียนดนตรี และเป็นเชฟเป็นหลัก หรือบางทีมีการรวมกลุ่มของเด็กๆ ที่สนใจเรื่องของวิทยาศาสตร์ เป็นต้น พอถึงเวลาก็จะมีเจ้าหน้าที่ กระทรวงศึกษาธิการมาทำการประเมิน จากแผนการเรียนการสอนที่เราเขียนเอาไว้ เหมือนการสอบในโรงเรียนนั่นแหละ  เพียงแต่ไม่มีข้อสอบ แต่จะมีการประเมินตามแผนที่เราเขียน แล้วประเมินว่าเด็กได้เรียนรู้ตามแผนที่เราวางไว้หรือไม่อย่างไร 

“เราต้องการให้เด็กได้เรียนรู้ว่า ช่วงเวลาของเด็กวัยนี้ มันควรจะได้เรียนรู้อะไรที่มันหลากหลายรูปแบบ มากกว่าที่จะถูกจำกัดกรอบความคิดและทิศทางที่จะเดินไป”

ในขณะที่ บาหลี นามเสมา เคยเป็นนักเรียนในรูปแบบบ้านเรียน หรือโฮมสคูล และเคยเป็นผู้จัดรายการเชฟน้อยกินเปลี่ยนโลก สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เธอมีทักษะทั้งในด้านการทำอาหาร ขนมเบเกอรี่ และการเล่นดนตรี ได้บอกเล่าไว้ว่า “ในความคิดหนู โฮมสคูลนั้นมีข้อดี คือได้ไม่ค่อยเห็นข้อเสียเลยละ   คือมีการเรียนรู้จริงๆ ได้มีเวลาในการเลือกทำในสิ่งที่ชอบจริงๆ อย่างเช่น การจัดรายการเป็นเชฟน้อย ทำให้หนูได้ออกไปรู้จักโลกข้างนอก ได้เดินทาง และได้เรียนรู้เรื่องการทำอาหารอีกด้วย ในอนาคตเคยฝันไว้ว่า อยากจะทำเป็นกิจการเกี่ยวกับการทำอาหารและอยากเป็นเชฟ ที่รักษ์โลกและใส่ใจสิ่งแวดล้อมด้วยค่ะ”

จะเห็นได้ชัดเจนว่า บาหลี ตัวแทนของคนยุคใหม่คนนี้ ไม่ได้เอ่ยถึงหรือสนใจระบบการศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัยเลย

การศึกษาทางเลือก อาจคือคำตอบของการศึกษาเพื่ออนาคต

ในขณะที่ ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ประธานคณะกรรมการโฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา และเลขาธิการสมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย ได้วิเคราะห์เรื่องระบบการศึกษาของไทยเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า ระบบการศึกษาที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ไม่ตอบโจทย์ชีวิต ไม่ตอบโจทย์ทุกครอบครัว ชุมชน และสังคมทั้งในปัจจุบันและอนาคต

“ในสังคมอนาคต จะมีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วกว่าเดิมหลายเท่า สังคมจะมีความสลับซับซ้อนและเป็นโลกที่ไร้พรมแดนมีการเชื่อมโยงกันทั้งโลก ข้อมูลข่าวสารจะทะลักทลายจากทุกมุมโลก การเข้าถึงความรู้และการติดต่อสื่อสารก็จะง่ายดาย สังคมจึงต้องการคนที่มีความเข้มแข็งและมีคุณภาพที่รู้จักตนเองว่ามีรากเหง้าเหล่ากอมาจากไหน มีความรักความชอบความถนัดความใฝ่ฝันอะไร มีความใฝ่รู้ใฝ่เรียนเท่าทันการเปลี่ยนแปลง เท่าทันสื่อ เท่าทันเทคโนโลยี เท่าทันการบริโภค สามารถสร้างสรรค์งานและสามารถพึ่งตนเองได้ ขณะเดียวกันก็เคารพคนอื่น เคารพความหลากหลาย สามารถสื่อสารและทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ เคารพธรรมชาติอยู่ร่วมกับโลกใบนี้อย่างเป็นมิตร มีจิตใจสาธารณะ ในฐานะพลเมืองที่มีคุณภาพที่ร่วมกันสร้างสังคมให้เข้มแข็ง”

ชัชวาลย์ บอกย้ำอีกว่า การเรียนในห้อง ท่องจำ แล้วสอบไม่ใช่การเรียนรู้ที่ตอบโจทย์การสร้างคุณภาพคน ที่จะต้องเผชิญกับโลกในอนาคตที่ซับซ้อน และเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว 

“การเรียนรู้ที่ให้เด็กเรียนรู้อย่างมีความสุข และตอบโจทย์อนาคตจึงเป็นสิ่งที่ท้าทายยิ่ง ซึ่งการศึกษาในระบบของรัฐที่เป็นอยู่ ไม่สามารถปรับตัวได้ทันอย่างแน่นอน จึงเป็นที่มาของการรวมตัวเครือข่ายการศึกษาภาคสังคมกลุ่มต่างๆ ที่พยายามเชื่อมโยงกันสร้างพลังการเรียนรู้ใหม่ เพื่อตอบโจทย์อนาคต การศึกษาเพื่ออนาคตต้องเริ่มจากผู้เรียน ความต้องการของผู้เรียน เริ่มจากสร้าง “กระบวนการค้นพบตัวเอง” ว่าแต่ละคนมีความรัก ความชอบ ความถนัด ความฝันอะไร? ซึ่งไม่มีในระบบการศึกษาที่ผ่านมา จึงต้องช่วยกันสรุปถอดบทเรียน พัฒนาความรู้ “กระบวนการค้นพบตัวเอง” ให้เป็นฐานสำคัญในการสร้างกระบวนการเรียนรู้ โดยยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ การเรียนรู้จะมีความสุข และมีพลังสูงยิ่ง จากนั้นต้องพัฒนาความรู้ทักษะการเรียนรู้ด้วยตนเองประกอบกันไปพร้อมกัน  เพราะหากรู้ว่าตัวเองรัก ชอบ ถนัดอะไร แต่ขาดทักษะการเรียนรู้ด้วยตนเอง การเรียนรู้ก็ไม่ลุ่มลึกรอบด้าน เป็นผู้มีวิถีใฝ่รู้ใฝ่เรียนด้วยตนเอง เรียนรู้ทุกที่ทุกเวลา ตลอดชีวิต”

ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ, นายกสมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย

ชัชวาลย์ เน้นย้ำความสำคัญอีกด้านหนึ่งที่ต้องมีการจัดการเพื่อเอื้อต่อการเรียนรู้ นั่นคือ “ระบบนิเวศการเรียนรู้ หรือโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการเรียนรู้” ที่จะเอื้อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้อย่างมีความสุขเข้าถึงความรู้ง่ายๆ สะดวกสบาย ค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงได้เสมอกัน โดยเฉพาะการพัฒนาระบบฐานข้อมูล พัฒนาแอปพลิเคชั่น เพื่อการเข้าถึงองค์ความรู้ แหล่งเรียนรู้ ผู้รู้ หนังสือ การปฏิบัติการความรู้ที่หลากหลาย ให้สามารถเชื่อมโยงข้อมูลให้กว้างขวางออกไปทั่วประเทศ

“สิ่งสำคัญของการศึกษาในอนาคตต้องปรับเปลี่ยนจาก “ผู้ยัดเยียดความรู้” ให้มาเป็น “ผู้เอื้ออำนวยให้เกิดการเรียนรู้” เปลี่ยนครูเป็นโค้ช เปลี่ยนพ่อแม่เป็นโค้ช มีทักษะการเป็นโค้ช ที่สร้างแรงบันดาลใจ จุดประกายความคิด สร้างความท้าทาย ให้คำปรึกษา เอื้ออำนวยให้เกิดการเรียนรู้อย่างเต็มศักยภาพของแต่ละคน ลองจินตนาการมีผู้เรียนมากมาย มีความรัก ความชอบ ความถนัด ความฝันอันหลากหลาย ได้มีสิทธิและโอกาสเลือกเรียนรู้ทุกที่ ทุกเวลาตลอดชีวิตอย่างมีความสุข” ชัชวาลย์ กล่าวในตอนท้าย

 

นักวิชาการมหาวิทยาลัย ยอมรับว่าระบบการศึกษาไทย ต้องปรับตัวให้ทันกับโลกยุคใหม่

ปฏิพันธ์ อุทยานุกูล คณบดีคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ได้วิเคราะห์ถึงระบบการศึกษาไทยในปัจจุบันนี้กับนักศึกษา คนรุ่นใหม่ มันสอดคล้องและตอบโจทย์ได้หรือไม่?

“เท่าที่คลุกคลีกับเด็กนักศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย ผมพบว่า การศึกษาแบบที่เด็กมีส่วนร่วมในการคิด การปฏิบัติ โดยให้เด็กได้เรียนรู้ไปด้วย ทำไปด้วย เด็กจะมีความสุขและเต็มใจที่จะเรียนรู้ในสิ่งที่ครูกำลังถ่ายทอดให้เขา ผมมักจะพูดกับนักศึกษาเสมอว่า “อย่าเชื่อ” ในสิ่งที่ผมพูด ให้เขาลองคิดและฝึกปฏิบัติไปด้วย ได้ผลอย่างไรแล้วให้สรุปเป็นองค์ความรู้ของตนเองจะดีที่สุด”

ปฏิพันธ์ อุทยานุกูล คณบดีคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย

เมื่อเราถามว่า จริงหรือไม่ที่เขาบอกว่า การศึกษาเป็นเพียงเครื่องมือที่เอื้อประโยชน์ให้นายจ้างใช้ตัดสินคัดเลือกคนรุ่นใหม่ที่มีประสิทธิภาพเข้าทำงานแค่นั้นหรือ?

ปฏิพันธ์ บอกว่า มันก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่ไม่ใช่ทั้งหมด ตนเองจะบอกเด็กเสมอว่าเกรดไม่ใช่ทุกสิ่งทุกอย่าง ความรู้ต่างหากคือสิ่งที่จะกำหนดชะตาชีวิตของเขาเอง ดังนั้น สิ่งสำคัญคือคุณต้องตอบนายจ้างให้ได้ว่าคุณรู้อะไร คุณทำอะไรได้ คุณมีความเชี่ยวชาญอะไรบ้าง พร้อม ๆ กับมีความสามารถพิเศษอะไรที่มันจะเกื้อกูลงานที่เขาจะจ้างคุณ ไม่มีนายจ้างคนไหนจะปฏิเสธคนที่มีความรู้ ทำงานได้ ทำงานเป็นหรอก

“ผมคิดเสมอว่า คนที่ประสบผลสำเร็จในการเรียน คือคนที่สามารถเอาวิชาที่เรียนมาประกอบเป็นอาชีพได้ ดังนั้นการศึกษาจะไม่มีประโยชน์อะไรเลย  ถ้าคุณไม่สามารถเอาไอ้สิ่งที่ร่ำเรียนมามาทำให้เกิดประโยชน์กับตัวคุณเอง” ปฏิพันธ์ กล่าว

ทั้งนี้ ปฏิภาณ ยังเห็นด้วย ที่เห็นหลายสถาบันการศึกษา หลายมหาวิทยาลัย ได้ปรับกระบวนการเรียนการสอนให้นักศึกษาเข้าสู่การเข้าเป็นผู้ประกอบการขนาดเล็กเอง การสร้างสรรค์โอกาสการประกอบอาชีพเองมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะทำให้การศึกษานั้นเชื่อมโยงและตอบโจทย์ จากความรู้สู่ความจริงของชีวิตได้

“ตอนนี้มหาวิทยาลัยหลาย ๆ แห่งมุ่งที่จะให้นักศึกษามีความใฝ่รู้ สู้งาน สามารถสร้างงานได้ และเป็นนายของตนเอง คือแทนที่จะเป็นผู้เดินหางาน ก็กลับกลายมาเป็นผู้ประกอบการเองไปเลย  นี่คือสิ่งสำคัญที่สุด คือเราจะต้องให้ผู้เรียนตระหนักรู้เสมอว่า การศึกษานั้นมันมีอย่างน้อย 2 มิติ คือการศึกษาโลกภายนอก นั่นคือสรรพวิทยาการต่าง ๆ ที่มีมากมาย วิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ ฯลฯ กับอีกมิติหนึ่งคือ การศึกษาภายใน คือการศึกษาตัวตนของเราเอง การศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับจิตใจของเราเอง ให้เรารู้จักตนเองมากขึ้น เมื่อรู้จักตนเองแล้ว ก็ไปทำความรู้จักกับคนอื่น ด้วยความรัก ความปรารถนาดี ความคารวะ นี่ต่างหากคือการศึกษาที่จะทำให้คนเป็นคนที่สมบูรณ์ ทั้งทางความรู้ สติปัญญาควบคู่ไปกับจิตใจที่งดงาม อันเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้สังคมเกิดสันติในที่สุด” คณบดีคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย กล่าวทิ้งท้าย

หลายองค์กร หลายสถาบัน สะท้อนปัญหาและหาทางออก

สุขุม เฉลยทรัพย์ ประธานที่ปรึกษามหาวิทยาลัยสวนดุสิต บอกว่า 2 ปีที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยปิดไปแล้วจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นมหาวิทยาลัยเอกชน ปัจจุบันเหลือมหาวิทยาลัยอยู่ประมาณ 150 แห่ง และคาดว่าอีกไม่นาน จะเหลือมหาวิทยาลัยทั้งระบบไม่เกิน 120 แห่ง

นอกจากนี้ ผู้บริหารมหาวิทยาลัยชั้นนำยังร่วมสะท้อนปัญหาอุดมศึกษา พร้อมวิเคราะห์และชี้ทางรอดของอุดมศึกษาไทยในยุค Disruptive Change หรือการเปลี่ยนโลกแบบพลิกโฉม เอาไว้อย่างน่าสนใจ

ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม รองอธิการบดี กำกับดูแลด้านการวิจัยพัฒนาและนวัตกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า วิกฤติอุดมศึกษาไทยเกิดจาก 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ ปัญหาเด็กเกิดใหม่ที่ลดลงอย่างรวดเร็ว  ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี ทำให้โอกาสในการเรียนรู้มีมากขึ้น ไม่ว่าจะอยู่ประเทศไหนในโลก สามารถเรียนผ่าน MOOCs โดยเชิญ Professor จากมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกมาสอน ขณะนี้ มีหลายมหาวิทยาลัยระดับท็อปของโลกที่เปิดคอร์สออนไลน์ จุฬาฯ ก็เปิดแล้วเช่นกัน อุตสาหกรรมไทยยังไม่พัฒนาไปสู่อุตสาหกรรมที่ใช้องค์ความรู้และนวัตกรรม ทำให้คนเรียนจบขั้นสูงไม่มีงานรองรับ นอกจากการรับคนเข้าทำงานของบริษัทต่างๆ จะดูที่ทักษะฝีมือ ประสบการณ์ และ Mindset มากกว่าปริญญาที่ได้รับ สุดท้าย ไม่มีแผนที่ชัดเจนในการผลิตคนในแต่ละอุตสาหกรรม ทำให้การผลิตคนของอุดมศึกษาเป็นไปอย่างไร้ทิศทาง ไม่ตรงกับความต้องการใช้แรงงาน เช่น ผลิตสายสังคมศาสตร์ บริหารธุรกิจออกมาล้นตลาด ขณะที่สายวิทยาศาสตร์ขาดแคลนจำนวนมาก

“กระจกเงาที่สะท้อนคุณภาพการศึกษาของอุดมศึกษาไทยได้อย่างดีก็คือ การจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลก (World University Rankings) ไม่ว่าจะเป็นของ QS World  University Rankings หรือ Times Higher Education (THE) จะเห็นว่าคุณภาพของมหาวิทยาลัยไทยถอยห่างจากสิงคโปร์ ไต้หวัน ฮ่องกง แม้แต่มาเลเซียไปเรื่อยๆ ปีนี้ QS จัดให้จุฬาฯ ติด Top 250 ของโลก THE จัดให้มหิดลติด Top 501 – 550 ของโลก แต่เทียบกับชาติในเอเชียแม้แต่อาเซียนจะเห็นว่ายังตามหลังอยู่มาก และไม่เคยมีมหาวิทยาลัยไหนของไทยที่เข้าไปอยู่ในอันดับท็อปของโลก การให้คะแนนของ QS ทุกข้อของจุฬาฯ ดีหมด แต่ตกวิจัยที่ยังไม่เข้ามาตรฐานสากล แม้ว่าเราจะผลิตงานวิจัยจำนวนมาก แต่จำนวนการอ้างอิงของเรายังต่ำกว่ามหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก ส่วน THE ใช้ตัวชี้วัดด้านคุณภาพการสอน 30% การวิจัย 60% สัดส่วนอาจารย์และนักศึกษาที่เป็นชาวต่างชาติ 7.5% และรายได้จากภาคอุตสาหกรรม 2.5% ฉะนั้น ถ้าไม่ปรับคุณภาพงานวิจัยที่ตอบโจทย์อุตสาหกรรม โอกาสที่จะติด 500 อันดับของโลกเป็นไปได้ยากมาก” ศ.นพ.เกียรติ กล่าว

ศ.นพ.เกียรติ กล่าวด้วยว่า มหาวิทยาลัยของไทยมีโอกาสติดอันดับมหาวิทยาลัยโลกได้จะต้องก้าวผ่านกับดัก 3 เรื่อง อย่างแรก ผู้บริหารประเทศ และผู้บริหารมหาวิทยาลัย รวมถึงอาจารย์ จะต้องมี Mindset ที่มุ่งความเป็นเลิศในการผลิตคน ผลิตองค์ความรู้ และสร้างนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ประเทศและตอบโจทย์โลก และใช้เม็ดเงินเพื่อการวิจัยอย่างมีประสิทธิภาพ มหาวิทยาลัยที่รับเงินไปแล้วไม่มีผลงาน หรือวิจัยขึ้นหิ้งต้องถูกแบล็กลิสต์ตัดเงินวิจัยในปีต่อไป ที่ผ่านมารัฐไม่มีเกณฑ์ในการให้คุณให้โทษ ใช้วิธีหารยาวเท่ากันหมด สอง ภาคเอกชนและวิสาหกิจต้องดึงบริษัทต่างชาติเข้ามาลงทุนร่วม เพื่อพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยี นวัตกรรมต่างๆ ให้กับประเทศ อย่างเช่น ตั้งโรงงาน New s Curve ในเขต EEC ที่รัฐบาลกำลังทำ และให้นักศึกษา นักวิจัยเข้าไปเรียนรู้เทคโนโลยี เพื่อสร้างคนรุ่นใหม่ที่มีทักษะเป็นเลิศสู่ภาคอุตสาหกรรม

“สุดท้าย อยากจะฝากว่าคุณภาพของมหาวิทยาลัย หรือ World Ranking จะดีขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ มหาวิทยาลัยมีความมุ่งมั่นในการสร้างคน สร้างองค์ความรู้ และนวัตกรรมที่ตอบโจทย์เศรษฐกิจและสังคมของประเทศได้อย่างแท้จริง” รองอธิการบดีกำกับดูแลด้านการวิจัยฯ จุฬาฯ กล่าวทิ้งท้าย

ขณะที่ รศ.พีรธร บุณยรัตพันธุ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยนเรศวร (มน.) มองว่า ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้คนหันมาประกอบอาชีพอิสระมากขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยองค์ความรู้ในมหาวิทยาลัยรูปแบบเดิม แต่เป็นการเรียนคอร์สสั้นๆ ที่เป็นเฉพาะทางมากขึ้น หรือเรียนในสถานประกอบการ เรียนผ่านอินเทอร์เน็ต นอกจากนี้ คนรุ่นใหม่ไม่เชื่อว่ามหาวิทยาลัยทำให้คนที่เรียนจบแล้วทำงานได้ทันที ยังต้องหาทักษะความรู้เพิ่มเติม ทำให้มองไม่เห็นความคุ้มค่าทั้งเรื่องเวลาและค่าเล่าเรียนที่เสียไป และมองว่านักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จหลายคนไม่ได้จบปริญญา จึงถูกท้าทายและตั้งคำถามว่า เรียนปริญญาตรี 4 ปี ยังจำเป็นอยู่หรือไม่

“ดังนั้น มหาวิทยาลัยจะอยู่รอดได้จะต้องปรับตัวและก้าวทันการเปลี่ยนแปลง หลักสูตรการเรียนการสอนต้องตอบโจทย์ความต้องการของผู้เรียน อย่างเช่นตอนนี้กระทรวงศึกษาฯ มีการออกแบบหลักสูตรพันธุ์ใหม่ให้มหาวิทยาลัยเปิดสอน เพื่อผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ในสาขาที่ต้องการของอุตสาหกรรมในอนาคต เป็นหลักสูตรที่ตอบโจทย์ทั้งผู้เรียนและตลาดแรงงาน รวมไปถึงคอร์สอบรมสั้นๆ ให้คนเข้ามาเรียนเพื่อนำความรู้ไปต่อยอดการทำงานหรือประกอบอาชีพอิสระ หรือคนที่อยากจะเปลี่ยนอาชีพก็สามารถกลับเข้ามาเรียนใหม่ได้” รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มน. กล่าว

โควิด-19 ส่งผลกระทบและนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงต่อแวดวงการศึกษาในหลากมิติ

ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์การศึกษา สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้ทำการประเมินสถานการณ์การศึกษาที่เกิดขึ้นจากผลกระทบของโควิด-19 ซึ่งนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงต่อแวดวงการศึกษาในหลากมิติ ตั้งแต่การปรับรูปแบบการเรียนออนไลน์ ไปจนถึงผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจ ที่ทำให้เด็กหลายคนต้องออกจากโรงเรียน เกิดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเพิ่มมากขึ้น  

ที่สำคัญก็คือ ผลกระทบด้านเศรษฐกิจ จะส่งผลทำให้มีแนวโน้มเพิ่มความเหลื่อมล้ำทางการศึกษามากยิ่งๆ ขึ้น 

หากย้อนดูตัวเลขที่ กสศ. เผยกลางเดือนตุลาคมปี 2563 ที่ผ่านมาพบว่า โควิด-19 ส่งผลต่อนักเรียนยากจนเพิ่มขึ้นมากกว่า 1.7 ล้านคน และเป็นนักเรียนยากจนพิเศษมากถึง 1 ล้านคน ในจำนวนนั้นยังพบครัวเรือนนักเรียนยากจนพิเศษมากกว่า 6 แสนครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบต่อรายได้ครอบครัวเฉลี่ยลดลงจาก 1,205 บาทต่อคนต่อครัวเรือน เหลือเพียง 1,077 บาทต่อคนต่อครัวเรือน เฉลี่ยเหลือเพียงวันละ 36 บาท ตัวเลขสมาชิกในครัวเรือนนักเรียนยากจนพิเศษที่ว่างงานก็เพิ่มขึ้นจาก 44% เป็น 73% ผลกระทบที่ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้คือ อาจทำให้เด็กต้องขาดเรียนมากขึ้น หรือครอบครัวมีรายจ่ายเพื่ออุดหนุนการศึกษาน้อยลง ทำให้แนวโน้มของความเหลื่อมล้ำระหว่างคนจนกับคนรวยมีมากขึ้น

ภาพเหตุการณ์ การชุมนุมทางการเมืองของนักศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

การศึกษาไทย ยุคโควิด-19 ถือเป็นปีแห่ง ‘วิกฤต-ถดถอย-ด้อยคุณภาพ’

ในขณะที่ สมพงษ์ จิตระดับ สุอังคะวาทิน ได้วิเคราะห์ว่า 2 ปี การศึกษาไทย ช่วงระหว่างปี พ.ศ.2564 จนถึงปี พ.ศ.2565 มีเหตุการณ์ สถานการณ์ ปัญหา อุปสรรค เกิดขึ้นมากมาย ภาวะการเกิดไวรัสโควิด-19 การแทรกแซงของเทคโนโลยี การเดินขบวนของนักเรียน นิสิต นักศึกษา เศรษฐกิจตกต่ำ ความยากจนเฉียบพลัน ล้วนนำมาแห่งปีเกิดภาวะ และสถานการณ์ร่วงตก หม่นหมองทางการศึกษาไทยอย่างมากมาย ภาวะถดถอยทางการศึกษา เด็กออกกลางคัน ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาวิกฤตหนักยิ่งขึ้น

การแก้ไขปัญหายังมีชุดนโยบายทางการเมือง ชั่วคราว วูบวาบ ไม่ต่อเนื่อง ยังดำเนินต่อไป อย่างไรก็ตาม ในปี พ.ศ.2565 แนวโน้มหลายเรื่องดีขึ้น พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ กำลังพิจารณาอย่างเข้มข้น

เราเห็น “ครูการเมืองรุ่นใหม่” ที่มีอนาคตสดใส ตั้งใจใส่ใจการปฏิรูปการศึกษาอย่างเอาจริงเอาจัง ดังเช่น ครูจุ้ย ครูไอติม ครูอุ้งอิ้ง ครูทิว เป็นต้น กลุ่มต้นกล้าการศึกษาไทย “นักเรียนเลว” แต่เคลื่อนไหวสร้างสรรค์ รวมไปถึงองค์กร ดังเช่น กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา เริ่มสามารถสรุป องค์ความรู้ ต้นแบบ ทฤษฎีการเปลี่ยนแปลงชัดเจนมากขึ้นตามลำดับ

ขณะเดียวกัน ในช่วงที่ผ่านมา การอุดมศึกษาไทย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มหาวิทยาลัยต่างๆ และสถาบันการศึกษาไทย แม้แยกออกจากระทรวงศึกษาธิการแล้วก็ตาม ยังอยู่ระหว่างอึมครึม ติดหล่ม ไม่สามารถชี้นำให้กับสังคมไทยได้มากนัก นิสิตนักศึกษาถูกเทลงถนนอย่างเสี่ยงอันตราย น่าเป็นห่วง ปิดสังคมมหาวิทยาลัยเบ็ดเสร็จ เชิญชวนให้ลงชุมชน ออกต่างจังหวัด เพราะกลัวการชุมนุมทางการเมือง รัฐมนตรีมีวาทกรรมนโยบายสู่ดวงจันทร์ แบ่งกลุ่มมหาวิทยาลัยตามภารกิจ ปรับระเบียบกฏเกณฑ์การเข้าสู่ตำแหน่งวิชาการง่ายขึ้น เร็วขึ้น และอื่นๆ

สมพงษ์ ได้ชี้ให้เห็นสถานการณ์ ปัญหาอุปสรรค ภาวะร่วงอย่างหนักในรอบทศวรรษการศึกษาไทยในประเด็นปัญหา ดังต่อไปนี้

1. ความถดถอยด้านคุณภาพของเด็กรุ่นนี้ เกิดขึ้นจากนโยบายที่ผิดพลาดทางการศึกษา การปิดเทอม ปิดโรงเรียน ปิดมหาวิทยาลัย แล้วให้เด็กและเยาวชนเรียนออนไลน์ และออนแฮนด์ อย่างต่อเนื่องเกือบ 1 ปี ยิ่งทำให้ปัญหาคุณภาพการศึกษาไทยที่ตกต่ำอยู่แล้ว เกือบสุดท้ายของโลก ยิ่งถดถอยถึงประมาณ 1.27 ปี เด็กเล็ก เด็กปฐมวัย ขาดการพัฒนาสมอง กระตุ้นให้คิดเล่น กล้ามเนื้อเล็กใหญ่ไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก เหลือเพียง 1 ใน 3 ที่มีอยู่ เด็กประถมศึกษา ป.1-3 โรงเรียนขนาดเล็ก อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ คิดเลขไม่เป็น เด็กมัธยมศึกษาโดดเรียนกว่า 20% วิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ การอ่าน ถดถอยถึง 50% หรือมากกว่านั้น นิสิตนักศึกษาให้เรียนอยู่บ้าน เด็กขาดสังคม ปฏิสัมพันธ์รอบด้าน เรียนไม่ค่อยเข้าใจ การบ้านมาก สมาธิต่ำ ขาดความต่อเนื่อง สุดท้ายผลการศึกษาติด 0 ติด ร. เป็นจำนวนมาก

ทำไมเด็กรุ่นนี้จึงมีคุณภาพด้อย และย่ำแย่ลง เพราะผู้ที่รับผิดชอบนโยบาย กลุ่มผู้บริหารระดับสูง กลัว กริ่งเกรง การตัดสินใจที่ผิดพลาด การไม่กล้ารับผิดชอบผลที่อาจจะเกิดขึ้น เด็กและเยาวชนเสี่ยงติดโควิด-19 จนเกินเหตุ ขาดข้อมูลองค์ความรู้ที่แม่นยำ สุดท้าย ผลระยะยาวจะปรากฏที่ตัวเด็กด้านลบหลายเรื่อง การศึกษาต่อ การเรียนรู้อย่างมีคุณภาพ ทักษะชีวิต ความเครียด สุขภาพจิต ติดเกมส์ อ้วนน้ำหนักเกิน ทุพโภชนาการ ตลาดแรงงาน และอื่นๆ อีกมากมาย

แปลกแต่จริง เรารับรู้ปัญหานี้ว่าวิกฤตรุนแรงอย่างมากมาย แต่เราเงียบแทบไม่มีนโยบาย โปรแกรม หรือโครงการซ่อมเสริม การช่วยเหลือฟื้นฟูเยียวยาคุณภาพของเด็กมากนัก เรากำลังทำร้ายคุณภาพ และละเมิดสิทธิเด็กด้วยนโยบายของรัฐใช่หรือไม่ ความรับผิดชอบทางการเมืองคืออะไร?

2. การออกกลางคันของนักเรียนทุกระดับการศึกษา สถานการณ์โควิด-19 ทำให้เกิดภาวะยากจนเฉียบพลัน คนตกงาน ไร้อาชีพ รายได้ลดลงจากเฉลี่ย 35,000 บาทต่อคนต่อเดือน เหลือเพียง 3,200 บาทต่อคนต่อเดือน ความยากจนความเหลื่อมล้ำทางการศึกษารุนแรง และยิ่งวิกฤตมากยิ่งขึ้นในเทอม 1/2564 มีนักเรียนยากจนพิเศษรวม 1,244,591 คน เพิ่มขึ้นจากเทอม 2/2563 ที่ทีเพียง 994,428 คน เพิ่มขึ้นจำนวน 250,163 คน คิดเป็น 19.98% มีเด็กออกกลางคันถึง 70,147 คน คิดเป็น 15% ของนักเรียนทั้งหมด ในระดับรอยต่อ อนุบาล 3 เข้า ป.1 4% ป.6 เข้า ม.1 19% ม.3 เข้า ม.4 48% ม.ปลายเข้ามหาวิทยาลัย 57%

กล่าวได้ว่ายิ่งเรียนสูงขึ้น ค่าใช้จ่ายยิ่งแพง จนผู้ปกครองรับไม่ได้ การเรียนฟรีไม่มีจริง ช่วงเปิดเทอม พ่อแม่ผู้ปกครองต้องมีค่าใช้จ่ายระหว่าง 6,113 – 15,076 บาท แล้วแต่ขนาด และชื่อเสียงของโรงเรียน มีเด็กแขวนลอยชื่ออยู่ แต่ค่อยๆ ออกถึง 30% สาเหตุการออกคือ ความยากจน ตกงาน ไม่มีรายได้ ปากท้องสำคัญกว่าเรื่องเรียน มีเด็กไทยเกือบ 1.9 ล้านคน อยู่ในภาวะเสี่ยงออกมากระบบการศึกษาตลอดเวลา เพราะมีรายได้เฉลี่ย 36 บาทต่อคนต่อวัน เดือนละ 1,094 บาท

ปัญหาขาดแคลนสื่อเทคโนโลยี เหลื่อมล้ำหนัก 87% ไม่มีเข้าไม่ถึง Computer Wifi สมาร์ทโฟน ทีวี เด็กเรียนไม่ทัน ไม่รู้เรื่อง ขาดความต่อเนื่อง สุดท้ายติด 0 ติด ร. จนแก้ไม่ได้ ค่อยๆ ซึมออกจากโรงเรียนกลายเป็นนอกระบบ ม.1 และ ม.2 เสี่ยงวงจรสีเทาภายในระยะเวลา 3 เดือนที่หลุดจากโรงเรียน การออกกลางคัน เป็นภาวะส่งต่อความยากจนรุ่นสู่รุ่น ปิดกั้นโอกาสการพัฒนาตนเอง สุ่มเสี่ยงต่อการติดเพื่อน ยาเสพติด เกม เพศวัยใส ความรุนแรง สุดท้ายเข้าสู่เส้นทางยุวอาชญากรในที่สุด

การมีนโยบายตามเด็กกลับมาเรียนเป็นเรื่องสำคัญมาก มีโรงเรียน ห้องเรียนพิเศษช่วยเหลือเยียวยาเด็กมากน้อยเพียงใด การวัดและประเมินผลที่ยืดหยุ่น รวมทั้ง การจัดหางาน รายได้พิเศษให้กับเด็กกลุ่มนี้ล้วนต้องทุ่มเทเอาใจใส่ และเข้าใจปัญหานี้อย่างแท้จริง

สำหรับปี พ.ศ.2565 ระบบการศึกษาไทยอาจจะรอด มีอนาคตสดใสได้ แนวโน้มการเปลี่ยนผ่านจะปฏิรูป พัฒนาได้หลายมิติ ดังเช่น ด้านกฏหมายใหม่ หลักสูตรสร้างเสริมสมรรถนะ การขอตำแหน่งเชิงประจักษ์ การปฏิรูประบบงบประมาณ และอื่นๆ ในมุมมองผู้เขียน 2 ประเด็น สำคัญที่เราต้องวางรากฐานให้ดี มีความเข้าใจตรงกัน ปรับวิธีคิดมุ่งสู่ตัวผู้เรียนเป็นสำคัญ ได้แก่เรื่องต่อไปนี้

1. พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชีวิตฉบับใหม่ และ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ ที่แต่ละมาตราต้องมองนิยาม การศึกษา การเรียนรู้แบบใหม่ ยึดแนวคิด “เด็กมีสิทธิกำหนดการเรียนรู้ตามศักยภาพของตนเองได้” รัฐ กระทรวงศึกษาธิการ ครู โรงเรียน คือ ผู้อำนวยความสะดวกให้เกิดสิ่งแวดล้อมทางการศึกษานิเวศน์การเรียนรู้ เปิดกว้าง ยืดหยุ่นหลากหลาย เข้าถึงได้ทุกมิติชีวิต มิติเวลา และการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น การศึกษามิได้เป็นแหล่งการใช้อำนาจ ระเบียบกฏเกณฑ์ มาตรฐานตัวบ่งชี้ข้อสอบที่มุ่งแข่งขันคัดเลือกต่อไป ควรยกเลิกกฏหมายที่ติดกรอบ กฎกระทรวงที่ทำให้การศึกษาไทยติดระเบียบราชการ จนขับเคลื่อนออกจากพื้นที่ปลอดภัย ที่อนุรักษ์สืบต่อมาจนถึงปัจจุบันนี้โดยเร็ว

2. หลักสูตรฐานสมรรถนะแทนหลักสูตรแกนกลางมาตรฐาน พุทธศักราช 2551 การยึดโยงสู่สาระพลเมืองประชาธิปไตยสิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อม เด็กไทยทุกคนต้องรู้ความถนัด ความสนใจความต้องการแรงบันดาลใจ ได้ลงมือปฏิบัติ กล้าตั้งคำถามได้อย่างมั่นใจ ลองผิดลองถูกด้วยตนเอง โรงเรียนเป็นนิติบุคคล หลักสูตรสถานศึกษาเชื่อมโยงกับบ้าน วัด โรงเรียน เป็นพื้นฐาน ต่อยอดขยายเชื่อมโยงกับชุมชน ทรัพยากร ระบบสารสนเทศมากขึ้น โรงเรียนมีหลายหลักสูตร ลู่เฉพาะตัว เหมาะสมกับเด็กแต่ละคนที่มีความหลากหลายแตกต่าง

การมีตลาดแรงงานรองรับมิใช่ระบบตลาดทุนนิยมด้านเดียว แต่เด็กสามารถเลือกพัฒนาต่อยอดจากความคิดจินตนาการ อาชีพคัดสรรที่ตนเองปรารถนาที่จะเป็นได้ ยกเลิกข้อสอบมาตรฐานระดับต่างๆ ได้เสียที ยกระดับโรงเรียนขนาดเล็กให้มีคุณภาพยิ่งขึ้น มหาวิทยาลัยกลับมาเปิดอย่างอิสระ เป็นกลาง ทฤษฎีแตกต่างการเรียนรู้เชิงวิพากษ์ การศึกษาเปรียบเทียบ และมีพื้นที่การพูดคุยของผู้เห็นต่างอย่างปลอดภัย หลักสูตรการศึกษาต้องไม่ถูกมัดตรึงด้วยข้อกำหนดพลเมืองตามที่รัฐต้องการ แต่เป็นการเรียนรู้ในโลกที่ทุกคนมีโอกาส และสิทธิของตนเองได้อย่างเท่าเทียมกัน

ปี พ.ศ.2564 คือสถานการณ์ที่ย่ำแย่ การร่วงหล่น เสียหายหนักขึ้นกับเด็กรุ่นนี้เป็นอย่างมาก เราปล่อยผ่านมันไปอย่างขาดสติ และความรับผิดชอบ ไม่กล้าตั้งคำถาม หรือทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้น และปี พ.ศ.2565 น่าจะป็นโอกาสที่เปิดทางอยู่รอดมีมากขึ้น ทั้งการเปิดเรียน กฏหมายใหม่ หลักสูตรฐานสรรถนะที่ทดลองใช้อยู่

สมพงษ์ จิตระดับ สุอังคะวาทิน ได้สรุปในตอนท้ายเอาไว้ว่า หากเรายังไม่กระตือรือร้น ไม่มีนโยบายที่เข้มข้นร่วมมือกัน เอาจริงเอาจัง ไม่กลัวการค้าน ต่อต้าน เดินหน้าปฏิรูปเพื่อเด็ก ครู โรงเรียนแล้วไซร้ ความแตกต่างของทั้ง 2 ปี จะไม่ปรากฏแม้แต่น้อย “ย่ำอยู่กับที่” เพียงแค่ยืดเวลาแห่งความด้อยคุณภาพ และแทบไม่มีความหวังใดๆ เลยในรอบหลายปีที่ผ่านมา

ข้อมูลประกอบ : 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net