Skip to main content
sharethis

ศบค. รายงานสถานการณ์ COVID-19 ในไทย ผู้ป่วยใหม่ 18,892 ราย ติดเชื้อเข้าข่าย/ ATK 8,858 ราย รักษาหาย 22,220 ราย เสียชีวิต 125 ราย สูงสุดในรอบ 4 เดือน - 'หมอนิธิพัฒน์' ระบุ รพ.ใหญ่กำลังรับมือผู้ป่วยอาการหนัก จุดชี้วัดกระเพื่อมเล็กหรือใหญ่หลังสงกรานต์

16 เม.ย. 2565 ศูนย์ข้อมูล COVID-19 รายงานผู้ติดเชื้อเพิ่ม 18,892 คน ผู้ป่วยสะสม 1,788,749 คน (ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2565) หายป่วยกลับบ้าน 22,220 คน หายป่วยสะสม 1,595,484 คน (ตั้งแต่ 1 ม.ค.65) กำลังรักษาตัว 221,452 คน เสียชีวิต 125 คน รวมเสียชีวิตสะสม 5,056 คน (ตั้งแต่ 1 ม.ค.65) หรือคิดเป็นร้อยละ 0.28 

ขณะที่จำนวนผู้ป่วยปอดอักเสบ ที่ยังรักษาตัวที่โรงพยาบาล 2,062 คนเฉลี่ยจังหวัดละ 27 คนอัตราครองเตียง ร้อยละ 26.7 นอกจากนี้กรมควบคุมโรครายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อจากการตรวจ ATK จำนวน 8,858 คนรวมตัวเลขสะสม 1,367,964 คน 

ขณะที่ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากโควิดในรอบ 1 สัปดาห์ระหว่างวันที่  11-15 เม.ย.ที่ผ่านมามีมากกว่า 100 คนต่อเนื่อง โดยวันนี้ถือเป็นตัวเลขเสียชีวิตสูงที่สุดในรอบเกือบ 4 เดือน ดังนี้

11 เม.ย. 2565 ติดเชื้อเพิ่ม 22,387 คนเสียชีวิต 105 คน
12 เม.ย. 2565 ติดเชื้อเพิ่ม 19,982 คน เสียชีวิต101 คน
13 เม.ย. 2565 ติดเชื้อเพิ่ม 23,015 คน เสียชีวิต 106 คน
14 เม.ย. 2565 ติดเชื้อเพิ่ม 24,134 คน เสียชีวิตเพิ่ม 115 คน
15 เม.ย. 2565 ติดเชื้อเพิ่ม 20,289 คน เสียชีวิตเพิ่ม 119 คน 
16 เม.ย.ติดเชื้อเพิ้่ม 18,892 คน  เสียชีวิตเพิ่ม 215 คน

ชี้หลังสงกรานต์รพ.รับมือคลื่นคนป่วยโควิด

Thai PBS รายงานว่าขณะที่ รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์เฟชบุ๊ก นิธิพัฒน์ เจียรกุล ระบุว่าสถิติผู้เสียชีวิตจากโควิดช่วงสงกรานต์ยังทรงแบบขึ้นเล็กน้อย ไม่ต่างจากการเสียชีวิตเพราะอุบัติเหตุในช่วงเวลาเดียวกันที่น่าหวาดเสียวคือจำนวนผู้ป่วยอาการหนัก และผู้ป่วยใส่เครื่องช่วยหายใจที่ลดลงแล้วกลับขึ้นไปใกล้เคียงช่วงก่อนเทศกาล 

“โรงพยาบาลใหญ่หลายแห่งในหัวเมือง กำลังวิ่งวุ่นผันศักยภาพการดูแลผู้ป่วยทั่วไปมาดูแลผู้ป่วยโควิดอาการหนักที่ค่อยๆ เพิ่มขึ้น เกือบทั้งหมดยังเป็นกลุ่มเปราะบางที่ไม่ได้รับวัคซีนหรือได้ไม่ครบ สัปดาห์หน้าคงเริ่มเห็นคลื่นกระเพื่อมว่าจะเล็กหรือใหญ่กันแน่”

ผ่านมาแล้วสำหรับวันผู้สูงอายุแห่งชาติ วันครอบครัว จนเข้าสู่วันนี้ “วันเถลิงศก” ปีนี้มีการผ่อนคลายให้ผู้คนเฉลิมฉลองตามสมควร ยังมีการฝ่าฝืนบ้างแต่ในภาพรวมพอจะเอาอยู่ ได้โปรดช่วยกันเซฟผู้สูงอายุ คนท้อง และเด็กต่ำกว่า 5 ขวบ ให้รอดพ้นจากโควิดได้มากที่สุด

ผลข้างเคียงวัคซีนโรคกล้ามเนื้ออักเสบในเด็ก 32 คน 

นอกจากนี้ รศ.นพ.นิธิพัฒน์ ยังระบุว่า เมื่อพ้นจากเทศกาลสงกรานต์แล้ว เป็นช่วงเข้าสู่การเตรียมพร้อมเปิดเทอมในกลางเดือนหน้า หนึ่งในมาตรการรองรับคือการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นครั้งที่หนึ่ง (เข็ม3 ) ให้กับเด็กอายุ 12-17 ปี หลังจากผ่านเข็มสองมาแล้วกว่า 3 เดือน อาจจะมีผู้ปกครองบางคนกังวลเรื่องภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบแทรกซ้อน

ข้อมูลจากคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อแห่งอเมริกา (US CDC) ได้ติดตามผลการฉีดวัคซีนของไฟเซอร์เข็ม 3 ในวัยรุ่นจำนวน 2.8 ล้านคน ระหว่างวันที่ 9 ธ.ค.2564 -20 ก.พ.นี้ พบการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบแทรกซ้อนรวม 32 คน ทั้งหมดเกิดในเพศชายโดยมี 27 คนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล แต่ทุกรายปลอดภัยดี

“เมื่อคิดเป็นสัดส่วนการเกิดความผิดปกตินี้ ต่อผู้เข้ารับการฉีดวัคซีนทั้งหมดในช่วงอายุ 12-17 ปีคือ 11.4 คนในหนึ่งล้าน ซึ่งลดลงกว่าเดิม 6-10 เท่าเมื่อเทียบกับการฉีดในเข็มที่ 2 ซึ่งพบ 70.7 คน ในหนึ่งล้าน”

สำหรับอายุ 12-15 ปี และ 105.9 รายในหนึ่งล้านสำหรับอายุ 16-17 ปี สำหรับผลข้างเคียงอื่นๆ ไม่แตกต่างกันระหว่างเข็มสองกับเข็มสาม เห็นอย่างนี้แล้วผู้ปกครองที่ยังลังเลรีบเปลี่ยนใจกันได้แล้ว 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net