COVID-19: 9 เม.ย. 65 ยืนยัน RT-PCR 25,298 ราย ATK 22,431 ราย เสียชีวิต 98 ราย

ศบค. รายงานสถานการณ์ COVID-19 ในไทย ผู้ป่วยใหม่ 25,298 ราย ติดเชื้อเข้าข่าย/ATK 22,431 ราย รักษาหาย 22,003 ราย เสียชีวิต 98 ราย - บอร์ด สปสช. รับทราบผลแจก ATK รอบแรก กระจายลงพื้นที่แล้วกว่า 8.49 ล้านชุด - สปสช.ชี้แจงค่าบริการ “เจอ แจก จบ” ระบบจ่ายตรงร้านยา ไม่ผ่านคนกลาง 

9 เม.ย. 2565 ศบค. รายงานสถานการณ์ COVID-19 ในไทย ผู้ป่วยใหม่ 25,298 ราย ติดเชื้อเข้าข่าย/ATK 22,431 ราย รักษาหาย 22,003 ราย เสียชีวิต 98 ราย 

สำหรับจำนวนผู้ป่วยปอดอักเสบรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 1,936 ราย เฉลี่ยจังหวัดละ 25 ราย อัตราครองเตียง ร้อยละ 29.1 ขณะที่ ผู้หายป่วยกลับบ้าน 22,003 ราย ทำให้มีผู้หายป่วยสะสม (ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2565) จำนวน 1,412,426 ราย กำลังรักษา 251,451 ราย และมีผู้เสียชีวิต 98 ศพ

10 จังหวัดติดเชื้อสูงสุด ได้แก่ 1.กรุงเทพมหานคร 2.ชลบุรี 3.สมุทรสาคร 4.สมุทรปราการ 5.นนทบุรี 6.ขอนแก่น 7.นครปฐม 8.นครศรีธรรมราช 9.ฉะเชิงเทรา และ 10.สุพรรณบุรี

จำนวนการได้รับวัคซีนสะสม (28 ก.พ. 2564 - 8 เม.ย. 2565) รวม 130,863,690 โดส ใน 77 จังหวัด จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 1 สะสม : 55,851,670 ราย จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 2 สะสม : 50,512,586 ราย จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 3 สะสม : 24,499,434 ราย

บอร์ด สปสช. รับทราบผลแจก ATK รอบแรก กระจายลงพื้นที่แล้วกว่า 8.49 ล้านชุด

ที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ครั้งที่ 4/2565 เมื่อวันที่ 4 เม.ย. 2565 ซึ่งมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข (สธ.) เป็นประธาน ได้มีมติรับทราบความคืบหน้าของการกระจายชุดตรวจการติดเชื้อโควิด-19 แบบตรวจหาแอนติเจนด้วยตนเอง Antigen Test Kit (ATK) สำหรับกลุ่มเสี่ยงในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ระยะที่ 1 นำเสนอโดย นพ.อภิชาติ รอดสม รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)  

นพ.อภิชาติ กล่าวว่า ในการกระจายชุดตรวจ ATK จำนวน 8.5 ล้านชุด ระยะที่ 1 ได้ดำเนินการตั้งแต่วันที่ 16 ก.ย. 2564 – 31 มี.ค. 2565 ตามวัตถุประสงค์เพื่อให้มีการกระจายชุดตรวจให้แก่ประชากรกลุ่มเสี่ยงได้อย่างทั่วถึง รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ ได้ใช้กลไกกระจายผ่านหน่วยบริการในระบบบัตรทอง ทั้งโรงพยาบาล ร้านขายยา ฯลฯ พร้อมจ่ายค่าตอบแทนให้แก่หน่วยบริการเป็นเงินจำนวน 10 บาทต่อชุด ซึ่งในระยะดังกล่าวพบว่า มีการกระจาย ATK ลงพื้นที่ไปแล้วเป็นจำนวน 8,494,425 ชุด คงเหลือในคลังกลางจำนวน 5,575 ชุด 

ทั้งนี้ สธ. และ สปสช. ได้กำหนดให้มีการแจกตามพื้นที่เสี่ยงสีแดงซึ่งมีประชาชนติดเชื้อเป็นจำนวนมาก ซึ่งประชาชนต้องประเมินความเสี่ยงผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตัง เพื่อเป็นการพิสูจน์ตัวตนในการรับชุดตรวจ 2 ชุด ภายในระยะเวลา 10 วัน หากมีการบันทึกแล้วผลเป็นลบจึงจะสามารถรับชุดตรวจชุดต่อไปได้ โดยในส่วนของการบันทึกผล ซึ่งปิดรับการบันทึกข้อมูลไปเมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2565 พบว่ามีการบันทึกผล ATK เข้ามาในแอปฯ จำนวน 7,141,966 ชุด ไม่พบการบันทึกผล จำนวน 914,734 ชุด และยังคงเหลือ ATK ในพื้นที่ประมาณ 437,725 ชุด 

หลังจากนี้ สปสช.จะมีการติดตามตรวจสอบต่อไป เนื่องจากขณะนี้มีโครงการกระจายชุดตรวจ ATK ในระยะที่ 2 เริ่มเมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2565 กำหนดให้ประชาชนสามารถเข้ารับชุดตรวจ ATK ได้ที่ร้านขายยาหรือคลินิก ขณะที่หน่วยบริการที่เข้าร่วมจะเป็นผู้จัดหาชุดตรวจและเบิกค่าใช้จ่ายกับ สปสช. ราคาชุดละ 55 บาท  

สำหรับหลักเกณฑ์การรับชุดตรวจ ATK ในระยะที่ 2 นั้น ประชาชนไทยที่เป็นกลุ่มเสี่ยงสามารถรับชุดตรวจ ATK ฟรี คนละ 2 ชุด ขอย้ำว่าให้นำชุดตรวจ ATK ที่ได้รับมาตรวจหาเชื้อทันที เพราะท่านเป็นกลุ่มเสี่ยง พร้อมให้บันทึกผลการตรวจในระบบ ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถขอรับชุดตรวจ ATK ในครั้งต่อไปได้ โดยกรณีที่ท่านจำเป็นต้องตรวจหาเชื้อโควิด-19 ซ้ำสามารถขอรับชุดตรวจ ATK เพิ่มเติมได้โดยเว้นช่วงระยะเวลาห่างกันมากกว่า 14 วัน 

ด้าน นายอนุทิน กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอให้ สปสช. ประสานงานร่วมกับกรมควบคุมโรค เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลว่าขณะนี้ยังมีความจำเป็นในการแจกชุดตรวจ ATK มากน้อยเพียงใด เพราะหากดูแนวโน้มในหลายประเทศ รวมถึงบางประเทศในยุโรป ได้เลิกการแจกแล้ว ขณะเดียวกันคาดว่าที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) จะผ่อนปรนมาตรการการเข้าเมืองเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากข้อมูลพบว่าการติดเชื้อส่วนมากในประเทศ เป็นการติดเชื้อในครัวเรือน ขณะที่ผู้เดินทางเข้าประเทศส่วนใหญ่จะผ่านการตรวจจากสายการบิน หรือประเทศต้นทางแล้วในระดับหนึ่ง 

อีกส่วนที่จะต้องหารือกับ ศบค. คือลดระดับการตรวจ RT-PCR ลง อาจเริ่มด้วยการขอให้ตรวจก่อนที่จะเดินทางเข้ามาภายในประเทศ เพราะผู้ที่เดินทางเข้ามาจะต้องผ่านการตรวจสอบจากสายการบินและประเทศต้นทางในระดับหนึ่งแล้ว ดังนั้นหากต้องมาตรวจ RT-PCR ในประเทศอีกก็อาจทำให้เกิดความยุ่งยากได้ ตรงนี้ สธ. กำลังหาหาจุดสมดุลให้ได้มากที่สุด ไม่ให้เกิดความตระหนก และให้คนในประเทศสามารถดำเนินชีวิตกลับเข้าสู่ภาวะปกติให้ได้เร็วที่สุด 

“อยากจะเรียนว่าหลังสงกรานต์การติดเชื้อน่าจะมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น แต่เราก็จะพยายามประคองสถานการณ์เต็มที่ให้อยู่ในลักษณะที่ควบคุมได้ ถ้าจำนวนตัวเลขอยู่ในเกณฑ์ที่ควบคุมได้ เราก็คงมีมาตรการเพิ่มจากรัฐบาลในช่วงก่อนสิ้นเดือนเมษายน เพื่อให้เป็นไปตามวางเป้าหมายไว้” นายอนุทิน กล่าว 

ขณะเดียวกัน ที่ประชุมบอร์ด สปสช. ยังได้มีการแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม โดยเสนอให้มีการประกาศให้ชัดเจนว่า ผู้ที่จำเป็นต้องตรวจ ATK คือผู้ที่มีอาการ ส่วนผู้ที่ไม่มีอาการไม่จำเป็นต้องตรวจ เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุขได้ระบุว่าโควิด-19 กำลังดำเนินสู่โรคประจำถิ่น หากยังระบุว่าต้องมีการตรวจ ATK ก่อนเข้าพื้นที่ต่างๆ ประชาชนก็จะต้องหาชุดตรวจ ซึ่งอาจจะสร้างความยากลำบากให้กับประชาชนบางกลุ่มได้ 

สปสช.ชี้แจงค่าบริการ “เจอ แจก จบ” ระบบจ่ายตรงร้านยา ไม่ผ่านคนกลาง 

ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และ ในฐานะโฆษก สปสช. กล่าวว่า ตามที่ได้มีวิเคราะห์ข่าวในประเด็น “สปสช.ดึง ร้านขายยา 700 แห่ง ดูแลผู้ป่วยโควิด” ทางสื่อออนไลน์ (ฐานเศรษฐกิจออนไลน์) นั้น สปสช.ในฐานะหน่วยงานที่ดำเนินการในนโยบายนี้และถูกพาดพิงขอชี้แจงว่า นโยบายในการดึงร้านยา 700 แห่ง ร่วมดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ด้วยการให้บริการแบบผู้ป่วยนอกแยกกักตัวที่บ้าน หรือ “เจอ แจก จบ” เนื่องด้วยปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ที่เพิ่มสูงอย่างมาก และส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวที่ไม่มีอาการหรือมีอาการไม่มาก สปสช. ได้ร่วมมือกับสภาเภสัชกรรม เพื่อให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้เข้าถึงระบบบริการรักษาโดยสะดวก ขณะเดียวกันยังลดความแออัดของผู้ป่วยในโรงพยาบาล ที่ช่วยเพิ่มการเข้าถึงการรักษาให้ผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการมากทั้งกลุ่มสีเหลืองและสีแดง และผู้ป่วยโรคอื่นๆ ที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาที่โรงพยาบาล ซึ่งขณะนี้มีร้านยาทยอยขึ้นทะเบียนในระบบกับ สปสช.แล้ว 500 แห่ง   

สำหรับร้านยาที่เข้าร่วมให้บริการผู้ป่วยโควิด-19 ตามนโยบายนี้ มีหลักเกณฑ์ระบุชัดเจนต้องเป็นร้านยาที่มีเภสัชกรประจำ โดยได้รับการเชิญชวนและคำแนะนำจากสภาเภสัชกรรมในการเข้าร่วมให้บริการ ซึ่งขณะนี้มีร้านยาที่สนใจและสมัครเข้ามาประมาณ 700 แห่ง ขึ้นทะเบียนในระบบแล้ว 500 แห่ง  

ทพ.อรรถพร กล่าวว่า ขั้นตอนการเข้ารับริการเจอ แจก จบ ที่ร้านยานั้น เช่นเดียวกับการเข้ารับบริการที่โรงพยาบาลและหน่วยบริการอื่นๆ ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยก่อนให้บริการจะมีการพิสูจน์ตัวตนของผู้รับบริการเพื่อยืนยันการเข้ารับบริการโดยใช้บัตรประชาชน และบันทึกข้อมูลการให้บริการผ่านโปรแกรม AMED Telehealth ระบบบริการการแพทย์ทางไกล ซึ่งพัฒนาโดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในการบันทึกข้อมูลเพื่อส่งเบิกกับ สปสช.  

ทั้งนี้ในส่วนของการจ่ายชดเชยค่าบริการให้กับร้านยารายละ 700 บาทนั้น สปสช.วางระบบเป็นการจ่ายตรงเข้าบัญชีของร้านยาตามที่ลงทะเบียนไว้ โดยไม่มีการจ่ายผ่านคนกลางแต่อย่างใด ซึ่งตามที่ได้เริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา ขณะนี้ยังมีจำนวนการเบิกค่าบริการเข้ามาไม่มาก มีเพียงราว 1,200 รายเท่านั้น   

อย่างไรก็ตามขอเรียนไปยังร้านยาที่ต้องการเข้าร่วมโครงการว่า ท่านสามารถสมัครเข้าร่วมได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย กรณีที่มีข้อสงสัยสามารถสอบถามโดยตรงที่ สปสช. และหากพบว่ามีการทุจริตหรือมีพฤติกรรมที่ไม่โปร่งใสในขั้นตอนใด ขอให้แจ้งโดยตรงที่เลขาธิการ สปสช. จะดำเนินการตามกฎหมายให้ถึงที่สุด      

“สปสช.ขอขอบคุณสื่อมวลชนที่ได้ร่วมกันวิเคราะห์และตั้งประเด็นการแสวงหาผลประโยชน์ในนโยบายนี้เพื่อให้เกิดการร่วมตรวจสอบในสังคม ซึ่ง สปสช.มีความยินดีด้วยเราเป็นหน่วยงานที่ยึดหลักคุณธรรม ส่งเสริมความโปร่งใสและป้องกันการทุจริต และจะนำข้อสังเกตที่ได้รับมาตรวจสอบและเฝ้าระวังต่อไป” โฆษก สปสช. กล่าว 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท