รอการกำหนดโทษ 2 ปี 3 นศ.ชักธง 'ปฏิรูปกษัตริย์' ผิด พ.ร.บ.ธงฯ

ศาลให้รอการกำหนดโทษ 3 นศ.ชักธง 'ปฏิรูปกษัตริย์' เป็นเวลา 2 ปี ผิด พ.ร.บ.ธงฯ - อัยการยุติคดี 'อดีตการ์ด' หมิ่น กอ.รมน. ชี้หนังสือมอบอำนาจผู้เสียหาย ไม่ได้ระบุให้อำนาจดำเนินคดีผู้ต้องหา - สั่งฟ้อง ม.112 'ไอซ์ รักชนก' เหตุโพสต์ รีทวิตข้อความในทวิตเตอร์ รวม 2 ข้อความ ศาลให้ประกัน วงเงิน 100,000 บาท

25 มีนาคม 2565 ศาลแขวงขอนแก่นนัดอ่านคำพิพากษาในคดีชักธง “ปฏิรูปกษัตริย์” หน้าตึกอธิการบดี (หลังเก่า) มหาวิทยาลัยขอนแก่น ระบุผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายและระเบียบเกี่ยวกับธงชาติ ให้ความเห็นว่า การกระทําของจําเลยทั้งสามถือเป็นการไม่สมควร ไม่เคารพ หรือทําให้เสื่อมเสียเกียรติภูมิประเทศไทย จากการนำธงลงจากยอดเสาจนชายธงชาติอยู่ติดพื้น โดยจำเลยไม่มีพยานมานําสืบหักล้างให้เห็นเป็นอย่างอื่น จึงพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตาม พ.ร.บ.ธงฯ มาตรา 45 และ 53 (3) แต่ให้รอการกําหนดโทษไว้ 2 ปี เนื่องจากจําเลยยังเป็นนักศึกษา ทั้งไม่เคยต้องโทษจําคุกมาก่อน แต่ไม่ถือเป็นการเหยียดหยามธงชาติ จึงให้ยกฟ้องข้อหาร่วมกันกระทำการใดๆ อันมีลักษณะเหยียดหยามต่อธง ตาม พ.ร.บ.ธงฯ มาตรา 54

เหตุเกิดเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2564 จำเลยทั้งสามได้แก่ วชิรวิทย์ เทศศรีเมือง (เซฟ), ชัยธวัช รามมะเริง (กราฟฟิก) 2 นักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น และ เชษฐา กลิ่นดี (เชน) นิสิต ม.มหาสารคาม ได้ทำการการชักธง"ปฏิรูปกษัตริย์" ขึ้นสู่ยอดเสา เป็นเวลาประมาณ 10 นาที ตำรวจ และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของมหาวิทยาลัย ได้มานำธงดังกล่าวออกไป และต่อมาพนักงานสอบสวน สภ.เมืองขอนแก่น ได้ออกหมายเรียกแจ้งข้อกล่าวหานักศึกษา 3 ราย ว่าร่วมกันชักธงที่มีความหมายถึงประเทศไทยโดยไม่เคารพ โดยดูถูกเหยียดหยาม และโดยทำให้เกิดความเสื่อมเสียซึ่งเกียรติภูมิของประเทศไทย, ร่วมกันชักธงชาติไทยไว้ ณ ที่หรือโดยวิธีอันไม่สมควร และร่วมกันกระทำการใดๆ อันมีลักษณะเหยียดหยามต่อธง ตาม พ.ร.บ.ธงฯ มาตรา 45, 53 (3) และ 54 มีโทษจำคุกสูงถึง 2 ปี ปรับไม่เกิน 4,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

 

 

เนื้อหาคำพิพากษาโดยย่อ 
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จําเลยทั้งสามกระทําความผิดตามฟ้องหรือไม่ โจทก์มี ร.ต.อ.ชัชวาลย์ จารย์มาตร และ ร.ต.อ.ประยุทธ์ เมณกูล เจ้าพนักงานตํารวจ สภ.เมืองขอนแก่น เป็นพยานเบิกความในทํานองเดียวกันว่า เมื่อวันที่ 12 ก.พ. 2564 กลุ่ม ขอนแก่นพอกันที จัดกิจกรรมอยู่ที่บริเวณบึงสีฐาน มหาวิทยาลัยขอนแก่น และบริเวณหน้าตึกอธิการบดี โดยมีการถ่ายทอดสดผ่านทางเฟซบุ๊ก พยานตรวจสอบพบว่า จำเลยทั้งสามได้ร่วมกันแกะธงชาติ และนําธงปฏิรูปกษัตริย์ที่เตรียมมาผูกติดแล้วชักธงขึ้นสู่ยอดเสา ธงชาติจึงลงอยู่ด้านล่างไม่ได้แกะออก

เห็นว่า พยานโจทก์ทั้งสองดังกล่าวเบิกความสอดคล้องต้องกัน ไม่มีเหตุระแวงสงสัยว่าพยานเบิกความปรักปรําจําเลย แม้พยานโจทก์ทั้งสองไม่อยู่ในที่เกิดเหตุ แต่ก็ได้ตรวจสอบข้อมูลการเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มจําเลยทั้งสามกับพวกผ่านทางเฟซบุ๊กที่บันทึกเหตุการณ์ไว้ เชื่อว่าพยานโจทก์ทั้งสองเบิกความไปตามความจริง ประกอบกับจําเลยทั้งสามก็เบิกความยอมรับในลักษณะเดียวกัน 

ส่วนการกระทําของจําเลยทั้งสามดังกล่าวถือว่าเป็นการชักธงชาติลงมาโดยวิธีอันไม่สมควร และเป็นการไม่เคารพ ดูถูกเหยียดหยาม ทําให้เกิดความเสื่อมเสียซึ่งเกียรติภูมิของประเทศไทย ตามระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการใช้ การชัก หรือการแสดงธงชาติและธงของต่างประเทศในราชอาณาจักร พ.ศ.2529 และเป็นการเหยียดหยามต่อธงชาติหรือไม่นั้น โจทก์มีนายวิทวัส ยี่สารพัฒน์ นักวิชาการวัฒนธรรมปฏิบัติการ สํานักงานวัฒนธรรมจังหวัดขอนแก่น เป็นพยานเบิกความต่อศาลและให้การต่อพนักงานสอบสวนไว้ และมีบันทึกคําให้การนายวิสุทธิ์ ฉัตรานุฉัตร นิติกรเชี่ยวชาญ สํานักงานกฎหมายและระเบียบกลาง สํานักงานปลัดสํานักนายกรัฐมนตรี 

พยานทั้งสองเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายและระเบียบเกี่ยวกับธงชาติ ให้ความเห็นโดยมีหนังสือ 100 ปี ธงชาติไทย ร้อยดวงใจไทยทั้งชาติ ของคณะกรรมการจัดกิจกรรมฉลองครบรอบ 100 ปี การประกาศใช้ธงไตรรงค์เป็นธงชาติไทย สํานักนายกรัฐมนตรี และหนังสือคู่มือธงไตรรงค์ ธํารงไทย แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับธงชาติไทย การใช้ การชัก การประดับ การแสดง และการเคารพ ของสํานักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ สํานักงานปลัดสํานักนายกรัฐมนตรี ประกอบความเห็นว่า การกระทําของจําเลยทั้งสามที่นําธงผ้าสีแดงมีขนาดเท่าๆ กับธงชาติไทยและเขียนข้อความ “ปฏิรูปกษัตริย์” นําไปชักขึ้นสู่ยอดเสาแทนธงชาติ และอยู่เหนือธงชาติ ทําให้ธงชาติลงมายังโคนเสา ชายธงชาติติดพื้น ถือว่าเป็นการปฏิบัติต่อธงชาติที่ไม่สมควร ไม่เคารพ หรือเป็นการทําให้เกิดความเสื่อมเสียซึ่งเกียรติภูมิของประเทศไทย ส่วนจะมีลักษณะเป็นการเหยียดหยามต่อธงชาติหรือไม่นั้น พยานทั้งสองไม่ยืนยัน 

เมื่อศาลพิจารณาตามหนังสือดังกล่าวอธิบายถึงการกระทําอันเป็นการเหยียดหยามต่อธงชาติ ได้แก่ การกระทําต่อธงชาติ รูปจําลองของธงชาติ หรือแถบสี ธงชาติ ด้วยเจตนาเหยียดหยามประเทศชาติ เช่น ฉีก ทําลาย ถ่มน้ำลาย ใช้เท้าเหยียบ วางเป็นผ้าเช็ดเท้า ซึ่งเป็นการแสดงความดูถูกดูหมิ่น เหยียดหยามชาติไทยหรือคนไทย การกระทําของจําเลยทั้งสามจึงยังไม่ถือว่าเป็นการเหยียดหยามต่อธงชาติ 

ซึ่งข้อเท็จจริงที่ได้ความจากพยานผู้เชี่ยวชาญโจทก์ดังกล่าว จําเลยทั้งสามคงมีเพียงจําเลยทั้งสามมาเบิกความลอยๆ ไม่มีพยานอื่นมานําสืบหักล้างให้เห็นเป็นอย่างอื่น พยานหลักฐานที่โจทก์นําสืบมาจึงฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า ตามวันเวลาเกิดเหตุตามฟ้อง จําเลยทั้งสามกับพวกร่วมกันชักเอาธงชาติที่ผูกติดอยู่บนยอดเสาธงบริเวณหน้าตึกอธิการบดี ภายในมหาวิทยาลัยขอนแก่น ลงมาในลักษณะชายธงติดกับพื้นข้างล่าง แล้วนําธงผ้าสีแดงเขียนข้อความสีขาวว่า “ปฏิรูปกษัตริย์” ไปผูก แล้วจึงชักธงผ้าสีแดงดังกล่าวนั้นขึ้นไปบนยอดเสาธงแทนธงชาติ ธงชาติจึงลงมาข้างล่างอยู่ต่ำกว่าธงผ้าสีแดงดังกล่าว อันเป็นการชักธงชาติลงมาโดยวิธีอันไม่สมควร และเป็นการไม่เคารพ ทําให้เกิดความเสื่อมเสียซึ่งเกียรติภูมิของประเทศไทย

ดังนั้น จําเลยทั้งสามจึงมีความผิดฐานร่วมกันชักธงที่มีความหมายถึงประเทศไทย โดยไม่เคารพ และโดยทําให้เกิดความเสื่อมเสียซึ่งเกียรติภูมิของประเทศไทย และร่วมกันชักธงชาติไทยไว้ ณ ที่หรือโดยวิธีการอันไม่สมควร 

พิพากษาว่า จําเลยทั้งสามมีความผิดตาม พ.ร.บ.ธงฯ มาตรา 45, 48, 53(3) การกระทําของจําเลยทั้งสามเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษฐาน ร่วมกันชักธงที่มีความหมายถึงประเทศไทยโดยไม่เคารพ และโดยทําให้เกิดความเสื่อมเสียซึ่งเกียรติภูมิของประเทศไทยหรือชาติไทย ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่โทษหนักที่สุด 

พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งความผิดของจําเลยทั้งสาม ประกอบกับจําเลยทั้งสามยังเป็นนักศึกษาระดับชั้นปริญญาตรีกําลังศึกษาเล่าเรียน อีกทั้งไม่ปรากฏว่าจําเลยทั้งสามเคยต้องโทษจําคุกมาก่อน เห็นควรให้โอกาสจําเลยทั้งสามกลับตนเป็นพลเมืองดี จึงให้รอการกําหนดโทษไว้มีกําหนด 2 ปี 

ส่วนคําขอของโจทก์ที่ให้นับโทษจําคุกจําเลยที่ 1 (วชิรวิทย์) ต่อจากโทษจําคุกในคดีอาญาหมายเลขดําที่ 1676/2563 ของศาลนี้ (คดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการชุมนุมอีสานบ่ย่านเด้อ) นั้น เนื่องจากคดีนี้ศาลมีคําพิพากษารอการกําหนดโทษจําเลยที่ 1 และคดีดังกล่าวศาลยังไม่มีคําพิพากษา จึงไม่อาจนับโทษต่อได้ ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก

เซฟ วชิรวิทย์ เทศศรีเมือง จำเลยที่หนึ่งยืนยันว่าจะอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้น และกล่าวว่า”ผมขอตั้งคำถามว่าสิ่งนี้ที่เป็นปัญหาไม่ได้อยู่ที่นำธงชาติลงมา แต่เหตุเพราะเราเอาธง (ปฏิรูปกษัตริย์) ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องของราษฎรขึ้นสู่ยอดเสา และหากเป็นการนำเอาธงของประจำราชวงศ์ขึ้นแทน ผลคำตัดสินคงแตกต่างออกไป”

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้ตั้งข้อสังเกตต่อกระบวนการพิจารณาคดีนี้ว่า ในนัดสืบพยานโจทก์ซึ่งอัยการไม่สามารถติดตามพยานความเห็นปากนายวิสุทธิ์ ฉัตรานุฉัตร นิติกรประจำสํานักงานปลัดสํานักนายกรัฐมนตรี มาเบิกความได้ ศาลได้สั่งให้ตัดพยานปากดังกล่าว แต่กลับนำคำให้การชั้นสอบสวนของนายวิสุทธิ์ มาประกอบการวินิจฉัยและพิพากษาจำเลย โดยที่ทนายจำเลยไม่ได้มีโอกาสซักค้านพยานปากนี้เลย ซึ่งทนายจำเลยจะได้อุทธรณ์ในประเด็นนี้ต่อศาลอุทธรณ์ต่อไป  

การสืบพยานในคดีนี้ เมื่อวันที่ 31 ม.ค. – 1 ก.พ. 2565 นั้น  แม้พยานโจทก์หลายปากชี้ว่า การผูกธงอื่นอยู่เหนือธงชาติ รวมถึงการปล่อยให้ชายธงชาติตกถึงพื้นดิน เป็นการกระทำที่แสดงถึงความไม่เคารพ แต่ในการซักค้านของทนายจำเลย พยานโจทก์ทั้งหมดได้รับว่า ทราบเหตุการณ์จากการดูไลฟ์สด ซึ่งเวลาเกิดเหตุใกล้มืดแล้ว บางปากจึงไม่ยืนยันว่า ชายธงชาติตกถึงพื้นดินหรือไม่

ด้านวิทวัส ยี่สารพัฒน์ นักวิชาการจากสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดขอนแก่น รับว่าได้วินิจฉัยให้ความเห็นเกี่ยวกับธงชาติครั้งนี้เป็นครั้งแรก โดยหน้าที่รับผิดชอบของพยานเป็นการดูแลเรื่องวัฒนธรรม ซึ่งไม่ใช่เรื่องของกฎหมาย ทั้งยังเห็นพ้องกับทนายจำเลยว่า ปัจจุบันธงชาติถูกนําไปใช้แพร่หลายในกิจกรรมอื่นๆ เช่น เป็นอุปกรณ์ในการเชียร์กีฬา คลุมตัวนักกีฬาที่แข่งขันชนะ ซึ่งไม่ถือเป็นการไม่เคารพธงชาติ

ขณะที่จำเลยทั้งสามเบิกความว่า กิจกรรมในวันเกิดเหตุเป็นเพียงกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์  เจตนาเพียงนำธง “ปฏิรูปกษัตริย์” ขึ้นสู่ยอดเสา แสดงถึงข้อเรียกร้องในการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ไม่ได้มีเจตนาผูกธงอื่นเหนือธงชาติ โดยได้พยายามแกะธงชาติออกแล้ว แต่แกะไม่ออกเนื่องจากถูกมัดเย็บไว้ด้วยลวดเกรงว่าจะเกิดความเสียหายต่อผืนธง จึงได้รวบเก็บไว้ที่เสาธงส่วนล่าง


ภาพเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ

ก่อนจะเข้ารับฟังการพิจารณาคดี ได้มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ ผมสั้น ใส่เสื้อยืดสีขาว ได้มาติดตามถ่ายภาพจำเลย ผู้สังเกตการณ์คดี และทนายความ ที่ศาลาที่พักภายในบริเวณศาล เมื่อมีการขอให้ลบภาพออก เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบได้กระโดดลงจากศาลาและเดินหลบหนีไป ในที่นั้นมีเจ้าหน้าที่นายตำรวจในเครื่องแบบยืนอยู่ 4 นาย แต่เมื่อผู้ถูกติดตามถ่ายภาพไปแจ้ง แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจกลับยืนเฉย บอกว่าไม่เกี่ยวข้อง พัฒนะ ศรีใหญ่ ทนายความและเป็นหนึ่งในผู้ถูกติดตามถ่ายภาพ กล่าวว่าเป็นการกระทำที่มีลักษณะละลาบละล้วง เจาะจงถ่ายรูปเป็นรายบุคคลอย่างน่าเกลียด ทางทนายเองต้องปกป้องสิทธิของลูกความและตัวทนายความเอง จึงได้นำเรื่องร้องเรียนต่อผู้อำนวยการศาลแขวงขอนแก่น ว่ามีการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ไม่ทราบสังกัดที่มีลักษณะคุกคาม ละเมิดสิทธิจำเลยและทนายความในเขตพื้นที่ของศาล โดยที่ทางผู้อำนวยการสำนักงานประจำศาลแขวงขอนแก่นรับปากว่าจะแก้ปัญหา 

 

อ่านข่าวนี้ฉบับเต็มในเว็บไซต์ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

อัยการยุติคดี 'อดีตการ์ด' ถูกกล่าวหาหมิ่น กอ.รมน. ชี้หนังสือมอบอำนาจผู้เสียหาย ไม่ได้ระบุให้อำนาจดำเนินคดีผู้ต้องหา

เมื่อวันที่ 23 มี.ค. 2564 “จ่ามะลิ” (นามสมมติ) อดีตการ์ดในการชุมนุมช่วงปี 2563 ซึ่งถูกกล่าวหาในคดีหมิ่นประมาทกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ได้รับหนังสือแจ้งยุติการดำเนินคดีของพนักงานอัยการศาลแขวงดุสิต ด้วยเหตุว่าอัยการพบว่าหนังสือมอบอำนาจของ กอ.รมน. ไม่ได้ระบุให้ผู้กล่าวหามีอำนาจแจ้งความดำเนินคดีกับผู้ต้องหา พนักงานสอบสวนจึงไม่มีอำนาจในการสอบสวนคดีนี้ และอัยการก็ไม่มีอำนาจฟ้องคดี

สำหรับคดีนี้ เมื่อวันที่ 9 พ.ย. 2564 “จ่ามะลิ” ได้เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหา “หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา” ที่ สน.สามเสน จากกรณีกล่าวหาว่า กอ.รมน. เกี่ยวข้องกับกรณีอุ้มนายมงคล สันติเมธากุล หรือ “เยล” โดยมี พ.อ.เดชาวุธ ฟุ้งลัดดา รับมอบอำนาจจาก กอ.รมน. เป็นผู้กล่าวหา

ผู้กล่าวหาอ้างว่าพฤติการณ์ของจ่ามะลิ ที่เดินทางไปหน้า กอ.รมน. เมื่อวันที่ 17 ม.ค. 2564 พร้อมอ้างว่า กอ.รมน. ได้ควบคุมตัวนายมงคล สันติเมธากุล ทําให้บุคคลอื่นหรือประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นความจริง กอ.รมน. ได้รับความเสียหาย จึงมอบอำนาจให้ผู้กล่าวหาแจ้งความร้องทุกข์

อ่านข่าวนี้ฉบับเต็มในเว็บไซต์ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

สั่งฟ้อง ม.112 'ไอซ์ รักชนก' เหตุโพสต์ รีทวิตข้อความในทวิตเตอร์ รวม 2 ข้อความ ศาลให้ประกัน วงเงิน 100,000 บาท

เมื่อวันที่  23 มี.ค. 2565 พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 10 ได้มีคำสั่งฟ้องคดีของ “ไอซ์” รักชนก ศรีนอก ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. เขตบางบอน-หนองแขม พรรคก้าวไกล และนักกิจกรรมทางการเมือง ต่อศาลอาญา ในคดีความตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ กรณีทวีตข้อความวิจารณ์รัฐบาลว่า ผูกขาดการจัดซื้อจัดหาวัคซีนโควิด-19 ไว้กับสถาบันกษัตริย์ และกรณีรีทวิตภาพถ่ายในการชุมนุม #16ตุลาไปแยกปทุมวัน ปี 2563 ซึ่งมีข้อความที่ถูกกล่าวหาว่าต่อต้านสถาบันกษัตริย์ 

ทั้งนี้ คดีนี้เป็นคดีที่ประชาชนทั่วไปเป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ ได้แก่ มณีรัตน์ เลาวเลิศ โดยจากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่า มีคดีมาตรา 112 ที่ประชาชนทั่วไปเป็นผู้แจ้งความจำนวนไม่น้อยกว่า 90 คดีแล้ว

อ่านข่าวนี้ฉบับเต็มในเว็บไซต์ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท