Skip to main content
sharethis

พิมพ์รพี พันธุ์วิชาติกุล กรรมการบริหารพรรค ปชป. ชี้ พรรคจะไม่ล่มสลายเพราะการกระทำผิดของคนใดคนหนึ่ง ขณะที่สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตั้งคำถามพรรคประชาธิปัตย์ต้องแสดงความรับผิดชอบมากกว่านี้ ให้สมกับที่ชูนโยบายเรื่องความรุนแรงต่อผู้หญิงและความเป็นธรรมต่อเพศวิถี

18 เม.ย. 2565 พิมพ์รพี พันธุ์วิชาติกุล กรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก “ดร.พิมพ์รพี พันธุ์วิชาติกุล” แสดงความคิดเห็นกรณีปริญญ์ พานิชภักดิ์ อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ถูกเชื่อมโยงกรณีล่วงละเมิดทางเพศระบุ พรรคประชาธิปัตย์เป็นสถาบันการเมืองเก่าแก่บนเส้นทางการเมืองยาวนานถึง 76 ปี ซึ่งจะไม่ล่มสลายเพราะการกระทำผิดเฉพาะตัวของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ในฐานะกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ ตนเองขอโทษพี่น้องประชาชนและผู้สนับสนุนพรรคต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยทางพรรคจะไม่เข้าไปแทรกแซงในทางคดีหรือปกป้องคนผิดอย่างเด็ดขาด นอกจากนี้พิมพ์รพีระบุว่า ความจริงเป็นสิ่งไม่ตายและความดีจะปกป้องผู้ที่รักษาความจริงเสมอ

พิมพ์รพี พันธุ์วิชาติกุล กรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์

ภาพจากเฟซบุ๊ก “ดร.พิมพ์รพี พันธุ์วิชาติกุล”

“กรณีข้อกล่าวหาของอดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นข่าวครึกโครมหลายวันติดกัน ซึ่งในส่วนของคดีดิฉันไม่ขอก้าวล่วง เพราะอยู่ในขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรม ถือว่าตำรวจดำเนินคดีอย่างรวดเร็ว และเป็นเรื่องที่ผู้ถูกกล่าวหาต้องพิสูจน์ความจริงในชั้นศาลต่อไป

แต่ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งถือเป็นสถาบันการเมืองเก่าแก่ ดำรงตนบนเส้นทางการเมืองมายาวนานถึง 76 ปี เราไม่ล่มสลายเพราะการกระทำผิดเฉพาะตัวของบุคคลใด บุคคลหนึ่ง แต่เราต้องแสดงความรับผิดชอบในฐานะองค์กร ที่เป็นต้นสังกัดของบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิด ซึ่งไม่ใช่เรื่องเลื่อนลอย เพราะมีการแจ้งข้อหาถึง 3 คดี ส่งศาลขออนุญาตฝากขังผลัดแรก 12 วันไปแล้ว ในฐานะกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ ดิฉันขอโทษพี่น้องประชาชน และผู้สนับสนุนพรรคต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

ในฐานะนักการเมืองที่เป็นสตรี ในพรรคประชาธิปัตย์ที่มีพระแม่ธรณีเป็นศูนย์รวมศรัทธา เรายืนยันให้ความยุติธรรมกับทุกครอบครัวที่ประสบความทุกข์ใจ ทุกข์กาย ที่เกิดจากเหตุการณ์ที่น่าเสียใจนี้ อันเป็นปฐมเจตนาในการทำการเมืองของเราคือ ใช้หลักนิติรัฐ นิติธรรม จรรโลงบ้านเมืองของเรา

ดิฉันคิดว่า การเป็นนักการเมืองไม่ได้เป็นประเด็นของเพศหญิงเพศชาย แต่นักการเมืองล้วนต้องมีหน้าที่จรรโลงเศรษฐกิจและสังคม ด้วยความเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่เสมอกัน โดยมีเด็กสตรีและคนชรา เป็นบุคคลที่พึงได้รับโอกาสที่เสมอภาคและเท่าเทียม ในการดำรงตนอย่างสมศักดิ์ศรีในสังคม และพึงต่อต้านการใช้ความรุนแรงและด้อยค่าความเป็นมนุษย์ในทุกรูปแบบ สิ่งเหล่านี้เป็นประเด็นหลักที่ดิฉัน ในฐานะกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ ใช้เป็นหลักการ และ อุดมการณ์ เพื่อขับเคลื่อนพรรคซึ่งเป็นสถาบันการเมืองที่ประชาชนมุ่งหวังได้เสมอมา พรรคให้คำมั่นกับประชาชนได้ว่า จะไม่เข้าไปแทรกแซงในทางคดี หรือปกป้องคนผิดอย่างเด็ดขาด

สัจจังเว อมตะ วาจา “ความจริงเป็นสิ่งไม่ตาย” และความดีจะปกป้องผู้ที่รักษาความจริงเสมอ”

 

สมชาย ปรีชาศิลปกุล ชี้ พรรคประชาธิปัตย์ควรแสดงความรับผิดชอบมากกว่านี้ให้เหมือนที่ชูนโยบายความรุนแรงต่อผู้หญิง

ด้านสมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แสดงความเห็นถึงพรรคประชาธิปัตย์ ผ่านเฟซบุ๊กเพจ “ศูนย์วิจัยฯ มหาวิทยาลัยหน้าบางแห่งหนึ่ง” ระบุ กรณีที่พรรคประชาธิปัตย์ได้ออกมาชี้แจงว่ากรณีล่วงละเมิดทางเพศของอดีตรองหัวหน้าพรรคฯ เป็นการกระทำส่วนบุคคลที่พรรคไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง สมชายตั้งคำถามว่าในฐานะพรรคการเมืองประชาธิปัตย์สามารถมีบทบาทหรือความรับผิดชอบได้เพียงเท่านี้หรือ หากทางพรรคประชาธิปัตย์มีความจริงใจและตระหนักต่อปัญหานี้ ควรต้องกระทำการอะไรที่มากกว่าที่เป็นอยู่ เนื่องจากนโยบายเรื่องความรุนแรงต่อผู้หญิง ความเป็นธรรมต่อเพศวิถี เป็นประเด็นที่พรรคประชาธิปัตย์พยายามชูนโยบาย

 

"ถึงพรรคประชาธิปัตย์

ต่อกรณีการล่วงละเมิดทางเพศอันอื้อฉาวที่กำลังเกิดขึ้น แม้คนในพรรคประชาธิปัตย์หลายคนจะได้ชี้แจงว่าเป็นการกระทำส่วนบุคคลที่พรรคไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งทางพรรคก็จะไม่เข้าไปแทรกแซงต่อกระบวนการยุติธรรมในกรณีนี้ การกระทำเช่นนี้ดูเหมือนว่าจะเป็นความรับผิดชอบทั้งหมดเท่าที่พรรคประชาธิปัตย์จะกระทำได้

แน่นอนว่าการล่วงละเมิดตามที่มีการกล่าวหาเป็นเรื่องส่วนบุคคลอย่างไม่อาจปฏิเสธ คงไม่มีพรรคการเมืองพรรคใดบ้าบอพอที่จะบอกว่าพรรคเรามีนโยบายสนับสนุนการล่วงละเมิดทางเพศอย่างแน่นอน ต่อให้สมาชิกพรรคเหลวแหลกมากเพียงใดก็ตาม แต่คำถามสำคัญก็คือว่าในฐานะของพรรคการเมือง พรรคประชาธิปัตย์สามารถมีบทบาทได้เพียงเท่านี้หรือ

หากมีความตระหนักถึงปัญหาความรุนแรงในทางเพศอย่างจริงจัง ในฐานะพรรคการเมืองแล้ว พรรคประชาธิปัตย์สามารถวางนโยบายหรือแนวทางในการเผชิญหน้ากับปัญหานี้ได้อย่างกว้างขวาง เช่น กระบวนการตรวจสอบประวัติของบุคคลที่จะสมัครเป็นสมาชิกว่าต้องไม่มีประวัติฉาวโฉ่อันเป็นที่รับรู้กันหรือมีคดีการล่วงละเมิดทางเพศติดตัว

หรือกระบวนการร้องเรียนและตรวจสอบภายในพรรคที่ทำให้สมาชิกซึ่งถูกล่วงละเมิดสามารถมั่นใจได้ว่าหากมีการร้องร้องเกิดขึ้นแล้ว ข้อกล่าวหาจะไม่ยุติลงเพราะอีกฝ่ายมีอำนาจใหญ่โตกำกับอยู่ ยิ่งเป็นข้อกล่าวหาที่มีต่อผู้บริหารระดับสูงก็ยิ่งต้องมีกระบวนการที่เป็นอิสระและเป็นกลางจนเป็นที่ไว้วางใจแก่ทุกคน

ยิ่งกรณีที่มีการร้องเรียนต่อกระบวนการยุติธรรม บทบาทของพรรคไม่ใช่แค่เพียงนั่งกระดิกเท้าเฉยๆ แล้วบอกว่าจะไม่แทรกแซงทางกฎหมาย ในฐานะที่เป็นองค์กรต้นสังกัดและใกล้ชิดกับผู้ถูกกล่าวหา พรรคก็ควรจะต้องรวบรวมข้อมูลโดยเฉพาะจากสมาชิกภายในพรรคเพื่อทำให้เกิดความเชื่อมั่นได้ว่าพรรคให้ความสำคัญกับความรุนแรงที่กระทำต่อผู้หญิงอย่างจริงจัง

ยิ่งพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นที่รับรู้กันว่ามี “นักกฎหมาย” อยู่มากมายเต็มไปหมด ก็ควรจะต้องรู้ว่าการเอาผิดในคดีล่วงละเมิดทางเพศนั้นไม่ใช่จะเกิดขึ้นได้โดยง่าย ไม่ใช่แค่เพียงพยานหลักฐานเท่านั้น แต่การตีความของศาลก็ยังสร้างปัญหาให้เกิดขึ้นมากไม่แพ้กัน หากพรรคมีความจริงใจและตระหนักต่อปัญหานี้ก็ควรต้องกระทำอะไรที่มากกว่าเท่าที่เป็นอยู่

ไม่ว่าผลของคดีนี้จะลงเอยในลักษณะเช่นใด แต่หากพรรคประชาธิปัตย์ยังคงอยู่นิ่ง ๆ ไม่ได้กระทำอะไรที่มากไปกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ก็คงเป็นที่ชัดเจนว่านโยบายเรื่องความรุนแรงต่อผู้หญิงหรือความเป็นธรรมต่อเพศวิถีก็เป็นเพียงอีกเรื่องหนึ่งที่พรรคได้แต่ “พ่น” ไปวัน ๆ

สมชาย ปรีชาศิลปะกุล

18 เมษายน 2565"

 

ภาคประชาสังคมกดดันประชาธิปัตย์ร่วมรับผิด

ส่วนศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ใช้อำนาจทางกฎหมายแจ้งไปยังพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อให้คณะกรรมการบริหารพรรคมีมติเด็ดขาด กรณีปริญญ์ พานิชภักดิ์ อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ถูกเชื่อมโยงการล่วงละเมิดทางเพศและข่มขืนหลายกรณี ขณะที่องค์กรทำงานด้านความรุนแรงต่อผู้หญิงจำนวน 16 องค์กร อาทิ มูลนิธิผู้หญิง มูลนิธิเพื่อนหญิง มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล มูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ แผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ ฯลฯ ออกแถลงการณ์ร่วมกรณีอดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เช่นกัน โดยเรียกร้องให้ปลดจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ออกจากตำแหน่งประธานคณะกรรมการระดับชาติส่งเสริมสถานภาพสตรีและงานที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ เพื่อกดดันให้พรรคประชาธิปัตย์ร่วมรับผิดชอบต่อกรณีนี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net